ฉีดสีสวนหัวใจ ตรวจหลอดเลือดหัวใจตีบตัน - Coronary Angiogram: Diagnose CAD

ฉีดสีหัวใจ (CAG) ขั้นตอน ข้อดี พักฟื้นกี่วัน

การฉีดสีหัวใจ (Coronary angiogram) คือ การตรวจพิเศษทางรังสีและรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจโดยการใส่สายสวนหัวใจขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 มม. ไปตามแนวหลอดเลือดแดงผ่านทางข้อมือ ข้อพับ หรือขาหนีบ

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


ฉีดสีหัวใจ (Coronary Angiogram: CAG)

การฉีดสีหัวใจ (Coronary angiogram) คือ การตรวจพิเศษทางรังสีและรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจโดยการใส่สายสวนหัวใจขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 มม. ไปตามแนวหลอดเลือดแดงผ่านทางข้อมือ ข้อพับ หรือขาหนีบขึ้นไปถึงหลอดเลือดแดงตรงตำแหน่งขั้วหัวใจ และทำการฉีดสารทึบรังสีเพื่อถ่ายภาพเอกซเรย์ให้เห็นสภาพช่องทางเดินหลอดเลือดหัวใจ เพื่อประเมินโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัว หรือความผิดปกติอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุให้มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก และนำไปสู่การวางแผนการรักษาที่มีประสิทธิภาพและตรงจุด

ทำไมต้องฉีดสีหัวใจ

การฉีดสีหัวใจ หรือการตรวจสวนหัวใจถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่เกิดจากการสะสมของไขมัน หินปูน หรือลิ่มเลือดสะสมตามแนวผนังหลอดเลือดหัวใจที่ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัว หลอดเลือดหัวใจตีบตันจนปิดกั้นไม่ให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ส่งผลให้มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หน้ามืด เหงื่อออกท่วม หายใจหอบถี่ และนำไปสู่การเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดทั้งชนิดเฉียบพลันหรือเรื้อรังที่เป็นอันตราย ส่งผลให้มีอาการหัวใจวายหรือหัวใจตาย ที่น่ากังวลคือ ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ โดยปริมาณไขมันในเส้นเลือดจะค่อย ๆ สะสมทวีคูณมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุ ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตกระทันหัน

Coronary Angiogram (cag) Who

ใครที่ควรฉีดสีหัวใจ

  • ผู้ที่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก จุกแน่นหน้าอก บีบรัดหน้าอก จุกแน่นลิ้นปี่ เหมือนมีของหนักมากดทับ
  • ผู้ที่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกร้าวไปที่หัวไหล่ แขน หลัง คอ หรือกราม
  • ผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอกจนนอนราบไม่ได้ หรือนั่งพักเกินกว่า 30 นาที อาการยังไม่ดีขึ้น
  • ผู้ที่มีอาการหายใจหอบ หายใจสั้น หายใจถี่เร็ว 
  • ผู้ที่มีเหงื่อออกมาก เหงื่อออกท่วมตัว เหงื่อออกมือและเท้า
  • ผู้ที่มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า หน้ามืด คลื่นไส้ ใจสั่น ไม่สบายท้อง
  • ผู้ที่มีเจ็บแน่นหน้าอกจนหมดสติ หัวใจหยุดเต้น หรือวายใจวาย

การฉีดสีหัวใจ ตรวจวินิจฉัยโรคอะไร

การวินิจฉัยก่อนการฉีดสีสวนหัวใจ มีวิธีการอย่างไร?

การวินิจฉัยก่อนการฉีดสีหัวใจ มีวิธีการอย่างไร

แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจวาย หรือความผิดปกติอื่น ๆ ของหัวใจและหลอดเลือดก่อนทำการฉีดสีหัวใจ โดยการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด ดังนี้

การซักประวัติ (Medical history)

  • มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก ใจสั่น เหนื่อยง่าย หายใจหอบถี่ เหงื่อออกท่วม วิงเวียนศีรษะ หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม
  • มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ เช่น ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง
  • มีประวัติบุคคลในครอบครัวเดียวกันเป็นโรคหัวใจตั้งแต่อายุยังน้อย (อายุไม่เกิน 50 ปี) หรือเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 
  • เป็นผู้ที่สูบบุหรี่อย่างหนัก สูบบุหรี่อย่างต่อเนื่อง ชอบทานอาหารไขมันสูง ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ออกกำลังกาย
  • เป็นผู้ที่แพทย์เคยวินิจฉัยพบความผิดปกติต่าง ๆ ของหัวใจจากการตรวจคัดกรองโรคหัวใจ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจร่วมกับการเดินสายพาน การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หลอดเลือดหัวใจ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงหรือตรวจเอคโค่หัวใจ

การตรวจเลือด (Blood Tests)

ตรวจวัดปริมาณเม็ดเลือดทุกชนิดและเกล็ดเลือด ตรวจวัดค่าไตหรือตรวจการทำงานของไต และวัดวัดปริมาณเกลือแร่รวมในร่างกาย รวมถึงตรวจหาโรคหรือความผิดปกติอื่น ๆ

ตรวจประเมินโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Screening for coronary heart diseases)

  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือตรวจเอคโค่หัวใจ (Echocardiogram)
    ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจร่วมกับการเดินสายพาน (Exercise Stress Test: EST)

การฉีดสีสวนหัวใจ รพ.เมดพาร์คมีขั้นตอนอย่างไร?

การฉีดสีหัวใจ รพ.เมดพาร์คมีขั้นตอนอย่างไร

การฉีดสีหัวใจ รพ.เมดพาร์คใช้มาตรฐานสากล (Gold standard) ในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้เข้ารับการตรวจและผลสัมฤทธิ์ในการรักษาเป็นสำคัญ โดยผู้เข้ารับการตรวจจะเข้าพักที่ รพ. 1-2 วัน และสามารถกลับบ้านได้ในวันถัดไปหลังการตรวจเสร็จสิ้น และไม่พบอาการแทรกซ้อน

การเตรียมตัวก่อนการฉีดสีหัวใจ

  • แพทย์ขอให้ผู้เข้ารับการฉีดสีสวนหัวใจงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 4—8 ชั่วโมง ก่อนทำการฉีดสีหัวใจ
  • ผู้ที่มีประวัติแพ้ยา หรือแพ้อาหารทะเล *ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบล่วงหน้า
  • ผู้ที่ทานยาละลายลิ่มเลือด ยารักษาโรคประจำตัว เช่น อินซูลินเพื่อรักษาโรคเบาหวาน *ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบล่วงหน้า

ขั้นตอนการฉีดสีสวนหัวใจ

ขั้นตอนการฉีดสีหัวใจ

  • เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์อธิบายขั้นตอนการฉีดสีหัวใจและรับเอกสารยินยอมเข้ารับการตรวจ
  • พยาบาลทำความสะอาด และทายาฆ่าเชื้อบริเวณที่จะทำการเจาะใส่สายสวนหัวใจ
  • แพทย์ทำการฉีดยาชาเฉพาะที่ก่อนทำการเจาะหลอดเลือดแดงที่บริเวณข้อมือ ข้อพับ หรือขาหนีบ โดยไม่วางยาสลบ
  • แพทย์ใส่ท่อพลาสติกอ่อนชนิดพิเศษขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 มม.ไปตามแนวหลอดเลือดแดงจนถึงขั้วหัวใจ บริเวณรูจุดเริ่มต้นหลอดเลือดหัวใจ (หลอดเลือดแดงโคโรนารี) ด้านซ้ายหรือขวา โดยผู้รับการตรวจจะรู้สึกตัวตลอดเวลา แต่จะไม่รู้สึกเจ็บแต่อย่างใด
  • แพทย์ทำการฉีดสารทึบรังสีซึ่งเป็นสารละลายไอโอดีนผ่านสายสวนขึ้นไปตามหลอดเลือดหัวใจ ตรงตำแหน่งก่อนถึงหัวใจ หรือขั้วหัวใจ
  • แพทย์ทำการถ่ายภาพเอกซเรย์สภาพช่องทางเดินหลอดเลือดหัวใจเป็นชุด ๆ อย่างรวดเร็วในหลาย ๆ มุมเพื่อให้เห็นสภาพภายในหลอดเลือดหัวใจอย่างละเอียดเพื่อตรวจดูตำแหน่งหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน โดยจะใช้เวลาประมาณ 30-60 นาที 
  • ในกรณีที่แพทย์พบหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน แพทย์จะพิจารณาทำการรักษาทันทีด้วยวิธีการขยายหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูนและขดลวดถ่างขยาย (Ballon Angioplasty and Stents) ด้วยเทคนิคการทำให้บอลลูนขยายตัวออก เพื่อดันให้ไขมันหรือหินปูนสะสมแนบชิดติดกับกับผนังหลอดเลือด ช่วยขยายทางเดินหลอดเลือดหัวใจออกให้กว้างขึ้น และช่วยให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ขดลวดถ่างขยายยังช่วยตรึงให้ไขมันหรือหินปูนยึดติดกับผนังหลอดเลือดได้ดียิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา และช่วยลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการรักษาจะใช้เวลาประมาณ 45-60 นาที 
  • เมื่อการรักษาแล้วเสร็จ แพทย์จะค่อย ๆ ดึงสายสวนกลับออกมาออกและกดบริเวณแผลประมาณ 15 นาที เพื่อห้ามเลือดโดยไม่จำเป็นต้องเย็บแผลแต่อย่างใด ทั้งนี้ แพทย์และพยาบาลจะคอยสอบถามอาการและวัดสัญญาณชีพเป็นระยะเพื่อประเมินอาการ
  • สำหรับผู้ที่แพทย์วินิจฉัยว่าไม่สามารถรักษาด้วยวิธีการขยายหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูนได้ แพทย์จะพิจารณาการรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การผ่าตัดบายพาสหัวใจ (Coronary Artery Bypass Grafting: CABG) หรือการให้ยา

Coronary Angiogram (cag)

การปฏิบัติตนหลังการฉีดสีหัวใจ

  • แพทย์จะให้ผู้ที่เจาะสายสวนเข้าทางขาหนีบพักฟื้นที่โรงพยาบาลโดยการนอนท่าราบ งดการนั่ง การเดิน และการงอขาหนีบประมาณ 6-10 ชั่วโมง หากไม่มีอาการผิดปกติ ผู้รับการตรวจสามารถกลับบ้านได้
  • ผู้ที่แพทย์เจาะสายสวนเข้าทางข้อมือ รวมถึงผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดส่วนปลายตีบจะพักฟื้นโดยการนอนท่าราบ งดการนั่ง การเดิน หรือการยืนประมาณ 4-8 ชั่วโมง หากไม่มีอาการผิดปกติสามารถกลับบ้านได้
  • ผู้ที่ทำการรักษาโดยการขยายหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูน ให้พักฟื้นที่โรงพยาบาล 1 คืน และหากไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ สามารถกลับบ้านได้ในวันถัดไป โดยสามารถเปิดแผลและอาบน้ำได้ตามปกติ
  • ผู้เข้ารับการตรวจและรักษาสามารถทานอาหารได้ตามปกติ  โดยควรดื่มน้ำ 1-1.5 ลิตร เพื่อช่วยขับสีออกจากร่างกาย
  • งดการออกกำลังกาย การยกของหนัก การออกแรงแขนหรือขาข้างที่ทำหัตถการประมาณ 1 สัปดาห์ 
  • ทานยาตรงเวลาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์ตามนัดเพื่อประเมินอาการและติดตามผลการรักษา
  • ผู้ที่ทานยารักษาโรคประจำตัว เช่น ยาละลายลิ่มเลือด สามารถทานยาได้ตามปกติในวันถัดไป ยกเว้นยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคเบาหวาน ให้เว้นระยะตามคำแนะนำของแพทย์
  • ผู้ที่มีอาการผิดปกติ เช่น ปวดบวม แน่นหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน มีรอยช้ำ บวมแดง ไม่สามารถนอนท่าราบได้ หรือปวดที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งเป็นอย่างมาก ให้มาพบแพทย์ทันที

ภาวะแทรกซ้อนจากการฉีดสีหัวใจ เป็นอย่างไร?

ภาวะแทรกซ้อนจากการฉีดสีหัวใจ เช่น การแพ้สารทึบรังสีแบบไม่รุนแรง หรือภาวะเลือดออกในจุดเข็มเจาะ เป็นต้น ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากการฉีดสีสวนหัวใจพบได้น้อยมาก คิดเป็นอัตราส่วนต่ำกว่าร้อยละ 1% เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจวาย ไตวาย อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิต

ข้อดีของการฉีดสีหัวใจ คืออะไร?

  • ช่วยให้เห็นบริเวณหลอดเลือดเลือดหัวใจตีบแคบหรืออุดตันได้อย่างชัดเจน รวมถึงสภาพภายในหลอดเลือดหัวใจโดยรวม
  • เป็นทั้งการตรวจวินิจฉัยและรักษาในเวลาเดียวกัน โดยหากตรวจพบภาวะหลอดเลือดเลือดหัวใจตีบ แพทย์สามารถให้การรักษาต่อได้ทันทีด้วยวิธีการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและขดลวดถ่างขยาย
  • ช่วยวัดอัตราการไหลเวียนโลหิตเข้า-ออกหัวใจว่าลดลงเท่าไหร่ และช่วยวัดแรงดันเส้นเลือดเพื่อตรวจการทำงานของลิ้นหัวใจ
  • ช่วยตรวจวัดปริมาณไขมัน คอเลสเตอรอล หรือคราบหินปูนสะสมที่ผนังหลอดเลือดเพื่อประเมินภาวะหลอดเลือดแข็งตัว
  • ช่วยวินิจฉัยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หรือโรคผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วแต่กำเนิด
  • ช่วยตรวจประเมินผลหลังการผ่าตัดหัวใจ
  • เป็นการตรวจที่มีความปลอดภัย มีความเสี่ยงต่ำ มีภาวะแทรกซ้อนต่ำ
  • เป็นการตรวจที่ใช้เวลาไม่นาน ใช้เวลาพักฟื้นสั้น และสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็ว

การฉีดสีสวนหัวใจ รพ.เมดพาร์ค - Coronary Angiogram at MedPark Hospital

การฉีดสีหัวใจ รพ.เมดพาร์ค

ศูนย์หัวใจ รพ.เมดพาร์ค นำโดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคหัวใจและหลอดเลือดที่มีประสบการณ์และความพร้อมในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่มีความยากและซับซ้อน ด้วยวิธีการฉีดสีหัวใจและขยายหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยการทำบอลลูนและขดลวดถ่างขยาย โดยการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์และอุปกรณ์ที่ทันสมัย เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และแม่นยำ พร้อมทั้งให้การติดตามประเมินผลการรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยลดภาวะแทรกซ้อน ช่วยให้ฟื้นตัวได้เร็ว และช่วยให้ผู้รับการรักษามีสุขภาพร่างกายและหัวใจที่แข็งแรงตราบนานเท่านาน

Cath Lab Med Park

ห้องปฏิบัติการสวนหลอดเลือดหัวใจ (Cath Lab) รพ.เมดพาร์ค

ห้องปฏิบัติการสวนหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ (Cardiac Catheterization Lab) หรือ Cath Lab รพ.เมดพาร์ค เป็นห้องปฏิบัติสวนหัวใจปลอดเชื้อที่ติดตั้งกล้องเอกซเรย์ประสิทธิภาพสูงที่สามารถปรับหมุนแกนได้หลากหลายระนาบและองศาตามความต้องการของแพทย์ เพื่อช่วยให้สามารถถ่ายภาพและประมวลผลภาพหลอดเลือดหัวใจ หรือหลอดเลือดบริเวณส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ในหลาย ๆ มุม โดยเมื่อทำการเอกซเรย์ ภาพจะฉายปรากฏขึ้นบนจอและถูกบันทึกด้วยระบบดิจิตอล ช่วยให้แพทย์สามารถมองเห็นบริเวณหลอดเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดหัวใจอุดตัน หรือความผิดปกติอื่น ๆ ของหลอดเลือดหัวใจได้อย่างชัดเจน และนำไปสู่การรักษาที่มีประสิทธิภาพและตรงจุด ช่วยรักษาอาการหัวใจวาย หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันไว้ได้อย่างทันท่วงที

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการฉีดสีหัวใจ

  • ฉีดสีหัวใจ อันตรายไหม?
    การฉีดสีหัวใจเป็นการตรวจที่มีความปลอดภัย โดยอาจมีอาการข้างเคียงเล็กน้อย เช่น อาการปวดบวม เลือดออก หรืออาการคันจากการแพ้สารทึบรังสี ผู้ที่มีโรคประประจำตัวทุกชนิดควรแจ้งให้แพทย์ทราบล่วงหน้าก่อนทำการตรวจ
  • ฉีดสีหัวใจ พักฟื้นกี่วัน?
    ผู้ที่เจาะสายสวนเข้าทางขาหนีบจะใช้เวลาพักฟื้นที่โรงพยาบาล 6-10 ชั่วโมง และผู้ที่เจาะสายสวนเข้าทางข้อมือจะใช้เวลาโรงพยาบาล 4-8 ชั่วโมง ผู้ที่แพทย์รักษาต่อด้วยวิธีการขยายหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูนจะพักฟื้นที่โรงพยาบาล 1 คืน
  • ฉีดสีหัวใจ ต้องงดอาหารไหม?
    ผู้ที่เข้ารับการฉีดสีหัวใจเพื่อตรวจหลอดเลือดหัวใจตีบให้งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 4—8 ชั่วโมง ก่อนทำการฉีดสีหัวใจ
  • ฉีดสีหัวใจ ต้องนอนโรงพยาบาลไหม?
    การฉีดสีหัวใจ เป็นการตรวจหลอดเลือดหัวใจตีบที่เสร็จสิ้นได้ภายใน 1 วัน โดยไม่ต้องนอนที่โรงพยาบาล ยกเว้นในกรณีที่แพทย์รักษาต่อด้วยวิธีการขยายหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูน แพทย์จะให้จะพักฟื้นที่โรงพยาบาล 1 คืน
  • ฉีดสีหัวใจ ใช้เวลาเท่าไหร่?
    การฉีดสีหัวใจ ใช้เวลาประมาณ 30-60 นาที ผู้ที่แพทย์รักษาต่อโดยการขยายหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูนและขดลวดถ่างขยาย จะใช้เวลาในการรักษาต่อประมาณ 45-60 นาที
  • ฉีดสีหัวใจ มีอัตราการประสบความสำเร็จแค่ไหน?
    การฉีดสีหัวใจ เป็นหัตถการที่มีอัตราการประสบความสำเร็จในวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดสูงถึงร้อยละ 97.6% และนำไปสู่การรักษาด้วยวิธีขยายหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูนและขดลวดถ่างขยายที่สามารถรักษาชีวิตของผู้เข้ารับการรักษาไว้ได้ในที่สุด

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 26 ม.ค. 2024

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    ศาสตราธิคุณ นพ. วสันต์ อุทัยเฉลิม

    ศาสตราธิคุณ นพ. วสันต์ อุทัยเฉลิม

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การสวนหัวใจและหลอดเลือด
    การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและใส่ขดลวด
  • Link to doctor
    พญ. ปิยนาฏ ปรียานนท์

    พญ. ปิยนาฏ ปรียานนท์

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การสวนหัวใจและหลอดเลือด
    โรคความดันโลหิตสูง, โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบรุนแรง , การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกผ่านสายสวน, โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ, โรคหลอดเลือดส่วนปลายบริเวณแขนขาตีบ, อายุรศาสตร์โรคหัวใจ, การทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ
  • Link to doctor
    นพ. ชัยศิริ วรรณลภากร

    นพ. ชัยศิริ วรรณลภากร

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การสวนหัวใจและหลอดเลือด
    หัตถการปฏิบัติรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • Link to doctor
    นพ. อนุรักษ์ เจียมอนุกูลกิจ

    นพ. อนุรักษ์ เจียมอนุกูลกิจ

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การสวนหัวใจและหลอดเลือด
    อายุรศาสตร์โรคหัวใจ, หัตถการปฏิบัติรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • Link to doctor
    นพ. ชาติ วานิชสวัสดิ์

    นพ. ชาติ วานิชสวัสดิ์

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การสวนหัวใจและหลอดเลือด
    • เวชศาสตร์นิวเคลียร์หัวใจ
    หัวใจเต้นผิดจังหวะ, โรคหัวใจและหลอดเลือด, การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและใส่ขดลวด
  • Link to doctor
    นพ. จักรพันธ์ ชัยพรหมประสิทธิ์

    นพ. จักรพันธ์ ชัยพรหมประสิทธิ์

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การสวนหัวใจและหลอดเลือด
    โรคหัวใจและหลอดเลือด, หัตถการปฏิบัติรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • Link to doctor
    รศ.นพ. สุวัจชัย พรรัตนรังสี

    รศ.นพ. สุวัจชัย พรรัตนรังสี

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การสวนหัวใจและหลอดเลือด
    การรักษาเส้นเลือดหัวใจตีบผ่านสายสวน, การรักษาโรคหลอดเลือดส่วนปลายอุดตันโดยการใส่สายสวน, การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกผ่านสายสวน
  • Link to doctor
    พญ. สุรีย์รัตน์ ปันยารชุน

    พญ. สุรีย์รัตน์ ปันยารชุน

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การสวนหัวใจและหลอดเลือด
    อายุรศาสตร์โรคหัวใจ, โรคความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจล้มเหลว การวินิจฉัย การรักษาและการป้องกัน, การขยายหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูนและการดามขดลวด, โรคหัวใจแต่กำเนิด, การใช้อัลตราซาวน์ในเส้นเลือดหัวใจเพื่อช่วยการวินิจฉัยและรักษา, การใช้หุ่นยนต์ช่วยในการสวนหัวใจ ขยายหลอดเลือด และใส่ขดลวด, การลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยอากาศยาน
  • Link to doctor
    พญ. ศิริพร อธิสกุล

    พญ. ศิริพร อธิสกุล

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การสวนหัวใจและหลอดเลือด
    อายุรศาสตร์โรคหัวใจ, หัตถการปฏิบัติรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด