คำแนะนำสำหรับการดูแลตัวเองหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูสมรรถภาพของข้อเข่าให้คืนกลับมาเป็นปกติได้โดยเร็ว ทั้งความสามารถการเคลื่อนไหวและกำลังกล้ามเนื้อ ข้อปฏิบัติส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะได้รับคำอธิบาย และฝึกจริงกับนักกายภาพบำบัดและนักกิจกรรมบำบัดในช่วงที่อยู่โรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม หากมีคำถามเกี่ยวกับการออกกำลังกายหรือข้อปฏิบัติต่าง ๆ ควรสอบถามเพิ่มเติมกับแพทย์ นักกายภาพบำบัด หรือนักกิจกรรมบำบัด
คำแนะนำทั่วไป
- หลังการผ่าตัดตั้งแต่วันแรกผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำให้ออกกำลังที่ข้อเท้าและเกร็งกล้ามเนื้อขาเป็นระยะ เพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือดในขาและเท้า เป็นการป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันและการบวม อาจรู้สึกไม่สบายตัวบ้างแต่การออกกำลังกายท่านี้จะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของผู้ป่วยในระยะต่อ ๆ มา
- การประคบเย็นบนเข่าข้างที่ผ่าตัดประมาณ 10–15 นาทีขณะยกขาสูงไว้บนหมอน หลังจากออกกำลังขา หรือหลังการยืนหรือเดิน จะสามารถช่วยลดอาการบวมและปวดได้
ท่าทางการนอน
- ท่านอนหงาย นอนหงายเข่าเหยียดตรง หนุนหมอนรองใต้ขาและข้อเท้า หลีกเลี่ยงการรองหมอนใต้เข่า
- ท่านอนตะแคง นอนท่าตะแคงทับขาข้างปกติ หนุนหมอนรอง ระหว่างเข่า 2 ข้าง หลีกเลี่ยงการนอนตะแคงทับขาข้างที่ผ่าตัด
ท่านั่งรถยนต์
- เดินด้วยอุปกรณ์พยุงร่างกาย ไปยังรถยนต์ กลับลำตัวโดยขยับให้ขาทั้งสองข้างชิดขอบที่นั่งหันหน้าออก งอเข่าทั้งสองข้างเพื่อนั่งลงที่เบาะรถยนต์ แล้วจึงหันลำตัวพร้อมยกขาทั้งสองข้างขึ้นรถ
- การเดิน ควรเริ่มเดินระยะสั้น ๆ แต่เดินได้บ่อย ๆ ระหว่างวัน และค่อย ๆ เพิ่มระยะทาง การเดินมากเกินไปอาจส่งผลให้มีอาการบวมหรือปวดมากขึ้นได้ ท่านอาจต้องใช้อุปกรณ์ช่วยในการเดิน เช่น ไม้เท้าหรือวอล์กเกอร์ ซึ่งจะได้รับคำแนะนำและวัดขนาดให้ในระหว่างที่อยู่ในโรงพยาบาล
- ทานยาแก้ปวดได้ตามคำแนะนำของแพทย์ เมื่ออาการปวดได้บรรเทาลง ท่านจะสามารถออกกำลังกายได้ วันละ 2-3 รอบ ซึ่งการออกกำลังกายจะส่งผลดีต่อการพัฒนาด้านการเดินของท่าน
- หลีกเลี่ยงการบิดหมุนข้อเข่าข้างที่ผ่า ขณะเปลี่ยนท่าทาง และหลีกเลี่ยงการนั่งยอง
การบริหารกล้ามเนื้อหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
บริหารท่าละ 10 - 20 ครั้ง การออกกำลังกายควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดทุกครั้ง หากมีอาการปวด บวม หลังจากการออกกำลังกาย ให้หยุดและควรปรึกษาแพทย์ทันที
- กดเข่า - นอนหงายเหยียดเข่าตรง ม้วนผ้าขนหนูเล็ก ๆ ใต้ข้อเท้าขาข้างที่ผ่าตัด ออกแรงเกร็งกล้ามเนื้อ สะโพก กล้ามเนื้อต้นขา เข่าข้างที่ผ่าตัด และส้นเท้าลง ค้างไว้ 5-10 วินาที แล้วค่อย ๆ คลายออก
- กระดกข้อเท้าขึ้น-ลง - นอนหงายเหยียดเข่าตรง ม้วนผ้าขนหนูเล็ก ๆ ใต้ข้อเท้าขาข้างที่ผ่าตัด กระดกข้อเท้าขึ้นลง
- ยกขาขึ้นลง - นอนหงายชันเข่าข้างที่ไม่ได้ผ่าตัด เหยียดเข่าข้างที่ผ่าตัดให้ตรง ค่อย ๆ ยกขาข้างที่ผ่าตัดขึ้นไม่เกินเข่าข้างที่ชันไว้และวางลงช้า ๆ โดยพยายามให้เข่าข้างที่ผ่าตัดเหยียดตรงตลอดเวลาที่เคลื่อนไหว
- งอเข่า - นอนหงายเหยียดเข่าตรง จากนั้นงอเข่าเลื่อนส้นเท้าไปบนเตียงเข้าใกล้สะโพกให้มากที่สุด จากนั้นเหยียดเข่าออกให้ตรง
- กางสะโพก - นอนตะแคงทับข้างที่ไม่ได้ผ่าตัด เหยียดเข่าให้ตรงกางขาข้างที่ผ่าตัดขึ้น โดยพยายามให้เข่าเหยียดตรง และค่อย ๆ วางลงที่เดิม
- ยกสะโพก - นอนหงายชันเข่า 2 ข้าง เกร็งสะโพกยกให้สูงขึ้นจากเตียง
- เหยียดเข่าท่านั่ง - นั่งห้อยขาข้างเตียงหรือนั่งบนเก้าอี้ วางขาข้างที่ผ่าตัดบนเก้าอี้เตี้ย ออกแรงเหยียดเข่าข้างที่ผ่าตัดขึ้น และวางลงช้า ๆ
- งอเข่าท่านั่ง - นั่งห้อยขาข้างเตียงหรือนั่งบนเก้าอี้ เท้าวางราบที่พื้น ค่อย ๆ งอเข่าข้างที่ผ่าตัดไปด้านหลัง ใช้ขาข้างที่ไม่ได้ผ่าตัด ช่วยกดบริเวณข้อเท้าให้เข่างอมากขึ้นเท่าที่ทำได้โดยไม่เจ็บ
- ยกขาท่านั่ง – นั่งเก้าอี้ที่มีความมั่นคง ยกขาข้างที่ผ่าตัดขึ้นลง
- งอ-เหยียดเข่าท่ายืน - ยืนตรงมือจับ walker หรือจับราว งอเข่าขึ้นเท่าที่ทำได้ แล้วค่อย ๆ วางเท้าลง
- กางขา - ยืนตรง หาที่เกาะให้มั่นคง กางขาข้างที่ผ่าตัดออกด้านข้าง เข่าเหยียดตรง ระวังไม่ให้หลังแอ่น
- เหยียดขา - ยืนตรง หาที่เกาะให้มั่นคง เหยียดขาข้างที่ผ่าตัดไปข้างหลัง ระวังไม่ให้หลังแอ่น
- ยกขา - ยืนตรง หาที่เกาะให้มั่นคง ยกขาขึ้นลงระวังไม่ให้หลังแอ่น
การออกกำลังกายควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดทุกครั้ง หากมีอาการปวด บวม หลังจากการออกกำลังกาย ควรหยุด และปรึกษาแพทย์ทันที
ขั้นตอนการสวมใส่-ถอดกางเกงหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า
ควรสวมใส่กางเกงขาข้างที่ผ่าตัดก่อนทุกครั้ง
- ใช้ไม้เอื้อมจับ และมืออีกข้างในการจัดขากางเกงให้พร้อมสำหรับการสวมใส่
- สวมกางเกง โดยเริ่มจากขาข้างที่ผ่าตัดก่อน
- ดึงกางเกงขึ้นจนปลายขากางเกงพ้นเท้า
- จากนั้นสวมใส่กางเกงที่ขาอีกข้าง
- ลุกยืน พร้อมกับดึงกางเกงสวมใส่ให้เรียบร้อย (ลงน้ำหนักโน้มตัวไปที่ขาข้างที่ไม่ได้ผ่าตัดเล็กน้อย)
การจัดเตรียมสภาพบ้านและสิ่งแวดล้อมหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า
บริเวณบ้าน
- ห้องนอน หรือพื้นที่พักอาศัยควรอยู่ชั้นล่าง เพื่อลดการเดินขึ้นลงบันไดและป้องกันการพลัดตกหกล้ม
- ห้องน้ำควรอยู่บริเวณใกล้เคียงหรือชั้นเดียวกับห้องนอน หรือจัดเตรียมสุขาเคลื่อนที่ไว้ในพื้นที่ที่ใช้งานบ่อย
- จัดหาเก้าที่มีพนักพิงและมีที่วางแขน มั่นคงแข็งแรง ไว้ในห้องครัว ห้องนอน ห้องน้ำ หรือห้องที่ใช้งานบ่อย
- หลีกเลี่ยง การเอื้อมหยิบสิ่งของในระยะที่สูง หรือก้มต่ำจนเกินไป
ห้องนั่งเล่น และห้องนอน
- จัดเก็บสิ่งของ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือสายไฟให้บริเวณทางเดินโล่งและปลอดภัย
- หากมีพรมเช็ดเท้า หรือพรมบริเวณห้องนั่งเล่นให้นำออกจากบริเวณที่ผู้ป่วยใช้งาน
- ซ่อมแซมบริเวณพื้นที่ไม่ราบเรียบ หรือบริเวณธรณีประตู
- บริเวณทางเดินหรือมุมห้องควรติดตั้งไฟ หรือจัดแสงสว่างให้เพียงพอและเห็นได้ชัดเจน
ห้องน้ำ
- ราวจับ: ควรติดราวจับบริเวณผนังห้องน้ำในแนวดิ่งและแนวนอน
- ฐานรองนั่งชักโครก: ฐานรองนั่งชักโครกช่วยป้องกันการงอข้อเข่า/ข้อสะโพกที่มากเกินไป และช่วยในการดันตัวขึ้นยืนจากท่านั่ง
- แผ่นรองกันลื่น: ติดแผ่นรองกันลื่น หรือแผ่นยางซิลิโคน บริเวณห้องน้ำที่มีพื้นเปียก เพื่อป้องกันการลื่นและพลัดตก หกล้ม
- เก้าอี้อาบน้ำ: หลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า / ข้อสะโพกใหม่ ๆ ควรนั่งเก้าอี้ขณะอาบน้ำ เพื่อลดการลงน้ำหนักที่ข้อเข่า / ข้อสะโพกเป็นเวลานาน และป้องกันการพลัดตกหกล้ม
- พื้นที่เปียก / พื้นที่แห้ง: แยกพื้นที่ห้องน้ำเป็นพื้นที่แห้ง และพื้นที่เปียก โดยพื้นที่เปียกควรมีแผ่นรองกันลื่นติดตั้งไว้
อุปกรณ์ช่วย
- ไม้เอื้อมจับ: อุปกรณ์ช่วยในการสวมใส่-ถอดกางเกง ถอดถุงเท้า และหยิบจับสิ่งของในระยะไกล
- ช้อนรองเท้า: อุปกรณ์ช่วยในการสวมใส่รองเท้าหุ้มส้น
- ฟองน้ำด้ามจับยาว: ฟองน้ำด้ามจับยาว ใช้ในการทำความสะอาดขา หลังหรือบริเวณที่เอื้อมไม่ถึง เพื่อลดการงอข้อเข่า/ข้อสะโพก
ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด
ชั้น 5 เคาน์เตอร์ B (EAST Lift)
โทร. 02-090-3087
เวลา 8:00 - 20:00 น.