อาการและการรักษาโรคตับแข็ง - Cirrhosis

โรคตับแข็ง

เมื่อเกิดการอักเสบเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน ตับจะทำการซ่อมแซมตัวเอง กระบวนการซ่อมแซมจะสร้างเนื้อเยื่อพังผืดสะสมจนเกิดเป็นโรคตับแข็ง

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน

โรคตับแข็ง

โรคตับแข็ง คือภาวะที่ตับมีการก่อตัวของเนื้อเยื่อพังผืดส่วนเกิน อันเป็นผลจากภาวะตับอักเสบเรื้องรังจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น โรคพิษสุราเรื้อรัง ไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง หรือไขมันคั่งในตับ เป็นต้น เมื่อเกิดการอักเสบเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน ตับจะทำการซ่อมแซมตัวเอง กระบวนการซ่อมแซมจะสร้างเนื้อเยื่อพังผืดสะสมจนเกิดเป็นโรคตับแข็ง ทำให้ตับไม่สามารถทำงานได้ปกติ โรคตับแข็งระยะท้ายๆเป็นภาวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งตับอีกด้วย

โรคตับแข็งในระยะท้ายส่งผลให้เกิดความเสียหายของตับอย่างถาวร แต่หากได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่น ๆ และรักษาอย่างเหมาะสม ก็สามารถป้องกันไม่ให้เกิดความบาดเจ็บเสียหายที่จะเพิ่มตามมาได้

อาการของโรคตับแข็ง

ผู้ที่เป็นโรคตับแข็งมักจะไม่แสดงอาการใด ๆ จนกว่าตับจะได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง โดยอาจมีอาการดังต่อไปนี้

  • รู้สึกอ่อนเพลีย
  • เลือดออกง่าย หรือเป็นจ้ำเลือดได้ง่าย
  • เบื่ออาหาร
  • คลื่นไส้
  • ขา เท้า หรือข้อเท้าบวม
  • น้ำหนักลด
  • อาการคันที่ผิวหนัง
  • ภาวะดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง
  • มีน้ำสะสมในช่องท้อง ทำให้ท้องโตขึ้น (ภาวะท้องมาน)
  • เกิดเส้นเลือดฝอยลักษณะคล้ายใยแมงมุมที่บริเวณหน้าอก หรือแผ่นหลัง
  • ฝ่ามือแดงเข้มขี้น
  • สำหรับผู้หญิง จะเกิดการหมดประจำเดือนหรือประจำเดือนขาดที่ไม่เกี่ยวกับวัยหมดประจำเดือน
  • สำหรับผู้ชาย จะพบความผิดปกติทางเพศ ลูกอัณฑะฝ่อ หรือเต้านมโต
  • รู้สึกสับสน ซึมลง หรือพูดไม่ชัด

 

สาเหตุโรคตับแข็ง

  • การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
  • ไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิดบี ซี และดี
  • โรคไขมันคั่งตับที่ไม่ได้มีสาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์
  • ภาวะฮีโมโครมาโตซิส
  • โรคซิสติกไฟโบรซิส
  • โรควิลสัน
  • โรคท่อน้ำดีตีบตันในทารก
  • การขาดสารต้านทริปซินอัลฟ่า-1
  • โรคกาแลคโตซีเมียหรือภาวะที่มีการสะสมไกลโคเจนในตับมากผิดปกติ
  • โรคตับที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคตับอักเสบจากภูมิต้านตนเอง โรคท่อน้ำดีอักเสบจากภาวะภูมิต้านตนเองทั้งท่อน้ำดีขนาดใหญ่และขนาดเล็ก

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจเพิ่มโอกาสในการเกิดโรคตับแข็ง

  • การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป – การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปเป็นปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคตับแข็ง
  • โรคอ้วน – การมีน้ำหนักเกิน จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะต่างๆ ที่อาจนำไปสู่โรคตับแข็งได้ เช่น โรคไขมันคั่งตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์
  • ไวรัสตับอักเสบ – เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคตับอักเสบและตับแข็งทั่วโลก

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคตับแข็ง

  • ความดันโลหิตในหลอดเลือดพอร์ทัลภายในช่องท้องสูง –โรคตับแข็งจะเพิ่มความดันในหลอดเลือดดำพอร์ทัลที่ไหลไปยังตับ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้แก่ ขาบวม ท้องมาน ม้ามโต รวมไปถึงมีภาวะตกเลือดจากเส้นเลือดโป่งพองในหลอดอาหาร
  • การติดเชื้อ – ผู้ป่วยโรคตับแข็งมีภูมิคุ้มกันต่ำ ไม่สามารถต้านทานการติดเชื้อได้ดี ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรงมากขี้น
  • ภาวะทุพโภชนาการ – เกิดจากการดูดซึมอาหารได้น้อยลง ทำให้น้ำหนักตัวลดและรู้สึกอ่อนเพลีย
  • ภาวะซึม สับสนจากการทำงานบกพร่องของตับ – เกิดจากภาวะที่มีสารพิษสะสมในร่างกาย เนื่องจากตับที่เสียหาย ไม่สามารถกำจัดสารพิษออกจากเลือดได้ ส่งผลต่อสมอง เกิดความสับสนและเข้าสู่อาการโคม่าได้
  • ดีซ่าน – ผิวหนังและตาขาวจะมีสีเหลือง และปัสสาวะมีสีเข้มขึ้นเพราะตับไม่สามารถกำจัด สารเหลืองหรือบิลิรูบินออกจากเลือดได้
  • โรคกระดูก – ผู้ที่เป็นโรคตับแข็งอาจมีความหนาแน่นของกระดูกลดลงและมีความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหักได้สูงขึ้น
  • ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งตับสูงขึ้น
  • ภาวะการทำงานของตับล้มเหลวเฉียบพลันแทรกซ้อนในผู้ป่วยตับแข็งเรื้อรัง – ซึ่งมีสาเหตุมาจากภาวะกระตุ้นต่าง ๆ โดยเฉพาะจากการติดเชื้อ ทำให้การทำงานของอวัยวะต่างๆล้มเหลวลง

วิธีป้องกันโรคตับแข็ง

  • หยุดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมื่อเป็นโรคตับแข็ง
  • ทานอาหารเพื่อสุขภาพ รับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่ โดยเน้นอาหารจำพวก พืชผักเป็นส่วนประกอบหลัก ได้แก่ ผลไม้ ผัก ธัญพืชไม่ขัดสี และโปรตีนไร้มัน ลดการบริโภคอาหารที่มีไขมัน
  • รักษาดัชนีมวลกายให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ – ไขมันที่สะสมในร่างกายรวมถึงในตับสามารถทำให้เกิดตับอักเสบเรื้อรังได้ ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับแผนการลดน้ำหนักหากมีน้ำหนักเกิน
  • ลดปัจจัยเสี่ยงของโรคตับอักเสบ – หลีกเลี่ยงการใช้เข็มร่วมกันและการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกัน เนื่องจากจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคไวรัสตับอักเสบ บีและซีได้

การวินิจฉัยโรคตับแข็ง

โรคตับแข็งระยะเริ่มต้นมักไม่แสดงอาการใดๆ โรคตับแข็งมักตรวจพบได้จากการตรวจเลือดหรือการตรวจสุขภาพ แพทย์อาจสั่งตรวจอย่างใดอย่างหนึ่งเหล่านี้หากสงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีปัญหาตับ เช่น

  • การตรวจในห้องปฏิบัติการ – แพทย์อาจสั่งตรวจเลือดเพื่อตรวจหาร่องรอยของความผิดปกติของตับ เช่น บิลิรูบินในปริมาณสูง ตรวจเอ็นไซม์ตับชนิดต่าง ๆ ตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบ ตรวจการแข็งตัวของเลือด ปริมาณโปรตีนไข่ขาวในเลือด เพื่อดูความสามารถในการสังเคราะห์โปรตีนของตับ ผลจากการตรวจเลือดจะช่วยให้แพทย์ระบุสาเหตุของโรคตับแข็งและความรุนแรงของอาการได้
  • การวินิจฉัยด้วยภาพทางการแพทย์ ภาพทางการแพทย์ต่าง ๆ ได้แก่ อัลตร้าซาวด์ เอ๊กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ซึ่งอาจรวมถึงการตรวจพังผืดตับจากเครื่อง MRI (MR Elastography; MRE) สามารถให้ข้อมูลรูปร่าง และความยืดหยุ่นของตับ เพื่อดูลักษณะของตับแข็งได้
  • การตรวจวัดปริมาณพังผืดในตับ (Transient elastography; Fibroscan) เป็นเครื่องมือสำหรับการตรวจวัดระดับความแข็งของตับซึ่งสะท้อนถึงปริมาณการสะสมของพังผืดในตับ สามารถตรวจหาภาวะตับแข็งได้ตั้งแต่ระยะแรก รวมทั้งยังสามารถวัดปริมาณของไขมันที่สะสมในตับได้อีกด้วย
  • การตรวจชิ้นเนื้อ – การตัดชิ้นเนื้อตับในปัจจุบันทำน้อยลงมาก เนื่องจากมีอุปกรณ์และการตรวจใหม่ ๆ เข้ามาทดแทน ทำให้สามารถวินิจฉัยโรคตับได้โดยไม่ต้องทำการเจาะชิ้นเนื้อตับไปตรวจ อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยบางรายที่ไม่สามารถหาสาเหตุของโรคตับได้ก็อาจจำเป็นที่จะต้องทำการตัดชิ้นเนื้อตับไปตรวจ

    แพทย์จะแนะนำให้คนไข้มาตรวจติดตามโรคหรือภาวะแทรกซ้อน อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะหลอดเลือดโป่งพองที่หลอดอาหาร และมะเร็งตับ

    การรักษาโรคตับแข็ง

    การรักษาโรคตับแข็งขึ้นอยู่กับสาเหตุ ความรุนแรงและความเสียหายของตับ การรักษามีจุดมุ่งหมายเพื่อชะลอการลุกลามของโรคตับแข็งและรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคตับแข็ง หากโรคตับแข็งได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มต้น อาจะมีความเป็นไปได้ที่ความเสียหายจะน้อยลงหากสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคตับแข็งได้รับการบำบัดแต่เนิ่นๆ ถ้าตับของคนไข้เสียหายอย่างรุนแรง คนไข้จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

    • การรักษาโรคพิษสุราเรื้อรัง – ผู้ที่เป็นโรคตับแข็งจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป แนะนำให้หยุดดื่ม แพทย์อาจแนะนำเข้าร่วมโปรแกรมการรักษาโรคพิษสุราเรื้อรัง
    • การรักษาโรคไขมันคั่งตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ - แนะนำให้คนไข้ลดน้ำหนักและรักษาระดับน้ำตาลรวมทั้งไขมันในเลือด
    • ใช้ยาเพื่อรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ – ยาจะช่วยลดความเสียหายของตับเนื่องจากไวรัสตับอักเสบบีหรือซี
    • การใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการอื่นๆ ของโรคตับแข็ง - ยาเหล่านี้อาจช่วยชะลอการเกิดโรคตับแข็งบางชนิดได้ ผู้ที่เป็นโรคตับแข็งจากท่อน้ำดีอักเสบหรือผู้ป่วยที่มีภาวะโรคตับจากภูมิคุ้มกันผิดปกติ ที่ได้รับการวินิจฉัยแต่เนิ่นๆ สามารถรักษาด้วยยาได้

    ยาชนิดอื่น ๆ สามารถช่วยบรรเทาอาการอย่างอื่นได้ เช่น อาการคัน อ่อนแรง และปวด การรับประทานสารอาหารเสริมทางการแพทย์อาจช่วยรักษาภาวะทุพโภชนาการที่เกี่ยวข้องกับโรคตับแข็งเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน

    การรักษาภาวะแทรกซ้อนของโรคตับแข็งมีดังนี้

    • สำหรับของเหลวส่วนเกินในร่างกายที่ทำให้เกิดภาวะบวมน้ำ – แนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารโซเดียมต่ำและใช้ยาขับปัสสาวะเพื่อป้องกันการสะสมของเหลวส่วนเกินในร่างกาย และเพื่อควบคุมอาการบวม ในรายที่อาการรุนแรง อาจต้องเจาะระบายของเหลวในช่องท้องออก
    • ความดันโลหิตในหลอดเลือดพอร์ทัลสูง– ยาที่ช่วยควบคุมความดันโลหิตในเส้นเลือดพอร์ทัลช่วยป้องกันเลือดออกรุนแรงได้ แพทย์จะทำการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนเพื่อค้นหาเส้นเลือดโป่งพองในหลอดอาหารหรือในกระเพาะอาหาร

    หากพบมีเส้นเลือดโป่งพองในหลอดอาหาร ผู้ป่วยจะต้องทานยาลดความดันในหลอดเลือดพอร์ทัลเพื่อลดความเสี่ยงในการตกเลือด ผู้ป่วยต้องเข้ารับการส่องกล้องและใช้ยางรัดเพื่อหยุดเลือดหรือป้องกันไม่ให้เลือดออกในอนาคต

    • การติดเชื้อ – แพทย์อาจสั่งยาปฏิชีวนะหรือการรักษาอื่นๆ เพื่อรักษาการติดเชื้อ คุณอาจจำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม และไวรัสตับอักเสบชนิดเอและบี
    • โรคตับแข็งจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งตับ – แพทย์จะแนะนำให้ตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งตับและตรวจอัลตราซาวนด์ทุก 6 เดือน เพื่อค้นหามะเร็งตับตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
    • ภาวะซึมสับสนจากตับแข็งระยะท้าย – แพทย์อาจสั่งยาเพื่อช่วยบรรเทาการสะสมของสารพิษในเลือด

    การผ่าตัดปลูกถ่ายตับ

    การปลูกถ่ายตับอาจเป็นทางเลือกเดียวสำหรับโรคตับแข็งที่มีความรุนแรง โดยตับที่ไม่มีโรคจากผู้บริจาค จะถูกปลูกถ่ายแทนที่ตับที่แข็ง ผู้ที่ต้องการปลูกถ่ายตับจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจต่างๆ เพื่อดูว่ามีความเหมาะสมสำหรับการผ่าตัดหรือไม่โดยปกติ ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็งจากแอลกอฮอล์อาจจะไม่ได้รับการพิจารณาปลูกถ่ายตับ ถ้าถูกประเมินว่ามีความเสี่ยงที่พวกเขาจะกลับไปดื่มแอลกอฮอล์อีกหลังการปลูกถ่าย อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็งขั้นรุนแรงจากการดื่มแอลกอฮอล์บางคน มีอัตราการรอดตาย ไม่แตกต่างกับผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายตับจากภาวะโรคตับอื่นๆ

    การผ่าตัดปลูกถ่ายตับเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรคตับแข็งจากแอลกอฮอล์ โดยผู้ป่วยต้องปฎิบัติตัวดังต่อไปนี้

    • มีคุณสมบัติที่สามารถเข้าร่วมโปรแกรมดูแลคนไข้โรคตับแข็งจากแอลกอฮอล์ และปฏิบัติตามข้อกำหนดของโปรแกรมได้ เช่น มีความมุ่งมั่นในการเลิกดื่มแอลกอฮอล์ตลอดชีวิต และปฎิบัติตามข้อกำหนดอื่นๆ ที่กำหนด

    การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

    • งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ – ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ไม่ว่าโรคตับแข็งจะเกิดจากแอลกอฮอล์หรือไม่ เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้ตับเกิดความเสียหายมากขึ้น
    • รับประทานอาหารโซเดียมต่ำ – การบริโภคเกลือมากเกินไปทำให้ของเหลวสะสมในร่างกายและเกิดอาการบวมในช่องท้องและขา ใช้เครื่องปรุงอาหารอื่นแทนเกลือ และเลือกรับประทานอาหารโซเดียมต่ำ
    • รับประทานอาหารสุขภาพ – ภาวะทุพโภชนาการเป็นหนึ่งในภาวะแทรกซ้อนของโรคตับแข็ง รับประทานอาหารที่เน้นพืชเป็นหลัก เช่น ผลไม้ ผัก โปรตีนไร้มัน พืชตระกูลถั่ว สัตว์ปีก หรือปลา หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารทะเลดิบ
    • หลีกเลี่ยงความเสี่ยงของการติดเชื้อ – ร่างกายของคนไข้ที่เป็นโรคตับแข็งมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดคนที่ป่วยเป็นโรคติดเชื้อที่สามารถติดต่อได้ ล้างมือเป็นประจำ รับวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบเอ บี ไข้หวัดใหญ่ และโรคปอดบวม
    • ระมัดระวังการใช้ยาต่าง ๆ - เนื่องจากยาบางชนิดอาจทำให้ตับถูกทำลายได้มากขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจใช้ยาทุกครั้ง

    การเตรียมตัวก่อนการพบแพทย์

    หากแพทย์สงสัยว่าคุณมีโอกาสเป็นโรคตับแข็ง แพทย์อาจแนะนำให้ไปพบแพทย์ทางเดินอาหารหรือแพทย์ด้านตับ

    วิธีการเตรียมตัวสำหรับการพบแพทย์และสิ่งที่ผู้ป่วยสามารถคาดหวังจากแพทย์ได้ มีดังต่อไปนี้

    การเตรียมตัวก่อนการพบแพทย์

    • ทำความเข้าใจข้อจำกัด หรือข้อควรระวังก่อนการนัดหมายกับแพทย์ ให้ครบถ้วน ซักถามเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องเตรียมตัวก่อนการพบแพทย์ เช่น ประเภทของอาหาร
    • จดบันทึกอาการทั้งหมด รวมทั้งอาการที่ดูเหมือนอาจไม่เกี่ยวข้องกับโรคตับแข็ง
    • จดข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งสิ่งที่ทำให้เกิดความเครียดหรือการเปลี่ยนแปลงในชีวิต
    • บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพและความเจ็บป่วยอื่นๆที่เป็นอยู่
    • นำผลการตรวจทางการแพทย์ เช่นผล CT MRI หรือ ภาพอัลตราซาวด์ และสไลด์ชิ้นเนื้อตับ ไปพบแพทย์
    • จดรายชื่อยา วิตามิน หรืออาหารเสริมทั้งหมดที่กำลังรับประทานอยู่
    • มาตามนัดกับครอบครัวหรือเพื่อนฝูงเพื่อช่วยในการจดจำข้อมูลจากแพทย์
    • จดคำถามที่มีเพื่อสอบถามแพทย์

      ตัวอย่างคำถามที่คุณควรถามแพทย์

      • โรคตับแข็งเกิดจากสาเหตุใด
      • มีวิธีที่จะชะลอการที่ตับถูกทำลายได้หรือไม่
      • ทางเลือกในการรักษามีอะไรบ้าง
      • ยาหรือวิตามินชนิดใดบ้างที่จะเป็นอันตรายต่อตับ
      • อาการที่ส่อว่าเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคตับแข็งมีอะไรบ้าง
      • จะจัดการโรคตับแข็งได้อย่างไร หากมีภาวะทางสุขภาพอื่นๆด้วย

      แพทย์อาจถามคำถามต่อไปนี้

      • อาการเริ่มเกิดขึ้น เมื่อใด
      • อาการเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นชั่วครั้งชั่วคราวหรือต่อเนื่อง
      • อาการเหล่านี้เป็นมากแค่ไหน
      • มีอะไรที่ทำให้อาการดีขึ้นหรือไม่
      • มีอะไรที่ทำให้อาการทรุดลงหรือไม่
      • คุณดื่มเครื่องดืมแอกอฮอล์บ้างหรือไม่ และบ่อยแค่ไหน
      • เคยสัมผัสกับสารพิษหรือไม่
      • ในครอบครัว มีคนเป็นโรคตับ ภาวะเหล็กเกิน หรือโรคอ้วนบ้างหรือไม่
      • เคยมีภาวะดีซ่านหรือไม่
      • เคยได้รับการให้เลือดหรือไม่
      • เคยใช้สารเสพติดผ่านการใช้เข็มหรือไม่
      • เคยทำการสักผิวหนังหรือไม่
      • เคยป่วยจากติดเชื้อไวรัสตับอักเสบหรือไม่

      คำถามที่พบบ่อย (FAQ)

      1. คำถาม:  โรคตับแข็งมีอาการอย่างไร
        คำตอบ: ผู้ที่เป็นโรคตับแข็งมักจะไม่แสดงอาการใด ๆ จนกว่าตับจะได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง โดยอาจมีอาการอ่อนเพลีย เลือดออกง่าย หรือเป็นจ้ำเลือดได้ง่าย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ขา เท้า หรือข้อเท้าบวม น้ำหนักลด มีน้ำสะสมในช่องท้อง ทำให้ท้องโตขึ้น (ภาวะท้องมาน) เกิดเส้นเลือดฝอยลักษณะคล้ายใยแมงมุมที่บริเวณหน้าอก หรือแผ่นหลัง รู้สึกสับสน ซึมลง หรือพูดไม่ชัด สำหรับผู้หญิงจะเกิดการหมดประจำเดือนหรือประจำเดือนขาดที่ไม่เกี่ยวกับวัยหมดประจำเดือน สำหรับผู้ชายจะพบความผิดปกติทางเพศ ลูกอัณฑะฝ่อ หรือเต้านมโต

      2. คำถาม:  โรคตับแข็งมีวิธีป้องกันอย่างไร
        คำตอบ: หยุดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมื่อเป็นโรคตับแข็ง ทานอาหารเพื่อสุขภาพ รับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่ โดยเน้นอาหารจำพวกพืชผักเป็นส่วนประกอบหลัก ได้แก่ ผลไม้ ผัก ธัญพืชไม่ขัดสี และโปรตีนไร้มัน ลดการบริโภคอาหารที่มีไขมัน รักษาดัชนีมวลกายให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไขมันที่สะสมในร่างกายรวมถึงในตับสามารถทำให้เกิดตับอักเสบเรื้อรังได้ ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับแผนการลดน้ำหนักหากมีน้ำหนักเกิน ลดปัจจัยเสี่ยงของโรคตับอักเสบ หลีกเลี่ยงการใช้เข็มร่วมกันและการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกัน เนื่องจากจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคไวรัสตับอักเสบบีและซีได้

      3. คำถาม:  รักษาโรคตับแข็งอย่างไร
        คำตอบ:  การรักษาโรคตับแข็งขึ้นอยู่กับสาเหตุ ความรุนแรงและความเสียหายของตับ การรักษามีจุดมุ่งหมายเพื่อชะลอการลุกลามของโรคตับแข็งและรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคตับแข็ง หากโรคตับแข็งได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มต้น อาจะมีความเป็นไปได้ที่ความเสียหายจะน้อยลงหากสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคตับแข็งได้รับการบำบัดแต่เนิ่น ๆ ถ้าตับของคนไข้เสียหายอย่างรุนแรง คนไข้จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

      4. คำถาม: การผ่าตัดปลูกถ่ายตับ คืออะไร
        คำตอบ:
        การปลูกถ่ายตับอาจเป็นทางเลือกเดียวสำหรับโรคตับแข็งที่มีความรุนแรง โดยตับที่ไม่มีโรคจากผู้บริจาค จะถูกปลูกถ่ายแทนที่ตับที่แข็ง ผู้ที่ต้องการปลูกถ่ายตับจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจต่างๆ เพื่อดูว่ามีความเหมาะสมสำหรับการผ่าตัดหรือไม่โดยปกติ ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็งจากแอลกอฮอล์อาจจะไม่ได้รับการพิจารณาปลูกถ่ายตับ ถ้าถูกประเมินว่ามีความเสี่ยงที่พวกเขาจะกลับไปดื่มแอลกอฮอล์อีกหลังการปลูกถ่าย อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็งขั้นรุนแรงจากการดื่มแอลกอฮอล์บางคน มีอัตราการรอดตาย ไม่แตกต่างกับผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายตับจากภาวะโรคตับอื่น ๆ

      บทความโดย

      เผยแพร่เมื่อ: 15 เม.ย. 2022

      แชร์

      แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

    • Link to doctor
      พญ. สุรีย์พร  แจ้งศิริกุล

      พญ. สุรีย์พร แจ้งศิริกุล

      • อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
      ส่องกล้องกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่, โรคตับและโรคระบบทางเดินอาหารทั่วไป, ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก, โรคกรดไหลย้อน, ปวดท้องเรื้อรังและเฉียบพลัน, ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร, ภาวะค่าตับที่ผิดปกติ, การฝึกเบ่งขับถ่าย, ภาวะหลอดอาหารเคลื่อนไหวหรือบีบตัวผิดปกติ, ตรวจวัดความเป็นกรดด่างในหลอดอาหาร, ตรวจหาเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร, การวัดเวลาการย่อยอาหารในกระเพาะอาหาร, ตรวจการเคลื่อนผ่านของอุจจาระภายในลำไส้ใหญ่, ตรวจการเคลื่อนไหวระบบทางเดินอาหาร
    • Link to doctor
      รศ.นพ. สว่างพงษ์ จันดี

      รศ.นพ. สว่างพงษ์ จันดี

      • อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
      โรคตับและโรคระบบทางเดินอาหารทั่วไป
    • Link to doctor
      ศ.นพ.  สิน  อนุราษฎร์

      ศ.นพ. สิน อนุราษฎร์

      • อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
      โรคตับและโรคระบบทางเดินอาหารทั่วไป
    • Link to doctor
      พญ. ธนินี ประสพโภคากร

      พญ. ธนินี ประสพโภคากร

      • อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
      โรคตับและโรคระบบทางเดินอาหารทั่วไป
    • Link to doctor
      นพ. สันติ  กุลพัชรพงศ์

      นพ. สันติ กุลพัชรพงศ์

      • อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
      ส่องกล้องกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่, โรคตับและโรคระบบทางเดินอาหารทั่วไป, ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก, ภาวะค่าตับที่ผิดปกติ, ภาวะไขมันเกาะตับ, โรคตับอักเสบจากแอลกอฮอล์, โรคไวรัสตับอักเสบ, ส่องกล้องรักษาระบบท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน, ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร, ปวดท้องเรื้อรังและเฉียบพลัน, ตรวจไขมันพอกตับด้วยไฟโบรสแกน, รักษาก้อนและซีสต์และมะเร็งในตับ, โรคกรดไหลย้อน, ภาวะตับวาย, ภาวะตับแข็ง
    • Link to doctor
      พญ. เพ็ญประไพ หงษ์ศรีสุวรรณ์

      พญ. เพ็ญประไพ หงษ์ศรีสุวรรณ์

      • อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
      โรคตับและโรคระบบทางเดินอาหารทั่วไป, ส่องกล้องกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่, ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก, โรคกรดไหลย้อน, โรคลำไส้แปรปรวน, ปวดท้องเรื้อรังและเฉียบพลัน, ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร, โรคริดสีดวงทวาร, โรคไวรัสตับอักเสบ, ภาวะค่าตับที่ผิดปกติ, ภาวะตับแข็ง, โรคไขมันพอกตับ
    • Link to doctor
      พญ.  ปณิดา  ปิยะจตุรวัฒน์

      พญ. ปณิดา ปิยะจตุรวัฒน์

      • อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
      ส่องกล้องกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่, โรคตับและโรคระบบทางเดินอาหารทั่วไป, ปวดท้องเรื้อรังและเฉียบพลัน, โรคท้องผูกเรื้อรัง, โรคท้องร่วงเรื้อรังและเฉียบพลัน, ส่องกล้องรักษาระบบท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน, โรคลำไส้อักเสบ, โรคลำไส้แปรปรวน, ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก, ส่องกล้องตรวจอัลตราซาวด์ในลำไส้, ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร, ภาวะค่าตับที่ผิดปกติ, โรคไวรัสตับอักเสบ, ภาวะไขมันเกาะตับ, ส่องกล้องลำไส้เล็ก, ตรวจไขมันพอกตับด้วยไฟโบรสแกน
    • Link to doctor
      รศ.นพ. สถาพร มานัสสถิตย์

      รศ.นพ. สถาพร มานัสสถิตย์

      • อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
      โรคตับและโรคระบบทางเดินอาหารทั่วไป, การติดเชื้อทางเดินอาหาร, ปวดท้องเรื้อรังและเฉียบพลัน, โรคท้องผูกเรื้อรัง, โรคท้องร่วงเรื้อรังและเฉียบพลัน, โรคท้องร่วง, โรคไวรัสตับอักเสบ, ภาวะลําไส้ดูดซึมผิดปกติ, เนื้องอกและก้อนเนื้อในตับ, ภาวะค่าตับที่ผิดปกติ, โรคริดสีดวงทวาร, โรคลำไส้อักเสบ, โรคลำไส้แปรปรวน, ภาวะกลืนลำบาก ปัญหาเกี่ยวกับการกลืน
    • Link to doctor
      ผศ.นพ. สยาม ศิรินธรปัญญา

      ผศ.นพ. สยาม ศิรินธรปัญญา

      • อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
      โรคตับและโรคระบบทางเดินอาหารทั่วไป
    • Link to doctor
      นพ. จรินทร์ โรจน์บวรวิทยา

      นพ. จรินทร์ โรจน์บวรวิทยา

      • อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
      โรคตับและโรคระบบทางเดินอาหารทั่วไป, ภาวะตรวจการทำงานของตับผิดปกติ, ตรวจหาเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร, โรคท้องร่วงเรื้อรังและเฉียบพลัน, โรคกรดไหลย้อน, ภาวะกลืนลำบาก ปัญหาเกี่ยวกับการกลืน, ปวดท้องเรื้อรังและเฉียบพลัน, ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก