เลือกหัวข้อที่อ่าน
- โรคเชื้อราในช่องคลอดคืออะไร?
- อาการของโรคเชื้อราในช่องคลอดมีอะไรบ้าง?
- โรคเชื้อราในช่องคลอดเกิดขึ้นได้อย่างไร?
- การวินิจฉัยโรคเชื้อราในช่องคลอด
- การรักษาโรคเชื้อราในช่องคลอด
- วิธีป้องกันการติดเชื้อราในช่องคลอด
โรคเชื้อราในช่องคลอด
โรคเชื้อราในช่องคลอด (Vaginal Yeast Infection) พบในผู้หญิงโดยเฉพาะผู้ที่ยังมีประจำเดือน เชื้อราหรือยีสต์ที่เป็นสาเหตุของโรคมีชื่อเรียกว่า Candida โดยอาการแสดงของโรคคืออาการคันและระคายเคืองที่ปากช่องคลอดหรือบริเวณรอบ ๆ ทั้งนี้ โรคเชื้อราในช่องคลอดเกิดซ้ำได้ และอาจนำไปสู่อาการเรื้อรังอื่น ๆ
โรคเชื้อราในช่องคลอดคืออะไร?
โรคเชื้อราในช่องคลอดเป็นการติดเชื้อที่มีสาเหตุมาจากยีสต์ ซึ่งเป็นเชื้อราประเภทหนึ่ง ชนิดของยีสต์ที่ก่อให้เกิดโรคเชื้อราในช่องคลอดคือ Candida โดยยีสต์ชนิดนี้จะอาศัยอยู่ในร่างกายของทุกคน ทั้งที่ปาก ทางเดินอาหาร รวมถึงช่องคลอด โดยปกติ จำนวน Candida ที่อยู่ในร่างกายมีปริมาณไม่มาก จึงไม่มีปัญหาอะไร แต่หาก Candida เพิ่มจำนวนมากขึ้นจนเกินที่จะควบคุมได้ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม ก็อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อราได้ ดังนั้น การติดเชื้อราในช่องคลอดจึงเป็นผลมาจากจำนวนยีสต์ Candida ในช่องคลอดที่มากเกินไป
นอกจากนี้ โรคเชื้อราในช่องคลอดถือเป็นภาวะช่องคลอดอักเสบชนิดหนึ่ง และเป็นชนิดที่พบได้มากที่สุด ภาวะช่องคลอดอักเสบคือภาวะที่ช่องคลอดติดเชื้อ โดยจะมีอาการบวมและเจ็บ ทั้งนี้ โรคเชื้อราในช่องคลอดพบได้ทั่วไปในผู้หญิง โดยเฉพาะผู้ที่ยังอยู่ในวัยเจริญพันธุ์และก่อนถึงวัยหมดประจำเดือน
อาการของโรคเชื้อราในช่องคลอดมีอะไรบ้าง?
โรคเชื้อราในช่องคลอดอาจสังเกตได้จากลักษณะของปากช่องคลอดที่เปลี่ยนไป รวมถึงตกขาวที่อาจเหนียวข้นกว่าเดิม แต่ไม่มีกลิ่นผิดปกติ
ผู้ที่ติดเชื้อราในช่องคลอดอาจไม่แสดงอาการใดๆ อย่างไรก็ตาม อาการที่ผู้ป่วยอาจพบได้ มีดังนี้
- ระคายเคืองหรืออาการคันบริเวณช่องคลอดและปากช่องคลอด
- รู้สึกแสบช่องคลอด โดยเฉพาะเมื่อปัสสาวะ
- ตกขาวมีลักษณะข้น คล้ายชีสสด
- อาการบวมแดงที่ช่องคลอดและปากช่องคลอด
- มีรอยแตกเป็นแผลที่ผนังของปากช่องคลอดหรือช่องคลอด
- อาการเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
อาการของโรคเชื้อราในช่องคลอดคล้ายกับอาการทางช่องคลอดอื่น ๆ รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้น หากมีอาการตามที่กล่าวมาข้างต้นแต่รู้สึกไม่แน่ใจว่าเป็นโรคใดแน่ แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยยืนยัน
โรคเชื้อราในช่องคลอดเกิดขึ้นได้อย่างไร?
การติดเชื้อราในช่องคลอดเกิดจากยีสต์ชื่อ Candida โดยทั่วไป Candida ไม่ก่อให้เกิดอาการผิดปกติใด ๆ แต่เมื่อสภาพแวดล้อมในบริเวณที่ Candida อาศัยอยู่เปลี่ยนไป อาจส่งผลให้ Candida เพิ่มจำนวนและเจริญเติบโตอย่างผิดปกติ โดยปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลให้ Candida เพิ่มจำนวนมีดังนี้
- ยาปฏิชีวนะ: ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์ตัวดีในช่องคลอดที่ช่วยควบคุมไม่ให้ยีสต์เติบโตมากเกินไป เมื่อยีสต์มีมากกว่าแบคทีเรียตัวดีจะส่งผลให้เกิดการติดเชื้อรา
- การตั้งครรภ์และฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง: ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนไปอาจทำให้ Candida เพิ่มขึ้นจนเสียสมดุล ปัจจัยที่ทำให้ฮอร์โมนไม่สมดุลได้แก่ การตั้งครรภ์ การใช้ยาคุม และประจำเดือน
- คุมเบาหวานไม่ได้: ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงทำให้น้ำตาลในปัสสาวะสูงตาม ซึ่งเอื้อต่อการเจริญเติบโตของยีสต์
- ภูมิคุ้มกันตก: ยารักษาโรคเอชไอวีหรือเอดส์ รวมถึงเคมีบำบัดและการฉายรังสีจะกดภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ต่ำลง
การวินิจฉัยโรคเชื้อราในช่องคลอด
แพทย์จะวินิจฉัยโรคด้วยการนำตัวอย่างตกขาวไปตรวจสอบ ทั้งนี้ ผู้มีอาการคันที่ปากช่องคลอดหรือบริเวณช่องคลอดอาจอนุมานว่าตนติดเชื้อรา ทำให้พยายามหาซื้อยาที่วางจำหน่ายทั่วไปมารักษาอาการ อย่างไรก็ดี ไม่แนะนำให้รักษาด้วยตนเองจนกว่าแพทย์จะยืนยันว่าติดเชื้อรา เพราะการวินิจฉัยและรักษาโรคด้วยตนเองอาจทำให้อาการแย่ลง รวมทั้งทำให้สูญเสียเงินและเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์
หากการติดเชื้อราในช่องคลอดเกิดซ้ำมากกว่า 4 ครั้งภายในระยะเวลา 1 ปี แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ โดยแพทย์อาจตรวจหาเชื้อราในช่องคลอด ตรวจเลือดเพื่อดูว่าเป็นเบาหวานหรือไม่ ตรวจหาโรคเอดส์หรือเอชไอวี และสอบถามถึงสิ่งที่อาจทำให้ฮอร์โมนไม่สมดุล (การใช้ยาคุมหรือการตั้งครรภ์)
การรักษาโรคเชื้อราในช่องคลอด
ยาที่รักษาโรคเชื้อราในช่องคลอดมีทั้งยาแบบรับประทานและยาใช้เฉพาะที่
- ยารับประทาน — ยาต้านเชื้อราชนิดหนึ่งที่ช่วยรักษาอาการติดเชื้อราในช่องคลอดมีชื่อว่า Fluconazole โดยมักรับประทานครั้งเดียวเพียง 1 เม็ด แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีโรคประจำตัว หรือหากเกิดการติดเชื้อราซ้ำ ๆ ให้รับประทานเม็ดที่ 2 ห่างจากเม็ดแรก 3 วัน ทั้งนี้ ตัวยา Fluconazole อาจส่งผลข้างเคียง ประกอบไปด้วยอาการท้องไส้ปั่นป่วน ปวดหัว และมีผื่นขึ้น แต่เกิดขึ้นได้ยากและไม่รุนแรง นอกจากนี้ ตัวยาอาจทำปฏิกิริยากับยาชนิดอื่น ๆ จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา และไม่แนะนำสำหรับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ เนื่องจากตัวยาอาจก่อให้เกิดอันตรายกับเด็กในท้องได้
- ยาใช้เฉพาะที่ — โดยทั่วไป ยารักษาการติดเชื้อราในช่องคลอดแบบใช้เฉพาะที่มักจะอยู่ในรูปของครีมและยาเหน็บ วิธีใช้คือ ในช่วงเวลาก่อนเข้านอน ให้ทาครีมบริเวณช่องคลอดหรือสอดยาเข้าช่องคลอดโดยใช้อุปกรณ์ช่วยเหน็บยา
ในช่วงที่ใช้ยาต้านเชื้อรา ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ เพราะอาจทำให้ระคายเคืองกว่าเดิม และยาต้านเชื้อราบางตัวอาจทำให้อุปกรณ์ช่วยคุมกำเนิดเสื่อมสภาพได้
หากการติดเชื้อราในช่องคลอดเกิดซ้ำ ๆ วิธีรักษาอาจอิงตามผลการวินิจฉัย สิ่งสำคัญคือควรรักษาที่ต้นตอสาเหตุของการติดเชื้อราเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ หากเกิดการติดเชื้อรา 4 ครั้งหรือมากกว่านั้นภายในระยะเวลา 1 ปี การรับประทานยาต้านเชื้อราสัปดาห์ละครั้งเป็นระยะเวลา 6 เดือนช่วยป้องกันการติดเชื้อซ้ำ ๆ ได้
วิธีป้องกันการติดเชื้อราในช่องคลอด
พฤติกรรมต่อไปนี้ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อราในช่องคลอดได้
- ไม่สวนล้างช่องคลอด เพราะทำให้แบคทีเรียที่ควบคุมการเจริญเติบโตของเชื้อราตาย
- ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ
- เลิกใช้ยาระงับกลิ่นจุดซ่อนเร้นหรือผ้าอนามัยที่มีส่วนผสมของน้ำหอม
- ไม่ใส่ชุดเปียก ๆ เช่น ชุดว่ายน้ำหรือชุดออกกำลังกายเป็นระยะเวลานาน
- ไม่ใส่ชุดรัดรูป
- ใช้เจลหล่อลื่นสูตรน้ำ
- รักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
คำถามที่พบได้บ่อย
- การติดเชื้อราในช่องคลอดจะหายไปภายในกี่วัน?
การติดเชื้อราในช่องคลอดชนิดไม่รุนแรงอาจหายได้เอง แต่เป็นไปได้ยาก ส่วนใหญ่จะหายไปภายในหนึ่งสัปดาห์หลังได้รับการรักษา ทั้งนี้ การติดเชื้อราชนิดรุนแรงอาจมีอาการและใช้เวลารักษานานกว่าปกติ โดยให้รับประทานยาจนหมดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ - ยาเม็ดคุมกำเนิดทำให้เกิดการติดเชื้อราหรือเปล่า?
มีงานวิจัยพบว่าการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อราในผู้หญิง แต่ยังไม่มีงานวิจัยที่ศึกษาว่าความเสี่ยงจะลดลงหรือไม่เมื่อหยุดใช้ยา จึงไม่แนะนำให้หยุดใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดหากเกิดการติดเชื้อราซ้ำ ๆ นอกจากจะเปลี่ยนไปใช้วิธีอื่นในการคุมกำเนิด - ถ้าติดเชื้อราในช่องคลอดแล้ว คู่นอนควรตรวจและรักษาด้วยหรือไม่?
ถึงแม้การติดเชื้อราในช่องคลอดไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่คู่นอนอาจติดเชื้อราได้ เพียงแต่โอกาสที่จะติดเชื้ออาจจะต่ำหากคู่นอนมีอวัยวะสืบพันธุ์เพศชายหรือไม่มีช่องคลอด