เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน
- ผ่าตัดส่องกล้องนิ่วในถุงน้ำดี
- ทำไมต้อง ผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีแบบส่องกล้อง
- อาการบ่งชี้โรคนิ่วในถุงน้ำดี
- ปัจจัยเสี่ยงโรคนิ่วในถุงน้ำดี
- ขั้นตอนการผ่าตัดส่องกล้องนิ่วในถุงน้ำดี
- ข้อดีของการผ่าตัดส่องกล้องนิ่วในถุงน้ำดี
- ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดส่องกล้องนิ่วในถุงน้ำดี
ผ่าตัดส่องกล้องนิ่วในถุงน้ำดี
การผ่าตัดส่องกล้องนิ่วในถุงน้ำดี (Laparoscopic cholecystectomy) คือ การรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดีด้วยวิธีการผ่าตัดส่องกล้องผ่านช่องท้องแบบแผลเล็กเพื่อนำถุงน้ำดีและนิ่วออก สาเหตุที่ทำให้มีอาการปวดท้องรุนแรงใต้ชายโครงขวา ท้องอืด แน่นท้อง ตัวเหลือง ตาเหลือง และคลื่นไส้ อาเจียน ที่หากปล่อยไว้อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอันตราย เช่น การติดเชื้อในถุงน้ำดี ถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน ท่อน้ำดีอุดตัน หรือแม้กระทั่งมะเร็งในถุงน้ำดี การผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีแบบส่องกล้อง ช่วยรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีขนาดแผลผ่าตัดที่เล็กมาก ช่วยลดภาวะแทรกซ้อน ใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นสั้น และช่วยรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดีให้หายขาดได้อย่างถาวร
ทำไมต้อง ผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีแบบส่องกล้อง
ในอดีต แพทย์จะรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดีด้วยวิธีการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง (Open cholecystectomy) เป็นแนวเฉียงใต้ชายโครงขวา หรือแนวดิ่งกลางหน้าท้องตรงลิ้นปี่เพื่อนำถุงน้ำดีและนิ่วออก ทำให้มีแผลผ่าตัดขนาดใหญ่เป็นแนวยาวประมาณ 10 ซม. ที่หายช้า สูญเสียเลือดมากกว่า มีความเจ็บปวดจากแผลผ่าตัดมากกว่า และใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นที่ รพ. นาน
การผ่าตัดส่องกล้องนิ่วในถุงน้ำดี (Laparoscopic cholecystectomy) ใช้เทคนิคการผ่าตัดแบบแผลเล็ก (Minimally invasive surgery: MIS) ที่มีขนาดแผลผ่าตัดเพียง 0.5-1 ซม. ช่วยให้แผลหายเร็ว สูญเสียเลือดน้อย เจ็บปวดจากแผลผ่าตัดน้อย และใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นที่ รพ. สั้นเพียง 1-2 วัน เท่านั้น
อาการบ่งชี้โรคนิ่วในถุงน้ำดี
- ปวดจุกเสียดแน่นท้องตรงลิ้นปี่ ใต้ชายโครงขวา และ/หรือร้าวไปที่สะบักขวา หรือไหล่ขวา
- ปวดท้องตรงลิ้นปี่ ใต้ชายโครงขวานานติดต่อกันหลายชั่วโมงแล้วหายไป โดยมักมีอาการหลังทานอาหารไขมันสูง
- ปวดท้องตรงลิ้นปี่ ใต้ชายโครงขวามากขึ้นจนตัวงอ ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้องอย่างมาก
- ปวดท้องรุนแรงตรงลิ้นปี่ใต้ชายโครงขวา กดแล้วเจ็บ มีไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้เป็นระยะ และอาเจียน
- ปวดท้องตรงลิ้นปี่ใต้ชายโครงขวารุนแรง มีไข้สูง ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีขาวซีด
- ขมปาก รู้สึกถึงรสโลหะในปาก กลืนลำบาก เจ็บคออย่างมาก ไม่อยากอาหาร
ปัจจัยเสี่ยงโรคนิ่วในถุงน้ำดี
- การทานอาหารไขมันสูง อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง
- ผู้ที่เป็นโรคอ้วน ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน
- ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปี ขึ้นไป
- การลดน้ำหนักลงอย่างรวดเร็ว
- การทานยาลดไขมันบางชนิด
- โลหิตจางบางชนิด เช่น ธาลัสซีเมีย
- พันธุกรรม มีประวัติบุคคลในครอบครัวเดียวกันเป็นนิ่วในถุงน้ำดี
- โรคเบาหวานที่ทำให้ระดับคอเลสเตอรอล หรือไตรกลีเซอไรด์ในร่างกายสูงขึ้น
- ผู้ที่ทานยาฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นประจำ หรือฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เพิ่มขึ้นเองขณะตั้งครรภ์
โรคในระบบทางเดินน้ำดีและตับอ่อน ที่รักษาได้ด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง
- นิ่วในถุงน้ำดี
- นิ่วในท่อน้ำดี
- ท่อน้ำดีอักเสบ
- ท่อน้ำดีตีบตัน
- ถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน
- ตับอ่อนอักเสบ
- เนื้องอกท่อน้ำดี
- มะเร็งถุงน้ำดี
ขั้นตอนการผ่าตัดส่องกล้องนิ่วในถุงน้ำดี
การผ่าตัดส่องกล้องนิ่วในถุงน้ำดี Laparoscopic cholecystectomy รพ. เมดพาร์ค ใช้มาตรฐานสากล (Gold standard) ในการผ่าตัดแบบแผลเล็ก Minimally invasive surgery (MIS) โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและผลสำเร็จในการรักษาเป็นสำคัญ โดยหลังการผ่าตัด แพทย์และทีมสหวิชาชีพจะคอยตรวจประเมินร่างกายเป็นระยะ เพื่อให้แน่ใจว่าผลการรักษาเป็นไปด้วยดี ปราศจากภาวะแทรกซ้อน และสามารถฟื้นตัวได้เร็ว
ขั้นตอนก่อนการผ่าตัดส่องกล้องนิ่วในถุงน้ำดี
- แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด และตรวจอัลตราซาวด์ท้องส่วนบนอย่างละเอียดเพื่อหาตำแหน่งนิ่วหรือความผิดปกติในระบบทางเดินน้ำดีและตับอ่อน และประเมินความพร้อมของร่างกายก่อนการผ่าตัด
- ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาทุกชนิด *ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบล่วงหน้า
- งดน้ำ งดอาหาร และงดบุหรี่ก่อนเข้ารับการผ่าตัดอย่างน้อย 6 ชม.
ขั้นตอนการผ่าตัดส่องกล้องนิ่วในถุงน้ำดี
- แพทย์และพยาบาลเตรียมความพร้อมของร่างกายก่อนการผ่าตัด โดยการให้น้ำเกลือและสารน้ำทางหลอดเลือด จากนั้นวิสัญญีแพทย์จะให้ยาสลบเพื่อระงับความรู้สึกทั่วร่าง
- ศัลยแพทย์ทำการเจาะรูผนังหน้าท้องทั้งหมด 4 ตำแหน่ง ที่สะดือขนาด 1 ซม. 1 ตำแหน่ง เพื่อใส่กล้องLaparoscope ความคมชัดภาพสูงเข้าในช่องท้อง แล้วจึงใส่แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อแยกผนังหน้าท้องออกจากอวัยวะภายใน ช่วยให้แพทย์มองเห็นสภาพภายในช่องท้องได้อย่างชัดเจน จากนั้นจึงเจาะผนังหน้าท้องขนาด 0.5 ซม. อีก 2-3 ตำแหน่ง เพื่อใส่เครื่องมือผ่าตัด
- ศัลยแพทย์สอดเครื่องมือผ่าตัดเข้าไปยังถุงน้ำดีเพื่อเลาะถุงน้ำดีออกจากตับ จากนั้นจะใช้ไหมหรือคลิปผูกเส้นเลือดและปากถุงน้ำดีแล้วจึงตัดถุงน้ำดีที่มีนิ่วอยู่ภายในออกจากเนื้อเยื่อใต้ตับ ศัลยแพทย์จะนำถุงน้ำดีออกมาพร้อมกับเลาะส่วนที่เหลือให้หลุดออกทั้งหมดและนำออกผ่านแผลที่สะดือ จากนั้นจึงทำความสะอาดปากแผลและเย็บปิดแผลให้สนิท ในกรณีที่มีการอักเสบมาก ศัลยแพทย์จะใส่ท่อระบายเลือดและน้ำเหลืองไว้ให้ระบายออก 2-3 วัน
- ในกรณีที่การรักษามีความซับซ้อน เช่น มีหนอง ถุงน้ำดีอักเสบรุนแรง ถุงน้ำดีบวมมาก มีพังผืดหนาตัวในช่องท้องมาก หรือมีการรั่วซึมของน้ำดีกระจายในช่องท้อง แพทย์จะพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง (Open cholecystectomy) แทนการผ่าตัดส่องกล้อง
- เมื่อการผ่าตัดส่องกล้องนิ่วในถุงน้ำดีเสร็จสิ้น แพทย์จะทำการตรวจประเมินอาการและตรวจสัญญาณชีพเป็นระยะ โดยการผ่าตัดจะใช้เวลาประมาณ 60-90 นาที
ขั้นตอนหลังการผ่าตัดส่องกล้องนิ่วในถุงน้ำดี
- แพทย์จะให้ผู้เข้ารับการตรวจพักฟื้นที่ รพ. 1-2 วัน เพื่อติดตามอาการหลังการผ่าตัด รวมถึงการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เช่น การติดเชื้อ ลิ่มเลือด ตับอ่อนอักเสบ หรืออาการคลื่นไส้ อาเจียนจากฤทธิ์ยาสลบ
- หลังการผ่าตัด แพทย์จะให้ยาแก้ปวดทั้งชนิดทานเพื่อบรรเทาอาการปวด หรือชนิดฉีดเข้าทางหลอดเลือดเพื่อบรรเทาอาการเจ็บแผล หากไม่พบความความผิดปกติใด ๆ แพทย์จะให้จิบน้ำ ทานอาหารอ่อน และอนุญาตให้กลับบ้านได้
- โดยทั่วไป แผลจากการผ่าตัดส่องกล้องนิ่วในถุงน้ำดีจะค่อย ๆ หายดีเป็นปกติภายใน 2 สัปดาห์ ผู้เข้ารับการผ่าตัดมาพบแพทย์ตามวันและเวลานัดหมายเพื่อติดตามอาการหลังการผ่าตัด
ข้อดีของการผ่าตัดส่องกล้องนิ่วในถุงน้ำดี
- แผลผ่าตัดเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว กลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็ว
- รุกล้ำน้อย เสียเลือดระหว่างการผ่าตัดน้อย โอกาสติดเชื้อน้อย
- เนื้อเยื่อเสียหายน้อย อวัยวะภายในบอบช้ำน้อย
- ใช้เวลาในการผ่าตัดสั้นเพียง 60-90 นาที เท่านั้น
- ประสิทธิภาพในการรักษาเทียบเท่ากับการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง
- จำนวนวันนอน รพ. สั้นเพียง 1-2 วัน เท่านั้น (การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องนอน รพ. 7-10 วัน)
- ระยะพักฟื้นสั้นประมาณ 1 สัปดาห์ เท่านั้น (การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องใช้เวลาพักฟื้น 1 เดือน)
- ลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนในกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบาง ผู้ที่มีโรคประจำตัว
- รักษาเนื้องอก พังผืด หรือมะเร็งระยะแรกเริ่มได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ
- ช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้รับการผ่าตัดให้ดีขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดส่องกล้อง
การผ่าตัดส่องกล้องนิ่วในถุงน้ำดีถือเป็นการรักษาที่มีความปลอดภัยสูง มีอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่ำมากน้อยกว่าร้อยละ 2 และกระทบต่ออวัยวะภายในน้อยมาก โดยหลังการผ่าตัด ผู้เข้ารับการผ่าตัดส่วนใหญ่สามารถฟื้นตัวและกลับไปใช้ชีวิตได้เร็ว ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น มีดังนี้
- เลือดออก (Bleeding) พบได้ทั่วไปร้อยละ 0.1-1.9 ซึ่งมักเกิดขึ้นที่หลอดเลือดดำตับ หรือหลอดเลือดแดงถุงน้ำดีซึ่งมักเกิดขึ้นขณะผ่าตัด โดยแพทย์จะทำการห้ามเลือดตามขั้นตอนปกติ แต่ในรายที่มีเลือดออกมาก แพทย์จะพิจารณาการผ่าตัดแบบเปิดเพื่อรักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ
- การติดเชื้อ (Infections) การติดเชื้อที่แผลผ่าตัดพบได้ร้อยละ 3-5 โดยมักเกิดขึ้น 2-3 วันแรกหลังการผ่าตัด ส่วนมากเป็นการติดเชื้อที่ไม่รุนแรง และแพทย์สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาปฏิชีวนะ
- ท่อน้ำดีรั่ว (Biliary leaks) พบได้ต่ำกว่าร้อยละ 2 โดยอาจเกิดการรั่วไหลจากแอ่งถุงน้ำดี หรือจากท่อน้ำดีหลัก ส่วนมากมักพบหลังผ่าตัดเสร็จสิ้นไปแล้ว ซึ่งหากตรวจพบ แพทย์อาจพิจารณาการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดแบบเปิด การผ่าตัดส่องกล้อง หรือการผ่าตัดใส่ขดลวดถ่างขยายในท่อน้ำดี
ผ่าตัดส่องกล้องนิ่วในถุงน้ำดี รพ. เมดพาร์ค
ศูนย์ศัลยกรรม รพ. เมดพาร์ค กรุงเทพ ประเทศไทย นำโดยทีมอายุรแพทย์และศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคระบบทางเดินอาหารและตับที่มีประสบการณ์ระดับแนวหน้า มีความพร้อมในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคระบบทางเดินน้ำดีและตับอ่อนที่มีความยากและซับซ้อนโดยการส่องกล้อง การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง หรือ การผ่าตัดส่องกล้องแบบ MIS แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว ด้วยมาตรฐานการรักษาระดับ JCI โดยการใช้เทคโนโลยีการแพทย์และอุปกรณ์ที่ทันสมัย ผสานเทคนิคทางการแพทย์ขั้นสูงที่มีความปลอดภัย รวดเร็ว และแม่นยำ ช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมทั้งให้การดูแลติดตามผลหลังการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แน่ใจว่าผู้เข้ารับการรักษาปราศจากภาวะแทรกซ้อน สามารถฟื้นร่างกายได้เร็ว มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีสุขภาพที่แข็งแรง
คำถามที่พบบ่อย
- ผ่าตัดส่องกล้องนิ่วในถุงน้ำดี พักฟื้นกี่วัน
การผ่าตัดส่องกล้องนิ่วในถุงดีใช้เวลาพักฟื้นที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์ ก็สามารถกลับไปทำงานหรือใช้ชีวิตได้ตามปกติ สำหรับผู้ที่แพทย์ใส่ท่อระบายเลือดและน้ำเหลืองไว้ แพทย์จะนำออกให้ในการวันนัดตรวจอาการครั้งแรกหลังการผ่าตัด ทั้งนี้ แพทย์ขอให้งดเว้นจากการยกของหนัก หรือการออกกำลังกายหนักประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวได้เต็มที่