วิตามินบี 12 เป็นวิตามินละลายในน้ำซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดง ขบวนการทางชีวเคมีของเซลล์ การทำงานของสมองและเซลล์ประสาท รวมถึงการสร้างสารพันธุกรรม เช่น ดีเอ็นเอ เมทิลโคบาลามินเป็นวิตามินบี 12 ชนิดที่ออกฤทธิ์ทางชีวภาพได้ทันที แต่ไฮดรอกซีโคบาลามินและไซแอนโนโคบาลามินซึ่งเป็นวิตามินบี 12 ชนิดที่มักถูกนำทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นจะต้องถูกร่างกายย่อยเปลี่ยนไปเป็น เมทิลโคบาลามินก่อนจะออกฤทธิ์ทางชีวภาพได้
วิตามิน บี 12 พบมากในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ได้แก่ เนื้อแดง ปลา สัตว์ปีก และผลิตภัณฑ์จากนม วิตามินบี 12 ยังมักจะถูกเสริมเข้าไปในอาหารบางชนิด เช่น ซีเรียลหรือธัญพืช และถูกใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ในผู้ป่วยที่ขาดวิตามินบี 12 แพทย์อาจแนะนำการฉีดวิตามินหรือพ่นผ่านจมูก
วิตามินบี 12 นั้นไม่พบในพืชผัก ดังนั้นผู้ที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์เป็นประจำ เช่น วีแกนหรือมังสวิรัติมักเสี่ยงต่อภาวะขาดวิตามินบี 12 ผู้สูงวัยหรือผู้ที่มีปัญหาด้านระบบการดูดซึมของร่างกายผิดปกติก็มีแนวโน้มที่จะขาดวิตามินบี 12 เช่นกัน เพราะร่างกายนั้นสามารถกักเก็บวิตามินไว้ได้1,000 – 2,000 เท่าของปริมาณวิตามินที่ทานในแต่ละวัน กว่าภาวะขาดวิตามินจะแสดงอาการก็อาจใช้เวลาหลายปี
หากประสบภาวะขาดวิตามินบี 12 อย่างต่อเนื่อง อาจจะก่อให้เกิดภาวะโลหิตจางพร้อมเซลล์เม็ดเลือดแดงโตผิดปกติ จำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำ ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ลิ้นอักเสบ อ่อนล้า ใจสั่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ระบบย่อยอาหารผิดปกติ อารมณ์แปรปรวน ภาวะสมองเสื่อม และระบบประสาททำงานผิดปกติส่งผลให้เกิดอาการชาในมือและเท้า ในผู้ใหญ่ปริมาณวิตามิน บี 12 ที่ควรได้รับในแต่ละวัน คือ 2.4 ไมโครกรัม
หลักฐานด้านการวิจัย
ได้มีการศึกษาทำเรื่องวิตามินบี 12 เพื่อเข้าใจถึงผลกระทบของวิตามินบี 12 ต่อโรคต่าง ๆ ดังนี้
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
เชื่อกันว่าการรับประทานวิตามินบี 12 พร้อมกรดโฟลิก และพร้อมด้วยไพริดอกไซน์ (วิตามินบี 6) ในบางกรณีนั้น สามารถช่วยลดประมาณกรดอะมิโนในเลือด (โฮโมซีสทีน) ลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจ
- ภาวะสมองเสื่อม
ภาวะขาดวิตามินบี 12 นั้นอาจนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมและภาวะถดถอยของสมอง แต่ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าการรับประทานอาหารเสริมวิตามินบี 12 สามารถช่วยยับยั้งหรือรักษาภาวะดังกล่าวได้
- กิจกรรมทางด้านกีฬา
การรับประทานวิตามินบี 12 ในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นไม่สามารถช่วยเพิ่มพละกำลังหรือเพิ่มความสามารถทางด้านกีฬา เว้นแต่ในกรณีที่มีภาวะขาดวิตามินบี 12
การบริโภคอาหารที่หลากหลายและครบห้าหมู่นั้นจะทำให้ได้รับวิตามินบี 12 ในปริมาณที่เพียงพอต่อความจำเป็นของร่างกาย แต่ในผู้สูงวัย ผู้ที่มีปัญหาด้านระบบการดูดซึม หรือผู้ที่ไม่ได้รับประทานเนื้อสัตว์เป็นประจำ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมวิตามินบี 12 นั้นก็นับได้ว่ามีประโยชน์ต่อร่างกาย
ในเพศหญิงที่รับประทานอาหารมังสวิรัติหรืออาหารวีแกน โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรรับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมวิตามินบี 12
ความปลอดภัยและผลข้างเคียง
เมื่อบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม วิตามินบี 12 นั้นถือว่าปลอดภัยต่อร่างกาย ในผู้ใหญ่หากรับประทานมากกว่าปริมาณที่แนะนำคือ 2.4 ไมโครกรัม ก็ยังนับว่าไม่เป็นอันตรายร้ายแรง ร่างกายของเราจะขับวิตามินส่วนเกินออกทางปัสสาวะ
ยาที่ไม่ควรทานร่วมกัน
การทานยาบางชนิดร่วมกับวิตามินบี 12 อาจจะทำให้เกิดผลต่อระดับวิตามินบี 12
- กรดอมิโนซาลิไซลิก
- ยาโคลชิซินสำหรับโรคเกาต์
- ยาเมตฟอร์มินสำหรับโรคเบาหวานอาจลดความสามารถในการดูดซึมวิตามินบี 12
- ยาลดกรด เช่น ยาในกลุ่ม PPIs ยาโอมิพราโซล ยาแลนโซพราโซล
- ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารวิตามินซี
ควรรับประทานวิตามินซี 2-3 ชั่วโมง หลังรับประทานวิตามินบี 12 เพื่อป้องการทำปฏิกิริยาที่ไม่พึงประสงค์ของวิตามิน อีกทั้งการทานวิตามินบี 12 และวิตามินซีพร้อมกันจะทำให้ร่างกายดูดซึมวิตามินบี 12 ได้น้อยลง
แพทย์อาจแนะนำให้เปลี่ยนตัวยาหรือเวลาทานยาเพื่อหลีกเลี่ยงปฏิกิริยาระหว่างยาดังกล่าว
บทความโดย
พญ.ประภาพร พิมพ์พิไล
อายุรกรรมทั่วไป
ประวัติแพทย์