ฝีคัณฑสูตร ประกอบด้วยรูเปิดที่ผิวหนังใกล้ปากทวารหนักของแนวอุโมงค์แคบ ๆ ที่เชื่อมกับรูเปิดที่ปลายอีกด้านหนึ่งภายในทวารหนัก ซึ่งโดยลักษณะทางกายภาพแล้ว ช่องทวารหนักเป็นช่องเปิดเพื่อใช้ในการขับถ่ายอุจจาระ ทั้งนี้ภายในทวารหนักจะมีต่อมเล็ก ๆ จำนวนมากที่สร้างเมือกและในบางครั้งต่อมเหล่านี้เกิดการอุดตันและอาจติดเชื้อจนทำให้เกิดเป็นฝี ราวครึ่งหนึ่งของฝีเหล่านี้อาจกลายเป็นฝีคัณฑสูตรในที่สุด
อาการ
ผู้ป่วยที่เป็นฝีคัณฑสูตรจะมีอาการดังต่อไปนี้
- เป็นฝีที่ทวารหนักบ่อย ๆ
- รู้สึกปวดและบวมรอบทวารหนัก
- มีเลือดหรือมีกลิ่นเหม็น (หนอง) รอบทวารหนัก อาการปวดอาจลดลงหลังจากระบายหนองแล้ว
- เกิดการระคายเคืองผิวหนังรอบทวารหนักจากการมีหนอง
- มีอาการปวดเมื่อลำไส้เคลื่อนตัว
- มีไข้ หนาวสั่น และรู้สึกอ่อนเพลีย
ทั้งนี้ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์หากมีอาการดังกล่าว
สาเหตุ
สาเหตุหลักของการเกิดฝีคัณฑสูตรคือต่อมเมือกรอบทวารหนักอุดตันจนเกิดเป็นฝีในทวารหนัก อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดฝีคัณฑสูตรแต่อาจพบได้น้อย ได้แก่
- ได้รับการฉายรังสี เช่น จากการรักษามะเร็ง
- เป็นโรคโครห์น หรือ มีโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
- เกิดการบาดเจ็บ
- วัณโรค
- เป็นโรคถุงผนังลำไส้อักเสบ (โรคที่มีถุงเล็ก ๆ ที่ผนังของลำไส้ใหญ่อักเสบ)
- เป็นกามโรค
- เป็นโรคมะเร็ง
การตรวจวินิจฉัย
โดยปกติแล้วแพทย์จะวินิจฉัยฝีคัณฑสูตได้จากการตรวจบริเวณรอบ ๆ ทวารหนัก โดยตรวจดูว่ามีช่องเปิด (ช่องทะลุเชื่อมมาจากในทวารหนัก) บนผิวหนังหรือไม่ จากนั้นแพทย์จะดูว่าช่องทะลุนั้นลึกแค่ไหนและไปในทิศทางใด ผู้ป่วยหลายรายจะมีสารคัดหลั่ง เช่น เลือดหรือหนองออกมาจากช่องรูเปิดที่ผิวหนังบริเวณรอบปากทวารหนัก ทั้งนี้ รูเปิดบางรูอาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ในกรณีนี้แพทย์อาจต้องทำการตรวจเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
- การส่องกล้อง: การส่องกล้องเป็นอีกวิธีที่แพทย์ใช้ตรวจเพิ่มเติม โดยใช้เครื่องมือพิเศษเพื่อตรวจดูภายในทวารหนักและลำไส้ตรง
- อัลตราซาวนด์: แพทย์ใช้วิธีการทำอัลตราซาวนด์หรือ MRI ตรวจบริเวณทวารหนักเพื่อให้เห็นแนวทะลุของฝีคัณฑสูตรที่ชัดเจนขึ้น
- ตรวจในห้องผ่าตัด: บางครั้งศัลยแพทย์จะทำการตรวจในห้องผ่าตัด (โดยใช้ยาสลบ) เพื่อวินิจฉัยแนวรูทะลุของฝีคัณฑสูตรนี้
หากพบแนวรูทะลุของฝีคัณฑสูตรนี้ แพทย์อาจต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อดูว่าผุ้ป่วยเป็นโรคโครห์น ซึ่งเป็นโรคอักเสบเรื้อรังของลำไส้ร่วมด้วยหรือไม่ เนื่องจากราว 25% ของผู้ที่เป็นโรคโครห์นจะพบแนวทะลุของฝีคัณฑสูตรนี้ด้วย นอกจากนี้แพทย์อาจยังต้องใช้การตรวจเลือด การเอกซเรย์ และการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ร่วมด้วย โดยวิธีการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่นี้ แพทย์จะสอดกล้องเข้าไปในลำใส่ใหญ่ผ่านทางทวารหนัก โดยใช้ยากดประสาทชนิดอ่อนร่วมด้วย ผู้ป่วยจะยังคงตอบสนองต่อคำสั่งหรือสัมผัสของแพทย์ได้ตามปกติ
การรักษา
การผ่าตัดเป็นวิธีการรักษาที่จำเป็นมากสำหรับผู้ป่วยที่เป็นฝีคัณฑ์สูตร เป้าหมายของการผ่าตัดคือการรักษาฝีคัณฑสูตรให้หายขาด และในขณะเดียวกันก็ยังเก็บกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักของผู้ป่วยไว้ ซึ่งหากหูรูดทวารหนักเสียไปอาจทำให้เกิดภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้
ในกรณีที่แนวฝีคัณฑสูตรอยู่ในแนวตื้นใต้กล้ามเนื้อหูรูด แพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัด โดยการกรีดเปิดผิวหนังและกล้ามเนื้อตามแนวอุโมงค์ของฝีคัณฑสูตร ซึ่งจะช่วยให้แนวทะลุของฝีคัณฑสูตรนี้หายได้เองจากล่างขึ้นบน (Fistulotomy)
ในกรณีที่แนวรูทะลุของฝีคัณฑสูตรมีความซับซ้อนอยู่ลึก ศัลยแพทย์อาจต้องใส่ท่อระบายสารคัดหลั่งไว้อย่างน้อย 6 สัปดาห์ หลังจากใส่ท่อระบายนี้แล้ว มักจะมีการผ่าตัดอีกรอบ โดย
- การผ่าตัดฝีคัณฑสูตรแบบ Fistulotomy
- การผ่าตัดโดยการย้ายเนื้อเยื่อข้างเคียงของผนังลำไส้ตรงมาคลุมปิดรูเปิดภายในของแนวรูทะลุของฝีคัณฑสูตร
- การผ่าตัดผ่านกล้ามเนื้อหูรูด (ผ่าเปิดผิวหนังใกล้ทวารหนัก แยกกล้ามเนื้อหูรูดเพื่อตัดเอาแนวอุโมงค์ออก และเย็บปิดปลายรูเปิดด้านในทั้งสองด้านของแนวฝีคัณฑสูตร)
นอกจากนี้แพทย์อาจทำการฉีดสเต็มเซลล์เข้าไปในแนวรูทะลุของฝีคัณฑสูตร ซึ่งเป็นการรักษาแนวใหม่ของฝีคัณฑสูตรในผู้ป่วยโรคโครห์น ผู้ป่วยสามารถพูดคุยและปรึกษาศัลยแพทย์ถึงทางเลือกในการรักษาก่อนเข้ารับการผ่าตัด ในการผ่าตัดฝีคัณฑสูตรผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล เมื่อผ่าตัดเสร็จสามารถสามารถกลับบ้านได้ในวันเดียวกัน ผู้ป่วยที่มีแนวรูทะลุของฝีคัณฑสูตรขนาดใหญ่หรือลึกมากอาจต้องเข้ารักษาอยู่ในโรงพยาบาลหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยบางรายอาจต้องได้รับการผ่าตัดหลายครั้งเพื่อกำจัดฝีคัณฑสูตรออกให้หมดโดยไม่เกิดปัญหากลั้นอุจจาระไม่ได้