Menstrual Cramps Medpark.jpg

เรื่องควรรู้...อาการปวดประจำเดือน

อาการปวดประจำเดือนก็เป็นน่าเบื่อหน่ายสำหรับผู้หญิงหลาย ๆ คนที่ต้องอดทน โดยที่ใครไม่เจอกับตัว ก็ไม่รู้ถึงความทรมานของความเจ็บปวดนี้แน่นอน

แชร์

ประจำเดือน เป็นเรื่องของผู้หญิงทุกคน อาการปวดประจำเดือน ก็เป็นน่าเบื่อหน่ายสำหรับผู้หญิงหลาย ๆ คนที่ต้องอดทน โดยที่ใครไม่เจอกับตัว ก็ไม่รู้ถึงความทรมานของความเจ็บปวดนี้แน่นอน

10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับการ "ปวดประจำเดือน"

  1. อาการปวดประจำเดือนเป็นเรื่องปกติของผู้หญิงหรือไม่
    ใช่ : อาการปวดประจำเดือนมักพบได้บ่อยถึง 50-90% ของหญิงวัยเจริญพันธุ์ ส่วนใหญ่พบในหญิงอายุน้อย โดยทั่วไปอาการปวดประจำเดือนมักบรรเทาหรือน้อยลงเมื่ออายุมากขึ้น หากอาการมากขึ้นตามอายุ อาจจะเป็นเพราะมีโรคบางอย่างซ่อนอยู่ แนะนำให้ไปพบแพทย์
  2. อาการปวดประจำเดือนเกิดจากสาเหตุอะไร
    อาการปวดประจำเดือนเกิดจากสารที่ชื่อโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandins) ซึ่งเป็นสารเกี่ยวกับการอักเสบ การไหลเวียนของเลือด การแข็งตัวของเลือด และการคลอดบุตร โพรสตาแกลนดินหลั่งออกมาจากเยื่อบุโพรงมดลูกพร้อมกับประจำเดือน
  3. อาการปวดประจำเดือนมีลักษณะเช่นไร
    อาการปวดประจำเดือนเป็นอาการปวดซึ่งเกิดจากการบีบตัวของมดลูก มักมีลักษณะดังนี้
    • ปวดไม่เป็นจังหวะ
    • ปวดถี่ ๆ มดลูกบีบ 4 - 5 ครั้ง ใน 10 นาที
    • มักจะเริ่มจากปวดน้อย ๆก่อนแล้วค่อย ๆ แรงขึ้น
    • ปวดคล้ายกับการปวดเวลาคลอดบุตร แต่อาจไม่รุนแรงเท่า
  4. ปัจจัยเสี่ยงใดที่อาจจะทำให้อาการปวดประจำเดือนแย่ลง
    การสูบบุหรี่และความเครียด
  5. อาการปวดประจำเดือนแบ่งได้ออกเป็นกี่ประเภท
    ทางการแพทย์นั้นได้แบ่งอาการปวดประจำเดือนออกเป็น 2 ประเภท
    • ปฐมภูมิ (Primary)
      • ปวดเฉพาะช่วงที่มีประจำเดือน
      • อาการปวดมักสั้นและหายได้เองภายใน 12 ถึง 72 ชั่วโมง
      • มักปวดตอนอายุน้อย ๆ อาการจะบรรเทาหรือดีขึ้นตามอายุ
    • ทุติยภูมิ (Secondary)
      • อาการปวดอาจเริ่มก่อนประจำเดือนจะมา หรือหลังประจำเดือนหมดไปแล้วยังไม่หาย
      • มักปวดมากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น หรือปวดมากขึ้นเรื่อยๆ
      • มักมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ประจำเดือนผิดปกติ ปวดเวลาอื่นร่วมด้วย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ หรือ ภาวะมีบุตรยาก เป็นต้น
      • การปวดแบบนี้มักมีพยาธิสภาพบางอย่าง เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ แนะนำให้ไปพบแพทย์
  6. หากมีอาการปวดประจำเดือนแปลว่าป่วยเป็นโรคบางอย่างหรือไม่
    กรณีปวดแบบปฐมภูมิ มักไม่มีโรคและไม่ต้องทำอะไร
    กรณีปวดแบบทุติยภูมิ หรือไม่เคยปวดมาก่อน แล้วมาปวดตอนอายุมากขึ้นและปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ ให้ระวังว่าอาจจะมีโรคอะไรซ่อนอยู่ เช่น
    • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ไปที่รังไข่ หรือที่เรียกว่า ช็อคโกแลตซีสต์ นั่นเอง
    • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ไปที่กล้ามเนื้อมดลูก
    • ก้อนเนื้อมดลูก
    • อุ้งเชิงกรานอักเสบติดเชื้อ เป็นต้น
  7. เมื่อมีอาการปวดประจำเดือน ควรรับประทานยาแก้ปวดชนิดใด และหากรับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจะเกิดผลเสียหรือไม่
    ยาแก้ปวดประจำเดือนที่นิยมใช้ แบ่งออกเป็น
    • ยาในกลุ่มที่มีตัวยาพาราเซตามอล
      • แก้ปวดได้ทุกสิ่ง รวมไปถึงการปวดประจำเดือน
      • ช่วยลดปวดได้ประมาณ 50%
      • ผลข้างเคียงต่ำมาก หากไม่รับประทานเกินขนาด
      • แนะนำรับประทานครั้งละ 500 mg (1-2เม็ด ขึ้นกับน้ำหนักตัว) ห่างทุก 6 ชั่วโมง
    • ยาแก้ปวดลดอักเสบชนิด NSAIDs มีหลายชนิด แต่ที่แนะนำเพื่อลดปวดประจำเดือน คือ Mefenamic Acid
      • ยาในกลุ่ม Mefenamic Acid
        • แนะนำรับประทานเริ่มต้นที่ 500 mg ก่อน แล้วอาจตามด้วย 250 mg ทุก 6 ชั่วโมง
        • รับประทานช่วงที่มีประจำเดือน แต่ไม่ควรเกิน 3 วัน
        • ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงที่ใช้ยาคือยาอาจกัดกระเพาะอาหาร จึงควรทานยาหลังมื้ออาหาร
      • ยากลุ่ม COX-2 selective NSAIDs
        • สามารถใช้ได้ในคนไข้โรคกระเพาะ
        • ข้อเสียคือมีราคาแพง
  8. ยาคุมกำเนิดสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้จริงหรือไม่
    ยาฮอร์โมนคุมกำเนิดสามารถช่วยลดปวดประจำเดือนได้
    • ยาฮอร์โมนรวม (เอสโตรเจนกับโปรเจสเตอโรน)
      • สำหรับคนที่ปวดประจำเดือน (และยังไม่ต้องการมีบุตร) ยาฮอร์โมนคุมกำเนิดที่แนะนำเป็นทางเลือกแรกคือยาฮอร์โมนรวม
      • มีทั้งแบบยาเม็ด แบบห่วง (vaginal ring) และแบบแผ่นแปะ (patch)
    • ยาฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนอย่างเดียว
      • อาจมีผลข้างเคียงเรื่องเลือดออกกะปริดกะปอย
      • อยู่ในรูปแบบยาฉีด

    ส่วนยาฝังคุมกำเนิด หรือห่วงคุมกำเนิดแบบมีฮอร์โมน ยังไม่ค่อยแนะนำให้ใช้เพื่อลดอาการปวดประจำเดือนอย่างเดียว

    1. อาการปวดประจำเดือนสัมพันธ์กับภาวะมีบุตรยากหรือไม่
      อาการปวดประจำเดือนสัมพันธ์กับภาวะมีบุตรยากจริง แต่ไม่เสมอไป คนที่ปวดประจำเดือนอันมีสาเหตุมาจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่หรืออุ้งเชิงกรานอักเสบจะมีภาวะมีบุตรยากกว่าคนทั่วไป
    1. เมื่อมีอาการปวดประจำเดือนมากผิดปกติควรปฏิบัติตัวเช่นไร มีการตรวจรักษาประเภทใดบ้าง
      • ไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีโรคบางอย่างซ่อนอยู่
      • การตรวจวินิจฉัย ได้แก่ การตรวจภายในและการอัลตราซาวน์อุ้งเชิงกราน
        การอัลตราซาวน์อุ้งเชิงกราน (หรือช่องท้องส่วนล่าง) สามารถทำผ่านหน้าท้องได้ แต่การอัลตราซาวน์ทางช่องคลอดจะสามารถเห็นภาพได้ชัดเจนกว่า อย่างไรก็ตาม การตรวจเช่นนี้ยังสามารถบอกรอยโรคบางอย่างหรือพังผืดในช่องท้องได้
      • หากตรวจพบโรคที่ผิดปกติ แนะนำให้รักษา โดยวิธีการรักษานั้นขึ้นอยู่กับตัวโรค เช่น
        • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ที่รังไข่ (หรือช็อคโกแลตซีสต์) ควรได้รับการผ่าตัด หรืออาจให้ฮอร์โมนได้ในกรณีที่ซีสต์มีขนาดเล็ก
        • ก้อนเนื้อมดลูก ควรได้รับการผ่าตัดหากอาการรบกวนชีวิตประจำวัน หรือเมื่อรักษาด้วยยาไม่ได้ผล เป็นต้น
      • หากไม่พบโรคใด ๆ สามารถทานยาแก้ปวดหรือยาฮอร์โมนภายใต้คำแนะนำของแพทย์
    ทั้งนี้ หากอาการไม่ดีขึ้นหลังทานยา ควรทำการส่องกล้อง (laparoscopy) เพื่อเข้าไปดูรอยโรคหรือพังผืดในช่องท้อง



    บทความโดย
    พญ.อสมา วาณิชตันติกุล
    สูตินรีแพทย์ ผู้ชำนาญการด้านมะเร็งวิทยานรีเวชและผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช
    ประวัติแพทย์

    เผยแพร่เมื่อ: 24 ก.พ. 2022

    แชร์