Postpartum Depression Banner 1.jpg

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression)

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดนั้นเกิดขึ้นและรักษาได้ ภาวะดังกล่าวไม่ใช่ความอ่อนแอหรือข้อบกพร่องแต่อย่างใด

แชร์

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression) การดูแลเด็กแรกเกิดอาจทำให้คุณแม่รู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างช่างท่วมท้น รับมือไม่ไหว จึงอาจรู้สึกอารมณ์แปรปรวน เกิดความวิตกกังวล นอนไม่หลับ อาการเหล่านี้อาจเป็นอาการของภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด ซึ่งมักเกิดขึ้นกับคุณแม่หลังคลอดตั้งแต่ 2-3 วันแรกและยาวไปจน 2 สัปดาห์ หากอาการไม่หายและรุนแรงมากขึ้น คุณแม่อาจมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดต่อเนื่อง หรือภาวะโรคจิตหลังคลอด ซึ่งเป็นโรคทางระบบประสาทที่รุนแรงแต่พบได้น้อย

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดนั้นเกิดขึ้นและรักษาได้ ภาวะดังกล่าวไม่ใช่ความอ่อนแอหรือข้อบกพร่องแต่อย่างใด

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด มีอาการอย่างไร?

ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด

ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด อาจมีอาการตั้งแต่ 2-3 วันแรกหลังคลอดบุตร จนถึง 1-2 สัปดาห์ โดยมักมีอาการ

  • วิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน
  • รู้สึกทุกอย่างท่วมท้น รำคาญใจ
  • เศร้า ร้องไห้
  • ไม่มีสมาธิ นอนไม่หลับ
  • ทานอะไรไม่ลง

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด จะมีอาการรุนแรงและยาวนานกว่า ซึ่งอาจยาวนานถึงหนึ่งปี อาการมักแสดงในช่วงสัปดาห์แรก ๆ หลังคลอด อาการที่มักพบได้แก่

  • อารมณ์แปรปรวนรุนแรง วิตกกังวลอย่างหนัก หรือมีภาวะตื่นตระหนก
  • รู้สึกไร้ค่า คิดว่าตนเองเป็นแม่ที่ไม่ดีพอ
  • ร้องไห้บ่อย
  • ไม่รู้สึกผูกพันกับบุตร
  • รู้สึกสิ้นหวัง คิดเรื่องการทำร้ายตัวเองและบุตร ความตาย และการฆ่าตัวตาย
  • ไม่อยากอาหาร หรือทานอาหารมากผิดปกติ
  • นอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไป
  • อ่อนล้า หมดความสนใจหรือไม่มีความสุขกับเรื่องที่เคยชอบ
  • แยกตัว ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัวหรือเพื่อน
  • สับสน ไม่มีสมาธิ

ภาวะโรคจิตหลังคลอด

ภาวะโรคจิตหลังคลอด พบได้น้อย เป็นอาการที่รุนแรง อาการอาจเริ่มตั้งแต่สัปดาห์แรกหลังคลอด ควรได้รับการรักษาทันที หากปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้ผู้ป่วยคิดหรือทำพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ อาการของภาวะโรคจิตหลังคลอด ได้แก่

  • หมกหมุ่นเรื่องบุตร
  • พยายามทำร้ายตัวเองหรือบุตร
  • หวาดระแวง งุนงงสับสน
  • ประสาทหลอน หลงผิด
  • การนอนหลับผิดปกติ
  • กระตือรือร้น มีพลังทำสิ่งต่าง ๆ มากผิดปกติ ภาวะกายใจไม่สงบ

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดในบิดา

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดในบิดา คุณพ่อมือใหม่ก็อาจเผชิญกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้เช่นกัน โดยเฉพาะในคุณพ่ออายุน้อย มีปัญหาด้านการเงิน เคยมีปัญหาด้านความสัมพันธ์ หรือมีประวัติเป็นโรคซึมเศร้า ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดในบิดาสามารถส่งผลต่อการพัฒนาการของบุตรและความสัมพันธ์ในครอบครัว

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ควรพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการ หรือสงสัยว่ามีอาการของอารมณ์ซึมเศร้าหลังคลอด ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หรือภาวะโรคจิตหลังคลอด  ไม่ควรผัดผ่อนหรือเลื่อนนัดแพทย์หากมีอาการดังต่อไปนี้

  • มีปัญหาในการทำกิจวัตรประจำวันหรือดูแลบุตร
  • คิดเรื่องการทำร้ายตัวเองและบุตร
  • อาการไม่ดีขึ้นหลังผ่านไป 2 สัปดาห์

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด มีสาเหตุเกิดจากอะไร?

สาเหตุของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดนั้นยังไม่แน่ชัด แต่สิ่งที่อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะดังกล่าวนั้น อาจเป็น

  • ระดับของฮอร์โมน เช่น เอสโตรเจนและโพรเจสเทอโรน ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว อาจมีส่วนทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ที่ลดลงจะทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า รู้สึกเฉื่อยชา เศร้าซึม
  • ความกังวลในการดูแลทารกแรกเกิด เมื่อพักผ่อนหรือนอนหลับไม่เพียงพอ จะทำให้ความสามารถในการทำกิจวัตรต่าง ๆ ที่อาจดูว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ นั้นลดลง ผู้ป่วยอาจรู้สึกไม่มีอำนาจควบคุมหรือไม่เห็นคุณค่าในตนเอง

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

  • การตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อมหรือการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์
  • มีประวัติเป็นโรคซึมเศร้า ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หรือ โรคอารมณ์สองขั้ว
  • ผ่านเหตุการณ์ตึงเครียดในชีวิต เช่น ตกงาน ป่วย หรือมีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์
  • ให้กำเนิดบุตรหลายคน เช่น แฝดสอง แฝดสาม
  • มีปัญหาเรื่องการให้นมบุตร
  • มีปัญหาการเงินหรือปัญหาด้านชีวิตสมรส
  • ที่บ้านไม่มีใครที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

  • ผู้ป่วยอาจไม่มีความรู้สึกผูกพันกับบุตร อาจทำให้เกิดปัญหาครอบครัวในภายหลัง
  • คุณแม่มือใหม่อาจมีภาวะซึมเศร้าเรื้อรังหรือเป็นโรคซึมเศร้าได้ในอนาคตหากไม่ได้รับการรักษา
  • คุณพ่อมือใหม่มักมีแนวโน้มที่จะมีภาวะซึมเศร้าไม่ว่าคู่ครองจะมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดหรือไม่ หากคู่ครองมีภาวะซึมเศร้าความเสี่ยงจะเป็นอาการซึมเศร้าหลังคลอดก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น
  • ทารกแรกเกิดที่อยู่ในความดูแลของคุณแม่ที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดและไม่ได้รับการรักษามักงอแง นอนหลับยาก ทานยาก ร้องไห้ไม่หยุด และอาจมีปัญหาเรื่องพัฒนาการทางด้านภาษา

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด มีวิธีการป้องกันอย่างไร?

หากผู้ป่วยเคยมีประวัติเป็นโรคซึมเศร้า กรุณาแจ้งให้แพทย์ทราบทันที

  • ระหว่างตั้งครรภ์ แพทย์จะเฝ้าระวังดูอาการของโรคซึมเศร้า แพทย์อาจให้ผู้ป่วยทำแบบสอบถามคัดกรองภาวะซึมเศร้า หรือแนะนำให้เข้าร่วมกลุ่มช่วยเหลือหรือได้รับบำบัด
  • หลังคลอด แพทย์อาจแนะนำให้ทำการคัดกรองเพื่อดูว่าผู้ป่วยมีอาการของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดหรือไม่ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยาต้านความเศร้าหรือรับการบำบัดทางจิตหลังคลอด

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด มีการตรวจวินิจฉัยอย่างไร?

คุณแม่หลังคลอดบุตรอาจมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ทั้งนั้น อย่ากลัวหรืออายที่จะเล่าอาการให้แพทย์ได้รับรู้ การรับรู้ปัญหาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาที่เหมาะสมเพื่อควบคุมรักษาอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแพทย์อาจให้ผู้ป่วยทำ ดังนี้

  • ทำแบบสอบถามคัดกรอง
  • ทำการตรวจเลือดเพื่อดูระดับฮอร์โมนในร่างกายซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการซึมเศร้าหลังคลอด
  • ทำการตรวจวินิจฉัยอื่น ๆ เพื่อตัดสาเหตุที่ไม่เกี่ยวข้อง

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด มีวิธีการรักษาอย่างไร?

แพทย์จะออกแบบการรักษาที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความต้องการผู้ป่วยแต่ละท่านและความรุนแรงของโรค หากภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเกิดจากปัญหาทางด้านร่างกาย เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป หรือมีโรคดั้งเดิม แพทย์จะทำการรักษาโรคเหล่านั้นก่อน

ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด

ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด ดีขึ้นได้ภายใน 2-3 วันหรือ 2-3 สัปดาห์ ระหว่างที่มีอาการผู้ป่วยควรหาเวลาพักผ่อนเมื่อทำได้ ขอความช่วยเหลือจากคนในครอบครัวหรือเพื่อน พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคุณแม่ท่านอื่น ๆ เพื่อจะได้ไม่รู้สึกว่ากำลังเผชิญสิ่งนี้อยู่เพียงลำพัง ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติดใด ๆ เพราะจะทำให้อาการแย่ลง

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

  • จิตบำบัด การได้พูดคุยกับแพทย์หรือนักวิชาการสุขภาพจิตจะช่วยให้ผู้ป่วยได้ระบายผ่อนคลายความวิตกกังวล และร่วมกันหาวิธีเพื่อรับมือกับสถานการณ์และอารมณ์ของตนเองได้อย่างเหมาะสม
  • ยาต้านเศร้า ส่วนใหญ่แล้วสามารถรับประทานยาต้านเศร้าในช่วงให้นมบุตรได้ หากมีความกังวล ควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงและประโยชน์ของยาก่อนใช้

ผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้นหลังได้รับการรักษา ผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องให้ครบตามแพทย์สั่ง เพื่อป้องกันไม่ให้กลับมามีอาการอีก หากอาการไม่ดีขึ้น อาการอาจรุนแรงจนทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าเรื้อรังได้

ภาวะโรคจิตหลังคลอด

ภาวะโรคจิตหลังคลอด ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลทันทีเมื่อมีอาการของภาวะโรคจิตหลังคลอด

  • การใช้ยา แพทย์จะจ่ายยาต้านอาการทางจิต ยาควบคุมอารมณ์ และยาเบนโซไดอะซีปีน (benzodiazepines) ซึ่งเป็นกลุ่มของยานอนหลับ เพื่อควบคุมอาการ แต่ยาบางตัวอาจไม่เหมาะหากกำลังให้นมบุตร
  • การรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า หากอาการไม่ตอบสนองต่อยาหรือการรักษาอื่น ๆ แพทย์อาจแนะนำให้ทำ การรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า ซึ่งเป็นการส่งกระแสไฟฟ้าผ่านสมอง เพื่อปรับเปลี่ยนสารเคมีในสมอง

การปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตและการรักษาตัวที่บ้าน

ไม่เพียงแต่ทารกเท่านั้นที่ควรได้รับการดูแล คุณแม่ก็ควรต้องดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจของตัวเองเช่นกัน

  • ทำกิจวัตรประจำวันที่ส่งเสริมสุขภาพกายใจ หาเวลาออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมนอกบ้าน เช่น เดินเล่นกับลูกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และหาเวลานอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างเองทั้งหมด ขอความช่วยเหลือจากคนในครอบครัวหรือเพื่อน ไม่โทษตัวเองหากไม่สามารถทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบ ทำเท่าที่จะทำได้
  • ออกจากบ้าน มีเวลาเป็นของตัวเองบ้าง อาจขอให้สามีหรือญาติช่วยดูแลบุตร เพื่อจะได้มีเวลาผ่อนคลาย ทำสิ่งที่ชอบ
  • พูดคุยหรือขอคำแนะนำจากสามี ครอบครัว หรือเพื่อน อย่าปลีกวิเวกหรือแยกตัวออกไปจากสังคม พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคุณแม่ท่าน ๆ อื่น อาจทำให้ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เช่น วิธีกล่อมลูกให้สงบลง ไม่ร้องไห้โยเย

การเตรียมตัวก่อนพบแพทย์

  • บันทึกอาการที่เป็นอยู่เพื่อแจ้งกับแพทย์
  • บันทึกรายชื่อยาหรืออาหารเสริมที่รับประทานอยู่
  • เตรียมคำถามที่อยากถามแพทย์

ตัวอย่างคำถามที่อาจจะอยากถามแพทย์

  • มีการรักษาแบบใดบ้างที่แพทย์แนะนำ จะมีผลข้างเคียงใด ๆ หรือไม่
  • อาการจะเริ่มดีขึ้นเมื่อไร
  • ต้องทำการรักษานานเท่าไร
  • ยังสามารถให้นมบุตรได้หรือไม่
  • มีความเสี่ยงที่เป็นโรคทางจิตที่รุนแรงขึ้นหรือไม่
  • มีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดอาการนี้ได้อีกหรือไม่
  • จะหาข้อมูลเรื่องภาวะซึมเศร้าเพิ่มเติมได้จากที่ไหน

ตัวอย่างคำถามที่แพทย์อาจจะถาม

  • มีอาการอย่างไรบ้าง เริ่มมีอาการเมื่อไร
  • อะไรที่ช่วยให้อาการทุเลาหรือแย่ลง
  • อาการต่าง ๆ ที่เป็นส่งผลต่อการดูแลบุตรหรือไม่
  • รู้สึกผูกพันกับบุตรหรือไม่
  • ได้นอนหลับพักผ่อนมากน้อยเท่าไร
  • รู้สึกเหนื่อย หรือมีพลังหรือไม่ รับประทานได้ตามปกติหรือไม่
  • รู้สึกวิตกกังวล รำคาญ หรือโมโหบ้างหรือไม่
  • เคยมีความคิดอยากทำร้ายตัวเองหรือบุตรบ้างหรือไม่
  • ตอนอยู่บ้าน มีคนคอยช่วยบ้างหรือไม่
  • มีโรคประจำตัวหรือปัญหาด้านสุขภาพจิตบ้างหรือไม่

คุณกำลังมีภาวะซึมเศร้าอยู่หรือเปล่า?
ลองทำแบบประเมินระดับภาวะซึมเศร้าเบี้องต้นกันเลย

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 30 มิ.ย. 2022

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    ผศ.นพ. ธีระภัทร เจริญวิทย์

    ผศ.นพ. ธีระภัทร เจริญวิทย์

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine, Fetal Anomalies, Fetal Cardiology
  • Link to doctor
    พญ. ศรพิณ อามาตย์ทัศน์

    พญ. ศรพิณ อามาตย์ทัศน์

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine
  • Link to doctor
    พญ. ศศิวรรณ สุทัสน์มาลี

    พญ. ศศิวรรณ สุทัสน์มาลี

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine
  • Link to doctor
    นพ. นพดล ไชยสิทธิ์

    นพ. นพดล ไชยสิทธิ์

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine
  • Link to doctor
    พญ. กมลภัทร วิจักขณ์พันธ์

    พญ. กมลภัทร วิจักขณ์พันธ์

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine
  • Link to doctor
    รศ.นพ. บุญชัย เอื้อไพโรจน์กิจ

    รศ.นพ. บุญชัย เอื้อไพโรจน์กิจ

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine
  • Link to doctor
    พญ. มัฏฐวัณณ์ จามิกร

    พญ. มัฏฐวัณณ์ จามิกร

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine
  • Link to doctor
    ผศ.นพ. ศักนัน มะโนทัย

    ผศ.นพ. ศักนัน มะโนทัย

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine
  • Link to doctor
    รศ.นพ. ธีระพงศ์ เจริญวิทย์

    รศ.นพ. ธีระพงศ์ เจริญวิทย์

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine