เลือกหัวข้อที่อ่าน
- ตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย EST
- ใครที่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย
- การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกายมีอะไรบ้าง
- การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกายไม่เหมาะกับใคร
- การเตรียมตัวตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย EST
- ผลการตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย EST
การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย EST
การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย (Exercise Stress Test) หรือ ตรวจ EST ช่วยประเมินการทำงานของหัวใจขณะที่ออกกำลังกายหรือทำงานหนัก ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องออกกำลังกายบนลู่วิ่งหรือจักรยานขณะที่มีการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกายนั้นสามารถทำได้หลายวิธี โดยเป็นการตรวจประเมินการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต ปริมาณออกซิเจนในเลือด กระแสไฟฟ้าหัวใจ และสมรรถภาพร่างกายของผู้เข้ารับการตรวจจากการเปรียบเทียบกับผู้ที่มีเพศและอยู่ในวัยเดียวกัน การตรวจสมรรถภาพหัวใจนั้นจะช่วยให้แพทย์สามารถประเมินความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจของผู้ที่เข้ารับการตรวจได้
ใครที่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย
แพทย์จะทำการประเมินอายุ ประวัติการเป็นโรคหัวใจของผู้ป่วยและครอบครัวสายตรง วิถีชีวิต และปัจจัยเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่และสุขภาพ เพื่อดูว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกายหรือไม่
โดยแพทย์อาจให้เข้ารับการตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกายหากผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้
- เจ็บหน้าอก
- หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ
- หายใจหอบเหนื่อย
- เวียนศีรษะ
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง คนในครอบครัวมีภาวะหัวใจขาดเลือดขณะที่มีอายุน้อย ผู้ที่ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง เช่น นักบิน หรือนักกีฬาอาชีพ ผู้ที่ไม่เคยมีอาการโรคหัวใจสามารถเข้ารับการตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกายเพื่อประเมินว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจเหล่านี้หรือไม่
- โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
- ภาวะหัวใจล้มเหลว
- โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- โรคลิ้นหัวใจ
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ
ผู้ที่เป็นโรคหัวใจอาจจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกายหาก
- ผู้ป่วยกำลังวางแผนการออกกำลังกายใหม่ ๆ
- แพทย์ต้องการตรวจประเมินว่าผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาหรือไม่
- ผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะมีภาวะแทรกซ้อน เมื่อดูจากประวัติสุขภาพของผู้ป่วยหรือครอบครัวสายตรง
- ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานหรือโรคอื่น ๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจ
การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกายมีอะไรบ้าง
- การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย (Exercise Stress Test)
ช่วยในการตรวจหาข้อบ่งชี้ของโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยผู้เข้ารับการตรวจจะต้องเดินบนลู่วิ่งหรือปั่นจักรยาน ที่จะถูกปรับความเร็วหรือความลาดชันเพื่อประเมินสมรรถภาพของร่างกาย โดยระหว่างการทดสอบนั้น ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องติดอุปกรณ์เพื่อตรวจดูคลื่นไฟฟ้าหัวใจ - การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงร่วมกับการออกกำลังกาย (Exercise stress echocardiogram)
หากผลการตรวจครั้งแรกนั้นไม่สามารถสรุปผลได้ แพทย์อาจให้ทำการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงร่วมกับการออกกำลังกาย โดยภาพที่ได้จากการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงหรืออัลตราซาวด์จะแสดงให้เห็นถึงสมรรถภาพของกล้ามเนื้อหัวใจและลิ้นหัวใจ การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจและการไหลเวียนของเลือดในห้องหัวใจ และผลกระทบจากการออกกำลังกาย - การตรวจหัวใจด้วยรังสี (Nuclear stress test)
การถ่ายภาพหัวใจจะใช้ปริมาณรังสีในระดับที่ปลอดภัยเพื่อทำการประเมินการทำงานของหัวใจ โดยจะทำการถ่ายภาพหัวใจขณะที่ร่างกายกำลังพักผ่อนและขณะที่กำลังออกกำลังกายเพื่อเปรียบเทียบปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งถ้าลดลงบ่งชี้ว่ามีการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจหนึ่งหรือหลายเส้น
นอกจากนี้การตรวจหัวใจด้วยรังสียังช่วย:- ประเมินความรุนแรงของการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจ
- ประเมินประสิทธิภาพของการรักษา เช่น การผ่าตัดขยายหลอดเลือดโดยการใส่ขดลวดหรือการทำบายพาส
- ตรวจวินิจฉัยแบบไม่รุกรานแทนการตรวจสวนหัวใจ
- ประเมินความพร้อมของหัวใจต่อการเข้ารับการผ่าตัดทั่วไปหรือการออกกำลังกาย
- การตรวจเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ (Cardiac rehabilitation stress test)
เป็นโปรแกรมการออกกำลังกายที่แพทย์จะทำการเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด ซึ่งออกแบบมาสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจโดยเฉพาะ ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการตรวจก่อนและหลังการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ
- การตรวจก่อนการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจนั้นจำเป็นต่อการออกแบบโปรแกรมการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้ป่วย
- การตรวจหลังการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจเป็นการประเมินผลและช่วยพัฒนาโปรแกรมการออกกำลังกายระยะยาวที่เหมาะสมหลังการฟื้นฟู
การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกายไม่เหมาะกับใคร
ผู้ที่มีอาการดังต่อไปนี้ไม่ควรเข้ารับการตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกายเนื่องจากอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตรวจได้
- ภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด
- ภาวะติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจ โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเมื่อไม่นานมานี้
- โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบอย่างรุนแรง
- โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- อาการเจ็บหน้าอกไม่หาย
การเตรียมตัวตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย EST
ก่อนเข้ารับการตรวจ EST
- งดดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง หรืออาหารใด ๆ ที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนเป็นเวลา 24 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการตรวจ
- งดสูบบุหรี่หรือยาสูบ
- สอบถามแพทย์ว่าจำเป็นต้องงดการใช้ยา เช่น ยาลดความดันโลหิตและยาพ่นขยายหลอดลมในวันที่เข้ารับการตรวจหรือไม่
- สวมใส่เสื้อผ้าและรองเท้าที่เหมาะกับการออกกำลังกาย
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนงดมื้ออาหารใด ๆ และควรนำเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลมาด้วย
ระหว่างเข้ารับการตรวจ EST
เจ้าหน้าที่จะติดแผ่นขั้วไฟฟ้า (electrode) ที่บริเวณหน้าอกของผู้เข้ารับการตรวจเพื่อทำการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และทำการเฝ้าสังเกตความดันโลหิตของผู้เข้ารับการตรวจ ผู้เข้ารับการตรวจอาจต้องหายใจออกเข้าไปในท่อเพื่อตรวจวัดการหายใจ
ผู้เข้ารับการตรวจจะเริ่มออกกำลังกายบนลู่วิ่งหรือจักรยานจากช้าไปเร็วจนกระทั่งจังหวะการเต้นของหัวใจถึงระดับที่กำหนดไว้ โดยผู้เข้ารับการตรวจควรแจ้งเจ้าหน้าที่ทันทีหากเริ่มรู้สึกไม่สบายหรือมีอาการดังต่อไปนี้
- เจ็บหน้าอกปานกลางถึงรุนแรง
- หายใจลำบากรุนแรง
- ความดันโลหิตต่ำหรือสูงจนอันตราย
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- เวียนศีรษะและอ่อนเพลีย
หากผู้เข้ารับการตรวจไม่สามารถออกกำลังกายได้ แพทย์อาจให้ยาทางหลอดเลือดดำเพื่อเพิ่มการเต้นและบีบตัวของหัวใจเหมือนกับเวลาออกกำลังกาย
หลังเข้ารับการตรวจ EST
เจ้าหน้าที่จะทำการเฝ้าสังเกตจังหวะการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต คลื่นไฟฟ้าหัวใจ และอาการของผู้เข้ารับการตรวจเป็นเวลา 15 นาที หากอาการเป็นปกติจึงสามารถกลับบ้านได้
ผลการตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย EST
หากผลการตรวจอยู่ในระดับปกติ นั่นแสดงว่าหัวใจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการไหลเวียนของเลือดเพียงพอ ผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอกหรือหัวใจเต้นเร็วอาจจำเป็นต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุของอาการ ผู้ที่วางแผนจะเริ่มออกกำลังกายหรือเข้ารับการผ่าตัดสามารถทำได้เนื่องจากสุขภาพของหัวใจแข็งแรง และสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ ผลการตรวจเป็นปกตินั่นแสดงว่าการรักษามีประสิทธิภาพดี
หากผลการตรวจไม่ปกติ นั่นแสดงถึงข้อบ่งชี้ของโรคหัวใจ ในกรณีที่ไม่รุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้ทำการปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต เช่น เลิกสูบบุหรี่ ออกกำลังกาย หรือรักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม รับประทานยาเพื่อควบคุมโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคไขมันในเลือดสูง เพื่อป้องกันไม่ให้อาการแย่ลงกว่าเดิม
เมื่อพบความผิดปกติระหว่างที่เข้ารับการตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย แพทย์อาจให้เข้ารับการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจสวนหัวใจ การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
ผู้ที่มีแผนจะเริ่มออกกำลังกายหรือเข้ารับการผ่าตัดจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเพื่อป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันหรือหัวใจล้มเหลวเสียก่อน และสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจที่กำลังได้รับการรักษาอยู่ ผลการตรวจที่ไม่ปกติแสดงให้เห็นว่าวิธีการรักษาเดิมไม่ได้ผลตามต้องการ จำเป็นต้องทำการปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น