ขี้หูอุดตัน
ขี้หู (cerumen) มีส่วนผสมของสารช่วยหล่อลื่นและต้านเชื้อแบคทีเรียที่ต่อมในหูหลั่งออกมา ร่วมกับเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว และเส้นขน ร่างกายผลิตขี้หูออกมาเพื่อป้องกันหูของเรา เวลาที่เราขยับกราม ขี้หูเดิมจะเคลื่อนตัวจากด้านในหูสู่ภายนอกและในที่สุดก็จะหลุดออกมาได้เอง นี่เป็นวิธีที่หูทําความสะอาดตัวเองและกําจัดขี้หูออกไป
บางคนอาจใช้ก้านสําลีหรือสิ่งของอื่น ๆ แหย่เข้าไปในหูเพื่อทําความสะอาดรูหู โดยไม่รู้ว่ากําลังดันขี้หูเข้าไปให้ลึกขึ้น ซึ่งอาจทําให้หูได้รับบาดเจ็บหรือขี้หูอุดตันได้
อาการขี้หูอุดตันเป็นอย่างไร?
ขี้หูอุดตันอาจทําให้เกิดอาการต่อไปนี้
- ปวดหู
- หูอื้อ
- คันในรูหู
- ได้ยินเสียงในหู
- มีปัญหาเรื่องการได้ยิน
- มีของเหลวหรือกลิ่นออกมาจากหู
- วิงเวียนศีรษะ
หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอาจทําให้เกิดการระคายเคืองหูและสูญเสียการได้ยิน ในผู้สูงอายุขี้หูอุดตันอาจทําให้การสูญเสียการได้ยิน การพูดคุยสื่อสารเป็นไปได้ยากขึ้น และอาจเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวจากการสื่อสารกันไม่ได้
ขี้หูอุดตัน เกิดจากสาเหตุอะไร?
ขี้หูอุดตันอาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
- พยายามทําความสะอาดรูหูด้วยก้านสําลีหรือสิ่งของอื่น ๆ
- ใช้เครื่องช่วยฟังหรือที่อุดหู
- มีขนในหูเยอะ
- เป็นโรคผิวหนัง
- รูหูมีลักษณะผิดปกติ
- มีความบกพร่องทางพัฒนาการ
- อายุที่มากขึ้น
วิธีตรวจขี้หูอุดตัน
หลังจากซักประวัติแล้ว แพทย์จะใช้เครื่องตรวจหู otoscope ตรวจดูขี้หูและช่องหูชั้นนอกจนถึงแก้วหู
ขี้หูอุดตัน รักษาอย่างไร?
การรักษาขี้หูอุดตัน ต้องอาศัยแพทย์นำขี้หูที่อุดตันออกมา โดยใช้เครื่องมือพิเศษเช่น ช้อนตักขี้หู คีมคีบ หรืออุปกรณ์ดูดขี้หู
หลังจากนั้นแพทย์จะให้คําแนะนํา วิธีการทําความสะอาดใบหู เมื่ออยู่ที่บ้านผู้ป่วยอาจหยดยาละลายขี้หู เช่นน้ำมันแร่ (mineral oil) เบบี้ออยล์ กลีเซอรีน และยาหยอดหูที่มีเปอร์ออกไซด์สัก 2-3 หยด เพื่อทําให้ขี้หูนิ่มลงจนสามารถหลุดออกมาตามธรรมชาติได้
อย่างไรก็ตามไม่แนะนําให้นำอุปกรณ์ดูดขี้หูไปใช้เองที่บ้านหรือจุดเทียนหู อุปกรณ์ดูดขี้หูแบบใช้เองที่บ้านไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการกําจัดขี้หูและเทียนหูอาจทำให้ใบหูและรูหูไหม้ หรือแก้วหูทะลุ
ป้องกันขี้หูอุดตันอย่างไร?
สำหรับเด็ก ๆ นั้น เพียงแค่ทําความสะอาดใบหูด้วยผ้าขนหนู หลีกเลี่ยงการแหย่ก้านสําลีหรือสิ่งของอื่น ๆ เข้าไปในหู หากเด็กเริ่มดึงหูหรือได้ยินไม่ชัด อาจะเป็นเพราะมีขี้หูมากเกินไป ควรปรึกษาแพทย์ว่าควรนำขี้หูออกหรือไม่
ในผู้สูงอายุที่ใช้เครื่องช่วยฟัง ควรหมั่นตรวจใบหูเป็นประจําว่าขี้หูสะสมหรืออุดตันหรือไม่ เนื่องจากอาจจะทําให้สูญเสียการได้ยินและเกิดปัญหาด้านพฤติกรรมได้