เลือกหัวข้อที่อ่าน
สมาธิสั้นในเด็ก
สมาธิสั้นในเด็ก (ADHD in children) คือ โรคที่สามารถพบได้ทั่วไปในเด็ก โดยเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะมีอาการขาดสมาธิ ซุกซนผิดปกติ อยู่ไม่นิ่ง หรือหุนหันพลันแล่นตลอดเวลา ซึ่งเป็นผลมาจากการที่สารเคมีบางอย่างในสมองทำงานลดลง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการมีสมาธิ การควบคุมตนเอง การคิดและการวางแผน รวมถึงการจัดลำดับสิ่งต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ เด็กที่มีอาการของโรคสมาธิสั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการตรวจ วินิจฉัย และรักษาอาการของโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด
โรคสมาธิสั้น คืออะไร?
โรคสมาธิสั้น (ADHD: Attention-deficit / Hyperactivity disorder) หรือ ภาวะสมาธิสั้น คือโรคที่เกิดจากความบกพร่องในการทำงานของระบบประสาทพัฒนาการ ซึ่งอยู่บริเวณสมองส่วนหน้าที่ผลิตสารเคมีสำคัญบางชนิด ทำหน้าที่ในการควบคุมสมาธิ การจดจ่อ การควบคุมตนเอง หรือการยับยั้งชั่งใจ โรคสมาธิสั้น เป็นภาวะเรื้อรังที่สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่วัยเด็ก สืบเนื่องจนถึงวัยผู้ใหญ่ ช่วงอายุของเด็กที่มักพบภาวะสมาธิสั้นคือช่วงอายุตั้งแต่อายุ 3-12 ปี โดยอายุเฉลี่ยที่พบมากที่สุดคือ 7 ปี และพบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิงในอัตราส่วน 3:1 ในเด็กผู้ชายจะมีอาการเด่นคือ อยู่ไม่นิ่ง ขาดสมาธิ หรือไขว้เขวง่าย ส่วนอาการเด่นในเด็กผู้หญิงที่พบคืออาการขาดสมาธิได้มากกว่า โรคสมาธิสั้น สามารถส่งผลต่อพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กในวัยเรียน การแสดงออกเชิงอารมณ์ พฤติกรรม การเข้าสังคม และกระทบต่อคุณภาพชีวิตโดยรวม
สมาธิสั้นแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มอาการหลัก ได้แก่
- กลุ่มพฤติกรรมขาดสมาธิ
- กลุ่มพฤติกรรมขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง ซุกซนผิดปกติ และอยู่ไม่นิ่ง
- กลุ่มพฤติกรรมที่มีอาการร่วมกัน ทั้งการการขาดสมาธิ ขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง และอยู่ไม่นิ่ง
โรคสมาธิสั้น เกิดจากอะไร?
โรคสมาธิสั้น มีสาเหตุ มาจากการที่สารสื่อประสาทที่บริเวณสมองส่วนหน้าบางชนิด เช่น โดพามีน (Dopamine) หรือ นอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) หลั่งออกมาน้อยกว่าปกติ สารเหล่านี้ทำหน้าที่ในการควบคุมเรื่องสมาธิจดจ่อ การควบคุมตนเองทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ โดยมีสาเหตุ ปัจจัยหลัก ดังนี้
- ปัจจัยทางกรรมพันธุ์ ซึ่งเป็นปัจจัยทางชีวภาพที่สำคัญที่สุด โดยพบว่าหากพ่อหรือแม่มีประวัติเป็นโรคมาธิสั้น หรือเคยเป็นโรคสมาธิสั้นมาก่อน ก็มีโอกาสสูงที่ลูกจะเป็นโรคสมาธิสั้นได้ถึงร้อยละ 57
- ปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม เช่น มีการสะสมของสารโลหะหนัก หรือสารพิษในร่างกาย เช่น สารตะกั่ว ที่ปะปนอยู่ในมลภาวะ หรือสิ่งแวดล้อม
- ปัจจัยทางด้านพฤติกรรมของมารดาขณะตั้งครรภ์ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา หรือการใช้สารเสพติด ทำให้ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงในการเป็นโรคสมาธิสั้นสูงขึ้น
- การคลอดก่อนกำหนดของมารดา หรือเด็กที่มีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อยกว่าปกติ ก็สามารถเป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กที่เกิดมามีโอกาสเป็นโรคสมาธิสั้นสูงได้เช่นกัน โดยอาจพบภาวะบกพร่องในทักษะการเรียนรู้ของเด็กในวัยเรียน (Learning disorder) ร่วมด้วย
สมาธิสั้นเทียม
สมาธิสั้นเทียม (Pseudo-Attention deficit / Hyperactivity disorder) (Pseudo-ADHD) เป็นภาวะที่คล้ายกับโรคสมาธิสั้น เนื่องจากในยุคปัจจุบัน เด็กมักได้ใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เป็นระยะเวลานาน ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ไอแพด หรือดูโทรทัศน์ โดยขาดการควบคุม ขาดระเบียบวินัยในการดูแล และจัดการ ทำให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ไม่ปฎิบัติตามคำสั่ง ใจร้อน ไม่สามารถรอคอยได้ ขาดทักษะทางด้านสังคม มีพัฒนาการการพูดและการสื่อสารที่ล่าช้ากว่าเกณฑ์ปกติ เป็นต้น
อาการของโรคสมาธิสั้น เป็นอย่างไร?
อาการของโรคสมาธิสั้นแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มอาการหลัก ดังนี้
- อาการขาดสมาธิอย่างต่อเนื่อง (Inattentiveness)
- ไม่สามารถใช้สมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน ไม่เอาใจใส่ สะเพร่า ขาดการใส่ใจรายละเอียดในการทำงาน หรือการทำการบ้าน และการทำกิจกรรมอื่น ๆ
- ไม่มีสมาธิในการรับฟัง ไม่ตั้งใจฟังคู่สนทนา
- ไม่ปฎิบัติตามคำสั่ง ทำงานหรือทำการบ้านไม่เสร็จ
- ไม่สามารถจัดการการทำงาน จัดลำดับในการทำงาน หรือจัดการงานกิจกรรมได้
- หลีกเลี่ยงงานที่ไม่ชอบ หรืองานที่ต้องใช้สมาธิจดจ่อในการทำต่อเนื่อง ยาวนาน เช่น รายงาน
- มักหลงลืมสิ่งของที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น หนังสือเรียน ปากกา ดินสอ กระเป๋าสตางค์ กุญแจ โทรศัพท์ หรือแว่นตา
- วอกแวก ไปตามสิ่งเร้า หรือสิ่งที่ตนเองสนใจ เปลี่ยนความสนใจไปสู่สิ่งอื่นอย่างง่ายดาย
- อาการขาดสมาธิอย่างต่อเนื่อง (Inattention)
- อาการขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง ซุกซนผิดปกติ และอยู่ไม่นิ่ง (Hyperactivity and impulsivity)
- ขาดสติ ความยับยั่งชั่งใจ ใจร้อน วู่วาม หุนหันพลันแล่น และขาดความระมัดระวังในการกระทำสิ่งต่าง ๆ
- ตื่นตัว และเคลื่อนไหวตลอดเวลา หลุกหลิก อยู่ไม่นิ่ง มักหยิบจับสิ่งของที่สนใจเล่นไปมา
- นั่งไม่ติดที่ ลุกออกจากที่ทั้งในห้องเรียนและในสถานที่ต่าง ๆ
- พูดไปเรื่อย พูดไม่หยุด ชวนเพื่อนคุยขณะเรียน ส่งเสียงดัง
- ขัดบทสนทนา พูดแทรก หรือพูดโพล่งออกไปในขณะที่ผู้อื่นกำลังพูดอยู่
- ขัดกิจกรรมในชั้นเรียน ศูนย์เสียการควบคุมตนเองในการเข้าร่วมกิจกรรมอย่างสงบ
- ไม่มีความอดทนในการรอคอย
- ก้าวร้าว เอาแต่ใจ และมีอารมณ์ฉุนเฉียว รุนแรง
- มีอาการร่วมกัน ทั้งการการขาดสมาธิ ขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง และอยู่ไม่นิ่ง
- ขาดสมาธิในการจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างต่อเนื่อง
- ขาดความสามารถในการควบคุมตนเองในการแสดงออกซึ่งอารมณ์ และพฤติกรรม และมักขาดการยั้งคิด
- ขาดความสามารถในการยับยั้งตนเองจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมที่ได้ทำไปแล้ว หรือกำลังทำอยู่ให้สงบลง
การรักษาโรคสมาธิสั้น
โรคสมาธิสั้น สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการรักษาแบบผสมผสาน ผู้ปกครองสามารถสังเกตุอาการบุตรหลาน หากสงสัยว่ามีอาการของโรคสมาธิสั้น ควรพาบุตรหลานเข้าพบกุมารแพทย์ผู้ชำนาญการ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และวางแผนการรักษาที่ดีที่สุด โดยกุมารแพทย์จะทำการวินิจฉัยจากหลักเกณฑ์ ดังนี้
- วิเคราะห์พฤติกรรมต่าง ๆ ของโรคสมาธิสั้นในเด็ก เพื่อวินิจฉัยว่าเด็กมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่
- แยกประเภทของโรคสมาธิสั้นจากกลุ่มอาการที่แสดงออก และทำการวินิจฉัยที่มา และสาเหตุของโรคสมาธิสั้น
- วินิจฉัยโรคร่วม หรือโรคอื่นที่อาจเกิดขึ้นร่วมกัน เช่น โรคซึมเศร้า ความเครียด หรือความวิตกกังวล
จากนั้น จึงวางแผนการรักษาที่เหมาะสมสำหรับเด็กแต่ละราย การรักษาอาการของโรคสมาธิสั้น หรือสมาธิสั้นเทียมให้มีประสิทธิภาพสูงสุดจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของหลายฝ่าย ทั้งตัวเด็กเอง ผู้ปกครอง คุณครูผู้ดูแล และเพื่อน ๆ ในชั้นเรียนของเด็ก โดยแบ่งวิธีทางการรักษา ดังนี้
- การรักษาด้วยวิธีการปรับพฤติกรรม
- ที่บ้าน
- ทำตารางเวลาและข้อตกลงภายในบ้านให้ชัดเจน เพื่อให้เด็กจดจำ รู้จักแบ่งเวลา การวางแผนงาน และมีความสามารถในการเรียงลำดับความสำคัญของงาน โดยมีผู้ปกครองคอยดูแล เช่น ทยอยให้เด็กทำการบ้านสัก 10 ข้อ แล้วจึงค่อยให้เด็กพักเพื่อทำในสิ่งที่เด็กสนใจสัก 10 นาที แล้วจึงค่อยให้เด็กกลับมาทำการบ้านต่อแล้วพัก โดยทำแบบนี้สลับกันไปจนเด็กทำการบ้านเสร็จ ชมเชยเด็กทุกครั้งที่มีโอกาส หรือมีรางวัลให้เด็กเพื่อสร้างกำลังใจ และความภาคภูมิใจในตนเองให้กับเด็กที่สามารถทำการบ้านได้จนสำเร็จ
- สื่อสารกับเด็กให้ชัดเจน กระชับ และได้ใจความ ฝึกให้เด็กมีปฎิสัมพันธ์กับคู่สนทนา และฟังคู่สนทนาหากจับใจความได้ให้ชมเชยเด็กเพื่อเป็นกำลังใจ คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง ควรใช้ความระมัดระวังในการใช้น้ำเสียงที่ไม่ดุดัน ไม่ทำให้เด็กรู้สึกกลัว และสร้างกำลังใจที่ดีให้กับเด็กในการพัฒนาตนเองต่อไป
- ทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว โดยการชวนเด็กเล่นกีฬากลางแจ้งที่เด็กสนใจ หรือชวนเด็กทำกิจกรรมภายในบ้านกับสมาชิกในครอบครัว เพื่อช่วยดึงความสนใจของเด็กออกจากพฤติกรรมการอยู่หน้าจอเป็นระยะเวลานาน ๆ หรือพฤติกรรมที่แสดงออกซึ่งการขาดสมาธิ ทั้งนี้ คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการรูจักอดทน รอคอย แก่เด็ก
- ที่โรงเรียน
- จัดสถานที่เรียนที่เหมาะสมให้กับเด็ก โดยจัดโต๊ะให้เด็กนั่งตรงกลาง ด้านหน้าบริเวณใกล้กระดาน ไม่ติดหน้าต่าง หรือติดประตูที่อาจดึงความสนใจของเด็กออกไป
- ดึงความสนใจ ขณะที่เรียน หากเด็กเริ่มเสียสมาธิ คุณครูอาจเรียกชื่อเด็ก หรือขอให้เด็กช่วยเหลือ เช่น ช่วยคุณครูแจกของให้เพื่อน ๆ ช่วยคุณครูเก็บของที่ไม่เป็นระเบียบเข้าที่ หรือช่วยเหลือเพื่อน ๆ คนอื่นในการทำกิจกรรม แต่ต้องไม่แสดงความไม่พอใจ หรือใช้น้ำเสียงที่ดุดันขณะขอความช่วยเหลือจากเด็ก
- กล่าวคำชมเชย หรือให้รางวัลเด็กเมื่อเด็กทำงานได้สำเร็จ เมื่อเด็กสามารถทำในสิ่งที่ได้รับมอบหมายได้สำเร็จ เสร็จสิ้น คุณครูควรกล่าวชมเชย หรือมอบของรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อเป็นกำลังใจและเป็นแรงจูงใจในการทำตามสิ่งที่ได้รับมอบหมายให้ประสบความสำเร็จ
- ที่บ้าน
- การรักษาด้วยยา
- กลุ่มยาที่กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทและสมอง เช่น กลุ่มยา Methylphenidate ซึ่งเป็นยาที่มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพในการเข้าไปกระตุ้นการหลั่งของสารสื่อประสาท เพื่อช่วยเพิ่มสมาธิให้กับเด็ก โดยหลังจากที่มีการรักษาโดยการให้ยาแล้ว เด็กจะมีสมาธิจดจ่อในการเรียนมากขึ้น มีความสามารถในการควบคุมตนเองได้ดีขึ้น และมีโอกาสฝึกทักษะในการเข้าสังคมกับเพื่อน ๆ และคนรอบข้างให้ได้ดีขึ้น
- กลุ่มยาที่ไม่ออกฤทธ์กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทและสมอง อาจใช้เป็นยาที่ให้เสริมจากกลุ่มยาที่กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทและสมอง หรือให้ในเด็กที่ไม่สามารถทนต่ออาการข้างเคียงของกลุ่มยากระตุ้นการทำงานของระบบประสาทและสมอง เช่น อาการปวดศรีษะ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หรือนอนหลับได้ยาก
โดยแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัย และพิจารณาการใช้ยาแต่ละชนิด รวมทั้งติดตามประเมินผลในการตอบสนองต่อการรักษาและอาการข้างเคียงในเด็กอย่างใกล้ชิด เนื่องจากในเด็กแต่ละคนอาจมีการตอบสนองต่อยาที่แตกต่างกัน การักษาโรคสมาธิสั้นจะประสบความสำเร็จได้ด้วยความช่วยเหลือร่วมมือกันระหว่างคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และคุณครูที่โรงเรียนที่จะช่วยให้เด็กหายจากโรคสมาธิสั้น มีพัฒนาการต่อเนื่อง และเติบโตอย่างสดใส แข็งแรง และมีประสิทธิภาพได้
หากสงสัยว่าลูกเป็นโรคสมาธิสั้น ควรทำอย่างไร?
โรคสมาธิสั้น เป็นโรคที่สามารถเป็นได้ตั้งแต่วัยเด็กถึงวัยผู้ใหญ่ โดยอาการของโรคสามารถส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตโดยรวมและความเป็นปกติสุขในระยะยาว
หากสงสัยว่าลูกอาจมีอาการของโรคสมาธิสั้น ให้ผู้ปกครองคอยสังเกตอาการ และรวบรวมพฤติกรรมของลูกเพื่อเข้ารับการปรึกษากับกุมารแพทย์ผู้ชำนาญการในการทำการวินิจฉัยโรค โดยแพทย์จะทำการซักประวัติ และตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุแห่งโรคและวางแผนการรักษาต่อไป การเข้ารับการวินิจฉัยอาการแต่เนิ่น ๆ จะทำให้มีโอกาสสูง ที่จะประสบความสำเร็จในการรักษา
คำถามที่พบบ่อย (FAQ)
- คำถาม: สมาธิสั้นในเด็ก คืออะไร?
คำตอบ: โรคสมาธิสั้น เกิดจากความบกพร่องในการทำงานของระบบประสาทพัฒนาการที่ทำหน้าที่ในการควบคุมสมาธิ การจดจ่อ การควบคุมตนเอง หรือการยับยั้งชั่งใจ เป็นภาวะเรื้อรังที่สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่วัยเด็ก สืบเนื่องจนถึงวัยผู้ใหญ่ - คำถาม: สมาธิสั้น เกิดจากอะไร?
คำตอบ: โรคสมาธิสั้น มีสาเหตุ มาจากการที่สารสื่อประสาทที่บริเวณสมองส่วนหน้าบางชนิด เช่น โดพามีน หรือ นอร์เอพิเนฟริน ที่หลั่งออกมาน้อยกว่าปกติ สารเหล่านี้ทำหน้าที่ในการควบคุมเรื่องสมาธิจดจ่อ การควบคุมตนเองทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ - คำถาม: อาการของสมาธิสั้น เป็นอย่างไร?
คำตอบ: อาการของโรคสมาธิสั้นแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มอาการหลัก 1. อาการขาดสมาธิอย่างต่อเนื่อง เช่น ไม่สามารถใช้สมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน ไม่มีสมาธิในการรับฟัง ไม่ตั้งใจฟังคู่สนทนา ไม่สามารถจัดการการทำงาน จัดลำดับในการทำงาน 2.อาการขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง ซุกซนผิดปกติ และอยู่ไม่นิ่ง เช่น พูดไปเรื่อย พูดไม่หยุด ชวนเพื่อนคุยขณะเรียน ส่งเสียงดัง ไม่มีความอดทนในการรอคอย 3. อาการร่วมกันทั้งการการขาดสมาธิ ขาดความสามารถในการควบคุมตนเองและอยู่ไม่นิ่ง - คำถาม: สมาธิสั้น รักษาได้ไหม?
คำตอบ: โรคสมาธิสั้น สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการรักษาแบบผสมผสาน ผู้ปกครองสามารถสังเกตุอาการบุตรหลาน หากสงสัยว่ามีอาการของโรคสมาธิสั้น ควรพาบุตรหลานเข้าพบกุมารแพทย์ผู้ชำนาญการ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และวางแผนการรักษาที่ดีที่สุด โดยกุมารแพทย์จะทำการวินิจฉัยจากหลักเกณฑ์ เช่น วิเคราะห์พฤติกรรม วินิจฉัยที่มาของโรคและสาเหตุ และวินิจฉัยโรคร่วม หรือโรคอื่นที่อาจเกิดขึ้นร่วมกัน เช่น โรคซึมเศร้า ความเครียด หรือความวิตกกังวล - คำถาม: หากสงสัยว่าลูกเป็นโรคสมาธิสั้น ควรทำอย่างไร?
คำตอบ: โรคสมาธิสั้น เป็นโรคที่สามารถเป็นได้ตั้งแต่วัยเด็กถึงวัยผู้ใหญ่ โดยอาการของโรคสามารถส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตโดยรวมและความเป็นปกติสุขในระยะยาว หากสงสัยว่าลูกอาจมีอาการของโรคสมาธิสั้น ให้ผู้ปกครองคอยสังเกตอาการ และรวบรวมพฤติกรรมของลูกเพื่อเข้ารับการปรึกษากับกุมารแพทย์ผู้ชำนาญการในการทำการวินิจฉัยโรค ตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุและวางแผนการรักษาต่อไป