โรคปมไฟฟ้าหัวใจเสื่อม (Sick Sinus Syndrome)
โรคปมไฟฟ้าหัวใจเสื่อม (Sick Sinus Syndrome) หัวใจเต้นเป็นจังหวะสม่ำเสมอและประสานงานกันเหมาะสมระหว่างห้องหัวใจห้องบนและห้องล่าง เพราะหัวใจมีระบบสร้างและส่งสัญญาณไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นหัวใจด้วยตัวเอง โดยเนื้อเยื่อพิเศษที่สามารถสร้างสัญญาณไฟฟ้า ซึ่งเนื้อเยื่อพิเศษที่ทำหน้าที่หลักนี้ อยู่บริเวณด้านบนของหัวใจห้องบนขวาต่อกับหลอดเลือดดำที่มาจากส่วนบน (superior vena cava) เรียกว่า ปมไซนัส (sinus node)
ภาวะปมไฟฟ้าไซนัสเสื่อม ทำให้การสร้างสัญญาณไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ สัญญาณไฟฟ้าช้าลงมาก หรือหยุดส่งสัญญาณเป็นเวลานาน ทำให้หัวใจเต้นช้าหรือหยุดเต้นเป็นระยะเวลานาน การไหลเวียนเลือดลดลง ทำให้เหนื่อยไม่มีแรง หรือหน้ามืด หมดสติเป็นครั้งคราว ในบางรายสัญญาณไฟฟ้าผิดปกติ ผิดจังหวะ เต้นเร็วสั่นพลิ้ว (fibrillation) ทำให้มีอาการใจสั่น เหนื่อย สลับกับอาการหน้ามืดหมดสติในช่วงที่หัวใจเต้นช้าหรือหยุดเต้น
สาเหตุของโรคปมไฟฟ้าหัวใจเสื่อม
บ่อยที่สุดเป็นการเสื่อมลงตามอายุ ในบางรายอาจเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ การมีพังผืดเข้าไปแทรกในปมไซนัสจากที่เคยผ่าตัดหัวใจหรือเคยมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือมีปัจจัยเสริมจากโรคอื่นที่ไม่ใช่โรคหัวใจ เช่น โรคไทรอยด์ทำงานน้อย จากยาที่ผลกดการสร้างและการนำไฟฟ้าหัวใจ หรือภาวะไตวาย ภาวะกรดและเกลือแร่ในเลือดผิดปกติ
วิธีรักษาปมไฟฟ้าหัวใจเสื่อม
หากไม่พบสาเหตุที่แก้ไขได้ มักต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจถาวร (Permanent Pacemaker Implant) ซึ่งเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เล็ก ๆ ที่ฝังอยู่ใต้ผิวหนัง มีสายต่อจากเครื่องไปที่หัวใจ ทำหน้าที่ตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจโดยตรงและส่งกระแสไฟฟ้าไปกระตุ้นควบคุมจังหวะเต้นของหัวใจในอัตราที่เหมาะสมไม่ให้ช้าเกินจนเกิดอาการ