เลือกหัวข้อที่อ่าน
- ทำไมต้องผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DMEK
- DMEK รักษาโรคอะไร
- ผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DMEK มีขั้นตอนอย่างไร
- DMEK และ DSAEK ต่างกันอย่างไร
- ข้อดีของการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DMEK
- ผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DMEK โรงพยาบาลเมดพาร์ค
ผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DMEK
การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DMEK (Descemet membrane endothelial keratoplasty) คือ การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาเฉพาะส่วนหลังที่มีรอยโรคหรือเสื่อมสภาพออก และปลูกถ่ายกระจกตาดีที่ได้รับจากผู้บริจาคเข้าไปแทนที่โดยไม่ต้องเปลี่ยนกระจกตาออกทั้งชั้น การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DMEK เหมาะสำหรับผู้ที่มีความผิดปกติเฉพาะกระจกตาส่วนหลัง (ชั้นที่ 4-5) แต่มีกระจกตาส่วนหน้าเป็นปกติ (ชั้นที่ 1-3) กระจกตาบริจาคจะถูกปลูกถ่ายผ่านแผลขนาดเล็ก กระจกตาส่วนหน้าและหลังจะยึดติด แนบสนิท เรียงชั้นกัน ด้วยแรงดันฟองอากาศ กระจกตาใหม่จะค่อย ๆ ดูดน้ำออกจากกระจกตาบวมน้ำ ช่วยให้กระจกตาขุ่นมัวกลับมาใส และช่วยให้การมองเห็นกลับมาชัดอีกครั้ง DMEK เป็นการผ่าตัดแบบไม่เปิดฝากระจกตา ไม่ต้องเย็บแผลผ่าตัด ลดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ และช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็ว
ทำไมต้องผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DMEK
ในอดีต แพทย์จะรักษาโรคกระจกตาเสื่อมก่อนวัย กระจกตาเสื่อมจากตุ่มน้ำใส กระจกตาขุ่นจากอาการบวมน้ำ หรือความผิดปกติของกระจกตาชั้นเซลล์ผิวด้านใน (ชั้นที่ 5) โดยการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาทั้งชั้นความหนา (Penetrating keratoplasty: PKP) ส่งผลต่อความแข็งแรงและความโค้งของกระจกตา ร่างกายเกิดการต่อต้านกระจกตาใหม่ ค่าสายตาสั้น ยาว เอียง ที่เปลี่ยนไป ร่างกายฟื้นตัวช้า และมีอัตราการติดเชื้อจากแผลผ่าตัดสูง
DMEK เป็นความก้าวหน้าในการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา โดยเปลี่ยนเฉพาะกระจกตาส่วนหลังออกและปลูกถ่ายกระจกตาใหม่แทน ที่มีความบางเพียง 10 ไมครอน หรือบางกว่ากระดาษถึง 4 เท่า ช่วยรักษากระจกตาส่วนหน้าสภาพดีเอาไว้ มีขนาดแผลผ่าตัดเล็กมากเพียง 2-3 มม. แผลเดียว และไม่ต้องเย็บแผลผ่าตัด ช่วยคงความแข็งแรงและความโค้งของกระจกตา ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวเร็ว และช่วยแก้ไขค่าสายตาเทียบเท่ากับค่าสายตาปกติ
DMEK รักษาโรคอะไร
การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DMEK รักษาโรค หรือความผิดปกติของกระจกตาที่เกิดจากกระจกตาชั้นเยื่อรองรับเซลล์ด้านใน (Descemet’s membrane) และชั้นเซลล์ผิวด้านใน (Endothelial cell) เสื่อมสภาพ หรือมีรอยโรคดังนี้
- โรคกระจกตาเสื่อมก่อนวัย
- เยื่อบุเซลล์กระจกตาชั้นในเสื่อมสภาพ
- กระจกตาเสื่อมจากตุ่มน้ำใส
- กระจกตาขุ่นจากโรคกระจกตาบวมน้ำ
- กระจกตาผิดปกติจากพันธุกรรม
- กระจกตาปลูกถ่ายล้มเหลวจากการผ่าตัดก่อนหน้า
กระจกตาชั้นในเสื่อม มีอาการอย่างไร
- ตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด
- ไม่สบายตา เจ็บตา
- ภาวะตาแพ้แสง
- เห็นขนาดวัตถุผิดเพี้ยน
- เคืองตา เหมือนมีอะไรติดอยู่ในตา
- เห็นแสงแตกกระจาย มีปัญหาในการขับรถตอนกลางคืน
- มองเห็นไม่ชัดบางเวลา โดยมักมีอาการในตอนเช้าและดีขึ้นในตอนเย็น
การวินิจฉัยก่อนการทำ DMEK มีวิธีการอย่างไร
จักษุแพทย์จะตรวจวินิจฉัยโรคของดวงตาโดยการการซักประวัติทางการแพทย์ ทำการตรวจดวงตาอย่างละเอียดด้วยกล้องจุลทรรศน์ ทั้งการตรวจสุขภาพกระจกตา วัดความหนาของกระจกตา และการสแกนดูภาพตัดขวางส่วนหน้าของลูกตาโดยใช้คลื่นแสง เพื่อพิจารณาว่าเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมในการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาด้วยวิธี DMEK หรือไม่
การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DMEK มีขั้นตอนอย่างไร
ขั้นตอนก่อนการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DMEK
- เมื่อจักษุแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมและสามารถรักษาโรคของดวงตาได้ด้วยวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DMEK ทางรพ. จะจัดลำดับรายชื่อผู้รอรับบริจาคกระจกตาทันที หรือในกรณีฉุกเฉิน รพ. อาจพิจารณาขอรับกระจกตาบริจาคจากต่างประเทศ
- เมื่อได้รับกระจกตาบริจาค รพ. จะส่งกระจกตาไปตรวจยังห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ หากกระจกตาปลอดเชื้อและมีความสมบูรณ์ดี รพ. จะโทรแจ้งนัดหมายวันเข้ารับการผ่าตัดให้ทราบ
- จักษุแพทย์จะเตรียมการผ่าตัดโดยการทำนัดยิงเลเซอร์ผ่านขอบม่านตาเพื่อช่วยระบายน้ำในลูกตา เพื่อลดความเสี่ยงความดันลูกตาสูง
- รพ. แจ้งนัดหมายให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดเข้ามารับการตรวจร่างกายที่ รพ. ล่วงหน้า ดังนี้
- ตรวจเลือด (Blood Tests)
- ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอก (Chest CT Scan)
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG/ECG (Electrocardiogram)
ขั้นตอนการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DMEK
- จักษุแพทย์ผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DMEK ผ่านแผลผ่าตัดด้านข้างดวงตาขนาดเล็ก 2-3 มม. เพียงแผลเดียว และค่อย ๆ ลอกกระจกตาส่วนหลัง (ชั้นที่ 4-5) ที่เสื่อมสภาพ หรือมีรอยโรคออก โดยไม่ทำให้กระจกตาส่วนหน้า (ชั้นที่ 1-3) ได้รับการกระทบกระเทือนหรือเสียหาย
- จักษุแพทย์จะค่อย ๆ นำกระจกตาบริจาคสภาพดี ชั้นที่ 4-5 เข้าไปปลูกถ่ายผ่านแผลผ่าตัดขนาดเล็กแทนที่กระจกตาเดิม และใช้เครื่องอัดฟองอากาศดันให้กระจกตาส่วนในเข้าไปยึดติด แนบติด เรียงชั้นกันกับกระจกตาส่วนนอกอย่างเป็นธรรมชาติ
- แผลผ่าตัดจะค่อย ๆ สมานติดกันได้เองโดยไม่ต้องเย็บแผลแต่อย่างใด กระจกตาใหม่จะค่อย ๆ ดูดน้ำออกจากกระจกขุ่นมัว อาการกระจกตาบวมน้ำจะค่อย ๆ ลดลง การมองเห็นจะค่อย ๆ ดีขึ้น การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DMEK จะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของแต่ละบุคคลและการผ่าตัดร่วม เช่น ต้อกระจก
ขั้นตอนหลังการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DMEK
- หลังการผ่าตัด จักษุแพทย์จะปิดตาด้วยผ้าก๊อซและใส่ที่ครอบตาเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- จักษุแพทย์ และพยาบาลคอยจะติดตามอาการอย่างใกล้ชิดตลอด 1 ชั่วโมงแรกหลังการผ่าตัด
- ผู้เข้ารับการผ่าตัดนอนท่าราบ 1 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด เพื่อช่วยให้ฟองอากาศในดวงตาลอยตัวขึ้นสู่ด้านบน และดันให้กระจกตาส่วนในไปยึดติด แนบสนิทกับกระจกตาส่วนนอก
- ผู้เข้ารับการผ่าตัดสามารถเข้าห้องน้ำ ยืน เดิน ดื่มน้ำ และทานอาหารได้ตามปกติ
- จักษุแพทย์ประเมินอาการหลังการรักษา หากไม่พบภาวะแทรกซ้อน ผู้เข้ารับการผ่าตัดสามารถกลับบ้านได้
การดูแลตนเองหลังผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DMEK
- จักษุแพทย์จะทำนัดเพื่อติดตามอาการในวันถัดไป
- ผู้เข้ารับการผ่าตัดนอนหงาย 3-4 วัน ถึง 1 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับปริมาณฟองอากาศตกค้างภายในลูกตา
- จักษุแพทย์จะทำนัดให้มาฉีดอัดฟองอากาศซ้ำตลอด 2-3 วัน หลังการผ่าตัด
- ปิดที่ครอบตาทั้งเวลากลางวันและกลางคืน 1 สัปดาห์ หรือมากกว่า เพื่อป้องกันการขยี้ตา
- หยอดยาตาตรงเวลาทุกครั้งตามจักษุแพทย์สั่ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- งดการดูจอหรือการใช้สายตาเป็นเวลานาน ควรพักสายตาเป็นระยะ
- งดการล้างหน้า การขยี้ตา การบีบตา เป็นเวลา 1 สัปดาห์
- งดกิจกรรมหรือการออกกำลังกายที่อาจทำให้มีเหงื่อไหลเข้าตา 1 สัปดาห์
- สามารถออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การเดิน ใน 1 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด
- งดการวิ่ง การออกกำลังกายหนัก 3-4 สัปดาห์
- พบจักษุแพทย์ตามนัดหมายที่ รพ. ทุกครั้ง เพื่อติดตามอาการและประเมินผลหลังการรักษา
การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DMEK พักฟื้นกี่วัน
การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DMEK ใช้เวลาในการฟื้นฟูร่างกาย 2-3 สัปดาห์ การมองเห็นจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 1-3 เดือน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล ต่างจากการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาแบบดั้งเดิมที่ใช้เวลานานหลายเดือนหรือเป็นปีเพื่อที่จะฟื้นฟูการมองเห็นได้เต็มที่
DMEK และ DSAEK ต่างกันอย่างไร
ทั้ง DMEK และ DSAEK เป็นการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาส่วนในทั้งคู่โดยใช้กระจกตาชั้นที่ 4 หรือ ชั้นเยื่อรองรับเซลล์ด้านใน (Descemet’s membrane) และชั้นที่ 5 หรือ ชั้นเซลล์ผิวด้านใน (Endothelial cell) มาทำการปลูกถ่าย ความแตกต่างระหว่าง DMEK และ DSAEK อยู่ตรงที่ DSAEK จะลอกเอาบางส่วนของกระจกตาชั้นที่ 3 หรือ ชั้นเนื้อเยื่อหลัก (Stroma) มาใช้ในการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาด้วย แต่ DMEK ใช้เฉพาะกระจกตาชั้นที่ 4 และ 5 เท่านั้น
ข้อดีของการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DMEK
- แผลผ่าตัดเล็กมาก: การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาชั้นใน DMEK มีขนาดแผลผ่าตัดด้านข้างดวงตาเล็กมากเพียง 2-3 มม. เพียงแผลเดียวเท่านั้น ช่วยให้แผลหายเร็ว และฟื้นตัวได้ไว
- ไม่ต้องเย็บแผล: DMEK เป็นเทคนิคการผ่าตัดแบบที่ไม่ต้องเย็บแผล กระจกตาจะประสานติดกันเองด้วยแรงดันลูกตา และแรงอัดฟองอากาศ ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากไหมเย็บ รวมถึงการติดเชื้อและภาวะสายตาเอียง
- ฟื้นตัวเร็ว: DMEK ใช้เทคนิคการผ่าตัดแบบแผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว (Minimally invasive surgery: MIS) ที่ช่วยให้แผลหายไว และสามารถฟื้นตัวหลังการผ่าตัดได้เร็ว
- การปฏิเสธอวัยวะปลูกถ่ายต่ำ: DMEK ใช้เทคนิคปลูกถ่ายกระจกตาเฉพาะชั้นใน (Posterior corneal layers) โดยไม่ต้องลอกกระจกตาออกทั้งชั้นความหนา ทำให้ลดความเสี่ยงในการที่ร่างกายจะปฏิเสธอวัยวะปลูกถ่าย
- ภาวะแทรกซ้อนต่ำ: DMEK ใช้เทคนิคการผ่าตัดแบบไม่เปิดฝากระจกตา ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากการติดเชื้อ รวมทั้งภาวะเลือดออกที่เนื้อเยื่อคอรอยด์ และการติดเชื้อ
- คงความโค้งของกระจกตา: DMEK คงโครงสร้างของกระจกตาชั้นนอกดังเดิม ช่วยคงความสมบูรณ์ แข็งแรง และความโค้งตามธรรมชาติของกระจกตาเอาไว้ได้มากที่สุด
- รักษาโรคทันที: DMEK ผ่าตัดกระจกตาส่วนที่เสื่อมสภาพหรือมีรอยโรคออกทันที และคงกระจกตาดีเอาไว้ โดยกระจกตาใหม่จะค่อย ๆ ดูดน้ำออกจากกระจกตาขุ่นมัว ช่วยให้กระจกตากลับมาใส และมองเห็นได้ชัดอีกครั้ง
- ช่วยให้มองเห็นได้เร็ว: เมื่อเทียบกับการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาออกทั้งชั้นที่ใช้เวลานานหลายเดือน หรือแรมปีกว่าที่จะมองเห็นได้ชัด DMEK ช่วยให้ฟื้นตัวได้เร็ว และช่วยให้มองเห็นได้ชัดภายใน 1-3 เดือน
ข้อเสียของการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DMEK
- กระจกตาเคลื่อน: อาการกระจกตาเคลื่อนหลังการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DMEK อาจเกิดขึ้นได้ โดยแพทย์จะย้ายตำแหน่งกระจกตากลับสู่ตำแหน่งเดิมผ่านการผ่าตัดประมาณ 15 นาที โดยการใช้ยาชาเฉพาะที่ และฉีดอัดฟองอากาศเข้าทางด้านหน้า เพื่อดันให้กระจกตาเข้าที่
- ร่างกายปฏิเสธอวัยวะปลูกถ่าย: แม้ว่า DMEK จะเป็นการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะที่มีความเสี่ยงต่ำที่ร่างกายจะปฏิเสธอวัยวะเมื่อเทียบกับ DSAEK และการปลูกถ่ายกระจกตาทั้งชั้นความหนา แต่ก็อาจเกิดการต่อต้านอวัยวะปลูกถ่ายได้จากการต่อต้านของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ดังนั้น การมาพบจักษุแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อตรวจการปฏิเสธอวัยวะปลูกถ่าย จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
- การติดเชื้อ: เช่นเดียวกับการผ่าตัดทุกชนิด การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DMEK อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดด้วยวิธี DMEK มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่ำมาก เนื่องจากมีขนาดแผลผ่าตัดเล็ก และใช้เทคนิคไม่เปิดฝากระจกตา จึงมีอัตราการติดเชื้อเพียง 1 ใน 1,000 รายเท่านั้น
การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DMEK มีโอกาสประสบความสำเร็จแค่ไหน
จากผลการศึกษาพบว่า ผู้ที่ทำการการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DMEK ไปแล้ว 5 ปี มีอัตราความสำเร็จหลังการผ่าตัดสูงถึง 90% ผู้เข้ารับการผ่าตัดมีค่าสายตาเป็นปกติที่ 20/20 ใน 1 ปีหลังการผ่าตัด และสามารถมองเห็นได้เร็วกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาด้วยวิธีอื่น ๆ
การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DMEK โรงพยาบาลเมดพาร์ค
ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลมดพาร์ค กรุงเทพ ประเทศไทย นำโดยทีมจักษุแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางที่มีประสบการณ์ระดับประเทศและนานาชาติ มีความพร้อมในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคจักษุ ภาวะสายตาผิดปกติทั้งแบบทั่วไป และที่มีความยากซับซ้อน โดยการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาบางส่วน DMEK, DSAEK และ DALK และการตัดปลูกถ่ายกระจกตาทั้งชั้น PKP เพื่อฟื้นฟูการมองเห็น และช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิต โดยการใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย พร้อมด้วยมาตรฐานการดูแลเอาใจใส่ ช่วยให้การรักษาเป็นไปด้วยความปลอดภัย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมทั้งให้การติดตามดูแลผลหลังการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน ช่วยให้มองเห็นได้เร็ว และช่วยให้มีสุขภาพดวงตาที่แข็งแรงในระยะยาว