ปวดหลังส่วนล่างในผู้ใหญ่
อาการปวดหลังล่างนั้นน่ารำคาญและรบกวนการใช้ชีวิตประจําวันของคนเรา คนจำนวนกว่า 80% มักเคยปวดหลังล่างมาอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต แต่โดยทั่วไปแล้วอาการปวดหลังล่างไม่ใช่อาการร้ายแรง สามารถหายได้เอง
ปัจจัยทางร่างกายและอารมณ์ที่เพิ่มความเสี่ยงของอาการปวดหลัง ได้แก่ เพศ อายุที่มากขึ้น การใช้แรงมาก ๆ พฤติกรรมเนือยนิ่ง การสูบบุหรี่ โรคอ้วน ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล ความเครียดหรือปัญหาเรื่องงาน เป็นต้น
สาเหตุของอาการปวดหลังส่วนล่าง
ไม่มีสาเหตุเฉพาะเจาะจง
คนกว่า 85% มีอาการปวดหลังล่างแบบไม่มีสาเหตุเฉพาะเจาะจง กล่าวคือ อาการปวดไม่ได้เกิดจากอาการเจ็บป่วยจากโรคใดโรคหนึ่งโดยเฉพาะหรือไม่ได้เกิดจากการได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง อาการปวดประเภทนี้อาจเกิดจากการที่กล้ามเนื้อยึดตึงจากการก้มตัวหรือยกของหนัก สามารถหายได้เองภายในสองสามสัปดาห์ โดยระหว่างนั้นสามารถประคบอุ่นเพื่อบรรเทาอาการปวดได้ แพทย์มักไม่แนะนำการนอนพักรักษาอยู่บนเตียง เพราะจากการศึกษาพบว่าการขยับเคลื่อนไหวร่างกายช่วยทำให้หายปวดได้เร็วกว่า
โรคร้ายแรง
เนื้องอกหรือการติดเชื้อในกระดูกสันหลัง กลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บหรือกลุ่มอาการรากประสาทหางม้า (cauda equina syndrome) ภาวะกระดูกสันหลังหักยุบตัว อาจเป็นสาเหตุของอาการปวดหลัง แต่มักพบได้น้อยมาก ผู้ป่วยโรคดังกล่าวมักมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น กลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บหรือกลุ่มอาการรากประสาทหางม้า (cauda equina syndrome) มีผลทำให้กระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติและขาอ่อนแรง
โรคอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุ
- โรคหมอนรองกระดูกเสื่อม
เมื่ออายุมากขึ้น หมอนรองกระดูกสันหลังจะเริ่มเสื่อมลง อาจเริ่มมีรอยแตก รอยฉีกขาด หรือสูญเสียของเหลวในข้อ และทำให้กระดูกสันหลังมีการเปลี่ยนแปลงจนปวดหลังในที่สุด อย่างไรก็ตามผู้สูงอายุบางรายที่เป็นโรคหมอนรองกระดูกเสื่อมอาจไม่มีอาการใด ๆ - โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
เมื่อหมอนรองกระดูกสันหลังได้รับความเสียหาย ทำให้เนื้อเยื่อ annulus fibrosus อ่อนแอลง จนหมอนรองกระดูกยื่นออกมา หมอนรองกระดูกที่ยื่นออกมานั้นไม่ได้ทำให้ปวดหลังเสมอไป แต่อาจทำให้ปวดสะโพกร้าวลงขาในเวลาที่หมอนรองกระดูกไปกดทับเส้นประสาท โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาททำให้เกิดอาการอ่อนแรงหรือปวดขาเมื่อรากประสาทถูกกดทับ แต่โรคนี้สามารถหายได้เองเมื่อเนื้อเยื่อ annulus fibrosus สลายไปตามธรรมชาติ ไม่กดทับเส้นประสาทอีกต่อไป - โรคกระดูกเสื่อมอักเสบ
อาการปวดหลังส่วนล่างอาจมีสาเหตุมาจากภาวะกระดูกงอกเนื่องจากโรคข้อฟาเซ็ต (facet joint arthropathy) จากโรคกระดูกเสื่อมอักเสบ โรคข้อฟาเซ็ตเป็นอาการเสื่อมตามวัย - โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน
การกดทับบนข้อหลังล่างทำให้กระดูกสันหลังข้อหนึ่งเคลื่อนไปด้านหน้า ทำให้เกิดโรคกระดูกสันหลังเคลื่อน โดยเป็นอาการที่เกี่ยวเนื่องกับโรคข้อฟาเซ็ต (facet joint arthropathy) ผู้ที่มีอาการโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนมักมีอาการปวดหลังและปวดสะโพกร้าวลงขา - โรคโพรงประสาทส่วนเอวตีบแคบ
ภาวะกระดูกงอกเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของโรคโพรงประสาทส่วนเอวตีบแคบ บางรายอาจมีอาการปวดขาเวลาเดิน (neurogenic claudication) แต่บางรายอาจไม่มีอาการใด ๆ - โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบจากการยึดติด
อาการปวดหลังในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้นอาจเกี่ยวข้องกับโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบจากการยึดติด โดยจะมีอาการหลังแข็ง ปวดหลังซึ่งจะดีขึ้นหลังออกกำลังกาย หากไม่ได้รับการรักษา พิสัยของข้อจะจำกัดเพราะกระดูกสันหลังยึดติดกัน
อาการปวดหลังจากการทํางาน
อาการปวดหลังล่างอาจเกิดจากการทำงานที่ต้องนั่งหรือยืนเป็นเวลานาน การยกของหนักด้วยท่าทางที่ไม่เหมาะสมหรือต้องยกของหนักบ่อย ๆ และการขับรถระยะทางไกล
การรักษาอาการปวดหลังส่วนล่างในผู้ใหญ่
การรักษาอาการปวดหลังล่างเฉียบพลันหรือกล้ามเนื้อหลังอักเสบเฉียบพลัน
อาการปวดหลังล่างเฉียบพลันที่ไม่ได้เกิดจากโรคร้ายแรงสามารถหายได้เอง รวมถึงในกรณีของอาการปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามอาการปวดอาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยสามารถปฏิบัติสิ่งเหล่านี้เพื่อบรรเทาอาการได้
- การประคบอุ่น: การประคบอุ่นมีประโยชน์ ช่วยบรรเทาอาการปวดได้ชั่วคราวในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกที่มีอาการ
- ขยับเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ: เมื่อมีอาการปวดรุนแรง ควรพักสัก 1-2 วัน ปรับท่าทางการพักผ่อนให้รู้สึกสบายผ่อนคลาย โดยอาจวางหมอนใต้เข่าเมื่อนอนราบ เวลานอนหลับ ควรนอนตะแคง งอเข่าด้านบน และวางหมอนระหว่างหัวเข่า เมื่ออาการดีขึ้น ควรหมั่นขยับเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ กล้ามเนื้อที่ยึดตึงจะคลายลงเมื่อมีการเคลื่อนไหว การออกกําลังกายเบา ๆ หรือการเดินช่วยรักษาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อได้ หลีกเลี่ยงการออกกําลังกายหนักที่อาจทําให้ไม่สบายตัวหรืออาการกำเริบ
- การออกกําลังกาย: การเริ่มออกกําลังกายใหม่ ๆ ในทันทีช่วยให้อาการปวดหลังเรื้อรังดีขึ้น แต่ไม่ได้ผลในผู้ที่มีอาการปวดหลังเฉียบพลัน
- ท่าทางการทํางาน: หากจำเป็นต้องยืนเป็นเวลานาน ลองหาบล็อกไม้มาวางรองเท้าข้างหนึ่ง และหมั่นสลับเท้าไปมา หลีกเลี่ยงการนั่งหรือยืนเป็นเวลานานหลายชั่วโมงติดต่อกันโดยไม่เปลี่ยนท่าหรือยกของหนัก
- ยาแก้ปวด: การรับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เป็นเวลา 3-5 วันติดต่อกันให้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพดีกว่าการรับประทานยาเมื่อมีอาการ ยาคลายกล้ามเนื้อช่วยบรรเทาอาการปวดได้เช่นกันแต่อาจทําง่วงนอน ผู้ที่ขับพี่ยานพาหนะหรือใช้เครื่องจักรไม่ควรรับประทาน และควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนเริ่มใช้ยา
- การนวดและการฝังเข็ม: ผู้ป่วยอาจรู้สึกผ่อนคลายหลังการนวดหรือฝังเข็ม แต่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ทางการแพทย์ว่า การนวดและฝังเข็มสามารถรักษาอาการปวดหลังล่างเฉียบพลันได้
- การจัดกระดูกสันหลัง: ช่วยบรรเทาอาการปวดและปรับกระดูกสันหลังให้ทำงานได้ดีขึ้น ควรให้ผู้เชี่ยวชาญ เช่นแพทย์จัดกระดูก นักกายภาพบําบัด หรือแพทย์แผนออสทีโอพาธี (Osteopathy) เป็นผู้ทำให้เท่านั้น ผู้ป่วยสามารถปรึกษาแพทย์ได้หากต้องการลองวิธีจัดกระดูกสันหลัง
- การบําบัดทางจิตวิทยา: ความเครียดหรือปัญหาทางด้านจิตใจอาจเป็นสาเหตุของความเจ็บปวดทางกายได้ การบําบัดทางจิตวิทยาสามารถช่วยรักษาอาการในผู้ที่มีอาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรังและเฉียบพลัน
วิธีการรักษาอื่น ๆ
วิธีการรักษาบางอย่างนั้นไม่ช่วยบรรเทาอาการปวดหลังหรืออาจได้ผลในบางสถานการณ์เท่านั้น
- การเปลี่ยนฟูกที่นอน: บางคนอาจเชื่อว่าฟูกที่แน่นแข็งช่วยบรรเทาหรือป้องกันอาการปวดหลังล่างได้ อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อพิสูจน์มาสนับสนุนเรื่องนี้ อีกทั้งการศึกษาบางชิ้นยังแนะนําว่าที่นอนที่ไม่แน่นแข็งจนเกินไปช่วยบรรเทาอาการได้ดีกว่า
- เสื้อรัดทรงและเสื้อพยุงหลัง: เสื้อช่วยพยุงไม่สามารถบรรเทาหรือป้องกันอาการปวดหลังส่วนล่างได้
- เครื่องดึงถ่วงน้ำหนัก: จากการศึกษาพบว่าเครื่องดึงถ่วงน้ำหนักไม่สามารถบรรเทาหรือป้องกันอาการปวดหลังเฉียบพลันได้
- การฉีดยา: การฉีดยาชาเฉพาะที่เข้าไปในจุดกดเจ็บที่หลังเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรัง แต่ไม่เหมาะกับผู้ที่มีอาการปวดหลังเฉียบพลัน แพทย์อาจทำการฉีดยาสเตียรอยด์ให้กับผู้ที่มีอาการปวดหลังล่างเรื้อรังจากอาการปวดสะโพกร้าวลงขาหรือความผิดปกติทางระบบประสาท การฉีดสเตียรอยด์ช่วยบรรเทาอาการหลังล่างภายใน 2-6 สัปดาห์หลังฉีด แต่ประสิทธิภาพจะลดลงในเดือนที่ 3, 6 หรือ 12 หลังฉีด การฉีดสเตียรอยด์แก้ปวดไม่ช่วยบรรเทาอาการสําหรับผู้ที่มีอาการปวดหลังแต่ไม่ปวดสะโพกร้าวลงขา
- การรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหรือพลังงาน: ยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าหรือพลังงานผ่านผิวหนัง เช่น การใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ เครื่อง shortwave diathermy การรักษาด้วยกระแสไฟฟ้าอินเตอร์เฟอเรนท์เชียล การกระตุ้นเส้นประสาทด้วยไฟฟ้าผ่านผิวหนัง หรือการรักษาด้วยเลเซอร์พลังงานต่ำสามารถรักษาอาการปวดหลังล่างในช่วง 4-6 สัปดาห์แรกได้
การรักษาอาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรัง
อาการปวดหลังส่วนล่างที่นานกว่า 3 เดือนถือเป็นอาการปวดเรื้อรัง หากอาการปวดกินเวลานาน 2-3 เดือน เราจะเรียกว่าอาการปวดหลังส่วนล่างกึ่งเฉียบพลัน การรักษาอาการปวดกึ่งเฉียบพลันจะเน้นที่วิธีการป้องกันไม่ให้อาการแย่ลงจนกลายเป็นอาการปวดเรื้อรัง
วิธีการรักษาระยะสั้น
วิธีการเหล่านี้มีประโยชน์ในช่วงแรก ๆ โดยช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น แข็งแรงพอที่จะรับการรักษาที่มีประสิทธิผล เช่น การออกกําลังกายและการบําบัดจิตใจ ซึ่งจะช่วยทำให้อาการดีขึ้นในระยะยาว
- ยาแก้ปวด
- การจัดกระดูกสันหลัง
- การฝังเข็ม
- การนวด
การดูแลตนเอง
เมื่ออาการรุนแรงหรือเจ็บจนทนไม่ไหว ผู้ป่วยควรพักผ่อน เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว ควรพยายามขยับร่างกายเคลื่อนไหวอยู่เสมอ เพราะได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถทำให้อาการดีขึ้น อย่าลืมว่าพฤติกรรมเนือยนิ่งหรือการนอนพักรักษาบนเตียงจะทำให้อาการแย่ลง ควรยืดเหยียดเบา ๆ หรือออกกำลังกายผ่อนคลายแทน
การบําบัดจิตใจและการเยียวยากายและจิต
สภาพจิตใจนั้นมีผลต่อสุขภาพร่างกาย การจัดการปัญหาทางจิตใจสามารถช่วยให้อาการทางร่างกายดีขึ้นได้
- การบําบัดทางความคิดและพฤติกรรม (CBT) โดยนักกายภาพหรือนักจิตวิทยาเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่มีความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ปัญหาในการรับมืออาการปวดหลัง ความกลัวที่จะขยับร่างกายเพราะกลัวเจ็บ รู้สึกสิ้นหวังว่าอาการปวดจะไม่ดีขึ้น การบําบัดทางความคิดและพฤติกรรมช่วยให้ผู้ป่วยเอาชนะความกลัวเรียนรู้วิธีการมองโลกในแง่ดีมากขึ้น ตั้งเป้าหมายและทำให้สำเร็จเพื่อให้อาการปวดนั้นดีขึ้น
- การลดความเครียดด้วยการใช้สติกับผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้เทคนิคการทําสมาธิและการผ่อนคลายในกลุ่มบำบัด
การบําบัดด้วยการเคลื่อนไหว
หากอาการปวดนานกว่า 4-6 สัปดาห์ แพทย์อาจแนะนำให้พบกับนักกายภาพบําบัดเพื่อจัดตารางการออกกําลังกายเฉพาะบุคคล ซึ่งรวมถึงการยืดกล้ามเนื้อ การเสริมสร้างความแข็งแรง และกิจกรรมแอโรบิค ผู้ป่วยจะได้เรียนรู้วิธีการออกกําลังกายเพื่อไปฝึกฝนที่บ้าน การออกกําลังกาย เช่นการว่ายน้ำ การเดิน การออกกำลังแบบลดแรงกระแทก โยคะ และไทเก็ก ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ แต่ยังช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลได้เช่นกัน
การผ่าตัด
โดยปกติผู้ที่มีอาการปวดหลังส่วนล่างไม่จําเป็นต้องได้รับการผ่าตัด แพทย์อาจทำการรักษาโดยการผ่าตัดในรายที่มีอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บหรือกลุ่มอาการรากประสาทหางม้า (cauda equina syndrome) มีเนื้องอกหรือมีการติดเชื้อที่กระดูกสันหลัง กระดูกสันหลังตีบ แต่พบได้น้อยราย
การผ่าตัดเหมาะกับผู้ที่เป็นโรครากประสาทในบริเวณกระดูกสันหลังเนื่องจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทหรือกระดูกสันหลังตีบ หากอาการไม่ดีขึ้นหลังได้รับการรักษาวิธีอื่น ๆ
ผู้ป่วยควรปรึกษาศัลยแพทย์กระดูกและข้อหากมีอาการดังต่อไปนี้
- อาการชา
- อาการทางกระเพาะปัสสาวะหรือลําไส้
- มีอาการอ่อนแรงมากขึ้นหรือมีปัญหาทางระบบประสาทอื่น ๆ
- อาการปวดหลังไม่ดีขึ้นหลังได้รับการรักษาด้วยวิธีที่ไม่ต้องผ่าตัดนาน 4-6 สัปดาห์ พร้อมทั้งมีอาการปวดสะโพกร้าวลงขาอย่างรุนแรงและโรคทางด้านรากประสาท
ควรพบแพทย์เมื่อไร
ส่วนใหญ่แล้วอาการปวดหลังส่วนล่างมักหายได้เอง ไม่จําเป็นต้องได้รับการรักษา แต่ควรปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางหากมีอาการดังต่อไปนี้
- อาการปวดนานไม่หายไปภายใน 1 เดือน ปวดเมื่อนอนราบหรือนอนหลับ
- ขาอ่อนแรง มีปัญหาเกี่ยวกับระบบลําไส้ ระบบกระเพาะปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของกลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บหรือกลุ่มอาการรากประสาทหางม้า (cauda equina syndrome) อาการปวดร้าวลงไปที่ขาส่วนล่าง พร้อมกับอาการขาอ่อนแรง
- อาการปวดหลังพร้อมน้ำหนักลดแบบหาสาเหตุไม่ได้หรือมีไข้
- อาการปวดหลังในรายที่มีประวัติภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โรคกระดูกพรุน โรคมะเร็ง การใช้สารเสตียรอยด์มากเกินไป
- อาการปวดหลังจากอุบัติเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี
- เพิ่งมีอาการปวดหลังในผู้ที่มีอายุมากกว่า 70 ปี
การป้องกัน
- การออกกําลังกายเป็นประจําหรือขยับร่างกายเป็นวิธีป้องกันการกลับมาปวดหลัง ควรออกกำลังกายและเสริมสร้างความแข็งแรงของช่วงลําตัวและสะโพก กล้ามเนื้อหน้าท้องที่แข็งแรงสามารถช่วยพยุงกล้ามเนื้อหลังส่วนล่าง
- เรียนรู้ท่าก้มตัวและยกของหนักที่ถูกต้องเหมาะสม เกร็งหน้าท้องและงอเข่าเมื่อต้องยกของหนักเพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อหลังยึดตึง
- หากต้องนั่งหรือยืนเป็นเวลานาน ควรเปลี่ยนท่าบ่อย ๆ เมื่อทำได้ เดินหรือขยับร่างกายไปมา