จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เกิดจากอะไร ต้องรักษาและป้องกันอย่างไร - Allergic Rhinitis: What Is IT, Treatment and Prevention

จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis)

โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือภูมิแพ้อากาศ เกิดขึ้นเมื่อสารก่อภูมิแพ้ เช่น ละอองเกสร มูลของไรฝุ่น แมลง เชื้อรา และขนหรือสะเก็ดผิวหนังของสัตว์เลี้ยง กระตุ้นให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยาต่อต้านสารเหล่านั้น ส่งผลให้เกิดอาการจาม เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล

แชร์

โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้

โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือภูมิแพ้อากาศ หรือมักนิยมเรียกในต่างประเทศว่า ไข้ละอองฟาง (Hay Fever) เกิดขึ้นเมื่อสารก่อภูมิแพ้ เช่น ละอองเกสร มูลของไรฝุ่น แมลง เชื้อรา และขนหรือสะเก็ดผิวหนังของสัตว์เลี้ยง กระตุ้นให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยาต่อต้านสารเหล่านั้น ส่งผลให้เกิดอาการจาม เจ็บคอ คัดจมูก มีน้ำมูกไหล และคันในจมูก ถึงแม้ผู้ป่วยอาจจะเป็นโรคนี้ไปตลอดชีวิต แต่หากปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต รับประทานยา หรือรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด ก็จะคุมอาการได้

โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้คืออะไร?

โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้เกิดขึ้นเมื่อเราหายใจเอาอนุภาคเล็กๆ ที่อยู่ในอากาศ เรียกว่า สารก่อภูมิแพ้ เข้าไปในร่างกายผ่านทางจมูกหรือปาก สารก่อภูมิแพ้เหล่านี้จะกระตุ้นร่างกายให้หลั่งสารเคมีออกมา หนึ่งในนั้นคือสารที่เรียกว่า ฮิสตามีน (Histamine) ซึ่งก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้ต่อสารก่อภูมิแพ้ โดยสารก่อภูมิแพ้ที่พบได้ส่วนใหญ่มาจากไรฝุ่น ขนสัตว์ เชื้อรา และละอองเกสร

เมื่อแบ่งตามช่วงเวลาในการเกิด โรคนี้จะแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ ชนิดที่เกิดตามฤดูกาลและชนิดที่เกิดตลอดทั้งปี โดยทั้งสองชนิดนี้จะเกิดจากสารก่อภูมิแพ้ต่างชนิดกัน กล่าวคือ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ที่เกิดตามฤดูกาลมักจะเกิดจากละอองเกสรจากดอกไม้หรือดอกหญ้า ส่วนชนิดที่เกิดตลอดปีจะเกิดจากไรฝุ่น แมลงสาบ ขนสัตว์ หรือเชื้อรา

นอกจากนี้ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ยังส่งผ่านทางพันธุกรรมได้ หมายความว่า หากมีสมาชิกครอบครัวที่เป็นโรคจมูกภูมิแพ้อักเสบ ลูกหลานก็มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้เช่นกัน รวมถึงผู้ที่ป่วยเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Eczema) หรือโรคหอบหืด ก็มักจะเป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ร่วมด้วย

อาการจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ - Allergic Rhinitis

อาการจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นอย่างไร?

อาการของโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ทั้งสองชนิดจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยสามารถแบ่งอาการได้ตามส่วนของร่างกายที่เกิดอาการ ได้แก่ จมูก ลำคอ ดวงตา และหู อาการของโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ได้แก่

  • จมูก: น้ำมูกไหล คัดจมูก จาม น้ำมูกไหลลงคอ และปวดแน่นบริเวณใบหน้า
  • คอ: เจ็บและคันในลำคอ
  • ดวงตา: ตาแดง น้ำตาไหลมากผิดปกติ และคันในตา 
  • หู: มีอาการคันในหู หรือหูชั้นกลางอักเสบ มีน้ำในหูชั้นกลาง

นอกเหนือจากอาการที่ส่งผลกระทบต่อส่วนต่างๆ ของร่างกายแล้ว อาการของโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ยังรบกวนการนอนหลับและทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น หายใจทางปาก นอนกรน ตื่นกลางดึกบ่อยๆ รวมถึงง่วงนอนตอนกลางวันหรือรู้สึกเหนื่อล้า

ทั้งนี้ อาการของโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้อาจคล้ายคลึงกับอาการของไข้หวัด แต่สิ่งที่แตกต่างคือ ไข้หวัดมักจะทำให้รู้สึกปวดตัวหรือมีไข้

สาเหตุที่เป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้

โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้เกิดจากการตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ในอากาศไวเกินไป โดยระบบภูมิคุ้มกันของผู้ที่เป็นโรคนี้จะเข้าใจผิดว่าสารก่อภูมิแพ้ที่ได้รับเป็นสารที่อันตราย ทำให้หลั่งสารเคมีที่ร่างกายผลิตออกมาเพื่อกำจัดสารก่อภูมิแพ้เหล่านั้น โดยหนึ่งในนั้นคือฮิสตามีน ผลคือ ฮิสตามีนก่อให้เกิดการอักเสบที่เยื่อบุผิวในจมูก ลำคอ และดวงตา ส่งผลให้เกิดอาการของโรค ได้แก่ การจาม คัดจมูก หรือน้ำมูกไหล

สารก่อภูมิแพ้ที่กระตุ้นให้เกิดอาการของโรค ได้แก่

  • ไรฝุ่นในบ้าน
  • ละอองเกสรดอกไม้หรือสปอร์เชื้อรา
  • ขนหรือสะเก็ดผิวหนังของสัตว์
  • น้ำลายหรืออุจจาระแมลงสาบ

การตรวจวินิจฉัยอาการจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ มีวิธีการอย่างไร?

เมื่อมีอาการที่คล้ายกับโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านภูมิแพ้เพื่อรับการตรวจและรักษา โดยแพทย์อาจสอบถามอาการและซักประวัติ นอกจากนี้ แพทย์จะตรวจหาว่าสารก่อภูมิแพ้ชนิดใดทำให้ร่างกายมีปฏิกิริยาต่อต้าน โดยจะใช้วิธีที่เรียกว่าการสะกิดผิวหนัง (Skin Prick Test) เป็นวิธีที่ไม่เจ็บและให้ผลที่แม่นยำ แต่อาจทำให้ผู้เข้ารับการตรวจรู้สึกไม่สบายตัวเล็กน้อย วิธีทำคือ แพทย์จะวางตัวอย่างสารก่อภูมิแพ้ หรือหยดสารสกัดของสารก่อภูมิแพ้ชนิดต่างๆ ในปริมาณน้อยไว้บนท่อนแขนผู้ป่วย จากนั้นจะทำการสะกิดผิวใกล้ๆ กับสารก่อภูมิแพ้แต่ละชนิดด้วยเข็มหรือเข็มเจาะเพื่อให้สารเข้าไปใต้ผิว หากแพ้สารตัวใด ผิวบริเวณนั้นจะคัน ระคายเคือง และขึ้นเป็นตุ่มแดงภายในเวลา 15 นาทีเป็นต้นไป

วิธีรักษาและป้องกันจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ - Allergic Rhinitis test

วิธีรักษาและป้องกันจมูกอักเสบจากภูมิแพ้

วิธีรักษาโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้มีอยู่สองวิธีหลักๆ ได้แก่ การเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ และการใช้ยา โดยการใช้สองวิธีร่วมกันจะได้ผลเป็นอย่างดีในผู้ป่วยส่วนใหญ่ รายละเอียดของทั้งสองวิธีมีดังต่อไปนี้

การเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้

เมื่อทราบว่าตนเองแพ้สิ่งใดบ้าง การเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้จะช่วยป้องกันให้ร่างกายไม่เกิดปฏิกิริยาต่อต้านสารนั้นๆ ตัวอย่างต่อไปนี้คือวิธีการเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้

  • กำจัดสารก่อภูมิแพ้ในอากาศด้วยการใช้เครื่องดูดฝุ่นหรือเครื่องปรับอากาศที่มีแผ่นกรอง
  • หากแพ้ละอองเกสร ให้สวมแว่นตาและหมวกเพื่อป้องกันไม่ให้ละอองเข้าตา และเปลี่ยนชุดเมื่อกลับถึงบ้าน
  • ปิดหน้าต่างรถหรือหน้าต่างบ้านในช่วงที่มีปริมาณละอองเกสรดอกไม้มาก
  • หากแพ้ไรฝุ่น ให้สวมปลอกหมอนหรือคลุมที่นอนด้วยผ้าคลุมกันไรฝุ่น หรือเปลี่ยนผ้าปูที่นอนทุกสัปดาห์
  • หากแพ้ขนสุนัข พยายามกันสุนัขให้พ้นโซฟา เตียง หรือห้องนอนให้มากที่สุด แบ่งขอบเขตให้ชัดเจน
  • ไม่จับหรือถูใบหน้า หู หรือจมูกหลังจากเล่นกับสุนัข และล้างมือให้สะอาดหลังเล่นกับสุนัข
  • หากแพ้ขนแมว ไม่ควรเลี้ยงแมวในบ้าน

ยา

สารก่อภูมิแพ้บางประเภทหลีกเลี่ยงได้ยากหรือแทบจะเลี่ยงไม่ได้เลย ดังนั้น วิธีดังกล่าวอาจไม่ช่วยควบคุมอาการ ยาจึงเข้ามามีบทบาทในส่วนนี้เพราะช่วยบรรเทาอาการโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ได้ โดยยาที่รักษาอาการได้มีหลายรูปแบบ ทั้งยาเม็ด ยาน้ำ ยาพ่นจมูก ยาหยอดตา และยาฉีด ทั้งนี้ ยาบางตัวส่งผลข้างเคียง เช่น ทำให้มีอาการง่วงซึมหรือรับรสชาติเปลี่ยนไป ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา ตัวอย่างของยาที่ใช้รักษาโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้มีดังต่อไปนี้

ยาต้านฮิสตามีน

ยาต้านฮิสตามีนมักใช้รักษาโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้เพราะตัวยายับยั้งการทำงานของฮิสตามีน ซึ่งเป็นสารเคมีที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านตั้งแต่แรก โดยยาชนิดนี้มีหลายรูปแบบ ทั้งยาน้ำ ยาหยอดตา ยาพ่นจมูก ยาเม็ด และยาสูดพ่น แม้ยาต้านฮิสตามีนจะบรรเทาอาการคัน น้ำมูกไหล และอาการจามได้ แต่รักษาอาการคัดจมูกไม่ได้ ตัวอย่างยาต้านฮิสตามีนได้แก่ ยาเซทิริซีน (Cetirizine) ยาลอราทาดีน (Loratadine) ยาเลโวเซทิริซีน (Levocetirizine) และยาเฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine)

วิธีรักษาและป้องกัน ยาพ่นจมูกสเตียรอยด์ - Allergic Rhinitis

ยาพ่นจมูกสเตียรอยด์ (คอร์ติโคสเตียรอยด์ หรือ กลูโคคอร์ติคอยด์)

ยาพ่นจมูกคอร์ติโคสเตียรอยด์ใช้บรรเทาอาการของโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ได้ เพราะตัวยาลดอาการอักเสบที่เกิดขึ้นจากโรค ทั้งยังมีผลข้างเคียงน้อย จึงถือเป็นทางเลือกอันดับแรกๆ ที่ใช้เพื่อควบคุมอาการของโรค นอกจากนี้ มีงานวิจัยระบุว่ายาพ่นจมูกแบบสเตียรอยด์มีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการดีกว่ายาต้านฮิสตามีนแบบรับประทาน ยาพ่นจมูกสเตียรอยด์อาจทำให้หลายคนมีอาการดีขึ้นตั้งแต่วันแรกที่ใช้ แต่ต้องใช้ยาพ่นจมูกสเตียรอยด์นานหลายวันหรือหลายสัปดาห์จึงจะออกฤทธิ์เต็มที่ ทั้งนี้ ในบางราย สามารถลดขนาดยาได้เมื่ออาการดีขึ้น

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นเมื่อใช้ยาพ่นจมูกสเตียรอยด์ ได้แก่

  • จมูกแห้ง
  • ได้รสหรือกลิ่นไม่พึงประสงค์
  • ระคายเคืองจมูก
  • มีสะเก็ด
  • คันจมูก

แม้การใช้ยาสเตียรอยด์ในรูปแบบยาเม็ดหรือยาสูดพ่นเป็นเวลานานอาจส่งผลข้างเคียงอื่นๆ แต่ยาพ่นจมูกสเตียรอยด์นั้นมีปริมาณสเตียรอยด์ต่ำ และไม่ส่งผลข้างเคียงเหล่านั้นเหมือนยาแบบเม็ดและสูดพ่น อย่างไรก็ดี แพทย์แนะนำให้ใช้ยาในขนาดน้อยที่สุดเท่าที่พอจะทำให้อาการดีขึ้น

ยาพ่นจมูกสูตรผสมยาต้านฮิสตามีนกับสเตียรอยด์ (Antihistamine/Glucocorticoid Combination Spray)

ผลจากการทดลองทางคลินิก 3 ครั้งพบว่า ยาพ่นจมูกสูตรผสมระหว่างตัวยาอะเซลาสติน (Azelastine) กับยาฟลูติคาโซน (Fluticasone) ช่วยบรรเทาอาการโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ได้ดีกว่าใช้ยาสองตัวแยกกัน อย่างไรก็ตาม ยาสูตรนี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงของตัวยาทั้งสองตัวเมื่อใช้ในขนาดที่แพทย์แนะนำ นั่นคือ เมื่อพ่นจมูกข้างละหนึ่งครั้งเป็นจำนวนสองครั้งต่อวัน โดยผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไปคือ อาจมีเลือดกำเดาไหล ปวดหัว และรับรู้รสชาติอาหารเปลี่ยนไป

ยาบรรเทาอาการคัดจมูก

ยาประเภทนี้ช่วยลดอาการคัดจมูก ลดแรงดันในโพรงไซนัส และบรรเทาอาการบวมของโพรงจมูก เมื่อมีอาการรุนแรง ก่อนใช้ยาพ่นจมูกสเตียรอยด์ ให้ใช้ยาบรรเทาอาการคัดจมูกประมาณสองถึงสามวันเพื่อลดอาการบวมของโพรงจมูกก่อน วิธีนี้จะช่วยให้พ่นยาสเตียรอยด์เข้าไปในโพรงจมูกได้ไกลขึ้น ทั้งนี้ ยาบรรเทาอาการคัดจมูกไม่มีตัวยาต้านฮิสตามีน จึงทำให้ไม่สามารถบรรเทาบางอาการของโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ได้
ผลข้างเคียงของยาบรรเทาอาการคัดจมูก ได้แก่ ความดันเลือดสูงขึ้น มีอาการระคายเคืองที่เยื่อบุจมูก มีอาการง่วงซึม และปวดหัว จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา

สารยับยั้งลิวโคไตรอีน

เมื่อสารก่อภูมิแพ้เข้ามาในร่างกาย จะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเคมีต่างๆ ทั้งฮิสตามีน ลิวโครไตรอีน และสารตัวอื่นๆ สารเหล่านี้ทำให้เกิดการอักเสบและเกิดอาการต่างๆ ของโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ซึ่งสารยับยั้งลิวโคไตรอีนจะช่วยบรรเทาอาการเหล่านั้นได้ โดยจะยับยั้งการออกฤทธิ์ของลิวโคไตรอีน ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้สารประเภทนี้ ได้แก่ อารมณ์แปรปรวน ทำพฤติกรรมผิดปกติ ฝันติดตา มีผื่นขึ้นที่ผิวหนัง ปวดหัว และแสบร้อนกลางอก

ภูมิคุ้มกันบำบัด

วิธีนี้เป็นการพยายามทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทนต่อสารก่อภูมิแพ้จนเปลี่ยนการตอบสนองต่อสารนั้น โดยรูปแบบที่นิยมนำมาใช้รักษาคือวัคซีนภูมิแพ้แบบฉีดใต้ผิวหนัง และยาแบบอมใต้ลิ้น สำหรับแบบฉีดใต้ผิวหนังนั้นจะมีสารก่อภูมิแพ้ในปริมาณน้อย เมื่อฉีดไปแต่ละเข็ม แพทย์จะเพิ่มปริมาณของสารก่อภูมิแพ้ขึ้นเรื่อยๆ ระบบภูมิคุ้มกันจะค่อยๆ สร้างภูมิคุ้มกันต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้นจนไม่มีปฏิกิริยาต่อต้าน ส่วนแบบอมใต้ลิ้นยังมีข้อจำกัดคือ ใช้ในคนที่แพ้ไรฝุ่นเท่านั้น การอมใต้ลิ้นจะอมวันละครั้งเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปีต่อเนื่องกัน

Allergic Rhinitis Banner 1

เมื่อมีอาการจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ควรพบแพทย์เมื่อใด?

หากไม่แน่ใจว่าอาการที่มีเป็นอาการของโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือไม่ แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยหรือยืนยันอาการ และควรเข้ารับการรักษาหากอาการของโรครบกวนชีวิตประจำวันหรือไม่ดีขึ้นหลังรับประทานยา

คำแนะนำจากโรงพยาบาลเมดพาร์ค

อาการของโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้อาจทำลายคุณภาพชีวิตและทำให้ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ แต่การใช้ยาและปรับการใช้ชีวิตมีประโยชน์ต่อการบรรเทาอาการ ดังนั้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ว่าคุณควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย และบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 01 ธ.ค. 2023

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    พญ. ฐาปนี สมบูรณ์

    พญ. ฐาปนี สมบูรณ์

    • ประสาทวิทยา
    • โรคลมชัก
    • เวชศาสตร์การนอนหลับ
    โรคลมชักและการผ่าตัดโรคลมชัก, โรคความผิดปกติระหว่างการนอนหลับ
  • Link to doctor
    ดร.พญ. จิรดา ศรีเงิน

    ดร.พญ. จิรดา ศรีเงิน

    • ประสาทวิทยา
    • เวชศาสตร์การนอนหลับ
    • โรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ
    เวชศาสตร์การนอนหลับ, โรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ
  • Link to doctor
    ผศ.นพ. จิรยศ จินตนาดิลก

    ผศ.นพ. จิรยศ จินตนาดิลก

    • อายุรศาสตร์
    • เวชศาสตร์การนอนหลับ
    • เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
    • อายุรศาสตร์โรคปอด
    เวชศาสตร์การนอนหลับ, อายุรศาสตร์โรคปอด, อายุรกรรมผู้สูงอายุ, อายุรกรรมทั่วไป