แผลร้อนใน แผลในปาก
แผลในปากอาจทำให้เราเจ็บ กินอะไรไม่ได้ โดยเฉพาะอาหารร้อนหรือเปรี้ยว ซึ่งอาการแผลในปากเกิดนั้นได้จากหลายสาเหตุ
แผลร้อนใน เป็นแผลในปาก มีลักษณะเป็นรูปวงกลมหรือวงรี สีขาวหรือออกเหลือง รอบรอยแผลจะแดง มีขนาดเล็ก 1 มิลลิเมตร หรืออาจจะใหญ่ได้ถึง 0.5 - 1 นิ้ว อาจก่อให้เกิดอาการเจ็บและระคายเคืองภายในปากเวลารับประทานอาหาร ดื่มเครื่องดื่ม หรือสนทนา อาการบาดเจ็บในช่องปาก การรับประทานอาหารที่มีความเป็นกรด หรือความเครียดอาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดแผลร้อนใน โดยปกติแล้วแผลร้อนในจะหายได้เองภายใน 2 สัปดาห์ ส่วนมากมักไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แต่บางครั้งอาจมีแบคทีเรียแทรกซ้อนได้
แผลร้อนในประเภทต่าง ๆ
- แผลร้อนในทั่วไป สามารถเกิดขึ้นได้ 3 - 4 ครั้งต่อปี และหายได้เองภายใน 2 สัปดาห์
- แผลร้อนในแบบซับซ้อน พบได้น้อยกว่า อาจพบในรายที่เป็นแผลร้อนในมาก่อน หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ
แผลร้อนในแตกต่างจากเริมที่ปาก ซึ่งเป็นมักเป็นตุ่มน้ำใสเกิดจากเชื้อไวรัส Herpes simplex ประเภทที่ 1 หรือ 2 โดยจะขึ้นที่ปากและอวัยวะเพศ และติดต่อได้ผ่านการจูบหรือโอษฐกาม
อาการแผลร้อนใน
แผลร้อนในหนึ่งหรือหลายแผลบนลิ้น กระพุ้งแก้ม ด้านในของริมฝีปาก หรือเพดานปาก โดยแผลจะทำให้รู้สึกปวด แสบร้อน และชา อาจมีไข้ ต่อมน้ำเหลืองบวมหากมีอาการรุนแรง
ควรไปพบแพทย์เมื่อไร
ควรไปพบแพทย์หากเริ่มมีไข้สูง หรือแผลร้อนในมีขนาดใหญ่ขึ้น ไม่หายภายใน 2 สัปดาห์ เริ่มลามภายในปาก และทำให้รับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มไม่ได้
สาเหตุของแผลร้อนใน
ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการอาจเกิดจาก
- การรับประทานอาหารที่มีกรด เช่น มะนาว หรือ ส้ม เป็นต้น
- การใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน เป็นต้น
- การใส่เหล็กจัดฟันหรือใส่ฟันปลอมที่ไม่พอดีช่องปาก ทำให้เกิดการระคายเคืองเยื่อบุในปาก
- ความเครียดและการพักผ่อนไม่เพียงพอ
- การขาดวิตามินบี 12 เหล็ก สังกะสี และกรดโฟลิก
แผลร้อนในแบบซับซ้อนอาจเป็นผลมาจากโรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคเอดส์ โรคเบเซ็ต โรคเซลิแอก โรคโครห์น และโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง
การตรวจวินิจฉัย
แพทย์จะทําการตรวจร่างกาย และอาจให้ตรวจเลือดเพิ่มเติม เพื่อตรวจดูว่ามีภาวะขาดสารอาหาร หรือปัญหาทางด้านสุขภาพอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดแผลร้อนใน
การรักษาแผลร้อนใน
แม้ว่าอาการเจ็บปวดจากแผลร้อนในมักดีขึ้นภายใน 2 - 3 วัน และแผลสามารถหายได้เอง ภายใน 2 สัปดาห์ แม้ว่าจะไม่ได้รับรักษาใด ๆ ผู้ป่วยสามารถใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการได้ เช่น
- ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอก
- ยาชาเฉพาะที่ เช่น Benzocaine ชนิดที่ใช้ภายในปาก
- น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของคลอเฮกซิดีน (chlorhexidine) เดกซาเมทาโซน (dexamethasone) และไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (hydrogen peroxide)
สําหรับแผลในปากที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ แพทย์อาจพิจารณาสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะ เช่น ดอกซีไซคลีน (doxycycline) โดยหากแผลในปากนั้นรุนแรงมากและรักษาด้วยวิธีข้างต้นไม่หาย แพทย์ทำการจี้แผลด้วยไฟฟ้าเพื่อบรรเทาอาการปวดและทำให้แผลหายเร็วขึ้น
การป้องกันไม่ให้เกิดแผลร้อนใน
การป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดแผลในปาก
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร
- ทำความสะอาดปากโดยการแปรงฟัน และใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็ม เผ็ด หรือมีรสเปรี้ยวจัดเกินไป
- จัดการกับความเครียด
บทความโดย
พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด
แพทย์อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
ประวัติแพทย์