เลือกหัวข้อที่อ่าน
- มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกชนิดต่าง ๆ
- มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มีอาการอย่างไร
- ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกคืออะไร
- มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มีวิธีการวินิจฉัยอย่างไร
- มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มีวิธีการรักษาอย่างไร
- มะเร็งเยื่อบุมดลูก ป้องกันอย่างไร
- การเตรียมตัวก่อนพบแพทย์
มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial cancer)
มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial cancer) เกิดจากการที่เซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเติบโตผิดปกติ บางครั้งอาจถูกเรียกว่ามะเร็งมดลูก มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมักตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เนื่องจากมีอาการแสดง เช่น เลือดออกทางช่องคลอด การตรวจพบมะเร็งเยื่อบุมดลูกในระยะแรกจะทำให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพและรักษาจนหายขาดได้
มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกชนิดต่างๆ
ชนิดที่ 1: เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด มีความเกี่ยวข้องกับปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายที่สูงมากเกินไป มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกชนิดนี้มักเติบโตช้า และมีการพยากรณ์โรคไปในทางที่ดี
ชนิดที่ 2: เป็นชนิดที่ลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ พบได้ราว 20% ของผู้ที่เป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
นอกจากนี้ เราสามารถแบ่งมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ตามลักษณะเซลล์ที่ปรากฏในกล้องจุลทรรศน์ได้ดังนี้
- Endometrioid cancer เป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด มักเกิดที่ต่อมของเยื่อบุโพรงมดลูก โดยจะมีลักษณะคล้ายเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกปกติ
- Uterine papillary serous carcinoma เป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกและมะเร็งมดลูกที่พบได้น้อย มักเกิดที่เยื่อบุโพรงมดลูก และมักจะกลับมาเป็นซ้ำแม้ว่าจะตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก
- Uterine clear cell carcinoma พบได้น้อยกว่า 5%
- Uterine carcinosarcoma พบได้มากกว่า 5% เป็นชนิดร้ายแรง เติบโต ลุกลามเร็ว
มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มีอาการอย่างไร
- มีเลือดออกทางช่องคลอดในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน
- มีเลือดออกทางช่องคลอดหลังวัยหมดประจำเดือน
- ปวดอุ้งเชิงกราน
ควรพบแพทย์เมื่อไร
หากมีอาการดังที่กล่าวมาแล้ว ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจอย่างเหมาะสม
มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เกิดจากสาเหตุอะไร
มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกเกิดจากการที่ดีเอ็นเอของเซลล์ในเยื่อบุโพรงมดลูกเกิดการเปลี่ยนแปลง กระตุ้นให้เซลล์แบ่งตัวอย่างรวดเร็วควบคุมไม่ได้ จนเกิดเป็นก้อนหรือเนื้องอก โดยเซลล์ที่เปลี่ยนแปลงนี้เป็นอันตรายต่อเซลล์ปกติ และอาจรุกรานแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกคืออะไร
มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก พบมากในหญิงวัยหมดประจำเดือน โดย 95% มักพบในหญิงที่อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป โดยหญิงวัยหมดประจำเดือนจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมากขึ้น ในกรณีที่
- เริ่มมีประจำเดือนเร็วกว่าปกติ
- เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนช้ากว่าปกติ
- น้ำหนักตัวมากหรือเป็นโรคอ้วน
- เป็นโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง
- ไม่เคยตั้งครรภ์
- มีประวัติภาวะไม่เจริญพันธุ์ ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งเต้านม
นอกจากนี้ความเสี่ยงของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกจะสูงขึ้นในผู้หญิงที่ใช้ยา tamoxifen สำหรับรักษาหรือป้องกันมะเร็งเต้านม ผู้หญิงที่ใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนบำบัดเพียงอย่างเดียว และผู้ที่มีเนื้องอกรังไข่ (แต่พบได้น้อยมาก) การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงหรือเนื้อแดงก็เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกและมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เช่นกัน
มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มีวิธีการตรวจวินิฉัยอย่างไร
แพทย์จะตรวจวินิจฉัยด้วยการตรวจร่างกายและการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ ดังนี้
- การตรวจอุ้งเชิงกราน แพทย์จะสวมถุงมือที่ทาสารหล่อลื่นเพื่อสอดนิ้ว 2 นิ้วเข้าไปทางช่องคลอด เพื่อตรวจมดลูกและรังไข่ขณะกดท้องของผู้เข้ารับการตรวจด้วยมืออีกข้าง จากนั้นจะใส่คีมถ่างช่องคลอดเพื่อตรวจดูรอยโรคมะเร็ง
- การตรวจวินิจฉัยด้วยภาพถ่าย เช่น อัลตราซาวนด์ผ่านช่องคลอด การตรวจ CT สแกน และ MRI
- การส่องกล้องโพรงมดลูก
- การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ
- การขูดมดลูก
เมื่อยืนยันได้ว่าเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก แพทย์จะประเมินว่ามะเร็งอยู่ในระยะใด โดยใช้การตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การเอกซเรย์หน้าอก การตรวจ CT สแกน การตรวจเลือด และการตรวจ PET สแกน แต่วิธีที่ช่วยให้ระบุระยะของมะเร็งได้แม่นยำที่สุดคือการผ่าตัด แพทย์จะแบ่งมะเร็งออกเป็น 4 ระยะ โดยระยะที่ 1-3 มะเร็งจะยังอยู่ในมดลูก แต่มะเร็งระยะที่ 4 จะเป็นมะเร็งที่ได้แพร่กระจายไปยังอวัยวะข้างเคียงหรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกายแล้ว
มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มีวิธีการรักษาอย่างไร
วิธีการรักษาเริ่มแรกของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกนั้นคือการผ่าตัดนำมะเร็งออก ซึ่งอาจรวมไปถึงการผ่าตัดนำมดลูก ท่อรังไข่ และรังไข่ออกไปด้วย วิธีการรักษาอื่น ๆ เช่น รังสีรักษาหรือยา อาจช่วยให้ฆ่าเซลล์มะเร็งที่หลงเหลืออยู่ให้หมดไป โดยวิธีการรักษานั้นจะขึ้นอยู่กับระยะของมะเร็ง สุขภาพ รวมถึงความต้องการของผู้ป่วย
- การผ่าตัด ได้แก่ การผ่าตัดนำมดลูกออก การผ่าตัดรังไข่และท่อนำรังไข่ออก โดยการผ่าตัดนำมดลูกออกจะทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีกต่อไป ส่วนการผ่าตัดรังไข่และท่อนำรังไข่ออกอาจทำให้มีอาการของวัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน ระหว่างการผ่าตัด แพทย์อาจตัดต่อมน้ำเหลืองออกมาเพื่อประเมินระยะของมะเร็ง และตรวจดูอวัยวะรอบ ๆ มดลูกว่ามีรอยโรคมะเร็งลุกลามไปหรือไม่
- รังสีรักษา ช่วยฆ่าเซลล์มะเร็งและทำให้ก้อนเนื้องอกเล็กลงก่อนเข้ารับการผ่าตัด แพทย์อาจแนะนำรังสีรักษาในผู้ที่สภาพร่างกายไม่แข็งแรงพอที่จะเข้ารับการผ่าตัด
- รังสีรักษาระยะไกล เป็นการฉายรังสีจากภายนอกไปยังอวัยวะหรือจุดที่ต้องการรักษา
- รังสีรักษาระยะใกล้ ได้แก่การสอดแร่อิริเดียมเข้าไปทางช่องคลอด
- เคมีบำบัด เป็นการใช้ยาฆ่ามะเร็ง โดยมีทั้งยารับประทานและยาทางหลอดเลือด ซึ่งจะช่วยทำให้มะเร็งเล็กลงก่อนเข้ารับการผ่าตัด และช่วยฆ่าเซลล์มะเร็งที่หลงเหลืออยู่หลังการผ่าตัด โดยเคมีบำบัดเป็นวิธีการรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกระยะลุกลามที่มีประสิทธิภาพ
- ฮอร์โมนบำบัด จะไปลดระดับฮอร์โมนที่จำเป็นต่อการเติบโตของเซลล์มะเร็ง จนเซลล์มะเร็งจะไม่สามารถแบ่งตัวหรือเติบโตต่อไปได้ แต่ฮอร์โมนบำบัดนั้นเหมาะกับมะเร็งบางชนิดเท่านั้น ผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกระยะลุกลามสามารถรับการรักษาด้วยฮอร์โมนบำบัดได้
- ยามุ่งเป้า จะไปยับยั้งสารเคมีในเซลล์มะเร็ง ทำให้มะเร็งตาย มักใช้ร่วมกับการรักษาด้วยเคมีบำบัด
- ภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นการใช้ยาเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกายให้มาต่อสู้กับมะเร็ง โดยแพทย์จะรักษาด้วยวิธีนี้หากการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ไม่ประสบผลสำเร็จ
- การดูแลแบบประคับประคอง มุ่งเน้นการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว ช่วยบรรเทาอาการปวดและอาการที่เกิดจากมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
มะเร็งเยื่อบุมดลูก ป้องกันอย่างไร
มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกไม่สามารถป้องกันได้ แต่มีปัจจัยที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งได้
- ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง โดยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดูแลน้ำหนักตัวให้เหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- การรับประทานยาคุมกำเนิดติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี ช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีข้อเสียของยาคุมกำเนิดก่อนเริ่มใช้
- พูดคุยปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์และความเสี่ยงของการใช้ฮอร์โมนบำบัดหลังเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน เพราะการรับประทานฮอร์โมนเอสโตรเจนเพียงอย่างเดียวอาจเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ในขณะที่ยาฮอร์โมนรวมทั้งเอสโตรเจนกับโปรเจสเตอโรนอาจช่วยลดความเสี่ยงได้
การเตรียมตัวก่อนพบแพทย์
- จดอาการที่มี ยา (รวมถึงยาคุมกำเนิด ยา tamoxifen และยาฮอร์โมนบำบัด) และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่กำลังรับประทาน
- จดคำถามที่ต้องการถามแพทย์ ยกตัวอย่างเช่น
- สาเหตุของโรคคืออะไร
- มะเร็งอยู่ในระยะใด
- จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจเพิ่มเติมหรือไม่
- มีการรักษาด้วยวิธีใดบ้าง วิธีใดที่แพทย์แนะนำ มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง
- ควรจัดการกับโรคประจำตัวอย่างไร
- มีข้อห้ามหรือข้อควรปฏิบัติใด ๆ หรือไม่
- เตรียมคำตอบสำหรับคำถามที่แพทย์อาจถาม ยกตัวอย่างเช่น
- มีอาการอะไรบ้าง
- ปวดอุ้งเชิงกรานหรือมีเลือดออกทางช่องคลอดหรือไม่
- มีอาการบ่อยแค่ไหน
- อะไรที่ทำให้อาการดีขึ้นหรือแย่ลง
- มีประวัติเป็นมะเร็งหรือมีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งหรือไม่
- เคยได้รับฮอร์โมนทดแทนแบบเอสโทรเจนอย่างเดียวเพื่อบรรเทาอาการของวัยหมดประจำเดือนหรือไม่