โรคพิษสุนัขบ้า - Rabies อาการ พาหะของโรค วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) เป็นโรคที่ยังไม่มียารักษาในปัจจุบัน โดยผู้ที่ได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าและไม่ได้รับการป้องกันและรักษาอย่างทันท่วงที มักเสียชีวิตเกือบทุกราย ดังนั้นหากมีการสัมผัสกับสัตว์ที่ต้อง

แชร์

โรคพิษสุนัขบ้า คืออะไร?

โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) หรือโรคกลัวน้ำ (Hydrophobia) คือ โรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่มีอันตรายร้ายแรง โดยผู้ป่วยที่สัมผัสกับสัตว์ติดเชื้อ จะได้รับเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าในตระกูล Rhabdoviridae ผ่านทางน้ำลายของสัตว์ที่กัด ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาท เช่น ชัก ประสาทหลอน อัมพาต โดยโรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคร้ายแรงถึงชีวิต เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรค อย่างไรก็ตามโรคนี้สามารถป้องกันได้ โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

สาเหตุของโรคพิษสุนัขบ้า เกิดจากอะไร?

สาเหตุของโรคพิษสุนัขบ้า เกิดจากการสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์ที่เป็นพาหะของโรค ผ่านการถูกสัตว์กัด ข่วน หรือน้ำลายกระเด็นเข้าบาดแผลหรือบริเวณผิวหนังที่เป็นรอยถลอก ถูกสัตว์เลียบริเวณเยื่อบุตา จมูก หรือปาก หรือรับประทานเนื้อสัตว์ดิบๆที่มีเชื้อ นอกจากนี้การปลูกถ่ายอวัยวะ (Organ transplantation) ก็อาจเป็นสาเหตุให้ได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้เช่นกัน

สัตว์ที่อาจเป็นพาหะของโรคพิษสุนัขบ้า

สัตว์ที่อาจเป็นพาหะของโรคพิษสุนัขบ้าได้แก่ สัตว์จำพวกเลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว ค้างคาว สุนัขจิ้งจอก แรคคูน และสัตว์ป่าหลาย ๆ ชนิด โดยสุนัขจรจัดมีแนวโน้มที่จะเป็นพาหะแพร่เชื้อโรคพิษสุนัขบ้าสู่คนได้มากที่สุด

โรคพิษสุนัขบ้า - Rabies อาการ พาหะของโรค วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

อาการของโรคพิษสุนัขบ้าจะยังไม่แสดงออกในทันทีหลังจากที่ได้รับเชื้อ โดยผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการประมาณ 3 สัปดาห์ ไปจนถึง 3 เดือนหลังได้รับเชื้อ ในบางรายอาจใช้เวลาร่วมปีกว่าที่เชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจะแสดงอาการ


อาการของโรคพิษสุนัขบ้าเป็นอย่างไร?

อาการของโรคพิษสุนัขบ้าจะยังไม่แสดงออกในทันทีหลังจากที่ได้รับเชื้อ โดยผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการประมาณ 3 สัปดาห์ ไปจนถึง 3 เดือนหลังได้รับเชื้อ ในบางรายอาจใช้เวลาร่วมปีกว่าที่เชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจะแสดงอาการ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาด จำนวน และตำแหน่งของบาดแผล โดยเฉพาะตำแหน่งที่มีเส้นประสาทมาเลี้ยงจำนวนมาก (Richly innervated  area) โดยเชื้อโรคจะแพร่กระจายจากบาดแผลเข้าสู่ระบบประสาทและสมอง อาการของโรคพิษสุนัขบ้าแบ่งเป็น 3 ระยะดังนี้

  1. ระยะแรกเริ่ม (Prodromal phase)
    ผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าในระยะแรกเริ่ม จะมีอาการไม่จำเพาะ ได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อยตามตัว กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ระคายเคืองบริเวณที่ถูกสัตว์กัดเป็นอย่างมาก มีอาการเจ็บแปลบคล้ายหนามทิ่มตำ โดยระยะนี้ อาจกินระยะเวลาเฉลี่ย 2-10 วัน
  2. ระยะที่มีอาการทางระบบประสาท (Acute neurologic phase)
    ผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าในระยะนี้ จะมีอาการแบ่งได้ 2 ประเภท
    • ภาวะสมองอักเสบ (Encephalitis)ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ กลัวลม กลัวน้ำ กล้ามเนื้อกระตุก กล้ามเนื้อหดเกร็ง เพ้อ เห็นภาพหลอน นอนไม่หลับ
    • ภาวะอัมพาตแบบกล้ามเนื้ออ่อนแรงปวกเปียก (Flaccid paralysis) ผู้ป่วยจะมีอาการกล้ามเนื้อหดตัว กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  3. ระยะโคม่า หรือ ระยะสุดท้าย (Coma)
    ผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าในระยะนี้ จะพบภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ระบบหายใจล้มเหลว หัวใจหยุดเต้น และมักเสียชีวิตภายใน 2 สัปดาห์


หากถูกสุนัขกัด หรือ สัตว์กัด ควรทำอย่างไร?

หากถูกสัตว์ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากัด หรือข่วนส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ควรปฎิบัติตน ดังนี้

  1. ล้างบาดแผลทุกแผลด้วยน้ำ และฟอกสบู่หลาย ๆ ครั้ง ให้สะอาดลึกถึงก้นแผลอย่างน้อย 15 นาที เช็ดแผลให้แห้ง และใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น กลุ่มยาโพวิโดนไอโอดีน (Povidone-iodine)
  2. หากสัตว์ที่กัดมีเจ้าของ ให้สอบถามประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และคอยสังเกตอาการของสัตว์ที่กัดอย่างน้อย 10 วัน เพื่อให้แน่ใจว่าสัตว์ไม่มีอาการของโรคพิษสุนัขบ้า
  3. รีบพบแพทย์ให้เร็วเพื่อรับการป้องกัน และรักษาที่ถูกต้อง โดยแพทย์พิจารณาทำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า กลุ่มยา Post-exposure prophylaxis/PEP รวมถึงวัคซีนป้องกันบาดทะยัก และยาปฎิชีวนะ โดยหากสัตว์ที่กัดมีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคพิษสุนัขบ้า แพทย์อาจพิจารณาให้ยาอิมมูโนโกลบุลิน (Immunoglobulins) ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต้านเชื้อพิษสุนัขบ้าร่วมด้วย


วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ต้องฉีดกี่เข็ม?

กระทรวงสาธารณสุข และ สภากาชาดไทยแนะนำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่จำนวน 1-5 เข็ม ขึ้นอยู่กับว่าเคยฉีดวัคซีนมาก่อนหรือไม่ โดยมีวิธีการฉีด 2 แบบ ดังนี้

  1. การฉีดวัคซีนใต้ผิวหนัง (Intradermal: ID)
  2. การฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular: IM)

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจัดว่าเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง สามารถฉีดได้ทุกเพศ ทุกวัย รวมทั้งเด็ก และสตรีมีครรภ์ หากผู้ที่ถูกสัตว์กัดได้รับวัคซีนเข็มแรกหลังจากที่ถูกสัตว์กัดโดยเร็ว และมาฉีดวัคซีนจนครบจำนวนตามเข็มที่แพทย์สั่ง ก็จะสามารถป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้

เราจะป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างไร?

โรคพิษสุนัขบ้าสามารถป้องกันได้ โดยการดูแลสุขภาพอนามัยของสัตว์เลี้ยงให้ปลอดภัย และให้อยู่ห่างจากสัตว์ป่า เพื่อลดความเสี่ยง ในการสัมผัสกับสัตว์ติดเชื้อ รวมทั้งปฏิบัติตามข้อปฎิบัติต่าง ๆ ดังนี้

  • นำสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข และแมว เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องการโรคพิษสุนัขบ้าจนครบตามจำนวนเข็มที่สัตวแพทย์กำหนดและฉีดซ้ำทุกปี
  • จัดที่อยู่อาศัยที่เป็นกิจลักษณะให้สัตว์เลี้ยง ให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในกรง หรือในบ้านเวลากลางคืน ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงไปในที่สาธารณะ
  • ไม่สัมผัสสัตว์ป่า หรือปล่อยให้สัตว์เลี้ยงสัมผัสกับสัตว์ป่าหรือสัตว์จรจัด เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสที่สัตว์เลี้ยงจะถูกกัด
  • หากพบสัตว์จรจัด ที่ต้องสงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานท้องถิ่นที่รับผิดชอบทันที
  • แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้าในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น สัตวแพทย์ ผู้ที่ทำงานในสวนสัตว์ ผู้ที่ทำงานในห้องทดลองที่มีความเสี่ยงสัมผัสกับไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า ผู้ที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกลที่มีการระบาดของโรคและผู้ที่ชื่นชอบการตั้งแคมป์ เดินป่า ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคที่ยังไม่มียารักษาในปัจจุบัน ผู้ที่ได้รับเชื้อโดยที่ไม่ได้รับการป้องกันและรักษาอย่างทันท่วงทีมักเสียชีวิตเกือบทุกราย ดังนั้นหากมีการสัมผัสกับสัตว์ที่ต้องสงสัยว่าอาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้า แนะนำให้รีบมาพบแพทย์ เพื่อพิจารณาฉีดวัคซีนและหรือยาป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยเร็วที่สุด

สาเหตุ อาการ วิธีรักษาโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) - Rabies - Causes, Symptoms, Treatment

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 09 ม.ค. 2023

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    นพ. จักกพัฒน์ วนิชานันท์

    นพ. จักกพัฒน์ วนิชานันท์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    โรคติดเชื้อทั่วไป, อายุรกรรมทั่วไป
  • Link to doctor
    ผศ.นพ. มนต์เดช สุขปราณี

    ผศ.นพ. มนต์เดช สุขปราณี

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    การติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์ รวมทั้งโรคแทรกซ้อน, การจัดการโรคไวรัสตับอักเสบชนิดซีและการปฏิบัติตัว, โรคติดเชื้อในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ, การติดเชื้อในเวชบำบัดวิกฤต
  • Link to doctor
    รศ.พญ. สิริอร วัชรานานันท์

    รศ.พญ. สิริอร วัชรานานันท์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    โรคติดเชื้อในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ, โรคติดเชื้อทั่วไป, การติดเชื้อในเวชบำบัดวิกฤต, โรคติดเชื้อหลังปลูกถ่ายอวัยวะหรือปลูกถ่ายไขกระดูก, โรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อราลุกลามหรือไวรัส
  • Link to doctor
    พญ.  ศิรญา ไชยะกุล

    พญ. ศิรญา ไชยะกุล

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    โรคติดเชื้อทั่วไป, อายุรกรรมทั่วไป
  • Link to doctor
    รศ.นพ. พอพล โรจนพันธุ์

    รศ.นพ. พอพล โรจนพันธุ์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์ผู้สูงอายุ
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    อายุรกรรมทั่วไป, อายุรกรรมผู้สูงอายุ
  • Link to doctor
    ผศ.นพ. ถนอมศักดิ์ อเนกธนานนท์

    ผศ.นพ. ถนอมศักดิ์ อเนกธนานนท์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    โรคติดเชื้อทั่วไป, การติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์ รวมทั้งโรคแทรกซ้อน, วัคซีน, โรคติดเชื้อในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, สุขภาพนักเดินทาง การให้วัคซีน และประเมินสุขภาวะก่อนและหลังกลับจากต่างประเทศหรือพื้นที่เสี่ยง, โรคติดเชื้อทางเขตร้อน
  • Link to doctor
    นพ. พีระวงษ์ วีรารักษ์

    นพ. พีระวงษ์ วีรารักษ์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    โรคติดเชื้อทั่วไป, อายุรกรรมทั่วไป