โรคผื่นผิวหนังอักเสบ
คือภาวะที่มีการอักเสบของผิวหนัง มักจะมีผื่นแดง ผิวหนังแห้ง ร่วมกับอาการคัน สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่บนร่างกาย รวมทั้งหนังศีรษะ ภาวะนี้ไม่ใช่โรคติดต่อและสามารถรักษาได้ด้วยการทาครีม ขี้ผึ้ง หรือใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของยา
ประเภทของโรคผื่นผิวหนังอักเสบ
- โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis or eczema)
- โรคผื่นต่อมไขมันอักเสบ (Seborrheic dermatitis)
- โรคผื่นแพ้สัมผัส (Contact dermatitis)
อาการและลักษณะของโรคผื่นผิวหนังอักเสบ
- ผิวแห้ง
- มีผื่นขึ้นหรือบวมแดง
- มีอาการคัน
- ผิวหนาและแข็งขึ้น
- แผลพุพอง ตุ่มน้ำขึ้นบริเวณผิว
- รังแคและตุ่มคล้ายสิวขึ้นที่รากผม
ควรไปพบแพทย์เมื่อไร
ควรไปพบแพทย์หากมีผื่นเป็นบริเวณกว้าง มีการติดเชื้อร่วมด้วย มีอาการคันหรือเจ็บจนรบกวนการทำกิจวัตรประจำวัน
สาเหตุของโรคผื่นผิวหนังอักเสบ
- สัมผัสกับสารก่อการระคายเคือง เช่น น้ำหอมหรือโลชั่น
- ผิวแห้ง
- การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย
- ความเครียด
- พันธุกรรม
- ปัญหาของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
ปัจจัยเสี่ยง
- อายุ
สามารถพบได้ทุกกลุ่มอายุ โดยในกลุ่มเด็กมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมากกว่าผู้ใหญ่ - สุขภาพ
ผู้ที่มีอาการภูมิแพ้หรือเป็นโรคหอบหืดมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมากขึ้น ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคเอดส์ มีภาวะหัวใจล้มเหลว และโรคพาร์กินสันมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคผื่นต่อมไขมันอักเสบ - สภาพแวดล้อมที่ทํางาน
หากงานที่ทำต้องสัมผัสกับสารทําความสะอาด โลหะ หรือตัวทําละลายอยู่บ่อย ๆ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสบริเวณมือได้สูงขึ้น
ภาวะแทรกซ้อน
- เกิดแผลจากการเกาผิวหนัง
- มีการติดเชื้อแทรกซ้อนบริเวณผิวหนัง
- มีรอยคล้ำดำตามมาบริเวณที่เคยมีผื่น
การป้องกัน
- สวมอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลหรือชุดป้องกันหากต้องทํางานกับสารเคมีหรือสารก่อการระคายเคืองทุกวัน
- หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อนหรือใช้สบู่ที่ทําให้ผิวแห้ง อาบน้ำอุณหภูมิห้องไม่เกิน 5-10 นาที โดยใช้สบู่ที่อ่อนโยนและมีโอกาสทำให้แพ้น้อย
- ทําให้ผิวชุ่มชื้นอยู่เสมอโดยการทาครีมหรือโลชั่น จากการศึกษาพบว่าการทาครีมหรือโลชั่นให้กับทารกที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนังสูง ช่วยลดอุบัติการณ์โรคภูมิแพ้ผิวหนังลงถึง 50%
การตรวจวินิจฉัย
- การซักประวัติและการตรวจร่างกาย
แพทย์จะตรวจวินิจฉัยสภาพผิวและอาจสั่งตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อไปตรวจ ถ้าจำเป็น - การตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ที่ผิวหนังด้วย Patch Test
เพื่อตรวจสอบว่ามีอาการแพ้ต่อสารที่เลือกมาทดสอบหรือไม่
การรักษา
- ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น เจล ครีม ขี้ผึ้ง โลชั่น
- ยาทากลุ่ม calcineurin inhibitor
- การฉายแสงแดดเทียม
- การประคบด้วยน้ำเกลือสําหรับโรคภูมิแพ้ผิวหนังรุนแรง
- การรับประทานยาคอร์ติโคสเตียรอยด์หรือยาฉีด dupilumab ในรายที่เป็นรุนแรง
การเตรียมตัวก่อนพบแพทย์
ก่อนพบแพทย์ ผู้ป่วยอาจจดคําถามที่ต้องการถามแพทย์ไว้ เช่น
- อะไรคือสาเหตุของอาการ
- เป็นอาการชั่วคราวใช่หรือไม่
- ควรต้องใช้ยาอะไรบ้าง
และเตรียมคําตอบสําหรับคําถามที่แพทย์อาจถาม เช่น
- คุณอาบน้ำบ่อยแค่ไหน
- ใช้ผลิตภัณฑ์ผิวหนังอะไรบ้าง
- สัมผัสกับสารเคมีหรือสารระคายเคืองที่บ้านหรือที่ทํางานบ้างหรือไม่
- ช่วงนี้รู้สึกเครียดหรือไม่
- นอนหลับสนิทหรือไม่
- มีคนในครอบครัวเป็นโรคหอบหืดหรือโรคภูมิแพ้หรือไม่
- อะไรทําให้อาการดีขึ้นหรือแย่ลง