การตรวจสุขภาพตา เป็นการตรวจวินิจฉัยที่ใช้วิธีการตรวจดวงตาหลาย ๆ อย่าง เช่น การอ่านตัวเลขที่มีขนาดต่าง ๆ กันจากระยะที่กำหนด การเป่าลมลงบนลูกตา การตรวจตาผ่านกล้อง การมองผ่านเลนส์ต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อตรวจสอบการมองเห็นและมองหาสัญญาณความผิดปกติของดวงตา ยิ่งตรวจพบความผิดปกติได้รวดเร็วเท่าไร ก็จะทำให้ผลการรักษาดียิ่งขึ้นเท่านั้น แพทย์ยังสามารถให้คำแนะนําในการดูแลและป้องกันดวงตา อีกทั้งผลการตรวจสุขภาพตายังช่วยบ่งบอกสภาวะสุขภาพร่างกายได้เช่นกัน
เราควรตรวจสุขภาพตาบ่อยแค่ไหน
ขึ้นอยู่กับอายุ สุขภาพ และความเสี่ยงในการเกิดโรคตาของแต่ละบุคคล
- เด็กอายุไม่เกิน 3 ปี โรคตา เช่น ตาขี้เกียจ ตาเข ตาเหล่ หรือตาส่อนสามารถเกิดขึ้นได้ในเด็ก จักษุแพทย์ผู้ชำนาญการโรคตาในเด็กสามารถตรวจพบอาการแรกเริ่มและทำการรักษาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
- เด็กวัยเรียนและวัยรุ่น ก่อนที่จะเริ่มเข้าโรงเรียน ผู้ปกครองควรพาเด็ก ๆ ไปรับการตรวจสุขภาพตา จักษุแพทย์ผู้ชำนาญการโรคตาในเด็กจะประเมินสุขภาพตาและให้คำแนะนำได้ว่าเด็ก ๆ ควรได้รับการตรวจสุขภาพตาบ่อยแค่ไหน
- วัยผู้ใหญ่ ผู้ที่มีสุขภาพดีและไม่มีความผิดปกติทางการมองเห็นควรได้รับการตรวจสุขภาพตาอย่างละเอียดเมื่อมีอายุ 40 ปี เนื่องจากร่างกายและการมองเห็นเริ่มเปลี่ยนแปลงตามอายุ และมีความเสี่ยงในการเกิดโรคตามากขึ้น
ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจคัดกรองดวงตาเป็นประจําทุกปี จักษุแพทย์อาจแนะนําให้เข้ารับการตรวจดวงตาบ่อยขึ้นสำหรับผู้ที่สวมใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ ผู้มีโรคประจําตัว เช่น โรคเบาหวาน ผู้ที่ใช้ยาใด ๆ ที่อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อดวงตา หรือมีบิดามารดา พี่ น้องที่มีปัญหาทางด้านสายตา
การเตรียมตัวก่อนพบแพทย์
คุณสามารถเลือกเข้ารับคำปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านสายตาโดยเฉพาะ โดยขึ้นอยู่กับปัญหาทางดวงตาที่กำลังเป็นอยู่
- นักประกอบแว่นไม่สามารถตรวจวินิจฉัยสุขภาพดวงตาได้ แต่จะสามารถประกอบและตัดแว่นตาตามใบสั่งแพทย์ สามารถหาซื้อคอนแทคเลนส์จากที่ร้านได้เช่นกัน
- นักทัศนมาตรศาสตร์สามารถทำการตรวจสุขภาพตาโดยรวม ประเมินการมองเห็น วัดสายตา เขียนใบตรวจสายตาได้ แต่ไม่สามารถรักษาโรคตาที่ยากซับซ้อนหรือทําการผ่าตัดดวงตาได้
- จักษุแพทย์สามารถทำการตรวจสุขภาพตา เช่นเดียวกับนักทัศนมาตรศาสตร์ และสามารถทำการรักษาปัญหาสายตาที่ยากซับซ้อนหรือทําการผ่าตัดรักษาดวงตาได้
สิ่งที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการตรวจสุขภาพตา
ก่อนการตรวจสุขภาพตา
หากคุณต้องใช้แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์อยู่ ควรนําติดตัวไปด้วยเพื่อให้จักษุแพทย์ตรวจสอบว่าจำเป็นต้องปรับค่าของแว่นหรือคอนแทคเลนส์หรือไม่ และสามารถนําแว่นกันแดดมาสวมใส่หลังการตรวจเพื่อช่วยปกป้องดวงตา ระหว่างการตรวจ แพทย์อาจทำการขยายม่านตา ซึ่งอาจทําให้มองเห็นภาพพร่ามัวได้ จึงควรนำเพื่อนหรือคนในครอบครัวมาด้วย
ตัวอย่างคําถามที่จักษุแพทย์อาจถาม
- การมองเห็นของคุณเป็นอย่างไร ตอนนี้มีปัญหาทางสายตาหรือไม่ หรือเคยมีปัญหาทางสายตามาก่อนหรือไม่
- ต้องสวมแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์อยู่หรือไม่
- มีโรคประจําตัวใด ๆ หรือไม่
- กําลังทานยาใด ๆ อยู่หรือไม่
- เคยเข้ารับการผ่าตัดดวงตาบ้างหรือไม่
- มีคนในครอบครัวเคยเป็นโรคต้อหิน จอประสาทตาลอก หรือจอประสาทตาเสื่อมหรือไม่
- มีคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจหรือไม่
- มีอาการแพ้หรือไม่
- เกิดก่อนกําหนดหรือไม่
ระหว่างการตรวจสุขภาพตา
การตรวจสุขภาพมักมีขั้นตอนดังนี้
- การสอบถามประวัติ
- การวัดระดับการมองเห็นว่าจำเป็นต้องใส่แว่นหรือไม่
- การตรวจสอบความดันของลูกตา จักษุแพทย์อาจทำการขยายม่านตาเพื่อตรวจในลูกตา
- การประเมินสภาพดวงตา จักษุแพทย์อาจให้มองภาพต่าง ๆ หรือส่องไฟเพื่อประเมินสุขภาพดวงตา หรือทำการทดสอบอื่น ๆ เพื่อประเมินการมองเห็น การทํางานและลักษณะของลูกตา
หลังการตรวจสุขภาพตา
จักษุแพทย์จะอธิบายผลการตรวจสุขภาพตา ความเสี่ยงของการเกิดโรคตา และแนะนำวิธีการดูแลดวงตาให้กลับไปทำตามที่บ้านได้