เลือกหัวข้อที่อ่าน
เปลือกตาอักเสบ
เปลือกตาอักเสบ (Blepharitis) เป็นอาการอักเสบเรื้อรังบริเวณเปลือกตา โดยต่อมไขมันบริเวณปลือกตาทั้งสองข้างอุดตันจึงทําให้เกิดการระคายเคือง บวมแดง เปลือกตาอักเสบไม่ใช่โรคติดต่อและไม่ส่งผลกระทบต่อการมองเห็น แต่อาจรักษาให้หายขาดได้ยาก
เปลือกตาอักเสบเป็นอาการที่พบได้บ่อยและเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ผู้ที่มีผิวมันหรือปัญหาผิวหนังมีแนวโน้มที่จะเกิดโรคมากกว่า เพศหญิงยังมีความเสี่ยงที่จะมีอาการเปลือกตาอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียสแตฟีโลค็อกคัส (Staphylococcal blepharitis) สูงกว่าเพศชาย
ชนิดของโรคตาอักเสบ
- เปลือกตาอักเสบส่วนหน้า (Anterior Blepharitis) โดยจะมีขี้ตาติดบนขนตาหรือมีอาการบวมแดงบริเวณที่ขนตาขึ้น
- เปลือกตาอักเสบส่วนหลัง (Posterior Blepharitis) เกิดจากต่อมไขมันใต้เปลือกตา (Meibomian Gland) ทำงานผิดปกติ
Blepharitis vs Normal
อาการเปลือกตาอักเสบ
- บริเวณเปลือกตามันและบวม
- มีอาการคัน รู้สึกแสบร้อน แดง และระคายเคืองในดวงตา
- มีขี้ตาติดบนขนตาและหัวตา
- ตาแห้ง
- น้ำตาไหลมากหรือกระพริบตาบ่อย
อาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
- ขนตาหลุดร่วง หากเกิดขึ้นเพียงข้างเดียวอาจต้องระวังว่าเป็นผลมาจากมะเร็งเปลือกตา
- ดวงตาแพ้แสง
- ตาพร่ามัว
- ขนตาทิ่มตา
สาเหตุของเปลือกตาอักเสบ
ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการเปลือกตาอักเสบ แต่สาเหตุอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยดังต่อไปนี้
- อาการแพ้เครื่องสำอาง ยา หรือน้ำยาทำความสะอาดคอนแทคเลนส์
- ต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตัน
- ตาแห้ง
- ไรขนตา
- การติดเชื้อ
- โรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย (Rosacea)
- โรคผื่นแพ้ต่อมไขมันที่ผิวหนัง (Seborrheic dermatitis)
ปัจจัยเสี่ยงเป็นเปลือกตาอักเสบ
- การใช้ยารักษามะเร็ง
- การใส่คอนแทคเลนส์
- โรคเบาหวาน
- สภาพแวดล้อมที่อากาศแห้ง เช่น อยู่ในห้องปรับอากาศเป็นเวลานาน
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหรือวัยหมดประจําเดือน
- สารระคายเคือง เช่น ฝุ่นหรือสารเคมี
- คราบเครื่องสําอางที่ทำความสะอาดออกไม่หมด
- ผิวมัน
- จุลินทรีย์บนผิวหนัง
การตรวจวินิจฉัยเปลือกตาอักเสบ
- การซักประวัติและการตรวจร่างกายเพื่อวินิจฉัยชนิดและความรุนแรงของโรค
- การเพาะเชื้อสารคัดหลั่งจากดวงตาเพื่อตรวจสอบชนิดและจํานวนของแบคทีเรีย
- การวัดปริมาณน้ำตาเพื่อตรวจดูว่าสาเหตุเกิดจากอาการตาแห้งหรือไม่
- การตรวจขนตาสําหรับดูไรขนตา
- การตรวจชิ้นเนื้อเปลือกตาเพื่อตัดสาเหตุเรื่องมะเร็งผิวหนังหรือความผิดปกติของเซลล์
การรักษาเปลือกตาอักเสบ
- การประคบอุ่นและทำความสะอาดดวงตา
- การใช้น้ำตาเทียมเพื่อรักษาอาการตาแห้ง
- ยาปฏิชีวนะสำหรับทาเฉพาะที่ เช่น ยาหยอดตา ครีม และขี้ผึ้ง ทาบนเปลือกตาเพื่อบรรเทาอาการและรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์อาจให้รับประทานยาปฏิชีวนะหากยาหยอดตาไม่ช่วยให้อาการดีขึ้น
- ยาหยอดตาหรือขี้ผึ้งแบบสเตียรอยด์เพื่อรักษาอาการอักเสบ
- ยาหยอดตาไซโคลสปอรีน (Cyclosporine)
- การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุของอาการ เช่น โรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย (Rosacea) หรือโรคผื่นแพ้ต่อมไขมันที่ผิวหนัง (Seborrheic dermatitis)
การดูแลตัวเองที่บ้าน
โรคเปลือกตาอักเสบเป็นโรคเรื้อรังและมักเกิดขึ้นซ้ำ ๆ จึงควรทําความสะอาดเปลือกตาทุกวัน ตามคําแนะนําดังต่อไปนี้
- ล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสดวงตา
- ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นบิดหมาดหรือแผ่นประคบร้อนวางบนเปลือกตาประมาณ 5 นาที
- ค่อย ๆ ถูและนวดเปลือกตาด้วยน้ำยาสำหรับล้างเปลือกตา เพื่อขจัดคราบสกปรกและคราบน้ำมัน
- ล้างทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาด
ระหว่างนี้ควรงดแต่งหน้าบริเวณดวงตาหรืองดการใส่คอนแทคเลนส์
การเตรียมตัวก่อนพบแพทย์
จดบันทึกอาการที่มี ยา หรืออาหารเสริมที่ใช้ รวมไปถึงคำถามที่อยากถามแพทย์
ตัวอย่างคําถาม เช่น
- อะไรเป็นสาเหตุของโรคเปลือกตาอักเสบ
- ต้องทำการตรวจสอบเพิ่มเติมหรือไม่
- สามารถใส่คอนแทคเลนส์หรือแต่งหน้าได้หรือไม่
คำถามที่พบบ่อย (FAQ)
- คำถาม: เปลือกตาอักเสบ เกิดจากอะไร?
คำตอบ: เปลือกตาอักเสบ เป็นอาการอักเสบเรื้อรังบริเวณเปลือกตา โดยต่อมไขมันบริเวณปลือกตาทั้งสองข้างอุดตันจึงทําให้เกิดการระคายเคือง บวมแดง เปลือกตาอักเสบไม่ใช่โรคติดต่อและไม่ส่งผลกระทบต่อการมองเห็น แต่อาจรักษาให้หายขาดได้ยาก - คำถาม: เปลือกตาอักเสบ มีอาการอย่างไร?
คำตอบ: บริเวณเปลือกตาบวม มีอาการคัน อาจแสบร้อน แดง ระคายเคืองในดวงตา มีขี้ตาติดบนขนตาและหัวตา ตาแห้ง น้ำตาไหลมาก หรือกระพริบตาบ่อย - คำถาม: สาเหตุของเปลือกตาอักเสบ คืออะไร?
คำตอบ: ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการเปลือกตาอักเสบ แต่สาเหตุอาจเกี่ยวข้องกับอาการแพ้เครื่องสำอาง ยา น้ำยาทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ หรือต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตัน การติดเชื้อ หรือโรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย โรคผื่นแพ้ต่อมไขมันที่ผิวหนัง