โรคตื่นตระหนก แพนิค (Panic Disorder) อาการ สาเหตุและวิธีการรักษา

โรคตื่นตระหนก แพนิค (Panic Disorder)

อาการตื่นตระหนก แพนิค (Panic Disorder) สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกสูญเสียการควบคุม รู้สึกหัวใจจะวายหรือในบางครั้งรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะเสียชีวิต

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


โรคตื่นตระหนก แพนิค

ภาวะตื่นตระหนก เป็นอาการของร่างกายที่ทำการตอบสนองต่อความกลัวที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบเหตุที่แน่ชัด อาการตื่นตระหนกสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกสูญเสียการควบคุม รู้สึกหัวใจจะวายหรือในบางครั้งรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะเสียชีวิต อาการตื่นตระหนกหรือเรียกว่าอาการ “แพนิค” จะมีอาการรุนแรงกว่าอาการกังวลทั่วไป ที่โดยปกติแล้วหลังจากที่สถานการณ์ตึงเครียดจบลง ภาวะวิตกกังวลมักหายไป แต่ในผู้ป่วยที่เป็นโรคตื่นตระหนกนั้นความรู้สึกหวาดกลัวหรือวิตกกังวลอย่างรุนแรงมักจะย้อนกลับมาอย่างต่อเนื่องส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องเพื่อป้องกันไม่ให้อาการแย่ลง

อาการแพนิค ตื่นตระหนก เป็นอย่างไร?

อาการตื่นตระหนกสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาโดยไม่มีสัญญาณเตือนบ่งบอกจึงทำให้ไม่สามารถคาดเดาได้ อาการตื่นตระหนกนี้อาจเกิดขึ้นเป็นครั้งเป็นคราวหรือในบางกรณีเกิดขึ้นบ่อยครั้งโดยจะใช้เวลา 20-30 นาทีในแต่ละครั้ง ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกรับมือไม่ได้ อ่อนล้าและหมดแรงหลังอาการสงบลง

อาการเมื่อเกิดภาวะแพนิค ตื่นตระหนก

หนึ่งในอาการที่ไม่พึงประสงค์ที่สุดของโรคตื่นตระหนกคือความกังวลตลอดเวลาว่าจะเกิดภาวะตื่นตระหนกขึ้นอีกครั้ง ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยเลือกที่จะหลีกเลี่ยงตัวเองออกจากสถานการณ์บางอย่างที่จะเกิดขึ้น

  • รู้สึกตกอยู่ในภัยอันตรายตลอดเวลา
  • กลัวสูญเสียการควบคุมหรือเสียชีวิต
  • ใจเต้นเร็ว
  • เหงื่อออก
  • ตัวสั่น
  • หายใจลำบากหรือแน่นคอ
  • หนาวสั่น
  • คลื่นไส้
  • ปวดบิดในท้อง
  • เจ็บหน้าอก
  • ปวดศีรษะ
  • วิงเวียนหน้ามืด
  • ตัวชา
  • รู้สึกแยกแยะความเป็นจริงไม่ออก ขาดความผูกพัน

อาการแพนิคที่ควรพบแพทย์

โรคตื่นตระหนกไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตแต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาเพราะหากปล่อยไว้นานอาจทำให้เรื้อรังและทำให้อาการกลับมารุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อรู้สึกว่ามีอาการตื่นตระหนกควรรีบพบแพทย์หรือนักจิตบำบัดทันที

นอกจากนี้อาการแสดงทางร่างกายของโรคตื่นตระหนกยังมีความคล้ายกับอาการของโรคร้ายแรงอื่นๆ เช่นโรคหัวใจ การได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องจึงมีความสำคัญ

โรคตื่นตระหนก แพนิค มีสาเหตุเกิดจากอะไร?

ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคตื่นตระหนกได้ โรคตื่นตระหนกอาจเกิดจากหลายสาเหตุแต่ปัจจัยเหล่านี้มีส่วนสำคัญ:

  • พันธุกรรม
  • ความเครียดสะสม
  • อ่อนไหวต่อความเครียดหรืออารมณ์ที่เป็นลบ
  • สมองและระบบประสาททำงานผิดปกติ

สถานการณ์บางอย่างสามารถเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภาวะตื่นตระหนกได้ ตื่นตระหนกมัอย่างไรก็ตามภาวะกมาอย่างกะทันหันโดยเฉพาะในระยะเริ่มต้นของโรค มีการวิจัยระบุว่าอาการและภาวะตื่นตระหนกมาจากปัญหาในระบบการทำงานของร่างกายที่ทำการตอบสนองต่อสถานการณ์คับขัน ยกตัวอย่างเช่นหากถูกเสือวิ่งโจมตีในป่า ร่างกายของมนุษย์จะทำการตอบสนองอย่างอัตโนมัติ โดยเร่งอัตราการเต้นของหัวใจ เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมรับมือเผชิญกับสถานการณ์ที่อันตรายถึงชีวิต อย่างไรก็ตามการวิจัยยังไม่สามารถชี้ชัดสาเหตุว่าทำไมอาการตื่นตระหนกถึงเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยไม่ได้ตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดแพนิค

โรคตื่นตระหนก หรือ แพนิค มักเริ่มต้นในวัยรุ่นตอนปลายหรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้นและมักพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะตื่นตระหนกหรือเป็นโรคตื่นตระหนก ได้แก่

  • คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคตื่นตระหนก
  • ผ่านเหตุการณ์ที่สร้างความบอบช้ำทางจิตใจเช่นการสูญเสียคนในครอบครัวหรือบุคคลอันเป็นที่รัก
  • ดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้ยาเสพติด
  • ประวัติการถูกทำร้ายร่างกาย ถูกทารุณกรรมทางเพศ ปัญหาด้านความสัมพันธ์

โรคตื่นตระหนก แพนิคมีภาวะแทรกซ้อน อะไรบ้าง?

อาการตื่นตระหนกมักแย่ลงหากปล่อยไว้และไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบในชีวิตของผู้ป่วยในด้าน อารมณ์พฤติกรรมรวมถึงสุขภาพและการใช้ชีวิต ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยมี ดังนี้

  • โรคกลัว (phobia) เช่น กลัวการขับรถหรือกลัวการออกจากบ้าน
  • แยกตัวเองออกจากสังคม
  • ปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนรอบตัว
  • อาการซึมเศร้าโรคจิตตกและโรคทางจิตเวชอื่น ๆ
  • ความคิดที่จะฆ่าตัวตาย
  • ติดสุราและสารเสพติด

อาการแพนิค มีวิธีการป้องกันอย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่สามารถป้องกันการเกิดโรควิตกกังวลได้ 100% อย่างไรก็ตามสามารถลดโอกาสการกำเริบของโรคได้ ดังนี้

  • เข้ารับการรักษาทันทีเพื่อช่วยหยุดไม่ให้อาการแย่ลงหรือป้องกันการเกิดซ้ำบ่อย ๆ
  • ทำตามแผนการรักษาเช่นฝึกใช้เทคนิคการจัดการกับความเครียด
  • ควรออกกำลังกายเป็นประจำซึ่งมีผลต่อการควบคุมความเครียด

การตรวจวินิจฉัยโรคตื่นตระหนก แพนิค มีกี่วิธี?

โดยทั่วไปแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยว่า สาเหตุของอาการภาวะตื่นตระหนกที่เกิดขึ้นนั้น มาจากการที่ผู้ป่วยเป็นโรควิตกกังวลทางจิต หรือเกิดจากปัญหาด้านสุขภาพทางกายเช่นโรคหัวใจหรือโรคต่อมไทรอยด์ โดยแพทย์จะทำการ

  • ตรวจร่างกายตรวจเลือดเพื่อหาความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ และการทำงานของคลื่นไฟฟ้าในหัวใจ
  • ตรวจสุขภาพจิต แพทย์จะให้ผู้ป่วยกรอกแบบการประเมินทางจิตวิทยาของตนเองและถามเกี่ยวกับการดื่มสุราหรือการใช้สารเสพติดอื่น ๆ

ผู้ที่เคยมีภาวะตื่นตระหนกเกิดขึ้นในชีวิตไม่ได้แปลว่าจะป่วยเป็นโรคตื่นตระหนก โดยแพทย์จะวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคตื่นตระหนกหากมีลักษณะ ดังนี้

  • เกิดอาการตื่นตระหนกบ่อยครั้งอย่างเฉียบพลัน
  • กังวลหรือกลัวว่าภาวะตื่นตระหนกจะกลับมาอีกครั้ง และมักเลือกที่จะเลี่ยงการไปสถานที่หรือเหตุการณ์ที่เป็นตัวกระตุ้น
  • อาการตื่นตระหนกนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากการใช้สารเสพติดหรือยาบางชนิด

อาการแพนิค หรือ โรคตื่นตระหนก มีวิธีการรักษาอย่างไร?

การเข้ารับการรักษาสามารถช่วยลดความรุนแรงและลดความถี่ของภาวะวิตกกังวลได้พร้อมทั้งปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

ตัวเลือกในการรักษาโรควิตกกังวลมีด้วยกันหลัก ๆ อยู่สองวิธีคือ การใช้จิตบำบัดและการใช้ยาบำบัด ทั้งนี้แนะนำให้ใช้วิธีการรักษาทั้งสองรูปแบบควบคู่กันไปเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตามแนวทางการรักษาที่เหมาะสมจะขึ้นอยู่กับประวัติและอาการรุนแรงของโรคตื่นตระหนกในของแต่ละบุคคล

จิตบำบัด

การบำบัดความคิดและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy; CBT) เป็นแผนการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงและมักถูกนำมาใช้เป็นวิธีการหลักในการรักษาผู้ป่วยโรควิตกกังวล แนวทางการรักษานี้จะมุ้งเน้นให้ผู้ป่วยรับรู้และทำความเข้าใจถึงอาการของตัวเองเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างที่อาจทำโดยไม่รู้ตัว นักจิตบำบัดจะชี้ให้ผู้ป่วยเห็นถึงสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นของอาการ

นอกจากนี้การรักษายังช่วยให้ผู้ป่วยเอาชนะความกลัวต่อสถานการณ์ที่มักถูกหลีกเลี่ยงไปตั้งแต่แรกได้ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีการรักษาโรคตื่นตระหนกจำเป็นต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างสูงซึ่งอาจใช้เวลาหลายเดือนกว่าอาการจะดีขึ้นและเบาบางลง ดังนั้นแนะนำให้นัดพบนักจิตบำบัดอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้แน่ใจว่าการรักษากำลังดำเนินไปอย่างคืบหน้า

การรักษาด้วยยา

ยาที่ใช้รักษาโรควิตกกังวลจะคล้ายกับกลุ่มยาที่ใช้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคตื่นตระหนกมีรายละเอียดดังนี้

  • กลุ่มยาต้านซึมเศร้า
  • กลุ่มยาแบนโซไดอาซีพีน (Benzodiazipines) ช่วยบรรเทาภาวะตื่นตระหนกได้อย่างมีประสิทผล เนื่องจากยากลุ่มนี้จะเข้าไปช่วยกดประสาท ทั้งนี้ยากลุ่มนี้เป็นแนวทางการรักษาในระยะสั้นเท่านั้น อาจเกิดผลเสียถ้าใช้ร่วมกับยาชนิดอื่น
ยาทุกชนิดมีความเสี่ยงของผลข้างเคียง และไม่ควรใช้ในบางสถานการณ์ เช่น ระหว่างการตั้งครรภ์ กรุณาปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา

ดูแลตัวเองที่บ้านอย่างไร เมื่อเป็นแพนิค?

ผู้ที่เป็นโรคตื่นตระหนกสามารถดูแลตนเองและช่วยจัดการกับภาวะที่เกิดขึ้นเพื่อบรรเทาอาการ ได้ดังนี้

  • เข้าร่วมกลุ่มสำหรับผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลเช่นกัน เพื่อให้ผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลสามารถแบ่งปันประสบการณ์และรู้สึกเชื่อมโยงกับผู้อื่นที่ประสบปัญหาคล้ายกัน
  • งดดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน การดื่มสุราและสูบบุหรี่
  • เรียนรู้แบบฝึกหัดการหายใจเพื่อลดความเครียดและฝึกเทคนิคการผ่อนคลายตัว เช่นการเล่นโยคะ
  •  ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

เตรียมตัวก่อนพบแพทย์

หากผู้ป่วยมีหรือแสดงอาการของโรคตื่นตระหนกแล้วควรนัดแพทย์เพื่อการวินิจฉัยทันที ผู้ป่วยอาจถูกส่งไปหาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเพื่อรับการรักษา
ก่อนไปพบแพทย์ แนะนำให้จดทำรายการ ดังนี้

  • อาการ ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร และเกิดอาการครั้งแรกที่ไหน
  • ประวัติส่วนตัว เหตุการณ์วิกฤตในชีวิต ที่ยังคงค้างคาอยู่ในใจ
  • ประวัติการใช้ยา: ประวัติสุขภาพทางกายและสุขภาพจิต
  • วิตามินและอาหารเสริมที่รับประทานเป็นประจำ

แนะนำให้พาคนสนิทหรือคนในครอบครัวไปในวันนัดหมายแพทย์เพื่อช่วยสื่อสารและรับฟังกับปัญหาที่เกิดขึ้น

คำถามที่ควรถามแพทย์

  • อะไรคือสาเหตุหลักที่ทำให้อาการตื่นตระหนกเกิดขึ้นต่อเนื่อง
  • อาการหรือภาวะที่เกิดขึ้นนั้นมากจากการกินยาหรือไม่
  • จำเป็นต้องตรวจวินิจฉัยหรือไม่
  • ควรไปพบนักจิตบำบัดหรือไม่
  • มีปัจจัยไหนที่ช่วยจัดการกับอาการที่เกิดขึ้น
  • อาการที่เกิดขึ้นนับว่าเป็นโรคตื่นตระหนกหรือไม่
  • แนะนำวิธีการรักษาแบบใด
  • ต้องการรักษาบ่อยแค่ไหน
  • การบำบัดแบบกลุ่มจะมีประโยชน์หรือไม่
  • ผลข้างเคียงของยามีอะไรบ้าง
  • ต้องกินยานานแค่ไหน
  • จะรู้ได้อย่างไรว่าการรักษาได้ผล
  • ควรทำอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดอาการตื่นตระหนกซ้ำ
  • มีขั้นตอนการดูแลตนเองแบบไหนบ้าง

คำถามที่แพทย์มักถาม

  • อาการที่รู้สึกเป็นอย่างไรบ้าง และเกิดขึ้นครั้งแรกตอนไหน
  • อาการตื่นตระหนกของเกิดขึ้นบ่อยและนานแค่ไหน
  • มีสิ่งใดที่ดูเหมือนจะทำให้เกิดการตื่นตระหนกเป็นพิเศษหรือไม่
  • รู้สึกกลัวการกลับมาเป็นซ้ำของอาการตื่นตระหนกบ่อยแค่ไหน
  • มีการหลีกเลี่ยงสถานที่หรือประสบการณ์ที่ดูเหมือนจะทำให้เกิดการตื่นตระหนกหรือไม่

โรคตื่นตระหนก แพนิค (Panic Disorder) อาการ สาเหตุ การรักษา

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 19 ก.ค. 2022

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    พญ. ฐิติพร ศุภสิทธิ์ธำรง

    พญ. ฐิติพร ศุภสิทธิ์ธำรง

    • จิตเวชศาสตร์
    • จิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
    จิตเวชศาสตร์, จิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
  • Link to doctor
    รศ.พญ. สุดสบาย จุลกทัพพะ

    รศ.พญ. สุดสบาย จุลกทัพพะ

    • จิตเวชศาสตร์
    • จิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
    จิตเวชศาสตร์, จิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ