กิจกรรมบำบัด
กิจกรรมบำบัด เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่มุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยที่ประสบปัญหาด้านกายภาพ ประสาทสัมผัส การรู้คิด และจิตใจ ผ่านการทำกิจกรรมหรือใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือ เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาดูแลและพึ่งพาตนเองได้ โดยสามารถทำกิจวัตรประจำวัน เช่น รับประทานอาหาร อาบน้ำ แต่งตัว ซักผ้า ทำความสะอาดบ้าน หรือทำงานได้ด้วยตนเอง
นักกิจกรรมบำบัดคือใคร?
นักกิจกรรมบำบัด เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมและได้รับใบประกอบวิชาชีพทางด้านกิจกรรมบำบัด ซึ่งมุ่งเน้นการใช้เทคนิคการบำบัดเพื่อฟื้นฟูทักษะในการเคลื่อนไหว (motor skills) และความสามารถในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน โดยนักกิจกรรมบำบัดจะทำงานร่วมกับแพทย์ นักกายภาพ นักจิตวิทยา และบุคลากรด้านอื่น ๆ ในการช่วยเหลือผู้ป่วย
นักกิจกรรมบำบัดทำอะไรบ้าง?
นักกิจกรรมบำบัดสามารถบำบัดคนได้ทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่ทารกที่เกิดก่อนกำหนดจนไปถึงผู้สูงวัย โดยนักกิจกรรมบำบัดจะทำการประเมินความต้องการของผู้ป่วยและวางแผนการทำกิจกรรมที่เป็นสื่อในการบำบัดเฉพาะบุคคลนั้น ๆ เพื่อเสริมสร้างทักษะต่าง ๆ ให้ผู้ป่วยกลับไปดำเนินชีวิตตามปกติได้
กิจกรรมบำบัดสำหรับเด็ก
- มุ่งเน้นการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก ซึ่งจำเป็นต่อการหยิบจับสิ่งของและเขียนหนังสือ
- เสริมสร้างการทำงานประสานกันระหว่างมือและตา เพื่อให้เด็กทำกิจกรรม เช่น รับลูกบอล หรือ เขียนหนังสือตามตัวหนังสือบนกระดานดำได้
- ฝึกฝนการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การแปรงฟัน อาบน้ำ แต่งตัว รับประทานอาหารเองได้
- ฝึกจัดการอารมณ์ของตนเอง เพื่อสร้างลักษณะนิสัยที่ดีและฝึกทักษะการเข้าสังคม
- เรียนรู้วิธีการใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือ เช่น อุปกรณ์ช่วยแต่งตัวหรืออาบน้ำ เป็นต้น
กิจกรรมสำหรับผู้ใหญ่
- เรียนรู้การใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือ เช่น ไม้เท้า หรือรถเข็น
- เรียนรู้วิธีการแต่งตัว เช่น การติดกระดุมเสื้อ ผูกเชือกรองเท้าด้วยวิธีใหม่ ๆ
- จัดการยาที่ต้องรับประทานและจัดอุปกรณ์ในบ้านให้เหมาะสม
- เรียนรู้วิธีการป้องกันตนเองจากการหกล้มในบ้านหรือนอกบ้าน
- ฟื้นฟูผู้ป่วย โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างความสมดุลของร่างกาย แก้ไขปัญหาด้านความทรงจำและการสื่อสาร สร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง เป็นต้น
กิจกรรมบำบัดมีประโยชน์ต่อใครบ้าง?
กิจกรรมบำบัดมีประโยชน์ต่อผู้ที่มีปัญหาด้านร่างกาย ประสาทสัมผัส และทักษะการรู้คิด ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาพึ่งพาตนเองได้ มีการพิสูจน์แล้วว่ากิจกรรมบำบัดสามารถช่วยเด็กที่มีสมาธิสั้น ออทิสติก พิการตั้งแต่กำเนิด โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก และเด็กที่มีแผลไฟไหม้หรือได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงได้ นอกจากนี้แพทย์อาจให้ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ผู้ป่วยข้ออักเสบ ผู้ที่ได้รับความกระทบกระเทือนทางสมอง ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้พิการทางสมอง ผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรัง ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อ ผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง หรือผู้ที่มีปัญหาทางด้านจิตใจและพฤติกรรมเข้ารับการบำบัดผ่านกิจกรรมบำบัดได้เช่นกัน
กายภาพกับกิจกรรมบำบัดต่างกันอย่างไร?
กายภาพบำบัดช่วยบรรเทาอาการปวด สร้างกล้ามเนื้อ เพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อ เพิ่มความทนทาน และทักษะการพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่
กิจกรรมบำบัดเป็นการเพิ่มทักษะการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก การรับรู้ทั้งสายตา ทักษะการรู้คิด และความบกพร่องในการประมวลผลทางประสาทสัมผัส