เลือกหัวข้อที่อ่าน
- การตรวจหาเชื้อ HPV (HPV DNA test) คืออะไร?
- ควรตรวจหาเชื้อ HPV เมื่อใด?
- วิธีการตรวจหาเชื้อ HPV เป็นอย่างไร
- ผลตรวจ HPV บอกอะไร?
- แพ็กเกจวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก
- คำถามที่ถามบ่อย
- คำแนะนำจากแพทย์โรงพยาบาลเมดพาร์ค
การตรวจหาเชื้อ HPV (HPV DNA test) คืออะไร?
การตรวจหาเชื้อ HPV เป็นการตรวจหาเชื้อไวรัส สายพันธุ์เสี่ยงสูงที่จะก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก มีทั้งหมดสิบสี่สายพันธ์ รวมทั้งสายพันธุ์หลัก HPV 16 และ HPV 18
เชื้อไวรัส HPV นั้นมีมากกว่า 150 สายพันธุ์ ราว 100 สายพันธุ์เป็นสาเหตุของหูดบนใบหน้า มือ และเท้า อีก 40 สายพันธุ์เป็นสาเหตุของหูดบริเวณอวัยวะเพศ ซึ่งสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่ำจะเป็นสาเหตุของหูดหงอนไก่ ที่พบบ่อยคือสายพันธ์ HPV 6 และ HPV 11 ในภาวะที่ร่างกายแข็งแรง ร่างกายของคนเราจะสามารถกำจัดเชื้อไวรัส HPV ได้เองภายใน 2-3 ปี แต่สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงมักก่อให้เกิดรอยโรคก่อนเป็นมะเร็ง ที่เรียกกันว่าระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก (cervical dysplasia) ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะพัฒนาไปเป็นมะเร็งปากมดลูก
การตรวจหาเชื้อ HPV ควรตรวจเมื่อใด?
- เมื่ออายุครบ 30 ปีขึ้น
- เมื่อผลตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear) ผิดปกติ
- เมื่อเป็นมะเร็งที่คอหอย (Oropharyngeal cancer) การตรวจหาเชื้อ HPV สามารถช่วยยืนยันได้ว่ามะเร็งที่คอหอยมีสาเหตุมาจากไวรัส HPV 16 ซึ่งติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทางปากหรือไม่ เพื่อช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม
โดยควรเข้ารับการตรวจหาเชื้อ HPV ทุก ๆ 3- 5 ปี ผู้ที่มีประวัติผลการตรวจเชื้อ HPV เป็นบวกหรือระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองบ่อยขึ้น เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอนั้นทำให้ร่างกายไม่สามารถกำจัดไวรัสออกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วิธีการตรวจหาเชื้อ HPV เป็นอย่างไร?
แพทย์จะทำการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อที่ปากมดลูกระหว่างการตรวจแปปสเมียร์หรือการตัดชิ้นเนื้อปากมดลูก และนำส่งตัวอย่างไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อทำการตรวจพยาธิสภาพ โดยปกติแล้วมักทำการตรวจหาเชื้อ HPV ในคราวเดียวกันกับการตรวจแปปสเมียร์ หากพบว่าผลการตรวจแปปสเมียร์ผิดปกติ แพทย์จึงจะทำการตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกไปตรวจเพิ่มเติม
การตรวจหาเชื้อ HPV มีขั้นตอนอย่างไร?
ก่อนการตรวจ HPV
เพื่อผลการตรวจที่ถูกต้องแม่นยำ ผู้เข้ารับการตรวจควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจส่งผลต่อการตรวจ เช่น การตรวจช่วงมีประจำเดือน งดการมีเพศสัมพันธ์ การใส่สารหล่อลื่น การสวนล้างช่องคลอด การใช้ยาภายในช่องคลอด การใช้ยาฆ่าตัวอสุจิ หรือการใช้ยาคุมกำเนิดแบบเจล เป็นเวลาอย่างน้อย 2 วันก่อนเข้ารับการตรวจ
ระหว่างการตรวจ HPV
ขั้นตอนการตรวจจะเหมือนกับการตรวจแปปเสมียร์ ผู้เข้ารับการตรวจจะนอนหงาย ขาพาดบนขาหยั่ง จากนั้นแพทย์จะสอดเครื่องมือเข้าไปในช่องคลอด เพื่อตรวจดูปากมดลูก และเก็บเซลล์เนื้อเยื่อปากมดลูกส่งไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อทำการตรวจวิเคราะห์ดีเอ็นเอของเชื้อไวรัส HPV
หลังการตรวจ HPV
ผู้เข้ารับการตรวจสามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ แพทย์จะนัดให้เข้ามาฟังผลอีกครั้งในภายหลัง โดยผลที่ได้นั้นอาจเป็นผลบวกหรือผลลบ
ผลตรวจ HPV บอกอะไร?
- ผลบวก (Positive) หมายความว่า พบเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้เข้ารับการตรวจเป็นมะเร็งปากมดลูกแล้ว แต่เป็นสัญญาณเตือนถึงความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็ง แพทย์มักแนะนำให้ตรวจคัดกรองอีกครั้งภายใน 1 ปี เพื่อประเมินว่ายังมีการติดเชื้อหรือมีข้อบ่งชี้ของมะเร็งอยู่หรือไม่
- ผลลบ (Negative) หมายความว่า ไม่พบเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกในตัวอย่างเนื้อเยื่อ ควรพิจารณาเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส HPV
หลังทราบผล แพทย์อาจแนะนำให้
- เฝ้าระวัง โดยเข้ารับการตรวจทุก 3 - 5 ปี สำหรับผู้ที่อายุมากกว่า 30 ปี ที่มีผลการตรวจแปปสเมียร์ปกติ และผลการตรวจหาเชื้อ HPV เป็นลบหรือไม่พบเชื้อ
- ส่องกล้องปากมดลูกด้วยคอลโปสโคป แพทย์จะทำการส่องกล้องปากมดลูกหากผลการตรวจแปปสเมียร์ผิดปกติ โดยแพทย์อาจทำการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจระหว่างการส่องกล้องด้วย
- ผ่าตัดปากมดลูก เพื่อนำเซลล์ที่ผิดปกติออกไป ป้องกันการกลายไปเป็นมะเร็ง
แพ็กเกจวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก
- แพ็กเกจวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก (4 สายพันธุ์)
- แพ็กเกจวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก (9 สายพันธุ์)
คำถามที่ถามบ่อย
- การตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สามารถตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ได้หรือไม่?
ไม่ได้ การตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มักทำโดยการตรวจเลือดหรือสารคัดหลั่ง การตรวจหาเชื้อไวรัส HPV นั้นเป็นการตรวจเซลล์เนื้อเยื่อปากมดลูกโดยตรง แต่สามารถทำการตรวจเพิ่มเติมไปในคราวเดียวกันได้ - เพศชายจะทราบได้อย่างไรว่าติดเชื้อ HPV?
ในปัจจุบันยังไม่มีการตรวจหาเชื้อ HPV ในผู้ชายที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยา แต่การมีหูดตามร่างกาย รวมถึงบริเวณอวัยวะเพศและถุงอัณฑะ อาจเป็นสัญญาณเตือนของการติดเชื้อ HPV จึงควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างเหมาะสม ในบางราย แพทย์อาจทำการตรวจแปปสเมียร์ทางทวารหนักเพื่อคัดกรองหาสัญญาณก่อนเป็นมะเร็งและมะเร็งทวารหนัก
คำแนะนำจากแพทย์โรงพยาบาลเมดพาร์ค
การตรวจหาเชื้อ HPV มีส่วนสำคัญในการหาความเสี่ยงในอนาคตที่จะเป็นมะเร็ง ในเซลล์ปากมดลูกที่พบความผิดปกติ ผู้หญิงอายุระหว่าง 30-60 ปี จึงควรเข้ารับการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอด้วยแปปเสมียร์ การตรวจหา HPV DNA หรือทั้ง 2 อย่าง