การตรวจโรคซึมเศร้า (Depression Test)
อารมณ์เศร้าเสียใจ หดหู่ เครียด วิตกกังวล และทุกข์ใจล้วนเป็นธรรมดาอารมณ์ที่มนุษย์ทุกคนล้วนประสพพบเจอในชีวิตประจำวัน อารมณ์เหล่านั้นมักเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งสลับกับอารมณ์สุข สมหวัง และดีใจ แต่หากอารมณ์เศร้าเสียใจ เหนื่อยหน่าย และทุกข์ใจคงอยู่เป็นส่วนใหญ่ในแต่ละวัน นานร่วมกันมากกว่า 2 สัปดาห์ และไม่อาจสลัดให้หลุดออกไปจากห้วงความคิดจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน และความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างจนตนเองหรือผู้อื่นสามารถสังเกตได้ บุคคลควรเข้ารับการตรวจโรคซึมเศร้าเพื่อบำบัด รักษาอาการเพื่อให้ความทุกข์ในใจได้คลี่คลาย และช่วยฟื้นฟูจิตใจ และร่างกายให้ดีขึ้น
คุณกำลังมีภาวะซึมเศร้าอยู่หรือเปล่า?
ลองทำแบบประเมินระดับภาวะซึมเศร้าเบี้องต้นกันเลย
โรคซึมเศร้า คืออะไร?
โรคซึมเศร้า (Depression) คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติในการหลั่งสารสื่อประสาทในสมองบางชนิดไม่สมดุล ส่งผลให้จิตใจอยู่ในภวังค์ของความเศร้าหมอง วิตกกังวล และเบื่อหน่ายสิ่งรอบตัวเป็นระยะเวลานานผิดปกติ กระทบต่ออารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมตลอดจนสุขภาพใจ สุขภาพกาย และความสัมพันธ์เชิงสังคม โรคซึมเศร้า เป็นโรคทางจิตเวชที่ยากวินิจฉัยและแยกโรคด้วยตนเองระหว่างความเศร้า เสียใจ หม่นหมองตามปกติในชีวิตประจำวันมนุษย์ และอารมณ์เศร้า เสียใจ หม่นหมองของโรคซึมเศร้าที่อาจนำไปสู่การทำร้ายตนเองและความพยายามในการฆ่าตัวตาย การตรวจโรคซึมเศร้า และรับการบำบัด รักษาอาการร่วมกันกับจิตแพทย์ผู้ชำนาญการอย่างต่อเนื่องจะช่วยรักษา และเยียวยาบาดแผลในใจให้หาย หรือทุเลา เบาคลายลงได้
โรคซึมเศร้า สาเหตุจากอะไร?
โรคซึมเศร้ามีสาเหตุเกิดจากการถูกกระตุ้นจากปัจจัยดังต่อไปนี้
- สารสื่อประสาทในสมอง (Neurotransmitters) เช่น ซีโรโทนิน (Serotonin) โดปานิน (Dopamine) นอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) หลั่งไม่สมดุล สารสื่อประสาทเหล่านี้ทำหน้าที่รับ-ส่งสัญญาณประสาทระหว่างเซลล์ และควบคุมการประสานงานร่วมกันในร่างกาย ส่งผลทำให้มีอารมณ์แปรปรวน มีภาวะซึมเศร้า เครียด วิตกกังวล ย้ำคิดย้ำทำ และนอนไม่หลับ เป็นต้น
- พันธุกรรม (Genetic) ผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเดียวกัน พ่อแม่ พี่น้องร่วมสายเลือด หรือฝาแฝดเป็นโรคซึมเศร้ามีโอกาสในการเป็นโรคซึมเศร้าสูงถึงร้อยละ 70 อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเดียวกันเป็นโรคซึมเศร้าก็อาจถูกกระตุ้นให้เป็นโรคซึมเศร้าจากปัจจัยอื่น ๆ ได้เช่นกัน
- เหตุการณ์สะเทือนใจในในชีวิต (Stressful life events) ภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง ความตายและการพลัดพราก การสูญเสียคนรัก การถูกคนรักนอกใจ การถูกทรยศหักหลัง การหย่าร้าง ความโดดเดี่ยวอ้างว้าง และการขาดกำลังใจ สามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้
- อาการเจ็บป่วยเรื้อรัง (Chronic medical conditions) เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน อาการเจ็บป่วยเรื้อรัง ไฮเปอร์ไทรอยด์ โรคหัวใจ โรคแพ้ภูมิตนเอง (SLE) โรคติดเชื้อ เช่น HIV งูสวัด เริม สะเก็ดเงิน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ล้วนอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้
- ยาบางชนิด (Certain medications) เช่น ยากันชัก (Anticonvulsants) กลุ่มยาต้านเศร้า (Antidepressants) ที่ใช้รักษาโรคโรคอารมณ์สองขั้ว หรือไบโพลาร์ กลุ่มยา Levodopa ที่ใช้รักษาโรคพาร์กินสัน กลุ่มยา Benzodiazepines ที่ใช้รักษาโรควิตกกังวล หรือโรคนอนไม่หลับ กลุ่มยา Interferon alpha ที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง กลุ่มยาระงับปวดโอปิออย์ (Opioid analgesics) ที่ใช้บรรเทาอาการปวดระดับปานกลางถึงรุนแรง
- การขาดวิตามินบางชนิด (Vitamin deficiencies) เช่น วิตามิน B12 หรือ วิตามิน D
- ผลจากการใช้สารเสพติด (Long-term use of addictive substances) เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ กัญชา ฝิ่น หรือยาระงับปวดเป็นเวลานาน
- ฮอร์โมน (Hormones) การเปลี่ยนแปลงสมดุลฮอร์โมนในร่างกายอาจกระตุ้นให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ เช่น ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด วัยหมดประจำเดือน หรือโรคต่อมไร้ท่อ เป็นต้น
โรคซึมเศร้า มีอาการอย่างไร?
อาการของโรคซึมเศร้าแตกต่างจากความเศร้าหมองที่พบเจอตามปกติในชีวิตประจำวัน ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าจะตกอยู่ในห้วงอาการเศร้าซึม เครียด และวิตกกังวลอย่างน้อย 2 สัปดาห์ติดต่อกันหรือนานกว่านั้น โรคซึมเศร้าทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง สูญเสียสมาธิ และเฉยชาต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัว โรคซึมเศร้ามีสัญญาณและอาการของดังต่อไปนี้
- อารมณ์เศร้า หดหู่ ท้อแท้
- เบื่อหน่ายต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ไม่อยากทำกิจกรรมที่เคยชอบ
- สมาธิสั้น ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถรวบรวมสมาธิได้
- รู้สึกผิดตลอดเวลา รู้สึกไร้ค่า ความนับถือตนเองต่ำ
- การเคลื่อนไหวช้าลง กระสับกระส่าย ลุกลี้ลุกลน
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่ายกว่าปกติ
- มองไม่เห็นอนาคต ไร้ซึ่งความหวัง รู้สึกสิ้นหวัง
- รู้สึกอ่อนเพลีย หมดพลัง ไร้เรี่ยวแรงกำลังจะไปต่อ
- ภาวะหมดไฟ หมดไฟในการทำงาน และการใช้ชีวิต
- คิดฆ่าตัวตาย คิดทำร้ายตนเอง ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป
- นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ
- เบื่ออาหาร หรือทานไม่หยุด
- ปวดศีรษะที่ไม่สามารถอธิบายทางการแพทย์ได้
- ท้องผูก ลำไส้แปรปรวน
- ความต้องการทางเพศลดลง
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ
โรคซึมเศร้า มีเกณฑ์การวินิจฉัยอย่างไร?
แพทย์ผู้ชำนาญการจะทำการวินิจฉัยโรคซึมเศร้าเบื้องต้นโดยการซักประวัติ อาการ โรคประจำตัว ประวัติครอบครัว อารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรม ระยะเวลาที่มีอาการ พร้อมทั้งร่วมเปิดอกพูดคุยถึงสิ่งที่อยู่ในใจ เหตุการณ์ฝังใจ หรือเหตุสะเทือนใจในชีวิตเพื่อประเมินสภาพจิตใจ โดยแพทย์อาจขอให้มีการทำแบบทดสอบทางจิตวิทยาและทำการตรวจร่างกายเพื่อแยกโรคและยืนยันโรค การตรวจวินิจฉัยโรคซึมเศร้ามีวิธีการดังต่อไปนี้
- การซักประวัติเพื่อประเมินสุขภาพจิต (Psychiatric evaluation) แพทย์จะทำการซักประวัติตามเกณฑ์การวินิจฉัยโรคทางจิตเวช DSM-5 (The diagnostic and statistical of mental disorders) หากมีอาการเหล่านี้ร่วมกันนาน 2 สัปดาห์ โดยมีการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ จนแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างช่วงเวลาก่อนหน้าและช่วงเวลาที่มีอาการ โดยมีอาการดังต่อไปนี้อย่างน้อย 1 ข้อ (1) อาการซึมเศร้า (2) อาการเบื่อหน่ายสิ่งรอบตัว ไม่มีความสุข
- มีอารมณ์ซึมเศร้า หม่นหมอง ท้อแท้ หดหู่ สิ้นหวัง หรือร้องไห้แทบทั้งวันติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์จนสามารถรับรู้ได้ด้วยตนเอง หรือผู้อื่นสามารถรับรู้ได้
- รู้สึกเฉยชา เบื่อหน่ายต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัว หมดความสนใจในสิ่งที่เคยทำ หมดความเพลิดเพลินกับกิจกรรมที่เคยชอบ
- น้ำหนักลด หรือน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแม้ไม่ได้ควบคุมอาหาร รู้สึกเบื่ออาหาร หรืออยากทานอาหารมากผิดปกติ
- นอนไม่หลับ นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ หรือนอนมากผิดปกติ กระสับกระส่ายไปมา
- ไม่กระตือรือร้น เฉยชา เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย รู้สึกไร้เรี่ยวแรง ไร้กำลัง
- รู้สึกสิ้นหวัง รู้สึกไร้ค่า รู้สึกผิดอย่างมากโดยไม่มีเหตุผล มีความคิดและทัศนคติเป็นลบเสียเป็นส่วนใหญ่
- ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถโฟกัส การตัดสินใจช้า ความสามารถในการคิดอ่านและตัดสินใจลดลง
- คิดอยากทำร้ายตัวเองซ้ำ ๆ วนไปวนมา คิดฆ่าตัวตายบ่อยครั้ง
- การตรวจเลือด (Blood test) แพทย์จะทำการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาสิ่งบ่งชี้ หรือความผิดปกติต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ตรวจค่าอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) หรือความสมดุลของเกลือแร่ในเลือด ความเป็นกรด-ด่างในร่างกาย ตรวจภาวะพร่องวิตามินบางชนิด ตรวจภาวะพร่องฮอร์โมน ตรวจการทำงานของตับและไต เนื่องจากหากตับและไตเสื่อมสภาพจะทำให้ประสิทธิภาพในการกรองของเสียในร่างกายลดลง เกิดการสะสมของยารักษาโรคบางชนิดที่อาจทำให้เป็นโรคซึมเศร้าได้
- การทำ CT Scan (Computerized tomography scan) เป็นการตรวจสมองด้วยเครื่องเอกเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อตรวจโรค และแยกโรคซึมเศร้าออกจากความผิดปกติต่าง ๆ ของสมอง เช่น โรคทางระบบประสาท เนื้องอกในสมอง เลือดออกในสมอง เลือดคั่งในสมอง หรือโรคหลอดเลือดสมอง
- การทำ MRI (Magnetic resonance imaging) เป็นการตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กเหล็กไฟฟ้าที่ให้รายละเอียดความคมชัดสูงแบบ 3 มิติ เพื่อตรวจโรค และแยกโรคซึมเศร้าออกจากความผิดปกติต่าง ๆ ของสมอง เช่น ปวดศีรษะเรื้อรัง เนื้องอกในสมอง มะเร็งสมอง เส้นเลือดสมองตีบ สมองเสื่อม อัมพฤกษ์ อัมพาต
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง EEG (Electroencephalography) เป็นการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง และตรวจการทำงานของเซลล์ประสาทสมองเพื่อวินิจฉัย และแยกโรคซึมเศร้าออกจากโรคลมชัก โรคนอนไม่หลับ โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG (Electrocardiogram) เพื่อตรวจความสมบูรณ์การทำงานไฟฟ้าหัวใจ จังหวะการเต้นของหัวใจเพื่อตรวจหาความผิดปกติ และแยกโรคซึมเศร้าออกจากโรคหัวใจและระบบหลอดเลือด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือโรคลิ้นหัวใจ
- การตรวจเพท/ซีที (PET/CT) เป็นการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะในร่างกายในระดับโมเลกุล ช่วยวินิจฉัยโรคมะเร็งที่ไม่สามารถตรวจพบได้ด้วยการตรวจวิธีอื่น รวมถึงโรคทางระบบสมองและระบบประสาท
การรักษาโรคซึมเศร้า มีวิธีการอย่างไร?
แพทย์จะร่วมรับฟังปัญหา วิเคราะห์อาการ ประเมินสภาพจิตใจ รวมถึงอารมณ์และความรู้สึกของผู้รับการรักษาอย่างละเอียด เพื่อผ่อนคลายความรู้สึกและร่วมพูดคุยให้คำปรึกษา หาทางออกให้กับปัญหา และวางแผนการรักษาที่เหมาะสมและตรงจุดกับผู้รับการรักษาแต่ละบุคคล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้รับการรักษาบรรเทาอาการซึมเศร้าลงได้ เข้าใจถึงที่มาของปัญหา และสามารถจัดการกับปัญหาเหล่านั้นได้อย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันความคิดในการทำร้ายตนเองหรือความพยายามในการคิดสั้นฆ่าตัวตาย โดยแพทย์จะทำการรักษาโรคซึมเศร้าทั้งแบบเดี่ยว หรือแบบผสมผสานด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- การรักษาด้วยยาต้านเศร้า (Anti-depressant) เพื่อช่วยปรับสมดุลการหลั่งของสารสื่อประสาทในสมอง พร้อมทั้งช่วยลดอาการที่เกี่ยวเนื่องด้วยโรคซึมเศร้า เช่น นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย หรือเบื่ออาหาร โดยยาต้านเศร้าแต่ละชนิดมีกลไกในการออกฤทธิ์และผลข้างเคียงที่แตกต่างกัน ทั้งนี้แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาการให้ยาที่มีความเหมาะสมกับแต่ละบุคคล และจะค่อย ๆ ปรับยาทุก ๆ 1-2 สัปดาห์จนได้ขนาดที่เหมาะสม
- การรักษาด้วยการทำจิตบำบัด (Psychotherapy) เป็นการทำจิตบำบัดเกี่ยวข้องกับการพูดคุยโดยตรงกับจิตแพทย์ และ/หรือนักจิตวิทยาเพื่อวิเคราะห์สภาพจิตใจ เพื่อหาสาเหตุของปัญหาอันเป็นที่มาของความทุกข์ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะในการจัดการกับปัญหาเพื่อให้สามารถฟันฝ่าอุปสรรคในชีวิตไปให้ได้ มองเห็นคุณค่าของชีวิตและไม่คิดทำร้ายตนเอง
- การรักษาด้วยการบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy: CBT) เป็นการบำบัดจิตโดยจิตแพทย์เพื่อปรับความคิดอัตโนมัติ และพฤติกรรมเชิงลบที่นำไปสู่โรคซึมเศร้า พร้อมทั้งปรับวิธีคิดเชิงบวกเพื่อช่วยให้สุขภาพใจกายดีขึ้น และสามารถควบคุมความคิดเชิงลบไม่ให้ครอบงำจิตใจได้
- การรักษาด้วยการทำจิตบำบัดแบบกลุ่ม (Psychotherapeutic group therapies) เป็นการทำจิตบำบัดเป็นกลุ่มร่วมกับผู้อื่นเพื่อแบ่งปันประสบการณ์และการต่อสู้กับโรคซึมเศร้า โดยเน้นบรรยากาศของการรับฟัง สนับสนุน และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ทำให้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวและต่อสู้กับโรคซึมเศร้าเพียงลำพัง ช่วยให้สามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ในชีวิตได้อย่างมีกำลังใจ
- การรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsive therapy; ECT) เป็นการรักษาโดยการใช้กระแสไฟฟ้าขนาดอ่อน ๆ กระตุ้นสมองในผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา หรือมีความเสี่ยงสูงในการทำร้ายตนเองหรือพยายามฆ่าตัวตาย โดยเป็นการรักษาที่ให้ผลดี ไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด และมีความปลอดภัย
- การรักษาโรคทางระบบประสาทด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (deep Transcranial magnetic stimulation; dTMS) เป็นนวัตกรรมในการรักษาโรคทางระบบประสาทด้วยการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าขนาดอ่อน ๆ กระตุ้นสมองเพื่อให้เกิดการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมองและเซลล์ประสาทสมองให้เป็นปกติ ช่วยให้การเชื่อมต่อประสานระหว่างเซลล์ดีขึ้น และช่วยให้อาการของโรคซึมเศร้าดีขึ้นหรือหายขาดได้โดยไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัย
การรักษาโรคซึมเศร้า มีข้อดีอย่างไร?
ข้อดีของการได้รับการรักษาโรคซึมเศร้ากับจิตแพทย์ผู้ชำนาญการอย่างเป็นระบบ นอกเหนือจากการได้พูดคุย ระบายความในใจ และรับคำปรึกษาที่เหมาะสมและมีประโยชน์กับผู้รับการรักษาแต่ละบุคคลที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้แล้ว การรักษาโรคซึมเศร้ายังมีข้อดีอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น
- ช่วยให้ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคซึมเศร้า และรับการรักษาอย่างตรงจุด
- ช่วยให้เข้าใจตนเอง ความคิดและพฤติกรรม รวมถึงทำความเข้าใจต่อโรคซึมเศร้า
- ช่วยป้องกันการทำร้ายตนเอง ป้องกันความคิดและความพยายามในการฆ่าตัวตาย
- ช่วยปรับอารมณ์ให้สามารถรับมือกับโรคซึมเศร้า พร้อมทั้งวิธีการจัดการและการป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ
- ช่วยให้เรียนรู้วิธีการรับมือกับปัญหา การกล้าเผชิญหน้าเพื่อต่อสู้กับปัญหา
- ช่วยให้มองเห็นคุณค่าในตนเอง ช่วยเพิ่มความนับถือตนเอง
- ช่วยลดการใช้ยา
- ช่วยให้นอนหลับ
- ช่วยสร้างสมาธิ วิธีคิดเชิงบวก ช่วยสร้างแรงจูงใจ และการไปสู่เป้าหมายในชีวิต
- ช่วยให้กล้าพูดเมื่อเผชิญกับปัญหา และกล้านำปัญหาปรึกษากับผู้ใกล้ชิด
- ช่วยลดความเครียด และคลายความวิตกกังวล
- ช่วยให้เปิดรับมุมมองที่แตกต่างต่อสถานการณ์ต่าง ๆ และวิธีการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ
- ช่วยพัฒนาความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างให้ดีขึ้น
- ช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตโดยรวม และการอยู่ดีมีสุข
การรักษาโรคซึมเศร้า โรงพยาบาลเมดพาร์ค
โรงพยาบาลเมดพาร์ค ให้การรักษาโรคทางจิตเวชด้วยทีมจิตแพทย์ผู้ชำนาญการ ร่วมด้วยทีมแพทย์ด้านประสาทวิทยา และรังสีแพทย์ที่มีประสบการณ์ในการวินิจฉัย และรักษาผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าและโรคทางจิตเวชอื่น ๆ อย่างครอบคลุมและลงลึกถึงสาเหตุแห่งโรค พร้อมวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับผู้รับการรักษาแต่ละบุคคลทั้งแบบเดี่ยวและแบบผสมผสาน ทั้งการให้ยา และการทำจิตบำบัดในรูปแบบต่าง ๆ อย่างใส่ใจ โดยมุ่งหวังให้ผู้รับการรักษา หายจากโรคซึมเศร้า และไม่กลับมาเป็นโรคซ้ำ
โปรแกรมจิตบำบัดโรคซึมเศร้าและโรคทางจิตเวช โรงพยาบาลเมดพาร์คให้การบำบัดรักษาโดยจิตแพทย์ นักจิตวิยา นักจิตบำบัด พยาบาล และทีมสหวิชาชีพที่มีประสบการณ์ในการทำจิตบำบัด โดยการร่วมพุดคุย และรับฟังปัญหาต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดเพื่อระบุปัญหา ขจัดวิธีคิดเชิงลบ และฟื้นฟูสภาพจิตใจให้แข็งแกร่ง พร้อมทั้งสร้างวิธีคิดเชิงบวก วิธีการแก้ปัญหาต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ และวิธีการสร้างกำลังใจให้สามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข
โปรแกรมจิตบำบัด (Psychotherapy programs)
โปรแกรมจิตบำบัด หรือการบำบัดด้วยการ "พูดคุย" โรงพยาบาลเมดพาร์ค เป็นการบำบัดโดยการร่วมพูดคุยกับจิตแพทย์ และนักจิตวิทยาอย่างเป็นส่วนตัวในบรรยากาศที่ผ่อนคลายเพื่อรับฟังปัญหา พร้อมทั้งระบุสาเหตุแห่งปัญหา และร่วมหาทางออกให้กับปัญหาอย่างเป็นระบบ
โปรแกรมจิตบำบัดโรงพยาบาลเมดพาร์คใช้เทคนิคหลากหลายในการจัดการกับโรคซึมเศร้า ทั้งการร่วมพูดคุยถึงผลกระทบจากโรคซึมเศร้าในชีวิตประจำวัน และการกล้าสื่อสารกับผู้อื่นเมื่อมีอาการของโรคซึมเศร้า ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและพฤติกรรมโดยรวม โดยสามารถเลือกวิธีการบำบัดด้วยการพูดคุยเพียงอย่างเดียวโดยไม่ใช้ยา หรือการบำบัดร่วมกับการใช้ยาเพื่อรักษาโรค
โปรแกรมบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy programs)
โปรแกรมบำบัดทางความคิดและพฤติกรรมโรงพยาบาลเมดพาร์ค ให้การรักษาโรคซึมเศร้าครอบคลุมตั้งแต่ระดับเล็กน้อย ปานกลาง จนถึงรุนแรง รวมถึงป้องกันไม่ให้กลับมามีอาการซ้ำ โปรแกรมบำบัดทางความคิดและพฤติกรรมประกอบไปด้วย 2 องค์ประกอบสำคัญ 1) องค์ประกอบทางความคิดเพื่อเปลี่ยนวิธีคิดและมุมมองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น 2) องค์ประกอบด้านพฤติกรรมเพื่อช่วยเปลี่ยนวิธีการตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งทางความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม
ในระหว่างการบำบัด ผู้รับการบำบัดจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของตนเอง โดยนักจิตบำบัดจะทำการสาธิตวิธีการทดสอบธรรมชาติของอารมณ์ ความคิด และการรับรู้ของผู้รับการรักษาเพื่อที่จะสามารถจัดการกับโรคซึมเศร้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ