ลูกน้อยห่างไกลโรคแพ้นมวัว
โรคแพ้นมวัว คือ โรคที่ร่างกายเกิดปฏิกิริยาที่ผิดปกติต่อโปรตีนในนมวัว ซึ่งปฏิกิริยาดังกล่าวสามารถทำให้เกิดความผิดปกติได้ในหลาย ๆ อวัยวะของร่างกาย เช่น ผิวหนัง ระบบทางเดินอาหาร หรือระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น
เด็กแพ้นมวัวจะมีอาการตามอวัยวะที่เกิดความผิดปกติ เช่น
- ผิวหนัง ได้แก่ ผื่นลมพิษ ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง หรือผื่นแพ้สัมผัส เป็นต้น
- ระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ อาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง หรืออุจจาระปนเลือด เป็นต้น
- ระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ อาการน้ำมูกเรื้อรัง อาการ เสมหะเรื้อรัง หรืออาการหอบ เป็นต้น
- อาการอื่น ๆ เช่น น้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ หรืออาการซีด เป็นต้น
พบการแพ้นมวัวอย่างรุนแรงได้ประมาณร้อยละ 0.6 และ มีอันตรายถึงแก่ชีวิต ทางการแพทย์เรียกว่า ภาวะอนาฟัยแลกซิส (anaphylaxis) เด็กจะมีผื่นลมพิษ หน้าบวม ปากบวม ลิ้นบวมจุกปาก อาเจียน ท้องร่วง หอบ ช็อก และชัก อาการดังกล่าวมักเกิดขึ้นอย่าง รวดเร็วภายหลังการดื่มนมวัว
โรคแพ้นมวัวเป็นโรคแพ้อาหารในเด็กที่พบได้บ่อยที่สุด
ไม่พบอุบัติการณ์ที่แท้จริงของโรคแพ้นมวัว เนื่องจากเกณฑ์ในการวินิจฉัยโรคแตกต่างกันอุบัติการณ์ของโรคแพ้นมวัวในต่างประเทศ พบอยู่ระหว่างร้อยละ 1.8-7.5 อย่างไรก็ตามร้อยละ 0.5 ของเด็กที่ดื่มแต่นมแม่สามารถเป็นโรคนี้ได้ เด็กที่ดื่มแต่นมแม่สามารถแพ้นมวัวได้ จากการที่คุณแม่ดื่มนมวัว หรือรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัว จึงทำให้มีโปรตีนในนมวัว ผสมออกมาในนมแม่ไปกระตุ้นให้เด็กแพ้นมวัวได้
เราจะทราบได้อย่างไรว่าเด็กแพ้นมวัว
นอกจากอาศัยข้อมูลจากประวัติและการตรวจร่างกายเด็กอย่างละเอียดแล้ว แพทย์อาจใช้วิธีการตรวจเลือด หรือการทดสอบผิวหนัง เพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรค การทดสอบผิวหนังจะให้ผลการตรวจที่แม่นยำกว่าการตรวจเลือด แต่เด็กมักไม่ให้ความร่วมมือในการทดสอบ การตรวจเลือดจะมีประโยชน์ในเด็กที่มีอาการผื่นแพ้นมวัวอย่างรุนแรงจนไม่สามารถหยุดรับประทานยาแก้แพ้หรือไม่มีผิวหนังที่ปกติมากพอที่จะทำการทดสอบ
วิธีการรักษาโรคแพ้นมวัว
การรักษาที่ถูกต้องและดีที่สุดคือ การงดดื่มนมวัวและงดรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัว ในกรณีที่เด็กดื่มนมแม่ก็สามารถให้ดื่มนมแม่ต่อไปได้ โดยที่แม่ต้องงดดื่มนมวัวและงดรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัวในระหว่างที่ให้นมเด็ก กรณีที่แม่ไม่สามารถให้นมเด็กได้ ควรใช้นมสูตรสำหรับเด็กแพ้นมวัวแต่นมสูตรดังกล่าว มีปัญหาในเรื่องรสชาติและราคา ทำให้ขาดความร่วมมือในการใช้นมสูตรนี้ ไม่ควรใช้นมถั่วเหลืองหรือนมแพะในการรักษาเด็กแพ้นมวัว เนื่องจากร้อยละ 15-45 ของเด็กที่แพ้นมวัวจะแพ้นมถั่วเหลืองร่วมด้วย รวมถึงยังมีความเสี่ยงสูงที่จะแพ้นมแพะ เนื่องจากโปรตีนในนมแพะมีลักษณะใกล้เคียงกับโปรตีนในนมวัว
โรคแพ้นมวัวหายได้หรือไม่
หากเด็กสามารถงดดื่มนมวัว หรืองดรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัวได้ดี เด็กจะมีอาการดีขึ้นได้ เมื่ออายุมากขึ้น
- ร้อยละ 45-56 อาการจะหายไปเมื่ออายุ 1 ปี
- ร้อยละ 60-77 อาการจะหายไปเมื่ออายุ 2 ปี
- ร้อยละ 84-87 อาการจะหายไปเมื่ออายุ 3 ปี
- ร้อยละ 90-95 อาการจะหายไปเมื่ออายุ 5-10 ปี
การป้องกันโรคแพ้นมวัว
ในกรณีเด็กกลุ่มเสี่ยงที่มีคุณพ่อหรือคุณแม่ หรือทั้งคุณพ่อและคุณแม่เป็นโรคภูมิแพ้ ควรปฏิบัติดังนี้
- ดื่มนมแม่อย่างเดียว ในช่วง 6 เดือนแรก โดยแม่ไม่จำเป็นต้องงดดื่มนมวัวหรืองดรับประทาน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัว
- หลีกเลี่ยงอาหารเสริมใด ๆ ในช่วง 6 เดือนแรก ควรเริ่มให้อาหารเสริมแก่เด็กครั้งละ 1 ชนิด และค่อย ๆ เพิ่มชนิดของอาหารเสริมทุก ๆ 3-5 วัน หากไม่มีอาการแพ้ โดยอาจเริ่มอาหารเสริมที่มีความเสี่ยงที่จะแพ้น้อยเป็นลำดับแรก เช่น อาจให้เริ่มรับประทานไข่แดงก่อนไข่ขาว หรือเริ่มรับประทานเนื้อหมู เนื้อไก่ ก่อนอาหารทะเล เป็นต้น ปัจจุบันยังไม่มีคำแนะนำให้เด็กหลีกเลี่ยงการรับประทานที่มีความเสี่ยงที่จะแพ้ ยกเว้นกรณีที่เด็กมีคุณพ่อคุณแม่หรือพี่น้อง มีประวัติการแพ้ถั่วลิสงซึ่งอาจต้องประเมินการแพ้ก่อนเริ่มการรับประทานถั่วลิสง
- ไม่แนะนำให้คุณแม่งดรับประทานอาหารชนิดใด ๆ ในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์หรือช่วงให้นมเด็ก ยกเว้นกรณีที่คุณแม่หรือเด็กมีประวัติการแพ้อาหารชนิดนั้น ๆ มาก่อนหน้านี้แล้ว
- คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการดื่มนมวัวมากเกินกว่าปกติ ในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์หรือช่วงให้นมเด็ก
ปริมาณนมที่เหมาะสมในการดื่มแต่ละวันสำหรับคุณแม่คือเท่าไร
ปริมาณนมที่เหมาะสมในการดื่มแต่ละวันสำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ โดยคำนวณจากปริมาณธาตุแคลเซียมในนมวัวที่จำเป็นสำหรับคุณแม่คือ
- 2 แก้วในไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์
- 3 แก้วในไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์
โดยที่ในไตรมาสที่ 1 ของการตั้งครรภ์คุณแม่อาจมีอาการแพ้ท้องมาก ทำให้ดื่มนมวัวได้น้อย รวมถึงเด็กในครรภ์มีความต้องการสารอาหารจากคุณแม่ในปริมาณไม่มาก แต่คุณแม่ควรรับประทานอาหาร ให้ครบทั้ง 5 หมู่
บทความโดย
นพ.ปรีดา สง่าเจริญกิจ
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านกุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน
ประวัติแพทย์ คลิก