8 อาการทางกายของโรคซึมเศร้า
ถึงแม้โรคซึมเศร้าจะเป็นความผิดปกติทางอารมณ์และความรู้สึก แต่งานวิจัยพบว่าภาวะนี้ยังมีอาการแสดงเป็นการเจ็บปวดทางกาย เช่น อาการปวดตัวและปวดท้องด้วย
อาการทางกายอาจช่วยบอกได้ว่ากำลังมีภาวะซึมเศร้าหรือเปล่า โดยอาจส่งสัญญาณว่ากำลังเข้าสู่ช่วงเริ่มต้นของการมีอาการซึมเศร้า อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่าร่างกายอาจกำลังตกอยู่ในอันตรายจากภาวะซึมเศร้า
ด้วยเหตุนี้ ทำให้การดูแลรักษาอาการทางกาย รวมถึงการจัดการกับผลกระทบทางอารมณ์ที่เกิดจากภาวะซึมเศร้าเป็นสิ่งสำคัญ
อาการที่แสดงออกทางร่างกายเมื่อมีภาวะซึมเศร้า ทั้ง 8 อาการ
1. อ่อนแรงและเหนื่อยล้า
ความรู้สึกเหนื่อยล้าจากโรคซึมเศร้า เป็นหนึ่งในอาการที่พบได้บ่อย โดยจะมาในรูปแบบของความรู้สึกเฉื่อยชา รู้สึกว่าระดับพลังงานที่มีต่ำมาก ซึ่งจะรู้สึกว่าเกิดขึ้นบ่อยกว่าการหมดแรงแบบทั่ว ๆ ไป อาการนี้จะทำให้เกิดความรู้สึกหมดอาลัยตายอยาก มีปัญหาในการตั้งสมาธิ และมีอารมณ์หงุดหงิด อย่างไรก็ตาม อาการเหนื่อยล้าอาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อและไวรัส หมายความว่า เราอาจไม่ทราบแน่ชัดว่าความเหนื่อยล้าที่เรารู้สึกนั้นสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าหรือไม่ แต่มีวิธีที่จะช่วยให้ทราบว่าความรู้สึกอ่อนล้าที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับอาการซึมเศร้าหรือไม่ คือ ให้สังเกตว่าความเหนื่อยล้าที่รู้สึกมาพร้อมอาการทางอารมณ์ เช่น อารมณ์เศร้า ภาวะสิ้นยินดี หรือความรู้สึกหมดหวังหรือเปล่า เนื่องจากอาการที่กล่าวมานี้เป็นอาการที่แสดงถึงภาวะซึมเศร้า
2. ทนต่อความเจ็บปวดได้น้อยลง
งานวิจัยในปีพ.ศ. 2558 พบว่า ผู้ที่มีอาการซึมเศร้าจะทนต่อความเจ็บได้น้อยลง นอกจากนี้ มีงานวิจัยในปี 2010 ที่พบว่าผู้ป่วยเป็นซึมเศร้าจะได้รับผลกระทบจากความเจ็บปวดมากกว่าคนที่ไม่ได้เป็นซึมเศร้า และมีงานวิจัยอื่น ๆ ที่พบว่า นอกจากยาต้านเศร้าจะช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าแล้ว ยังช่วยบรรเทาอาการปวดได้เช่นกัน
3. ปวดหลัง
แม้อาการปวดหลังจะสัมพันธ์กับการนั่งผิดท่าหรืออาการบาดเจ็บ แต่ก็เป็นหนึ่งในอาการของภาวะซึมเศร้าเช่นกัน โดยเชื่อกันว่าอาการทางอารมณ์กับความเจ็บปวดนั้นมีความเชื่อมโยงกัน อย่างไรก็ตาม ยังต้องศึกษาเพิ่มเพื่อสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างอาการซึมเศร้ากับการอักเสบของร่างกาย
4. ปวดศีรษะ
อาการปวดศีรษะเป็นอาการที่พบได้บ่อย และมักจะถูกมองว่าเป็นอาการที่ไม่จำเป็นต้องใส่ใจ แต่จริง ๆ แล้ว อาการปวดศีรษะอาจเป็นสัญญาณเตือนและอาการของโรคซึมเศร้า โดยมูลนิธิ National Headache Foundation ได้อธิบายไว้ว่า อาการปวดศีรษะที่สัมพันธ์กับโรคซึมเศร้าจะเป็นอาการปวดตุบ ๆ ที่ไม่รุนแรง เกิดขึ้นบริเวณคิ้ว อาการปวดศีรษะที่เป็นอาการข้างเคียงโรคซึมเศร้าอาจรักษาได้ด้วยยาที่ซื้อหาได้ทั่วไปได้ แต่อาการปวดมักจะเกิดขึ้นซ้ำ ๆ บริเวณหน้าผาก นอกจากนี้ หากอาการปวดศีรษะแบบตึงตัวนี้กลายเป็นอาการเรื้อรัง อาจเป็นสัญญาณของโรคซึมเศร้าชนิดรุนแรง (Major Depressive Disorder)
5. การมองเห็นเปลี่ยนไป
มีงานวิจัยหลายงานระบุว่าอาการซึมเศร้าอาจส่งผลต่อการมองเห็นของผู้ป่วย ขณะเดียวกัน งานวิจัยงานหนึ่งในปีพ.ศ. 2564 ที่มีผู้เข้าร่วม 140 คน ระบุว่า ผู้ที่ป่วยเป็นซึมเศร้าจะมี Contrast Suppression ลดลง (มองเห็นความคมชัดของวัตถุที่อยู่ด้านหน้าฉากหลังน้อยลง ซึ่งปกติควรจะเห็นได้ชัดมาก เพราะสมองควรจะลดความคมชัดของฉากหลังลง) โดยผู้วิจัยระบุว่า สาเหตุไม่น่าจะมาจากค่าสายตาที่เปลี่ยนไป แต่มาจากรูปแบบการประมวลข้อมูลของสมองที่รับมาจากดวงตา ด้วยเหตุนี้ ทำให้ทราบเหตุผลว่าทำไมภาวะซึมเศร้าทำให้ผู้ป่วยมองเห็นสิ่งต่าง ๆ เป็นภาพจาง ๆ
6. อาการไม่สบายท้อง
อาการปวดท้อง รวมถึงคลื่นไส้ ปวดเกร็งท้อง หรือท้องอืด ถือเป็นสัญญาณของภาวะซึมเศร้าที่เห็นได้ชัด มีบทความที่ตีพิมพ์โดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ระบุว่า อาการซึมเศร้าเป็นทั้งสาเหตุและอาการข้างเคียงของการอักเสบในลำไส้
นักวิทยาศาสตร์และแพทย์เรียกลำไส้ว่าเป็น “สมองที่สอง” (Second Brain) ของมนุษย์ เนื่องจากพบว่าลำไส้มีความเชื่อมโยงกับสุขภาพทางจิต ตัวอย่างเช่น หากปริมาณแบคทีเรียตัวดีในลำไส้ไม่สมดุล อาจทำให้เกิดอาการของภาวะซึมเศร้าได้ สิ่งที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพลำไส้ให้ดีขึ้น ได้แก่ รับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ รวมถึงอาหารที่มีโพรไบโอติกส์ ซึ่งอาจช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นด้วย แต่ยังต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผล
7. อาการทางระบบย่อยอาหาร
อาการทางระบบย่อยอาหาร เช่น อาการท้องผูกและท้องเสีย อาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางอารมณ์ เช่น ความรู้สึกวิตกกังวล ความเศร้า หรือความคิดที่ผุดขึ้นมาในหัว จากที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า ภาวะซึมเศร้าเป็นได้ทั้งสาเหตุและอาการข้างเคียงของการอักเสบในลำไส้ นั่นหมายความว่า ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะซึมเศร้ากับอาการทางระบบย่อยอาหารเป็นแบบสองทาง (Bidirectional) นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะซึมเศร้ามีความเสี่ยงที่จะมีอาการทางระบบย่อยอาหารมากขึ้น และผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการทางระบบย่อยอาหาร ก็เสี่ยงที่จะมีภาวะซึมเศร้ามากขึ้นเช่นกัน แต่ทั้งนี้ ยังไม่พบความเชื่อมโยงที่ชัดเจน
8. ความอยากอาหารเปลี่ยนไป น้ำหนักไม่คงที่
ผู้ที่เป็นซึมเศร้าอาจไม่รู้สึกอยากอาหาร แต่ในขณะเดียวกัน บางคนอาจรู้สึกอยากอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ส่งผลให้มีน้ำหนักตัวมากขึ้น
สรุปอาการที่แสดงออกทางร่างกายเมื่อมีภาวะซึมเศร้า
ภาวะซึมเศร้าทำให้เกิดทั้งอาการทางกายและใจ วิธีที่จะช่วยให้หายขาดจากภาวะซึมเศร้า ได้แก่ การเข้ารับจิตบำบัดและรับประทานยา หากมีอาการข้างต้น และสงสัยว่าอาการที่มีเกิดจากภาวะซึมเศร้า แนะนำให้เข้ารับการตรวจภาวะซึมเศร้า
คุณกำลังมีภาวะซึมเศร้าอยู่หรือเปล่า?
ลองทำแบบประเมินระดับภาวะซึมเศร้าเบี้องต้นกันเลย