การใช้ชีวิตของเราเร่งให้ไตเสื่อมลงได้อย่างไร?
โดยปกติแล้วหลังอายุ 50 ปี ไตของคนเราจะเริ่มทํางานถดถอยลงประมาณ 1% ต่อปี หากไตของเราทำงานถดถอยลงเร็วกว่าอัตราปกติซึ่งสัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้น แสดงว่าร่างกายของเรากำลังมีปัญหา
มีหลายสิ่งที่เราสามารถทําหรือหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้ไตเสื่อมสภาพลงไปมากกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวัน
- ยาแก้ปวด
การใช้ยาแก้ปวดเป็นประจําเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้นที่พบได้บ่อยที่สุด ในอดีตเรารู้ว่ายาแก้ปวดประเภทยาต้านการอักเสบ NSAIDs และ cox-2 inhibitors เป็นสาเหตุของภาวะไตเสื่อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีภาวะขาดน้ำหรือเป็นโรคตับ
แต่มักไม่ค่อยมีใครทราบความจริงที่ว่ายาแก้ปวดอย่างพาราเซตามอลหรืออะเซตามิโนเฟนที่ใช้กันอย่างแพร่หลายนั้น หากรับประทานเป็นเวลานานอาจทําให้ไตวายได้ หากมีอาการปวดเรื้อรังในส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด ไม่ควรทานยาแก้ปวดนานเกินกว่าสองสัปดาห์
- ผลไม้ที่มีสารออกซาเลต (oxalate) สูง
ผลไม้บางชนิดมีออกซาเลตสูงและการรับประทานมากเกินไปอาจทําให้ไตเสียหายได้ จากการศึกษาพบว่ามะเฟืองอุดมไป
ด้วยออกซาเลตซึ่งขณะที่ถูกขับถ่ายผ่านไตจะตกตะกอน ทําให้เกิดภาวะไตเสื่อมเร็วขึ้น หากชอบมะเฟือง ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะและควรรับประทานเป็นผลแทนการคั้นน้ำเป็นสมูทตี้เพื่อหลีกเลี่ยงการบริโภคมากเกินไป
- ยารักษาโรคเริมและโรคงูสวัด
ยาประเภทนี้จะตกตะกอนและกลายเป็นผลึกขณะที่ถูกขับถ่ายผ่านไต ทำให้เป็นโรคไตได้ หากจำเป็นต้องใช้ยาเหล่านี้ ควรดื่มน้ำตามมาก ๆ และแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีภาวะไตทำงานบกพร่อง เพื่อแพทย์จะได้ปรับขนาดยาและจ่ายยาอย่างเหมาะสม
- การวิ่งมาราธอน
จากงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเยล การวิ่งมาราธอนอาจทําให้ไตของกลุ่มตัวอย่างถึง 82% ได้รับความเสียหาย อย่างไรก็ตามการทํางานของไตสามารถฟื้นตัวได้หลังจากพักผ่อน 2 วัน ความเสียหายดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการขาดน้ำหรือปริมาณของเลือดที่ไปเลี้ยงไตลดลงระหว่างการวิ่งมาราธอน ผลกระทบระยะยาวต่อการทํางานของไตยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด เมื่อออกกำลังกายประเภทใด ๆ จึงควรทำในปริมาณที่พอเหมาะ ควรดื่มน้ำให้เพียงพออยู่เสมอ
- ภาวะซึมเศร้าหรือความเครียดทางอารมณ์
ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า ไตจะเสื่อมสภาพลงถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับคนทั่วไป อย่างไรก็ตามการทํางานของไตสามารถฟื้นตัวได้หากผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาภาวะซึมเศร้า ทันทีที่รู้ตัวว่ามีภาวะซึมเศร้า ควรไปพบแพทย์หรือฝึกสมาธิหรือเจริญสติเพื่อบรรเทาอาการและทำให้สภาวะทางอารมณ์ดีขึ้น
- สารให้ความหวาน
จากการศึกษาผู้หญิงจำนวน 3,000 คนจากโครงการวิจัย Nurses' Health Study ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคสารให้ความหวานจำพวกน้ำตาลเทียมกับความเสี่ยงกับภาวะการทำงานของไตเสื่อมถอยที่เร็วขึ้น การบริโภคน้ำอัดลมที่ใส่สารให้ความหวานวันละ 2 เสิร์ฟหรือ 2 ส่วนบริโภคขึ้นจะไปเพิ่มความเสี่ยงของภาวะไตวาย ซึ่งอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของแบคทีเรียในลําไส้ จึงแนะนําให้ลดหรือหลีกเลี่ยงสารให้ความหวาน อย่างไรก็ตามการรับประทานน้ำตาลก็ทําให้เกิดภาวะไขมันคั่งในตับได้
- ไกลโฟเสต (Glyphosate)
ไกลโฟเสตเป็นสารเคมีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในฐานะยาฆ่าวัชพืช ในปีพ.ศ. 2562 มีการเสนอให้ยกเลิกการใช้ไกลโฟเสตในประเทศไทย เนื่องจากผลกระทบที่มีต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม การศึกษาล่าสุดจากประเทศไต้หวันในปีพ.ศ. 2565 พบว่ามีความเชื่อมโยงของภาวะไตวายในเกษตรกรกับไกลโฟเสตและโลหะหนักอื่น ๆ จากรายงานของสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์และศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา (EHT) ในปีพ.ศ. 2559 พบว่ามีไกลโฟเสตตกค้างในตัวอย่างถั่วเหลืองทั้งหมดในประเทศไทย แต่ยังอยู่ในปริมาณที่ยอมรับได้จากปริมาณบริโภคต่อวันตามมาตรฐานของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป
- การสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงของภาวะไตวายสูงถึง 60% ยิ่งสูบบุหรี่มากเท่าไหร่ ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไตวายยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น ผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ถึง 4 เท่าในการป่วยเป็นโรคไต หากมีความตั้งใจกำลังพยายามเลิกสูบบุหรี่ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมเพื่อช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ
- การบริโภคผักและผลไม้
จากการศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์ใน American Journal of Nephrology ปีพ.ศ. 2564 โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าการบริโภคผักและผลไม้ในปริมาณน้อยมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงของโรคไตวายที่สูงขึ้นในวัยผู้ใหญ่ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นโรคไตเรื้อรังอยู่ก่อนหรือไม่ ซึ่งสิ่งนี้ตรงกันข้ามกับความเชื่อในอดีตของผู้เชี่ยวชาญโรคไต
ผมหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้เราหลีกเลี่ยงการสร้างความเสียหายต่อไตและช่วยลดความเสี่ยงของการต้องฟอกไตในอนาคตได้ ทางที่ดีแล้วควรเข้ารับคำปรึกษากับแพทย์อายุรศาสตร์โรคไตในหัวข้อที่ต้องการทราบเพิ่มเติม