อาการ สาเหตุ การตรวจวินิจฉัยและการรักษาโรคนอนไม่หลับ (Insomnia)- Symptoms, Causes, Diagnose, treatment of insomnia

โรคนอนไม่หลับ (Insomnia)

หากคุณมีอาการนอนหลับได้ยากและหลับไม่ต่อเนื่องตลอดทั้งคืน หรือตื่นนอนตอนเช้าเร็วเกินไปและหลับต่อไม่ได้ คุณอาจจะประสบกับภาวะโรคนอนไม่หลับ เมื่อตื่นนอนอาจรู้สึกสมองร่างกายไม่สดชื่น การขาดการพักผ่อน

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


โรคนอนไม่หลับ

หากคุณมีอาการนอนหลับได้ยากและหลับไม่ต่อเนื่องตลอดทั้งคืน หรือตื่นนอนตอนเช้าเร็วเกินไปและหลับต่อไม่ได้ คุณอาจจะประสบกับภาวะโรคนอนไม่หลับ เมื่อตื่นนอนอาจรู้สึกสมองร่างกายไม่สดชื่น การขาดการพักผ่อนนอนหลับอย่างเต็มที่จะทำให้คุณหมดพลังงาน รู้สึกหงุดหงิด ส่งผลต่อการทำงาน สุขภาพ และการดำเนินชีวิต

ในวัยผู้ใหญ่ต้องการการนอน 7-8 ชั่วโมง ซึ่งจำนวนชั่วโมงในการนอนนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

ในวัยผู้ใหญ่อาจมีภาวะนอนไม่หลับชั่วคราว เป็นเวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ ภาวะนอนไม่หลับชั่วคราวมักเกิดจากความเครียดหรือเหตุการณ์กระทบจิตใจ ในผู้ป่วยที่มีภาวะนอนไม่หลับแบบเรื้อรัง อาการมักเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานเกิน 1 เดือนขึ้นไป โรคนอนไม่หลับอาจเป็นสาเหตุหลัก หรืออาจเป็นผลของจากการใช้ยาหรืออาการเจ็บป่วย

ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องทนกับอาการนอนไม่หลับ การปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตประจำวันสามารถช่วยให้อาการนอนไม่หลับดีขึ้นได้

โรคนอนไม่หลับ มีอาการอย่างไรบ้าง

  • หลับยาก
  • ตื่นกลางดึก
  • ตื่นเช้าเกินไป
  • รู้สึกไม่กระปรี้กระเปร่าหลังตื่นนอน
  • อ่อนเพลียและงัวเงียระหว่างวัน
  • หงุดหงิด หดหู่ วิตกกังวล
  • ไม่มีสมาธิจดจ่อกับงานหรือหลงลืม
  • ทำงานผิดพลาดมากขึ้น เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งขึ้น
  • กังวลเรื่องการนอนหลับยาก

ควรพบแพทย์เมื่อไร

เมื่อโรคนอนไม่หลับส่งผลต่อการทำงานระหว่างวัน ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและวิธีการรักษา หากพบว่าผู้ป่วยอาจจะมีความผิดปกติด้านการนอน แพทย์จะแนะนำให้ไปยังแผนกเวชศาสตร์โรคการนอนหลับเพื่อทำการวินิจฉัยต่อไป

การนอนไม่หลับ มีสาเหตุเกิดจากอะไร<

อาการนอนไม่หลับอาจจะเป็นปัญหาหลักหรืออาจจะเป็นผลจากอาการของโรคอื่น ๆ อาการนอนไม่หลับแบบเรื้อรังมักมีสาเหตุมาจากความเครียด เหตุการณ์สะเทือนใจหรืออุปนิสัยบางอย่างที่รบกวนการนอน ปัญหาการนอนสามารถรักษาได้เมื่อพบสาเหตุ แต่การรักษาก็อาจจะกินเวลาหลายปี

  • สาเหตุของอาการนอนไม่หลับแบบเรื้อรัง
    • ความเครียด
      ความกังวลเรื่องสุขภาพ งาน โรงเรียน ครอบครัว หรือสถานะทางการเงิน อาจจะทำให้หยุดคิดไม่ได้ หลับยาก เหตุการณ์ที่กระทบจิตใจ เช่น การสูญเสียบุคคลที่รัก การหย่าร้าง การว่างงาน หรืออาการเจ็บป่วยของบุคคลอันเป็นที่รักก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้นอนไม่หลับ
    • การเปลี่ยนแปลงของนาฬิกาชีวภาพ
      เราทุกคนมีนาฬิกาชีวภาพซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการตื่นและการนอน การเผาผลาญพลังงาน และอุณหภูมิร่างกาย หากนาฬิกาของร่างกายถูกรบกวนจากการเดินทาง การทำงานกะดึกกะเช้า หรือการเปลี่ยนกะเข้าทำงานบ่อย อาจส่งผลให้เกิดอาการนอนไม่หลับ
    • นิสัยการนอนไม่เป็นเวลา
      การเข้านอนไม่ตรงเวลา การทำกิจกรรมที่ทำให้ตื่นตัวก่อนเข้านอน สภาพห้องนอนที่ไม่สบายหรือไม่เหมาะสมต่อการนอนหลับ หรือการใช้เตียงนอนเป็นสถานที่ทำงาน ทานอาหาร หรือดูโทรทัศน์ เป็นนิสัยการนอนที่ไม่เหมาะสม การใช้เวลากับหน้าจอนาน ๆ ก่อนเข้านอน ก็เป็นปัจจัยที่รบกวนการนอน
    • การรับประทานอาหารเย็นมื้อใหญ่หรือปริมาณมากเกินไป
      ก่อนเข้านอน ควรหลีกเลี่ยงการทานอาหารมื้อหนัก หรืออาหารรองท้องมื้อดึก เพราะอาจะเกิดความรู้สึกไม่สบายตัว ตื่นนอนตอนกลางคืนเพราะภาวะกรดไหลย้อน เช่น แสบร้อนกลางอก หลอดอาหารอักเสบ

        ยาบางชนิดหรืออาการป่วยบางอย่างอาจทำให้เกิดภาวะนอนไม่หลับเรื้อรัง การรักษาอาการดังกล่าวอาจช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น

        • สาเหตุอื่น ๆ ของโรคนอนไม่หลับ
          • ปัญหาสุขภาพจิต
            อาการวิตกกังวล อาการผิดปกติทางจิตใจหลังประสบเหตุการณ์รุนแรง อาจจะรบกวนการนอน การตื่นนอนเร็วเกินไปอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน อาการนอนไม่หลับนั้นอาจเกี่ยวข้องกับปัญหาด้านสุขภาพจิต
          • การใช้ยา
            ยาแก้หอบหืด ยาลดความดันโลหิต รวมถึงยาต้านอาการซึมเศร้า อาจรบกวนการนอนได้ ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาแก้แพ้ หรือยาลดน้ำหนักที่ม่ส่วนผสมของสารกระตุ้นเช่นคาเฟอีนก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการนอน
          • อาการเจ็บป่วย
            โรคบางอย่างอาจทำให้เกิดภาวะนอนไม่หลับ เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน อาการปวดเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคหอบหืด โรคกรดไหลย้อน โรคไทรอยด์เป็นพิษ โรคอัลไซเมอร์ และโรคพาร์กินสัน
          • ความผิดปกติที่เกี่ยวกับการนอน
            โรคหยุดหายใจขณะหลับอาจรบกวนการนอนเมื่อการหายใจหยุดชะงักชั่วครู่ขณะนอนหลับ อาการขาอยู่ไม่สุขทำให้ต้องตื่นขึ้นมาเพราะรู้สึกไม่สบายตัวจนต้องขยับขา
          • การรับประทานสารกระตุ้น
            การดื่มชา กาแฟและน้ำอัดลมที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนในตอนบ่ายหรือตอนเย็น อาจไปกระตุ้นร่างกายให้ตื่นตัวในช่วงกลางคืน  สารนิโคตินในบุหรี่หรือยาสูบก็อาจรบกวนการนอนหลับ การดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้ง่วงนอนแต่หัวค่ำ แต่ก็มีฤทธิ์ที่ทำให้ไม่สามารถหลับลึกได้ และอาจตื่นกลางดึกบ่อย
        • วัยกับภาวะนอนไม่หลับ
          อาการนอนไม่หลับนั้นมักเกิดมากขึ้นตามวัย เมื่ออายุมากขึ้น ก็มีโอกาสที่จะเกิดภาวะนอนไม่หลับมากขึ้น
          • นิสัยการนอน
            เมื่ออายุมากขึ้น การนอนหลับสนิทมักเป็นไปได้ยากขึ้น ทั้งเสียงและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอาจทำให้รู้สึกตัวตื่นขึ้นได้ง่าย มีแนวโน้มที่นาฬิกาชีวภาพจะเปลี่ยนไปด้วย อาจจะรู้สึกเหนื่อยระหว่างวันเร็วขึ้นและตื่นเช้ากว่าปกติ อย่างไรก็ตามผู้สูงวัยยังต้องการชั่วโมงการนอนเท่ากับวัยหนุ่มสาว
          • การเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิต
            การทำกิจกรรมในช่วงกลางวันอย่างเพียงพอช่วยทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น เมื่ออายุมากขึ้น คนเรามักจะทำเคลื่อนไหวหรือเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมลดลง การทำกิจกรรมน้อยลงอาจทำให้งีบหลับในช่วงกลางวันบ่อยขึ้น ซึ่งจะทำให้การนอนหลับในตอนกลางคืนเป็นไปได้ยากขึ้น
          • สุขภาพ
            คุณภาพการนอนแย่ลงหากมีอาการเจ็บป่วยทางกายจากโรคต่าง ๆ เช่น โรคข้ออักเสบ โรคปวดหลัง โรคทางด้านจิตใจ เช่น โรควิตกกังวล หรือโรคซึมเศร้า ปัญหาด้านต่อมลูกหมากหรือกระเพาะปัสสาวะอาจทำให้ต้องตื่นขึ้นมากลางดึกเพื่อเข้าห้องน้ำ อาการเช่น โรคหยุดหายใจขณะหลับ อาการขาอยู่ไม่สุขมักพบได้บ่อยเมื่อสูงวัยขึ้น
          • การใช้ยา
            ผู้สูงวัยมีแนวโน้มที่จะป่วยและทานยามากกว่าวัยหนุ่มสาว ทำให้เกิดโอกาสที่จะเกิดภาวะนอนไม่หลับจากการใช้ยามากขึ้น
        • ภาวะนอนไม่หลับในเด็กและวัยรุ่น
          เด็กและวัยรุ่นอาจประสบภาวการณ์นอนไม่หลับได้เช่นกัน โดยอาจจะนอนไม่หลับหรือไม่ยอมเข้านอนเพราะนาฬิกาชีวภาพที่เปลี่ยนไป ทำให้อยากจะเข้านอนดึกและตื่นสาย

        ปัจจัยเสี่ยงของภาวะนอนไม่หลับ- Risk factors of insomnia

        ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคนอนไม่หลับ

        เกือบทุกคนอาจจะเคยนอนไม่หลับ แต่ความเสี่ยงของภาวะนอนไม่หลับจะมีมากขึ้น ในกรณีต่อไปนี้

        • เพศ เพศหญิงมักประสบกับภาวะนอนไม่หลับในช่วงที่มีประจำเดือน หมดประจำเดือน หรือตั้งครรภ์เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน  ในวัยหมดประจำเดือนอาจเกิดอาการวูบวาบและเหงื่อออกระหว่างการนอนจนทำให้รู้สึกตัวตื่นขึ้น
        • อายุ เมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป สุขภาพและนิสัยการนอนก็อาจเปลี่ยนด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจทำให้เป็นโรคนอนไม่หลับ
        • อาการเจ็บป่วยด้านร่างกายและทางจิตใจ ปัญหาที่รบกวนจิตใจและสุขภาพอาจส่งผลต่อการนอน
        • ความเครียด หากมีความเครียดหรือกดดัน ก็อาจเกิดภาวการณ์นอนไม่หลับในระยะสั้น ๆ หากความรู้สึกเครียดหรือกดดันเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ ก็อาจทำให้เป็นโรคนอนไม่หลับเรื้อรัง
        • การใช้ชีวิตประจำวันไม่เป็นเวลา เมื่อมีการเปลี่ยนเวลาทำงานหรือเดินทางข้ามเขตเวลา เวลาการเข้านอนก็อาจจะถูกเปลี่ยนไป

        ภาวะแทรกซ้อน

        การนอนหลับอย่างมีคุณภาพและเพียงพอส่งผลต่อการดำเนินชีวิต การนอนไม่เพียงพออาจทำให้สุขภาพร่างกายและจิตใจแย่ลง ผู้ป่วยโรคนอนไม่หลับมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำกว่าคนที่ไม่ประสบกับปัญหาดังกล่าว

        ผลเสียและปัญหาแทรกซ้อนของโรคนอนไม่หลับ

        • ประสิทธิภาพการทำงานหรือการเรียนแย่ลง
        • ปฏิกิริยาตอบสนองขณะขับรถช้าลง เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
        • ภาวะผิดปกติทางจิต เช่น ติดสารเสพติด โรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวล
        • มีโอกาสเป็นโรคหรือมีอาการป่วยที่รุนแรงในระยะยาวมากขึ้น เช่น ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ

        การป้องกันการนอนไม่หลับ

        การสร้างนิสัยการนอนที่ดีช่วยเพิ่มคุณภาพการนอนและป้องกันอาการนอนไม่เพียงพอได้

        • เข้านอนตรงเวลาทุกวัน
        • ขยับ เคลื่อนไหวร่างกายในช่วงกลางวันเพื่อให้นอนหลับได้ดีขึ้น
        • ตรวจสอบว่าไม่ได้ใช้ยาที่ขัดขวางการนอน
        • หลีกเลี่ยงหรือจำกัดการนอนกลางวัน
        • หลีกเลี่ยงหรือจำกัดปริมาณคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ และงดนิโคติน
        • ก่อนเข้านอนไม่ควรทานอาหารหรือเครื่องดื่มในปริมาณมาก ๆ
        • สร้างบรรยากาศให้ห้องนอนให้สงบ ผ่อนคลาย เหมาะแก่การนอนหรือการมีเพศสัมพันธ์
        • กำหนดกิจวัตรก่อนนอน เช่น อาบน้ำอุ่น อ่านหนังสือ หรือฟังเพลงเบา ๆ เพื่อให้ผ่อนคลายก่อนเข้านอน

        ภาวะนอนไม่หลับ มีวิธีการวินิจฉัยอย่างไร

        การศึกษาวินิจฉัยโรคนอนไม่หลับแตกต่างและขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละบุคคล

        • การตรวจร่างกาย
          การตรวจร่างกายเพื่อตรวจหาสาเหตุที่ซ่อนอยู่หรือต้นตอปัญหาที่ทำให้นอนไม่หลับ การตรวจเลือดอาจทำเพื่อเช็คโรคที่เกี่ยวกับไทรอยด์หรืออาการอื่น ๆ
        • การวิเคราะห์นิสัยการนอน
          แพทย์จะให้ผู้ป่วยตอบแบบสอบถามเพื่อตรวจสอบ การตื่นและการนอน อาการง่วงงัวเงียช่วงกลางวัน โดยผู้ป่วยอาจต้องจดบันทึกการนอน 2-3 สัปดาห์
        • การตรวจวินิจฉัยการนอนหลับ
          ผู้ป่วยอาจจะต้องนอนค้างที่แผนกเวชศาสตร์โรคการนอนหลับเพื่อหาสาเหตุเช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรืออาการขาอยู่ไม่สุข ขณะที่หลับจะมีการตรวจสอบเพื่อสังเกตและบันทึกการหายใจ จังหวะการเต้นของหัวใจ คลื่นสมอง และการเคลื่อนไหวของดวงตาและร่างกาย เป็นต้น
        • โรคนอนไม่หลับ มีวิธีการรักษาอย่างไร

          การปรับพฤติกรรมการนอนและแก้ไขปัญหา เช่น ความเครียด ภาวการณ์เจ็บป่วย หรือการใช้ยา สามารถช่วยให้ผู้ป่วยกลับมานอนหลับได้เต็มอิ่มอีกครั้ง หากวิธีเหล่านี้ไม่ได้ผล แพทย์อาจแนะนำการใช้ยาและการบำบัดเพื่อให้สามารถนอนหลับได้เต็มอิ่มอีกครั้ง

          • การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม
            การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรมสำหรับภาวะนอนไม่หลับ (CBT-I) เป็นวิธีที่ช่วยสลัดความคิดหรือกิจกรรมที่จะทำจิตใจว้าวุ่นตื่นตัว วิธีนี้เป็นการรักษาที่มักจะใช้กับผู้ป่วยโรคนอนไม่หลับเป็นอันดับแรก เพราะวิธีนี้มีประสิทธิภาพเทียบเท่าหรืออาจจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้ยานอนหลับในระยะยาว
            การบำบัดความคิดช่วยให้เข้าใจและสามารถเปลี่ยนแปลงนิสัยการนอนหลับได้ ช่วยให้ควบคุมและกำจัดความกังวล และความคิดด้านลบ ช่วยลดนิสัยที่มักกังวลเรื่องการนอนหลับยากมากเกินไป
            การบำบัดพฤติกรรมช่วยทำให้สุขภาพการนอนดีขึ้นและขจัดนิสัยการนอนที่ไม่ดี วิธีเหล่านี้ได้แก่
            • การควบคุมปัจจัยกระตุ้น
              เป็นวิธีกำจัดปัจจัยที่ทำให้จิตใจฝืนไม่ยอมนอน ผู้ป่วยจะเรียนรู้วิธีที่จะเข้านอนและตื่นเป็นเวลา ไม่นอนกลางวัน ใช้เตียงเพื่อนอนหรือการมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น และออกจากห้องนอนเมื่อนอนไม่หลับภายใน 20 นาที และกลับเข้ามาเมื่อเริ่มรู้สึกง่วงเท่านั้น
            • เทคนิคการผ่อนคลาย
              ผู้ป่วยจะเรียนรู้วิธีการผ่อนคลายจิตใจและร่างกายก่อนเข้านอน โดยใช้เทคนิค เช่น การฝึกหายใจ การฝึกควบคุมร่างกาย และการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยจะสามารถควบคุมการหายใจ การเต้นของหัวใจ รวมถึงการผ่อนคลายอารมณ์และกล้ามเนื้อ
            • การจำกัดการนอน
              เป็นการจำกัดเวลาที่ใช้บนเตียงนอนและเว้นจากการนอนกลางวันซึ่งเป็นสาเหตุให้นอนตอนกลางคืนได้อย่างไม่เพียงพอและรู้สึกอ่อนล้ามากขึ้น เมื่อคุณภาพการนอนดีขึ้น ผู้ป่วยจะได้รับอนุญาตให้ใช้เวลาบนเตียงนอนได้เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ
            • การปล่อยให้รู้สึกตื่น
              เป็นการบำบัดโดยมีเจตนาให้เกิดความขัดแย้งกัน ผุ้ป่วยจะเรียนรู้ทำจะคลายกังวลเรื่องการนอนหลับ ผู้ป่วยจะนอนตื่นบนเตียงแทนที่จะนอนหลับ
            • การบำบัดด้วยแสง
              วิธีนี้จะใช้แสงเพื่อปรับนาฬิกาชีวภาพ โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยเข้านอนเร็วและตื่นนอนเร็วกว่าปกติ จะมีการใช้กล่องฉายแสง หรือผู้ป่วยต้องออกไปรับแสงในเวลาพลบค่ำ ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม

          แพทย์อาจแนะนำวิธีการอื่นที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของผู้ป่วยและสร้างบรรยากาศการนอนที่ผลคลาย วิธีดังกล่าวจะช่วยสร้างเสริมนิสัยการนอนที่ดี ช่วยให้ตื่นตัวในช่วงกลางวัน

          การใช้ยาเพื่อช่วยในการนอน

          แพทย์อาจจ่ายยานอนหลับเพื่อช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น การใช้ยานานกว่า 2-3 สัปดาห์นั้นอาจส่งผลเสีย ฤทธิ์ยานอนหลับจะค่อยๆหายไปหมดหากใช้ต่อเนื่องกัน 2-3 ปี

          ยานอนหลับอาจมีผลข้างเคียงทำให้มึนศีรษะระหว่างวัน และผู้ป่วยอาจติดยานอนหลับ จึงควนปรึกษาแพทย์ก่อนใช้


          คุณมีความเสี่ยงหยุดหายใจขณะนอนหลับหรือเปล่า?
          ลองทำแบบทดสอบเลย!

        บทความโดย

        เผยแพร่เมื่อ: 07 เม.ย. 2022

        แชร์

        แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

      • Link to doctor
        พญ. ฐิติพร ศุภสิทธิ์ธำรง

        พญ. ฐิติพร ศุภสิทธิ์ธำรง

        • จิตเวชศาสตร์
        • จิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
        จิตเวชศาสตร์, จิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
      • Link to doctor
        รศ.พญ. สุดสบาย จุลกทัพพะ

        รศ.พญ. สุดสบาย จุลกทัพพะ

        • จิตเวชศาสตร์
        • จิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
        จิตเวชศาสตร์, จิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ