รักษาต่อมลูกหมากโตและมะเร็งต่อมลูกหมากโดยไม่มีแผลผ่าตัด
ภาวะต่อมลูกหมากโต มีอุบัติการณ์มากขึ้นในผู้ชายวัยเกิน 50 ปี โดยกว่าครึ่งจะมีภาวะนี้ ต่อมลูกหมากที่โตขึ้นอาจขวางทางออกของกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะส่วนต้นที่วิ่งผ่านต่อมลูกหมาก ต่อมลูกหมากที่โตอาจทำให้มีหรือยังไม่เกิดอาการต่าง ๆ
อาการต่อมลูกหมากโต หรือ มะเร็งต่อมลูกหมาก
- ต้องรีบไปห้องน้ำเมื่อรู้สึกปวดปัสสาวะ
- ปัสสาวะบ่อย
- ปัสสาวะไม่พุ่ง
- ต้องยืนรอก่อนเริ่มถ่ายปัสสาวะ
- ตื่นนอนบ่อยเพื่อปัสสาวะ
- ปัสสาวะกระปิดกระปรอย
- รู้สึกปัสสาวะออกได้ไม่หมด
- ปัสสาวะเล็ดหลังปัสสาวะเสร็จ
การรักษาเริ่มจากการรับประทานยา แต่ในไม่ช้าก็เร็วอาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดต่อมลูกหมากถ้าอาการมากขึ้นและรุนแรงจนส่งผลต่อคุณภาพชีวิต
การวินิจฉัยต่อมลูกหมากโต หรือ มะเร็งต่อมลูกหมาก
การตรวจพิเศษเพื่อยืนยันผลการวินิจฉัยและประเมินความรุนแรงของโรค ได้แก่
- การตรวจปริมาตรของปัสสาวะที่ค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะหลังถ่ายจนสุด
- ตรวจวัดอัตราความเร็วเฉลี่ย รูปร่างกราฟของการถ่ายปัสสาวะ ระยะเวลาที่ใช้ไปในการถ่ายปัสสาวะ และอัตราไหลสูงสุด
- ในผู้ป่วยบางคนอาจตรวจความสัมพันธ์ระหว่างแรงดันในกระเพาะปัสสาวะกับอัตราการไหลของปัสสาวะ
- รวมทั้งภาพทางการแพทย์ เพื่อดูขนาดและรูปร่างลักษณะของต่อมลูกหมาก เพื่อช่วยในการเลือกแนวทางการรักษาที่เหมาะสม
- การส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะ อาจมีความจำเป็นเพื่อยืนยันว่าอาการถ่ายปัสสาวะผิดปกติมาจากภาวะต่อมลูกหมากโต
ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด
- มีปัญหาการถ่ายปัสสาวะปานกลางจนถึงรุนแรงที่เกิดจากภาวะต่อมลูกหมากโตเนื่องจากไม่ตอบสนองต่อยา
- มีภาวะปัสสาวะคั่งจนปัสสาวะไม่ออกเฉียบพลัน และมีการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะบ่อย ๆ เนื่องจากจากต่อมลูกหมากโต
- กรวยไตโป่งโตขึ้นทั้งสองด้าน ไตทำงานลดน้อยลง
- เกิดเป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
ต่อมลูกหมากอยู่ในอุ้งเชิงกรานที่เข้าถึงเพื่อทำการผ่าตัดได้ค่อนข้างยาก ในอดีตการผ่าตัดต้องทำผ่าแผลผ่าตัดที่กว้างจากทิศทางต่าง ๆ เช่น จากด้านล่าง ด้านหลัง หรือด้านหน้า ซึ่งมักจะมีปัญหาการเสียเลือดมาก เกิดภาวะสารเกลือแร่ในเลือดไม่สมดุล อวัยวะเพศไม่แข็งตัว และการเกิดเนื้อเยื่อพังผืด ซึ่งทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากไม่เต็มใจเข้ารับการผ่าตัด การรักษาปัจจุบันส่วนใหญ่อาศัยเทคนิคการส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะแล้วใช้ลวดนำกระแสไฟฟ้าเข้าไปตัดคว้านเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากออก ซึ่งมักมีภาวะตกเลือดเป็นเวลานานหลังผ่าตัด จำเป็นต้องใช้น้ำล้างกระเพาะปัสสาวะต่อเนื่องผ่านสายสวนที่ต้องทิ้งไว้นาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดที่อุดตันทางไหลออกของปัสสาวะได้
เทคนิคที่ใหม่กว่าโดยไม่ต้องตัดเนื้อต่อมลูกหมาก ใช้การผ่าตัดผ่านการส่องกล้องโดยใช้แสงเลเซอร์สีเขียวเข้าไป ทำให้เนื้อต่อมลูกหมากส่วนที่ขวางทางเดินปัสสาวะระเหิดเป็นไอ วิธีนี้ดีกว่าวิธีข้างต้นเนื่องจากเสียเลือดน้อยกว่ามาก ไม่มีความเสี่ยงต้องได้รับเลือดของผู้อื่น ผู้ป่วยที่ทานยาต้านเกล็ดเลือด หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด อาจไม่จำเป็นต้องหยุดยาเหล่านี้ก่อนการผ่าตัด
ผลข้างเคียงของการรักษาโดยวิธีนี้ลดน้อยลงได้มาก
- เสียเลือดน้อย ลดความเสี่ยงต้องให้เลือด
- ไม่เสียสมดุลของสารเกลือแร่
- เกิดเยื่อพังผืดน้อยกว่า
- ไม่เกิดปัญหาอวัยวะเพศไม่แข็งตัว
- ต้องใส่สายสวนปัสสาวะเพียงวันเดียว
- ต้องอยู่โรงพยาบาลเพียงคืนเดียว
- ปวดน้อยลงจนส่วนใหญ่ไม่ต้องใช้ยาแก้ปวด
- เป็นหัตถการที่อาจทำเป็นผู้ป่วยนอกได้
การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากโดยไม่ตัดเนื้อต่อมลูกหมาก
มะเร็งต่อมลูกหมากระยะต้น ๆ ในอดีตมักจะรักษาโดยการผ่าตัดต่อมลูกหมากและอวัยวะภายในบางส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับการสืบพันธุ์ออกผ่านแผลผ่าตัดขนาดใหญ่ แต่ในปัจจุบันด้วยเครื่องมือหรืออุปกรณ์แพทย์ที่มีการพัฒนาขึ้น การผ่าตัดแผลขนาดเล็ก (ส่องกล้อง) หรือด้วยหุ่นยนต์ (ดา วินชี) จึงเป็นแนวทางการปฏิบัติที่พบบ่อยที่สุด อย่างไรก็ตามครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ สมรรถภาพทางเพศหย่อน เกิดเนื้อเยื่อพังผืด เสียเลือดมาก และจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และต้องคาสายสวนเป็นเวลานาน
ในปัจจุบันมีการใช้วิธีการรักษาอีกหนึ่งรูปแบบคือ การฝังแร่กัมมันตรังสี (brachytherapy) ซึ่งเป็นประเภทหนึ่งของรังสีรักษา (radiotherapy) ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง โดยการฝังต้นกำเนิดของรังสีภายในก้อนมะเร็งโดยตรง ทำให้สามารถรักษาได้อย่างตรงจุดโดยไม่ต้องผ่าตัด โดยผลสำเร็จของการรักษาด้วยวิธีนี้ดีเท่ากับการผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากออก สามารถลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ และลดความเสียหายของเนื้อเยื่อปกติบริเวณรอบ ๆ ก้อนมะเร็งได้
วิธีการรักษาแบบฝังแร่กัมมันตรังสีคือ การเสียบเข็มกัมมันตภาพรังสีในบริเวณเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากที่เป็นมะเร็ง ตามแผนการรักษาที่คำนวณโดยระบบคอมพิวเตอร์เป็นตัวกำหนดตำแหน่งที่จะฝังเข็มกัมมันตภาพรังสี เข็มจะส่งรังสีระยะสั้นและความเข้มสูงไปยังเซลล์มะเร็ง ในขณะเดียวกันจะเกิดผลกระทบต่อเซลล์ปกติบริเวณใกล้เคียงมะเร็งน้อยที่สุด ผู้ป่วยบางรายอาจนอนรักษาตัวเพียงคืนเดียว ในบางกรณีผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ทันทีหลังเข้ารับการรักษา สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ รวมถึงกลับไปมีกิจกรรมทางเพศสัมพันธ์ได้ในวันรุ่งขึ้น
ข้อได้เปรียบของการการรักษาแบบฝังแร่
- ไม่พบปัญหาปัสสาวะเล็ดกลั้นไม่อยู่
- ระยะเวลาในการนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลสั้นลง (สูงสุด 1 คืนหรือการผ่าตัดผู้ป่วยนอก)
- ไม่มีเลือดออก ไม่จำเป็นต้องถ่ายเลือด
- ไม่มีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศในทันที
- เจ็บปวดน้อยมาก มักไม่ต้องใช้ยาแก้ปวดเลยหลังผ่าตัด
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและอุปกรณ์ล่าสุดที่นำมาทดแทนวิธีการผ่าตัดในอดีต ทำให้สามารถรักษามะเร็งต่อมลูกหมากและจัดการกับปัญหาโดยไม่จำเป็นต้องทำการผ่าตัดรูปแบบเดิม ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของผู้ป่วยมากขึ้น มีผลข้างเคียงและปัญหาที่จะตามมาในระยะยาวลดลง และที่สำคัญที่สุดคือช่วยให้ผู้ป่วยรักษาระดับคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปได้