อาการ สาเหตุ การรักษา และเยียวยา โรคซึมเศร้า (Depression)

โรคซึมเศร้า (Depression)

ภาวะซึมเศร้าไม่ใช่ความรู้สึกไม่สบายกายหรือไม่สบายใจที่สามารถสลัดออกไปได้ง่าย ๆ ผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าควรได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง

แชร์

โรคซึมเศร้า คืออะไร?

โรคซึมเศร้า เป็นอาการผิดปกติของอารมณ์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยทั้งด้านความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรม โรคซึมเศร้าเป็นภาวะอารมณ์เศร้าหมองที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความรู้สึกเฉยชา ไม่สนใจสิ่งต่าง ๆ ส่งผลต่อความสามารถในการทำงานในแต่ละวัน ซึ่งก่อให้เกิดอาการทางจิตได้มากมาย การดำเนินชีวิตตามปกติอาจทำได้อย่างยากลำบากหรือรู้สึกว่าชีวิตไม่มีค่า

ภาวะซึมเศร้าไม่ใช่ความรู้สึกไม่สบายกายหรือไม่สบายใจที่สามารถสลัดออกไปได้ง่าย ๆ ผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าควรได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและยาวนานซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยถอดใจ การรักษา เช่น การทานยาหรือจิตบำบัด หรือทั้งสองอย่าง สามารถช่วยผู้ป่วยส่วนใหญ่ให้กลับมามีอาการที่ดีขึ้น

โรคซึมเศร้า มีอาการอย่างไร?

เมื่อมีอาการซึมเศร้าครั้งหนึ่งแล้ว อาการอาจกำเริบขึ้นได้อีก ภาวะโรคซึมเศร้ามักจะเกิดขึ้นเป็นระลอก อาการที่อาจพบได้เสมอๆ ได้แก่

  • รู้สึกเศร้า ว่างเปล่า อยากร้องไห้ สิ้นหวัง
  • รู้สึกโกรธ หงุดหงิด รำคาญเรื่องเล็กน้อย
  • หมดความสนใจ หรือรู้สึกไม่สนุกกับกิจกรรมส่วนใหญ่หรือกิจกรรมทั้งหมดในชีวิตประจำวัน เช่น เพศสัมพันธ์ กีฬา หรืองานอดิเรก
  • ปัญหาด้านการนอนหลับ เช่น นอนมากเกินไป หรือ นอนไม่หลับ
  • เหนื่อยล้า ไม่มีความกระตือรือร้นที่จะทำเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ
  • ความอยากอาหารลดลง น้ำหนักลด หรือ ความอยากอาหารเพิ่มขึ้น น้ำหนักขึ้น
  • รู้สึกวิตกกังวล กระสับกระส่าย ประหม่า
  • คิดช้าลง พูดหรือขยับร่างกายช้าลง
  • รู้สึกไร้ค่า รู้สึกผิด หมกหมุ่นเรื่องความล้มเหลวที่ผ่านมาแล้วหรือโทษตัวเอง
  • ขาดสมาธิ มีปัญหาเรื่องความจำ หรือไม่สามารถคิดหรือตัดสินใจเองได้
  • คิดถึงเรื่องความตาย การพยายามฆ่าตัวตายบ่อย ๆ
  • มีอาการป่วยทางกายที่ไม่พบสาเหตุ เช่น ปวดหัว ปวดหลัง

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักมีอาการมากจนกระทบชีวิตประจำวัน เช่น การไปโรงเรียน การทำงาน หรือการพบปะสังสรรค์ บางรายอาจรู้สึกเศร้าหมอง ไม่มีความสุขโดยไม่ทราบสาเหตุ

ภาวะซึมเศร้าในเด็กและวัยรุ่น

อาการของโรคซึมเศร้าในทุกวัยมักมีอาการคล้าย ๆ กัน แต่อาจมีบางอาการที่ต่างกันไปตามวัย

  • ในวัยเด็ก อาจมีอาการเศร้า รำคาญ เกาะติดพ่อหรือแม่ กังวล น้ำหนักลด ไม่อยากไปโรงเรียน หรือมีอาการเจ็บปวดตามร่างกาย
  • ในวัยรุ่น อาจมีอาการเศร้า รำคาญ หงุดหงิด มองโลกในแง่ร้าย รู้สึกไร้ค่า มักรู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจ ขี้ใจน้อย  หมดความสนใจในเรื่องต่าง ๆ ไม่เข้าสังคม ใช้สารเสพติดหรือดื่มแอลกอฮอล์ นอนหรือทานอาหารมากเกินไป ทำร้ายตัวเอง โดดเรียน หรือการเรียนแย่ลง

ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงวัย

ภาวะซึมเศร้าพบได้บ่อยในผู้สูงวัย แต่ไม่ถือเป็นภาวะปกติของคนสูงวัย ภาวะดังกล่าวเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงและควรได้รับการรักษาทันท่วงที แต่โดยมากผู้ป่วยมักไม่ยอมเข้ารับการรักษาและวินิจฉัยโรค ในผู้สูงวัยมักมีอาการต่างออกไปหรือไม่ชัดเจน ได้แก่

  • พฤติกรรมเปลี่ยน ความจำถดถอย
  • อาการเจ็บปวดตามร่างกาย
  • เหนื่อยล้า เบื่ออาหาร มีปัญหาด้านการนอน หมดความสนใจเรื่องเพศสัมพันธ์ซึ่งไม่สัมพันธ์กับยาหรืออาการอื่น ๆ
  • มีความคิดหรือความรู้สึกอยากฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะในเพศชายสูงอายุ

อาการของโรคซึมเศร้า รู้สึกเศร้า ว่างเปล่า อยากร้องไห้ สิ้นหวัง

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อรู้สึกว่ามีภาวะซึมเศร้าควรรีบพบแพทย์โดยทันที หรือคุยกับครอบครัว เพื่อน หรือคนใกล้ชิดที่ไว้วางใจ

โรคซึมเศร้า เกิดจากสาเหตุอะไร?

สาเหตุที่แท้จริงของโรคซึมเศร้านั้นยังไม่ทราบแน่ชัด เพราะอาการนั้นสัมพันธ์กับความผิดปกติทางจิต ปัจจัยหลาย ๆ ด้านจึงอาจส่งผลกระทบได้

  • ความแตกต่างทางด้านชีวภาพ: ได้พบความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของสมองในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต่อโรคซึมเศร้ายังไม่เป็นที่ประจักษ์ชัด แต่อาจจะช่วยชี้นำไปสู่สาเหตุของโรคได้
  • สารเคมีในสมอง: สารสื่อประสาทในสมองส่งผลต่อความรู้สึก จากงานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมองและปฏิสัมพันธ์ของสารดังกล่าวกับวงจรระบบประสาท อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะซึมเศร้า ซึ่งสำคัญต่อการรักษา
  • การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน: ระดับฮอร์โมนที่ไม่สมดุลอาจจะเป็นตัวกระตุ้นภาวะซึมเศร้า โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ หลังคลอดบุตร หรือหลังหมดประจำเดือน ผู้ป่วยอาจมีอารมณ์แปรปรวนหากมีภาวะโรคไทรอยด์หรือโรคอื่น ๆ
  • พันธุกรรม: ความเสี่ยงของการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าสูงขึ้นหากสมาชิกในครอบครัวเคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน

อะไรคือปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคซึมเศร้า?

ภาวะซึมเศร้าเกิดขึ้นได้ในทุกวัย แต่อาการมักเริ่มตั้งแต่ในวัยรุ่น  และมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย แต่อาจเป็นเพราะเพศหญิงมักเข้ารับการรักษามากกว่า ปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้า มีดังนี้

  • ลักษณะนิสัยบางประการ เช่น การมองโลกในแง่ร้าย การตำหนิติเตียนตนเอง การพึ่งพาคนอื่นมากเกินไป การไม่นับถือตนเอง
  • ผ่านเหตุการณ์ที่สร้างความบอบช้ำทางจิตใจ เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกทารุณกรรมทางเพศ สูญเสียคนในครอบครัวหรือบุคคลอันเป็นที่รัก มีปัญหาด้านความสัมพันธ์ หรือปัญหาด้านการเงิน
  • คนในครอบครัวมีประวัติติดสุราเรื้อรัง ฆ่าตัวตาย เป็นโรคซึมเศร้า และไบโพลาร์
  • ภาวะเบี่ยงเบนทางเพศสภาพ ซึ่งไม่ได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง
  • มีประวัติความเจ็บป่วยทางจิตเวช เช่น พฤติกรรมการกินอาหารที่ผิดปกติ โรควิตกกังวล หรือสภาวะป่วยทางจิตใจหลังจากต้องเผชิญกับเหตุการณ์กระทบกระเทือนใจอย่างรุนแรง
  • ภาวะติดสุราหรือสารเสพติด
  • โรคเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคหัวใจ
  • การใช้ยา เช่น ยานอนหลับ หรือยาลดความดันโลหิต ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเปลี่ยนหรือหยุดยาทุกครั้ง

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคซึมเศร้า มีอะไรบ้าง?

โรคซึมเศร้าเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อผู้ป่วยและผู้คนรอบข้าง อาการมักแย่ลงหากไม่ได้รับการรักษา ซึ่งอาจส่งผลต่อปัญหาด้านอารมณ์ พฤติกรรม รวมถึงสุขภาพและการใช้ชีวิต ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ ดังนี้

  • ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน ซึ่งอาจนำไปสู่โรคหัวใจและโรคเบาหวาน
  • ความเจ็บปวดและเจ็บป่วยทางร่างกาย
  • การติดสุราและสารเสพติด
  • โรควิตกกังวล โรคแพนิค หรือโรคกลัวสังคม
  • ปัญหาด้านความสัมพันธ์ เช่น ครอบครัว ที่ทำงาน และโรงเรียน
  • แยกตัวออกจากสังคม
  • คิดหรือพยายามฆ่าตัวตาย
  • ทำร้ายตัวเอง
  • การตายก่อนวัยอันควร

ป้องกันโรคซึมเศร้าอย่างไร?

ยังไม่มีวิธีป้องกันภาวะซึมเศร้า แต่หากเริ่มมีอาการผู้ป่วยควรจะ

  • ควบคุมอารมณ์ความเครียด ยืดหยุ่น รักและนับถือตนเอง
  • พูดคุยกับครอบครัวหรือเพื่อน โดยเฉพาะในช่วงเวลายากลำบาก เพื่อระบายความรู้สึก
  • เมื่อเริ่มรู้สึกซึมเศร้า ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพื่อป้องกันไม่ให้อาการแย่ลง
  • ควรเข้ารับการรักษาอย่างสม่ำเสมอระยะยาว เพื่อป้องกันไม่ให้ภาวะซึมเศร้าเกิดซ้ำ

คุณกำลังมีภาวะซึมเศร้าอยู่หรือเปล่า?
ลองทำแบบประเมินระดับภาวะซึมเศร้าเบี้
องต้นกันเลย

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 05 เม.ย. 2022

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    พญ. ฐิติพร ศุภสิทธิ์ธำรง

    พญ. ฐิติพร ศุภสิทธิ์ธำรง

    • จิตเวชศาสตร์
    • จิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
    จิตเวชศาสตร์, จิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
  • Link to doctor
    รศ.พญ. สุดสบาย จุลกทัพพะ

    รศ.พญ. สุดสบาย จุลกทัพพะ

    • จิตเวชศาสตร์
    • จิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
    จิตเวชศาสตร์, จิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ