เลือกหัวข้อที่อ่าน
- อาการของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- สาเหตุที่เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ
- ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- ตรวจวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- การรักษาโรคกลามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- การป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือ เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ
โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ เกิดจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจได้รับออกซิเจนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น จากปริมาณของเลือดที่ไหลเวียนไปยังหัวใจลดลง ซึ่งอาจเกิดจากการที่หลอดเลือดหัวใจอุดตันบางส่วนหรือทั้งหมดจากการสะสมของไขมันและคอเลสเตอรอล ถ้ากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดนานเกิน 2-3 นาทีจะได้รับความเสียหาย จนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายหรือหัวใจวายได้ ซึ่งเป็นกรณีฉุกเฉินที่อาจอันตรายถึงแก่ชีวิตในเวลาอันสั้น ควรโทรเรียกรถพยาบาลหรือให้คนใกล้ชิดขับรถพาไปส่งโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดในทันที
อาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ เกิดขึ้นเมื่อหัวใจต้องการออกซิเจนมากขึ้น จากการกำลังออกกําลังกาย รับประทานอาหาร หรือมีภาวะเครียด ตื่นเต้น แต่ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจไม่สามารถเพิ่มขี้นเพื่อตอบสนองความต้องการได้เพียงพอ โรคเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอจะทําให้ผู้ป่วยออกกําลังกายไม่ค่อยได้ หากการดำเนินโรคเป็นมากขึ้น ผู้ป่วยอาจมีอาการแม้ว่าจะไม่ได้ออกกำลังใด ๆ เลยก็ตาม
- อาการเจ็บหน้าอก เช่น รู้สึกแน่น เหมือนมีอะไรกดทับ ปวดร้อนกลางอก หรือไม่สบายบริเวณหน้าอก เป็นอาการที่มักพบได้บ่อยของโรคเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
- อาการเจ็บหน้าอกแบบเรื้อรัง (chronic coronary syndrome) พบได้บ่อยกว่าและอาการจะกำเริบหากเครียดหรือออกกำลังกาย อาการจะหายไปเมื่อรับประทานยาหรือหยุดพัก
- อาการเจ็บหน้าอกแบบเฉียบพลัน (acute coronary syndrome) เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาแม้ไม่ได้ทำกิจกรรมใด ๆ และไม่ดีขึ้นหลังรับประทานยา
- มีอาการปวดบริเวณร่างกายส่วนบน ลามไปที่กราม คอ หลัง แขน ไหล่ซ้าย และบริเวณลิ้นปี่
- เหงื่อออกตัวเย็นโดยไม่ได้ออกกำลังกาย
- หายใจลําบากหรือหายใจเร็ว หอบ
- เวียนศีรษะ
- รู้สึกวิตกกังวล
- อาหารไม่ย่อย รู้สึกเหมือนจะสําลักอาหาร ปวดร้อนกลางอก
- คลื่นไส้หรืออาเจียน
- การเต้นของหัวใจเร็วหรือผิดปกติ
ควรโทรเรียกรถพยาบาลทันทีหากเจ็บหน้าอกหรือมีอาการข้างต้นนานกว่า 5 นาที หากผู้ป่วยคิดว่ามีภาวะหัวใจขาดเลือด ให้เคี้ยวยาแอสไพรินปริมาณ 325 มิลลิกรัม ซึ่งจะช่วยสลายลิ่มเลือดขณะที่กำลังรอความช่วยเหลือ
สาเหตุที่เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ
โรคเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ เกิดได้จากหลายสาเหตุ
- โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ: การสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดตีบลงจนกล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้รับออกซิเจนเพียงพอ นำไปสู่ภาวะเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอและเกิดอาการเจ็บหน้าอก
- ภาวะหลอดเลือดหัวใจเกร็งหดตัว
- ภาวะชั้นผนังหลอดเลือดหัวใจปริตัวแยกออกจากกัน
- ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
- การใช้ยาเสพติด
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- ความดันโลหิตสูง
- ไขมันในเลือดสูง
- โรคเบาหวาน
- มีประวัติคนในครอบครัวสายตรงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
- เคยสูบบุหรี่หรือใช้ยาสูบ
โดยผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือโรคหัวใจมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ โดยไม่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก
การตรวจวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- การซักประวัติและตรวจร่างกาย
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
- การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง
- เครื่องบันทึกไฟฟ้าหัวใจ Holter monitor
- การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ
- การเอกซ์เรย์ทรวงอก
- การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
- การตรวจเลือดเพื่อดูระดับคอเลสตอรอลและโทรโพนินซึ่งเป็นสารบ่งชี้หากกล้ามเนื้อหัวใจได้รับความเสียหาย
การรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
วัตถุประสงค์ของการรักษาคือเพื่อเพิ่มการไหลเวียนโลหิตไปยังกล้ามเนื้อหัวใจ โดยวิธีการรักษาที่เหมาะสมจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค
- การรับประทานยา เช่น ยาต้านเกล็ดเลือด ยาลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ยาขยายหลอดเลือด เพื่อบรรเทาอาการเจ็บหน้าอก
- การสวนหัวใจเพื่อขยายหลอดเลือดและใส่ขดลวด ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหนึ่งคืนและกลับบ้านได้ในวันถัดไป
- การผ่าตัดหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ: หลังจากผ่าตัดแล้ว ผู้ป่วยต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์ และพักฟื้นต่อที่บ้านอีก 6-12 สัปดาห์
ป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อย่างไร?
- การรับประทานยา แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยา เช่น ยาแอสไพริน ยาต้านเกล็ดเลือด ยาลดคอเลสตอรอล และยาลดความดันโลหิต
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตมีบทบาทสําคัญในการป้องกันความเสี่ยงของการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- รับประทานผัก ผลไม้ และธัญพืชมากขึ้น หลีกเลี่ยงการรับประทานไขมันอิ่มตัวและควบคุมระดับคอเลสเตอรอลให้อยู่ในระดับที่แพทย์แนะนํา
- ออกกําลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ควบคุมน้ำหนักตัว
- เลิกสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง
- ควบคุมรักษาโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง ซึ่งเป็นภาวะที่เพิ่มความเสี่ยงของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- จัดการกับความเครียดโดยฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อและใช้เทคนิคการหายใจ
- ตรวจสุขภาพเป็นประจําเพราะสามารถช่วยตรวจพบโรคได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ