คีโม เคมีบำบัด ต้านมะเร็ง - Chemotherapy: Treat, Fight Cancers

คีโม เคมีบำบัด (Chemotherapy) สู้มะเร็ง วิธีให้ ผลข้างเคียง

คีโม (Chemotherapy) หรือ เคมีบำบัด คือ วิธีการรักษามะเร็งด้วยกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งในร่างกาย พร้อมทั้งยับยั้งไม่ให้เซลล์มะเร็งแบ่งตัว เติบโต แพร่กระจาย และตายลงในที่สุด การให้คีโม ช่วยกำจัดเซลล์มะเร็ง

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


คีโม เคมีบำบัด (Chemotherapy) ต้านมะเร็ง

คีโม (Chemotherapy) หรือ เคมีบำบัด คือ วิธีการรักษามะเร็งด้วยกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งในร่างกาย พร้อมทั้งยับยั้งไม่ให้เซลล์มะเร็งแบ่งตัว เติบโต แพร่กระจาย และตายลงในที่สุด การให้คีโม ช่วยกำจัดเซลล์มะเร็ง ลดจำนวนเซลล์มะเร็ง และป้องกันการเป็นซ้ำ โดยแพทย์อาจรักษามะเร็งด้วยการให้คีโมร่วมกับการฉายแสง ยามุ่งเป้า หรือการผ่าตัดเพื่อเร่งกำจัดเซลล์มะเร็งในร่างกาย ในปัจจุบัน ยาคีโม หรือ ยาเคมีบำบัด ได้ถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพกว่าเดิมหลายเท่าตัว ทั้งยังช่วยลดผลข้างเคียงจากยาคีโมรุ่นก่อน เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว หรือผมร่วง การพบแพทย์ผู้ชำนาญการด้านมะเร็งทันทีที่ทราบว่าเป็นมะเร็งเพื่อร่วมพูดคุย ปรึกษา และพิจารณาทางเลือกในการรักษา จะช่วยให้สามารถรักษามะเร็งได้อย่างทันท่วงทีและมีโอกาสหายขาดจากมะเร็ง

เป้าหมายของการรักษาด้วยคีโม

  1. เพื่อให้หายขาดจากมะเร็ง (Cure) เป้าหมายหลักของการให้คีโม หรือ เคมีบำบัด คือ การหายขาดจากโรคมะเร็ง และไม่กลับมาเป็นมะเร็งซ้ำ รวมถึงสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติและมีคุณภาพ 
  2. เพื่อให้สามารถควบคุมโรคได้ (Control) การให้คีโมเล็งผลให้เซลล์มะเร็งถูกทำลาย ยับยั้งเซลล์มะเร็งไม่ให้แพร่กระจายสู่อวัยวะอื่น และทำให้มะเร็งหดตัวลง คีโมช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิต และช่วยให้ผู้รับการรักษามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
  3. เพื่อประคับประคอง (Palliative care) ในผู้ป่วยมะเร็งระยะที่ 3-4 ที่มะเร็งแพร่กระจายไปทั่วร่าง การให้คีโมช่วยบรรเทาความเจ็บปวด ยับยั้งไม่ให้มะเร็งแพร่กระจายสู่อวัยวะอื่น และช่วยประคับประคองให้สามารถใช้ชีวิตได้ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

คีโม รักษาโรคอะไรบ้าง

คีโม หรือเคมีบำบัดใช้รักษาโรคมะเร็งเป็นหลัก ได้แก่

  1. มะเร็งปฐมภูมิ (Primary cancer) หรือ มะเร็งในระยะแรกเริ่มที่เซลล์มะเร็งยังไม่ลุกลามแพร่กระจายออกไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
  2. มะเร็งระยะลุกลาม (Metastatic cancer) คือ มะเร็งในระยะที่ 3 และ 4 ที่เซลล์มะเร็งลุกลามแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย

คีโม มีวิธีการใช้อย่างไร - How Is Chemotherapy Drug Used

คีโม มีวิธีการใช้อย่างไร

แพทย์มีวิธีการใช้คีโมเพื่อรักษาโรคมะเร็งดังต่อไปนี้

  1. ใช้คีโมเป็นหลักเพียงอย่างเดียวในการรักษา (Induction chemotherapy) สำหรับมะเร็งบางชนิดที่ตอบสนองต่อเคมีบำบัดได้ดี เช่น มะเร็งอัณฑะ มะเร็งเซลล์ปอดชนิดเล็ก หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน
  2. ใช้คีโมร่วมก่อนการรักษามะเร็งเฉพาะที่ (Neoadjuvant chemotherapy) เช่น วิธีการผ่าตัด หรือการฉายแสง เพื่อทำให้รอยโรค เนื้องอก หรือมะเร็งหดตัวลดขนาดลงให้ได้มากที่สุด เพื่อให้สามารถควบคุมโรคได้ดี ลดอาการเจ็บป่วย และลดความเสี่ยงที่มะเร็งอาจลุกลามสู่อวัยวะอื่นให้ได้มากที่สุด
  3. ใช้คีโมร่วมหลังการรักษามะเร็งเฉพาะที่ (Adjuvant chemotherapy) เช่น การผ่าตัด หรือการฉายแสงเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งที่หลงเหลืออยู่หลังการผ่าตัดและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ เช่น มะเร็งลำไส้หรือมะเร็งเต้านมในระยะแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง แต่ยังไม่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ
  4. ใช้คีโมเฉพาะอวัยวะที่เป็นมะเร็ง (Local chemotherapy) เป็นการให้คีโมเฉพาะจุดบริเวณอวัยวะที่มีรอยโรค เนื้องอก หรือมะเร็ง เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง และบรรเทาอาการเกี่ยวเนื่องด้วยโรคมะเร็ง เช่น การให้เคมีบำบัดผ่านทางช่องท้องเพื่อรักษามะเร็งรังไข่หรือมะเร็งทางเดินอาหาร การให้เคมีบำบัดผ่านช่องทางเดินน้ำไขสันหลังเพื่อรักษามะเร็งที่มีการกระจายตัวในช่องเยื่อหุ้มไขสันหลัง หรือให้เคมีบำบัดผ่านทางช่องเยื่อปอด เพื่อรักษามะเร็งเซลล์ปอดชนิดเล็ก

วิธีการให้คีโม

วิธีการให้คีโม หรือเคมีบำบัดมีหลายวิธี โดยแพทย์จะบริหารรูปแบบการให้คีโมที่ดีที่สุด และเหมาะสมเฉพาะบุคคลเพื่อให้ได้ผลในการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด วิธีการให้คีโม มีดังนี้

  1. เคมีบำบัดชนิดฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ (IV Chemotherapy) เป็นการให้ยาเคมีบำบัดทางหลอดเลือดดำ โดยให้ทางเส้นเลือดดำส่วนปลาย หรือ ผ่านพอร์ต (implanted port) พอร์ต เป็นอุปกรณ์สายสวนหลอดเลือดที่ถูกฝังเข้าใต้ผิวหนังเพื่อช่วยในการนำสารน้ำ สารอาหาร  ยาเคมีบำบัด ผ่านเข้าสู่ร่างกายแทนการให้ทางหลอดเลือดดำส่วนปลาย
  2. เคมีบำบัดชนิดรับประทาน (Oral Chemotherapy) เป็นยาเคมีบำบัดชนิดเม็ดรับประทาน เช่น ยาเคมีบำบัดสำหรับรักษามะเร็งเต้านม หรือ มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
  3. เคมีบำบัดชนิดฉีดเข้าทางหลอดเลือดแดง (Intra-arterial Chemotherapy) เป็นการใหยาเคมีบำบัดทางหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงอวัยวะที่มีก้อนมะเร็งโดยตรง เช่น มะเร็งตับ มะเร็งที่ลุกลามไปยังตับ โดยใช้การรักษาด้วยวิธี Transarterial Chemoembolization (TACE) หรือมะเร็งจอตาในเด็ก    
  4. เคมีบำบัดชนิดฉีดเข้าทางเยื่อบุช่องท้อง (Intraperitoneal Chemotherapy: IP) เป็นการให้ยาเคมีบำบัดโดยการฉีดผ่านเยื่อบุช่องท้องที่อุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิร่างกาย (HIPEC: Hyperthermic intraperitoneal chemotherapy) เพื่อรักษามะเร็งบางชนิดที่อาจลุกลามแพร่กระจายไปยังเยื่อบุช่องท้อง เช่น มะเร็งรังไข่ มะเร็งลำไส้ มะเร็งตับ หรือมะเร็งกระเพาะอาหาร
  5. เคมีบำบัดชนิดทาภายนอก (Topical Chemotherapy) เพื่อรักษามะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งผิวหนังที่มีรอยโรคบนผิวหนังชั้นนอกสุด ร่วมกับการผ่าตัดมะเร็งผิวหนังด้วยวิธีโมหส์ เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็ง

ยาคีโม มีอะไรบ้าง

ยาคีโม หรือ ยาเคมีบำบัดมีมากกว่า 100 ชนิด และมีกลไกการทำงานในการออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ที่แตกต่างกัน คีโมประเภทหลัก ๆ เช่น

  1. กลุ่มอัลคิเลท (Alkylating agents) เป็นกลุ่มยาเคมีบำบัดที่ออกฤทธิ์เข้าไปจับกับ DNA ของเซลล์มะเร็ง ทำให้เซลล์มะเร็งแบ่งตัวไม่ได้และตายลงในที่สุด กลุ่มอัลคิเลทสามารถรักษามะเร็งได้หลายชนิด เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ ที่มีทั้งรูปแบบฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือชนิดรับประทาน
  2. กลุ่มยาต้านเมทาบอไลท์ (Antimetabolites) เป็นกลุ่มยาเคมีบำบัดที่ออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการทำงานของเอมไซม์ที่สังเคราะห์ DNA หรือ RNA ทำให้เซลล์มะเร็งหยุดการเจริญเติบโตและตาย กลุ่มยาแอนติเมทาบอไลท์รักษามะเร็งได้หลายชนิด เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งกระเพาะอาหาร หรือมะเร็งเซลล์ปอดชนิดเซลล์ตัวโต
  3. กลุ่มยายับยั้งเอนไซม์โทโพไอโซเมอเรส (Topoisomerases inhibitors) เป็นกลุ่มยาเคมีบำบัดที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอมไซม์ Topoisomerase I ทำให้ DNA เสียหายและไม่สามารถสร้างคู่สายหรือลอกเลียนแบบ DNA ได้และตายลงในที่สุด แพทย์มักใช้กลุ่มยายับยั้งเอนไซม์โทโพไอโซเมอเรสร่วมกับยาอื่น ๆ เพื่อรักษามะเร็ง เช่น มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งอัณฑะ

การเตรียมตัวก่อนการให้คีโม

การเตรียมตัวล่วงหน้าก่อนการให้คีโมมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการช่วยให้รับมือกับการรักษา และช่วยลดผลข้างเคียงจากการให้คีโมได้ การเตรียมตัวก่อนการให้คีโม ได้แก่

  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นการทานอาหารประเภทโปรตีนเพื่อป้องกันภาวะเม็ดเลือดต่ำจากการรับยา
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ 
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ไม่เครียด
  • งดการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ยาสมุนไพร หรือสารเสพติดทุกชนิด
  • ตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน (สำหรับผู้ที่รับเคมีบำบัด ร่วมกับรังสีรักษาบริเวณศีรษะและลำคอ)
  • แจ้งให้แพทย์ทราบล่วงหน้า หากมีโรคประจำตัว หรือใช้ยารักษาโรคประจำตัว
  • จัดสมดุลชีวิตระหว่างการทำงาน การออกกำลังกาย และการพักผ่อน

ขั้นตอนการให้คีโม - What Is the Chemotherapy Procedure

ขั้นตอนการให้คีโม

ผู้ที่แพทย์พิจารณาให้คีโมทางหลอดเลือด แพทย์จะฉีดยาเคมีบำบัดเข้าหลอดเลือดดำหรือหลอดเลือดแดงผ่านทางเข็มฉีดยาหรือสายสวนเข้าเส้นเลือดโดยตรงสู่ร่างกาย โดยในแต่ละรอบการรักษา แพทย์จะพิจารณาการบริหารขนาดยา ทั้งการให้ยาเคมีบำบัดเพียงชนิดเดียว หรือ ผสมผสานกับยาชนิดอื่น ๆ รวมกันเพื่อให้ออกฤทธิ์เสริมกันหรือต้านกันเพื่อช่วยลดผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัด รวมถึงพิจารณาระยะเวลาในการให้ยาเคมีบำบัดที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลให้มากที่สุดอีกด้วย

การปฏิบัติตนระหว่างการให้คีโม

  • ยาเคมีบำบัดส่วนใหญ่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น แพทย์จะให้ยาฉีดป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนประมาณ 30 นาที ก่อนรับยาเคมีบำบัด
  • ยาเคมีบำบัดทุกชนิดอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ เช่น อาการแน่นหน้าอก หัวใจเต้นผิดปกติ ใจสั่น ปวดหัวหรือเวียนศีรษะ หายใจติดขัด ผู้ที่มีอาการดังกล่าว ให้รีบแจ้งแพทย์หรือพยาบาลทันที
  • ยาเคมีบำบัดบางชนิดมีความระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อสูง หากมีอาการเจ็บแสบผิดปกติระหว่างให้ยา ควรรีบแจ้งให้แพทย์และพยาบาลทราบทันที
  • แพทย์และพยาบาลอาจให้ผู้รับเคมีบำบัดอมน้ำแข็งระหว่างการให้ยา เพื่อป้องกันอาการข้างเคียงจากเยื่อบุช่องปากอักเสบ

การดูแลตนเองหลังการให้คีโม

  • หากมีไข้สูง หรือมีอาการติดเชื้อ ให้รีบพบแพทย์
  • หลังได้รับคีโมประมาณ 2-3 วัน อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน พะอืดพะอม โดยแพทย์จะให้ยาป้องกันอาการกลับไปทานที่บ้าน
  • หากมีอาการเจ็บหรือปวดบริเวณที่ฉีดยา ให้ประคบเย็น หรือประคบอุ่น ทุก ๆ 4-6 ชั่วโมง ครั้งละประมาณ 15 นาที ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับชนิดของยาเคมีบำบัด หากมีอาการปวดร่วมกับอาการบวม แดง แสบร้อน หรือมีสารคัดหลั่งออกจากจุดเข็มเจาะ ให้รีบกลับมาพบแพทย์
  • ช่วงสัปดาห์แรกหลังรับยาคีโมอาจมีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง โดยอาการต่าง ๆ จะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ
  • ผู้ที่รับคีโมส่วนใหญ่อาจเกิดอาการผมร่วง ในช่วงแรกอาจรู้สึกเจ็บหนังศีรษะ การตัดผมสั้นอาจทำให้รู้สึกสบายและดูแลง่ายขึ้น โดยหลังจากหยุดรับยาคีโมแล้ว ผมจะค่อย ๆ กลับงอกขึ้นมาได้ใหม่ดังเดิม
  • หากมีอาการเจ็บหรือแสบร้อนในปาก ควรเปลี่ยนแปรงสีฟันให้เป็นชนิดขนอ่อนนุ่มและบ้วนปากบ่อย ๆ ด้วยน้ำสะอาดเพื่อช่วยรักษาความสะอาดในช่องปาก ลดการติดเชื้อ และห้ามใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพราะอาจยิ่งทำให้เกิดการระคายเคือง 
  • สีเล็บมือ เล็บเท้าอาจคล้ำลง และผิวหนังอาจไวต่อแสงแดดมากขึ้น
  • ให้รับประทานอาหารปรุงสุก สะอาด ให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นอาหารจำพวกโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ ถั่ว นม 
  • ออกกำลังกายตามความเหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • งดการสูบบุหรี่ งดแอลกอฮอล์ งดยาเสพติดทุกชนิด และไม่ควรรับประทานยาสมุนไพร

ให้คีโม ใช้เวลากี่ชั่วโมง - What Is the Chemotherapy Procedure

ให้คีโม ใช้เวลากี่ชั่วโมง

ระยะเวลาในการให้คีโมของแต่ละบุคคลแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งและจุดประสงค์ในการรักษา ระยะเวลาในการให้คีโมโดยเฉลี่ยประมาณ 3-6 เดือน ระยะห่างแต่ละรอบอาจแตกต่างกันขึ้นกับสูตรการรักษาและชนิดของมะเร็ง โดยแพทย์อาจพิจารณาให้คีโมทุก ๆ 2 สัปดาห์ หรือทุก ๆ 3 สัปดาห์ ระยะเวลาแต่ละรอบไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับชนิดของยาคีโม บางชนิดอาจใช้ระยะเวลาในการให้ประมาณ 30 นาที ในขณะที่บางชนิด อาจต้องให้ยาที่โรงพยาบาลอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง

การให้คีโม มีผลข้างเคียงอย่างไร

ยาเคมีบำบัด ออกฤทธิ์มุ่งเป้าไปที่เซลล์อวัยวะร่างกายที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งเซลล์ปกติและเซลล์มะเร็ง ดังนั้น ยาเคมีบำบัดจึงส่งผลให้เซลล์ปกติในร่างกายได้รับผลข้างเคียงตามไปด้วย เซลล์ร่างกายที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น เซลล์เม็ดเลือด เซลล์ผิวหนัง รูขุมขน หรือเซลล์เยื่อบุทางเดินอาหาร เซลล์เยื่อบุปาก ทำให้เซลล์ปกติเหล่านี้ได้รับผลข้างเคียงในระหว่างการให้เคมีบำบัดมากกว่าเซลล์ส่วนอื่นของร่างกาย

ผลข้างเคียงที่พบบ่อยจากการให้คีโม หรือยาเคมีบำบัด เช่น  อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ผมร่วง

ผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัดที่ต้องรีบแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากมีอาการ เช่น อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส หรือต่ำกว่า 36 องศาเซลเซียส ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หายใจลำบาก แผลในปาก ท้องเสีย กลืนน้ำลายแล้วเจ็บคอ ปวดบวม มีรอยช้ำ บวมแดงที่จุดเข็มเจาะ หรือมีสารคัดหลั่งไหลออกจากจุดเข็มเจาะ

คีโม ช่วยให้หายจากมะเร็งไหม

คีโม หรือ เคมีบำบัด ถือเป็นหนึ่งในวิธีการรักษามะเร็งที่มีประสิทธิภาพและช่วยให้หายขาดจากโรคมะเร็งได้ เนื่องจากเซลล์มะเร็งหลายชนิดไวต่อยาเคมีบำบัดที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว ยาเหล่านี้จะออกฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งในร่างกายทันที พร้อมทั้งเร่งยับยั้งการแบ่งตัวแบบทวีคูณไร้ขีดจำกัด ทำให้เซลล์มะเร็งไม่สามารถแบ่งตัวต่อไปได้และตายลงในที่สุด ผู้ป่วยมะเร็งบางชนิดจึงสามารถหายขาดจากโรคมะเร็งได้ด้วยยาเคมีบำบัด

คีโม เคมีบำบัด รพ. เมดพาร์ค

คีโม เคมีบำบัด รพ. เมดพาร์ค

ศูนย์อายุรศาสตร์โรคมะเร็ง และโลหิตวิทยา รพ. เมดพาร์ค กรุงเทพ ประเทศไทย นำโดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการด้านมะเร็งวิทยาและโลหิตวิทยาระดับอาจารย์แพทย์ ร่วมกับทีมแพทย์สหสาขาในการรักษาโรคมะเร็งทุกชนิดแบบองค์รวม รวมถึงมะเร็งที่มีความยากซับซ้อน หรือโรคมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการรักษาด้วยมาตรฐานสากลระดับ JCI ด้วยการบูรณาการการรักษาอันหลากหลาย ทั้งการให้ยาเคมีบำบัด ยาภูมิคุ้มกันบำบัด ยามุ่งเป้า รังสีรักษา การปลูกถ่ายไขกระดูกหรือสเต็มเซลล์ หรือการผ่าตัด พร้อมด้วยอุปกรณ์การแพทย์และเทคโนโลยีอันทันสมัย และบุคคลากรทางการแพทย์ที่คอยให้การติดตามผลหลังการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้รับการรักษาหายขาดจากโรคมะเร็ง ช่วยลดภาวะแทรกซ้อน ป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ ช่วยให้ผู้รับการรักษามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

คีโม เคมีบำบัด รพ. เมดพาร์ค - Chemotherapy at Med Park Hospital

คำถามที่พบบ่อย

  • ให้คีโม เจ็บไหม
    ให้คีโม หรือ เคมีบำบัดอาจทำให้เกิดอาการปวดประสาท (Neuropathic pain) ซึ่งเกิดจากการบาดเจ็บ เสียหายของเส้นประสาทส่วนปลายและส่วนกลาง และทำให้รู้สึกเหน็บชา แสบร้อน เจ็บแปล๊บเหมือนมีหนามทิ่มตำ หรือปวดแปลบที่มือและเท้า
  • ยาคีโมแบบกิน มีผลข้างเคียงอย่างไร
    เช่นเดียวกับยาคีโมแบบฉีด ยาคีโมแบบกินอาจมีผลข้างเคียง เช่น
    • อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า
    • สีผิวคล้ำ ฝ่ามือฝ่าเท้ามีสีคล้ำขึ้น
    • คลื่นไส้ อาเจียน
    • มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่
    • ปากแห้ง คอแห้ง

ผู้ที่มีทานยาคีโมแบบกินแล้วมีอาการผิดปกติอย่างมากให้รีบพบแพทย์เพื่อตรวจอาการ

  • ให้คีโมผมร่วงทุกคนไหม
    ยาคีโมหรือยาเคมีบำบัดทุกชนิดไม่ได้ทำให้ผมร่วง ในความเป็นจริงมีเพียงยาเคมีบำบัดบางชนิดเท่านั้นที่ทำให้ผมร่วงหรือผมบางเพียงเล็กน้อย ในปัจจุบัน แพทย์ได้ใช้เทคนิคป้องกันไม่ให้ยาไปโดนเซลล์ผมโดยการให้ผู้รับการรักษาใส่ Cooling scalp หรือ Cooling cap ครอบศีรษะเพื่อรักษาความเย็นของหนังศีรษะ ช่วยทำให้เส้นเลือดหดตัว และทำให้ยาไหลเวียนไปไม่ถึงหนังศีรษะจึงทำให้ผมร่วงน้อยลงในที่สุด
  • ให้คีโมต้องนอนโรงพยาบาลไหม
    การให้คีโม หรือยาเคมีบำบัด มีทั้งแบบผู้ป่วยนอกที่ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล และที่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการและผลข้างเคียงจากการให้ยา เช่น ยาเคมีบำบัดที่มีความเข้มข้นของยาสูงอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือยาเคมีบำบัดประเภทที่ร่วมหรือไม่ร่วมกับการปลูกถ่ายไขกระดูกหรือสเต็มเซลล์ นอกจากนี้ ในการรักษามะเร็งบางชนิดอาจมีความจำเป็นต้องให้ยาเคมีบำบัดต่อเนื่องติดกันหลายวันเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดี จึงมีความจำเป็นที่ผู้รับการรักษาต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อให้การติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
  • มะเร็งระยะไหน ต้องให้คีโม
    คีโม หรือ เคมีบำบัดสามารถใช้รักษามะเร็งได้ทุกระยะ ตั้งแต่ระยะที่ 1 จนถึงระยะที่ 4  โดยแพทย์จะพิจารณาการให้คีโมจาก ระยะของมะเร็งว่าอยู่ในระยะแรกเริ่มหรือระยะลุกลาม รวมถึงชนิดของมะเร็ง ตำแหน่งของมะเร็ง และสุขภาพโดยรวมของผู้เข้ารับการรักษา เช่น แพทย์อาจพิจารณาการให้คีโมแก่ผู้ที่ตรวจพบกลุ่มมะเร็งระบบเลือด มะเร็งอัณฑะ หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน หรือพิจารณาการให้เคมีบำบัดเพื่อยับยั้งไม่ให้มะเร็งพัฒนาสู่ระยะต่อไป เช่น มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกระยะที่ 1 (ระยะ IA) ที่มะเร็งยังจำกัดตัวอยู่ที่มดลูก การให้คีโมตั้งแต่ระยะที่ 1 จะช่วยยับยั้งไม่ให้มะเร็งพัฒนาเข้าสู่ระยะที่ 2, 3 และ 4 (ระยะ IV) ซึ่งมะเร็งได้ลุกลามไปสู่อวัยวะอื่น ๆ แล้ว เช่น เยื่อบุกระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ หรือต่อมน้ำเหลือง

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 14 มิ.ย. 2024

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    พญ. สุรีรัตน์ จารุหทัย

    พญ. สุรีรัตน์ จารุหทัย

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
    การวินิจฉัยและวางแผนการรักษาโรคมะเร็ง, การรักษามะเร็งโดยเคมีบำบัด, การรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า, การรักษามะเร็งด้านอิมมูโนบำบัด, การดูแลแบบประคับประคอง
  • Link to doctor
    พญ. ศิยามล มิ่งมาลัยรักษ์

    พญ. ศิยามล มิ่งมาลัยรักษ์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
    การวินิจฉัยและวางแผนการรักษาโรคมะเร็ง, การรักษามะเร็งโดยเคมีบำบัด, การรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า, การรักษามะเร็งด้านอิมมูโนบำบัด, การดูแลแบบประคับประคอง
  • Link to doctor
    MedPark Hospital Logo

    รศ.พญ. นภา ปริญญานิติกูล

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
    อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
  • Link to doctor
    รศ.นพ.ดร. วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์

    รศ.นพ.ดร. วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
    การวินิจฉัยและวางแผนการรักษาโรคมะเร็ง, การรักษามะเร็งโดยเคมีบำบัด, การรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า, การรักษามะเร็งด้านอิมมูโนบำบัด, การดูแลแบบประคับประคอง
  • Link to doctor
    นพ. วิกรม เจนเนติสิน

    นพ. วิกรม เจนเนติสิน

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
    การวินิจฉัยและวางแผนการรักษาโรคมะเร็ง, การรักษามะเร็งโดยเคมีบำบัด, การรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า, การรักษามะเร็งด้านอิมมูโนบำบัด
  • Link to doctor
    นพ. สุดปรีดา ชัยนิธิกรรณ

    นพ. สุดปรีดา ชัยนิธิกรรณ

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
    การวินิจฉัยและวางแผนการรักษาโรคมะเร็ง, การรักษามะเร็งโดยเคมีบำบัด, การรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า, การรักษามะเร็งด้านอิมมูโนบำบัด, การดูแลแบบประคับประคอง
  • Link to doctor
    นพ. อุดมศักดิ์ บุญวรเศรษฐ์

    นพ. อุดมศักดิ์ บุญวรเศรษฐ์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
    • อายุรศาสตร์โรคเลือด
    • การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด
    มะเร็งทางโลหิตวิทยา, การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์