เลือกหัวข้อที่อ่าน
- สาเหตุที่ผมร่วง
- สัญญาณและอาการผมร่วง
- การตรวจวินิจฉัยอาการผมร่วง
- วิธีการรักษาผมร่วง
- การป้องกันผมร่วง ผมบาง
- ผมร่วงเยอะ ควรทานอะไร?
- คลิปวิดีโอ 8 ความเชื่อเรื่องเส้นผม
ผมร่วง (Hair loss)
ผมร่วง (Hair loss) คือ การหลุดร่วงของเส้นผมบนหนังศีรษะหรือเส้นขนบนผิวหนังบริเวณส่วนต่าง ๆ ของร่างกายตามวงจรชีวิตของเส้นผมที่มีการเสื่อมสภาพตามอายุ หลุดร่วง และงอกขึ้นใหม่ ผมร่วงยังอาจมีสาเหตุจาก กรรมพันธุ์ ฮอร์โมน ความเจ็บป่วย อายุ และความเครียดสะสมที่กระตุ้นให้ผมร่วง ผมบาง ผมร่วงเป็นหย่อม ผมร่วงเฉียบพลัน หรือผมร่วงก่อนวัยที่ส่งผลเสียต่อบุคลิกภาพ ความมั่นใจ และทำให้เกิดความเครียด ผู้ที่มีปัญหาผมร่วงผิดปกติ ผมบาง หรือศีรษะล้าน ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับรักษาอย่างเป็นระบบ เพื่อกระตุ้นให้เส้นผมใหม่งอกงามขึ้นได้อย่างแข็งแรง มีคุณภาพ และเต็มหนังศีรษะ
ผมร่วง มีสาเหตุเกิดจากอะไร?
อาการผมร่วง มีสาเหตุเกิดจากหลากหลายปัจจัย สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ ผมร่วงอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคบางโรคที่กำลังเกิดขึ้นในร่างกาย หรืออาจเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่อาการผมร่วงแบบถาวร หรือศีรษะล้านในอนาคตซึ่งอาจส่งผลเสียต่อบุคลิกภาพและกระทบต่อความรู้สึกด้านจิตใจ ผมร่วงมีสาเหตุหลักจาก 2 ปัจจัย ดังนี้
- ผมร่วงแบบมีแผลเป็นบนหนังศีรษะ (Scaring alopecia) คือประเภทของผมร่วงที่เซลล์รากผมถูกทำลายลงอย่างถาวรจนทำไม่สามารถสร้างเซลล์ผมใหม่ได้ สาเหตุผมร่วงแบบมีแผลเป็นบนหนังศีรษะ ได้แก่
- โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่เกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกันร่างกาย เช่น โรคดีแอลอี (DLE) หรือกลุ่มโรคไลเคน พลาโนพิลาธิส (Lichen planopilaris) หรือโรค LPP
- โรคผมร่วงแบบฟรอนทอล ไฟบรอสซิง (Frontal fibrosing alopecia: FFA) เป็นโรคผมร่วงชนิดมีแผลเป็นที่ทำให้เกิดการอักเสบที่หนังศีรษะ หนังศีรษะแดง ลอกออกเป็นขุย และทำลายเซลล์รากผมจนทำให้ศีรษะล้านในที่สุด มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
- โรคติดเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial infection) ได้แก่
- โรคหนังศีรษะและต่อมขนอักเสบ (Dissecting cellulitis, Dissecting folliculitis) ที่เกิดจากการสร้างผิวหนังที่ผิดปกติของรูขุมขน ทำให้เกิดการอุดตันและอักเสบ
- โรค Folliculitis decal vans ที่เกิดจากการตอบสนองของร่างกายที่ผิดปกติต่อเชื้อแบคทีเรียสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus)
- วัณโรค (Tuberculosis) ซิฟิลิส (Syphilis)
- โรคติดเชื้อไวรัส เช่น งูสวัด (Herpes zoster) เริม (Herpes simplex)
- โรคติดเชื้อราบนหนังศีรษะ เช่น ชันนะตุ (Tinea capitis)
- สารเคมีบางชนิดกัดหนังศีรษะ เช่น สารที่มีความเป็นกรด หรือ ด่างสูง
- เนื้องอกผิวหนังบนหนังศีรษะ (Appendage tumor)
- ผมร่วงแบบไม่มีแผลเป็นบนหนังศีรษะ (Non-scaring alopecia) คือประเภทของผมร่วงที่เซลล์รากผมยังไม่ถูกทำลายลงอย่างถาวรทำให้มีอาการผมร่วงเป็นหย่อม ๆ เป็นวงกลมหรือวงรี มีขอบชัดเจน มีสาเหตุเกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกันร่างกายที่ทำลายเซลล์ผิวหนังตนเองโดยไม่ทราบสาเหตุ รวมทั้งการติดเชื้อ หรือโรคบางโรค โดยผมร่วงชนิดนี้สามารถรักษาให้หายได้เนื่องจากเซลล์รากผมยังไม่ถูกทำลาย แต่หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เซลล์รากผมเสียหายอย่างถาวรจนไม่สามารถทำให้ผมกลับมางอกใหม่ได้อีก สาเหตุผมร่วงแบบไม่มีแผลเป็นบนหนังศีรษะ ได้แก่
- กรรมพันธุ์ (Androgenic alopecia) มีประวัติบุคคลในครอบครัวเดียวกันมีอาการผมร่วง ผมบาง ศีรษะล้านก่อนวัย ผมร่วงจากกรรมพันธุ์ เป็นสาเหตุผมร่วงที่พบได้บ่อยที่สุด มักเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปเป็นแบบแผนที่คาดเดาได้ และมักพบได้บ่อยในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
- โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia areata) เป็นอาการผมร่วงที่มีสาเหตุจากโรคแพ้ภูมิตนเอง (Autoimmune) ที่ทำให้เส้นผมบนหนังศีรษะและเส้นขนตามร่างกายหลุดร่วงอย่างเฉียบพลัน
- โรคผมร่วงเฉียบพลัน (Telogen effluvium) เป็นอาการผมร่วงผิดปกติอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น โดยมีสาเหตุดังต่อไปนี้
- โรคบางโรค เช่น โรคทางต่อมไทรอยด์ (thyroid disease) ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism) โรคโลหิตจาง (Anemia) ธาลัสซีเมีย (Thalassemia) เอชไอวี (HIV)
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอย่างกะทันหัน ภาวะหลังคลอดบุตร
- ความเจ็บป่วย (Illness) เช่น มีไข้สูง หรือหลังรับการผ่าตัด (Post-surgery) ที่ทำให้ผมร่วงชั่วคราว
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด
- การลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว
- ผมร่วงจากการถูกกระตุ้น (Anagen effluvium) เช่น การทำเคมีบำบัด หรือรังสีรักษา (Chemotherapy) ที่มีผลข้างเคียงทำให้ผมร่วง ผมบางอย่างรวดเร็ว
- การติดเชื้อ (Infections) เช่น เชื้อราบนหนังศีรษะ การติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น ซิฟิลิส (Syphilis)
- ยารักษาโรคบางชนิด (Certain medications) ที่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น ยารักษาโรคมะเร็ง โรคข้ออักเสบ โรคซึมเศร้า โรคหัวใจ โรคเกาต์ และความดันโลหิตสูง หรือยาคุมกำเนิด
- อายุที่เพิ่มขึ้น (Aging) ทำให้การผลิตฮอร์โมนในร่างกายลดลง ส่งผลทำให้วงจรการเกิดเส้นผมสั้นลง ผมร่วงมากขึ้น และความหนาแน่นของเส้นผมบนหนังศีรษะลดลง
- ความเครียด (Stress) ความเครียด หรือการเผชิญกับเหตุการณ์สะเทือนใจที่อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจ ทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความเครียดที่ทำให้ผมร่วง ผมบาง
- พฤติกรรมบางอย่าง (Behaviors) เช่น การดึงผมตนเองโดยไม่รู้ตัว (Trichotillomania)
- การขาดสารอาหารบางอย่าง (Nutritional deficiencies) เช่น ธาตุเหล็ก หรือโปรตีน
- สไตล์การทำผม (Too-tight hairstyles) การมัดผมหางม้า หรือการถักเปียที่ตึงแน่นจนเกินไปที่ทำให้เกิดผมร่วงจากการดึงรั้ง (Traction alopecia)
ผมร่วง มีสัญญาณและอาการอย่างไร?
ผมร่วง สามารถเกิดขึ้นจากหลากหลายสาเหตุและปัจจัยโดยผมอาจร่วงอย่างรวดเร็วฉับพลันอย่างเห็นได้ชัด หรือเป็นแบบค่อย เป็นค่อยไป โดยมีสัญญาณและอาการดังนี้
- ผมร่วง ผมบางกลางศีรษะอย่างช้า ๆ (Gradual thinning on top of head) เป็นอาการผมร่วงที่พบได้บ่อยที่สุดเมื่อเริ่มมีอายุ เป็นสาเหตุของอาการศีรษะล้านในเพศชาย (Male-pattern baldness) โดยเริ่มจากแนวไรผมจนถึงกลางศีรษะที่ค่อย ๆ บางลงจนเห็นศีรษะล้าน และผมร่วง ผมบางในเพศหญิง (Female-pattern baldness) ที่ผมค่อย ๆ บางลงตั้งแต่บริเวณกลางศีรษะจนทั่วทั้งศีรษะแต่จะไม่ล้านเหมือนเพศชาย
- ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ หรือเป็นวงกลม (Circular or patchy bald spots) เป็นอาการผมร่วงเป็นหย่อมๆ หรือเป็นวงกลมหรือบนหนังศีรษะ หนวดเครา หรือคิ้ว โดยอาจมีอาการคันหรือเจ็บนำมาก่อนที่เส้นผมหรือเส้นขนตามร่างกายจะหลุดร่วง
- ผมร่วงอย่างกะทันหัน (Sudden loosening of hair) เป็นอาการผมร่วงที่เกิดจากภาวะช็อกซึ่งส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจจนทำให้ผมหลุดร่วงออกมาในปริมาณมากขณะหวีผม สระผม หรือแม้แต่การดึงผมเบาๆ ผมร่วงประเภทนี้มักทำให้เส้นผมโดยรวมบางลง
- ผมร่วงทั่วทั้งศีรษะและขนร่วงตามร่างกาย (Full body hair loss) เป็นอาการผมร่วงที่เกิดจากโรคบางโรค หรือการรักษาทางการแพทย์บางอย่าง เช่น การให้เคมีบำบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็งอาจทำให้ผมร่วงทั่วทั้งศีรษะ และขนตามร่างกายหลุดร่วง ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นการร่วงเพียงชั่วคราวและสามารถกลับงอกขึ้นได้ใหม่อีกครั้ง
- ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ และหนังศีรษะลอกออกเป็นขุย (Patches of scaling that spread over the scalp) เป็นอาการผมร่วงเป็นหย่อม ๆ และผิวหนังลอกออกเป็นขุยคล้ายรังแคทั่วหนังศีรษะซึ่งอาจมีสาเหตุจากเชื้อรา กลาก เกลื้อน
ผมร่วง มีวิธีการวินิจฉัยอย่างไร?
แพทย์จะทำการวินิจฉัยอาการผมร่วงโดยการซักประวัติ สอบถามถึงอาหารหรือยาที่รับประทาน รวมทั้งโรคประจำตัวหรือประวัติการรักษาทางการแพทย์ ประวัติบุคคลในครอบครัวเดียวกันมีปัญหาผมบาง ศีรษะล้าน รวมทั้งทำการตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดผมร่วง ผมบาง โดยทำการตรวจวินิจฉัยดังนี้
- การซักประวัติ (Medical history) เช่น หากมีผมร่วงมากผิดปกติมากกว่า 200 เส้นต่อวัน โดยอาจสังเกตได้จากผมที่ร่วงติดมือขณะสระผม สางผม หรือขณะทำกิจกรรมระหว่างวัน
- การตรวจหนังศีรษะ (Scalp examination) เพื่อค้นหารอยโรคหากพบการติดเชื้อบนหนังศีรษะ
- การทดสอบโดยการหวีผมและดึงผม (Comb test and pull test) แพทย์จะใช้วิธีทดสอบโดยการค่อย ๆ ดึงผมหลาย ๆ ครั้งเพื่อนับจำนวนเส้นผมที่หลุดติดมือ หรือลองหวีผมเป็นเวลา 1 นาทีเพื่อนับจำนวนเส้นผมที่หลุดร่วงออกมาเพื่อประเมินวงจรชีวิตของเส้นผม
- การตรวจเลือด (Blood test) เพื่อตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ และวัดปริมาณธาตุเหล็กในร่างกาย
- การตรวจชิ้นเนื้อบริเวณหนังศีรษะและเส้นผม (Skin and hair biopsy) แพทย์จะทำการเก็บตัวอย่างหนังศีรษะ และเส้นผมที่ได้จากการตัดชิ้นเนื้อและส่งตรวจทางพยาธิวิทยาในห้องปฏิบัติการด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อหาความผิดปกติ เช่น การติดเชื้อ หรือการอักเสบของรูขุมขน
การรักษาผมร่วง มีวิธีการอย่างไร?
แพทย์จะทำการรักษาอาการผมร่วงจากผลการตรวจวินิจฉัยสาเหตุที่ทำให้ผมร่วง เช่น โรคผิวหนังอักเสบ โรคทางต่อมไทรอยด์ ฮอร์โมนที่ไม่สมดุล ผลข้างเคียงจากการใช้ยา หรือจากอาหารการกิน เพื่อช่วยหยุดยั้งการหลุดร่วงของเส้นผม พร้อมทั้งวางแผนรักษาเพื่อให้เส้นผมใหม่กลับงอกงามขึ้นอีกครั้งด้วยวิธีการรักษาดังนี้
- ยา (Medications)
- ยาไมน็อกซิดิล (Minoxidil) เป็นยาที่มีทั้งชนิดทา และชนิดรับประทานที่แพทย์ใช้ในการรักษาอาการผมร่วง ผมบาง ทั้งในเพศหญิงและเพศชายโดยมีคุณสมบัติหยุดยั้งการหลุดร่วงของเส้นผมพร้อมทั้งช่วยกระตุ้นการเกิดใหม่ของเซลล์รากผม ช่วยขยายหลอดเลือดให้เข้าถึงรากผม และกระตุ้นให้ผมงอกขึ้นใหม่อย่างแข็งแรง และมีสุขภาพดี
- ยาฟีนาสเตอไรด์ (Finasteride) เป็นยาปลูกผมชนิดรับประทานสำหรับเพศชายที่ใช้ในการรักษาอาการผมร่วง ผมบางที่มีสาเหตุจากกรรมพันธุ์โดยการช่วยลดฮอร์โมน DHT และกระตุ้นเซลล์ผมเพื่อให้ผมงอก ทั้งนี้การใช้ยาควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากการใช้ยา
- การปลูกผม (Hair transplant surgery) ในผู้ที่อาการผมร่วง ผมบาง ผู้ที่มีศีรษะล้านแบบถาวร หรือผมบางกลางศีรษะจากกรรมพันธุ์ การปลูกผมถือเป็นวิธีการรักษาที่ให้ผลที่ดี คุ้มค่าและให้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดบริเวณที่มีเส้นผมหนาแน่น เช่น ท้ายทอย หรือด้านข้างศีรษะมาปลูกลงบนบริเวณผมบาง หรือบริเวณศีรษะล้านเพื่อให้เส้นผมใหม่งอกจนเต็มหนังศีรษะอีกครั้ง
- การทำเลเซอร์กระตุ้นรากผม (Fractional laser) เป็นการกระตุ้นการเกิดใหม่ของเส้นผมด้วยการใช้เลเซอร์พลังงานต่ำกระตุ้นลงบนเซลล์รากผมเพื่อสร้างเส้นผมใหม่ที่แข็งแรง งอกเร็ว และดกหนาในระยะยาว
- การปลูกผมด้วยเลเซอร์ (Low level laser therapy: LLLT) เป็นการฉายแสงเลเซอร์พลังงานต่ำลงบนหนังศีรษะเพื่อกระตุ้นการทำงานของเซลล์รากผม ช่วยให้ผมร่วงน้อยลง ผมใหม่งอกเร็วขึ้น และมีความแข็งแรง
- การรักษาด้วยพลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้น (Platelet-rich plasma: PRP) หนึ่งในวิธีการรักษาผมร่วงที่มีประสิทธิภาพสูงและมีความปลอดภัย โดยแพทย์จะทำการการฉีดพลาสมาที่อุดมไปด้วยเกล็ดเลือดเข้มข้นลงบนหนังศีรษะเพื่อชะลอการหลุดร่วงของเส้นผม และกระตุ้นการเกิดของเส้นผมใหม่ที่แข็งแรง สุขภาพดีอีกครั้ง
- การฉีดสเต็มเซลล์ผม (Regenera Activa) เป็นการนำเซลล์ต้นกำเนิดที่ได้จากรากผมของผู้รับการรักษามาฉีดลงบนหนังศีรษะเพื่อกระตุ้นให้เซลล์รากผมแข็งแรง กระตุ้นการสร้างเส้นผมใหม่ที่ดกหนา แก้ปัญหาผมร่วง ผมบางได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ภาวะแทรกซ้อนผมร่วง เป็นอย่างไร?
- ผลกระทบด้านจิตใจ (Psychological Effects) ผมร่วง ผมบาง ศีรษะล้านอาจส่งกระทบด้านจิตใจในระยะยาวเนื่องจากทำให้สูญเสียความมั่นใจในการเข้าสังคม ผู้ที่บุคลิกภาพเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับภาพลักษณ์ อาการหนังศีรษะบางอาจเป็นข้อจำกัดในการทำให้ได้อาชีพในฝันจนอาจทำให้เกิดภาวะเครียด หรือมีภาวะซึมเศร้า
- มะเร็งผิวหนัง (Skin cancer) ผู้ที่มีอาการผมร่วง ผมบาง ศีรษะล้านควรสวมหมวก คลุมผ้า หรือทาครีมกันแดดเมื่อต้องอยู่ท่ามกลางแสงแดดเพื่อหลีกเลี่ยงกับการสัมผัสกับแสงแดดโดยตรงที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งผิวหนังได้
ผมร่วง ผมบาง มีวิธีการป้องกันอย่างไร?
แม้การป้องกันผมร่วงไม่สามารถกระทำได้กับอาการผมร่วงทุกประเภท การปฏิบัติตนเพื่อป้องกันผมร่วงก็ยังมีความสำคัญที่จะช่วยให้เส้นผมอยู่คู่กับหนังศีรษะของเราไปได้นาน ทั้งยังช่วยลดการหลุดร่วงของเส้นผมได้อีกด้วย วิธีการป้องกันตนเองจากอาการผมร่วงมีดังนี้
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไทรอยด์ หรืออาการทางการแพทย์อื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาและป้องกันผมร่วง
- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมที่เหมาะกับหนังศีรษะ ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ รังแค หรือความคัน
- ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ มีสารอาหารครบถ้วน มีปริมาณแคลอรี โปรตีน และธาตุเหล็กที่เพียงพอ
- ผู้ที่เข้ารับการรักษาด้วยเคมีบำบัด ควรใส่หมวกเพื่อช่วยระบายความร้อน
- ไม่รัดผมจนตึงแน่นจนเกินไป
- ไม่เครียด รู้จักผ่อนคลาย
ผมร่วงเยอะมาก ต้องกิน อะไร?
ผู้ที่มีอาการผมร่วงเยอะมาก ควรทานอาหารที่มีโปรตีน ไบโอติน ซิงค์ และซิลีเนียมรวมทั้งสารอาหารอื่น ๆ เพื่อช่วยบำรุงเส้นผม
- ปลาทะเลที่มีโอเมก้า 3 และวิตามินดี เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมกเคอเรล หรือปลาทูน่า
- ไข่ ที่ให้โปรตีน วิตามินบี 12 ซิลีเนียม สังกะสี และธาตุเหล็กที่ช่วยให้ผมแข็งแรง ลดการขาดหลุดร่วง
- ผักใบเขียว เช่น ผักเคล ผักโขม ผักคะน้า ที่อุดมไปด้วยเบต้าแคโรทีน โฟเลต และธาตุเหล็กที่ช่วยบำรุงเส้นผม
- ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ส้ม ผลไม้ที่มีวิตามินซี และสารต้านอนุมูลอิสระสูงที่ช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็ก
- ธัญพืช และถั่วเมล็ดแห้งที่มีไบโอติน วิตามินอี ซิงค์ และ ซิลีเนียม เช่น อัลมอนด์ เมล็ดเซีย เมล็ดแฟลกซ์
หยุดผมร่วง บอกลาผมบาง สร้างผมสุขภาพดี ให้เต็มศีรษะ
โดยปกติ เส้นผมของผู้ที่มีสุขภาพดีจะมีอัตราการหลุดร่วงอยู่ที่ประมาณ 50 - 100 เส้นต่อวันแล้วจึงกลับงอกขึ้นมาใหม่เพื่อทดแทนเส้นผมที่หลุดร่วงไป ในผู้ที่มีอาการผมร่วงผิดปกติจะมีอัตราการหลุดร่วงของเส้นผมเกินกว่าจำนวน 200 เส้นต่อวันแต่กลับมีจำนวนผมงอกใหม่ทดแทนน้อยผิดปกติจนสามารถสังเกตเห็นได้ถึงอาการหนังศีรษะบาง หรือหนังศีรษะล้านจนส่งผลกระทบต่อบุคลิกภาพและจิตใจ
ผู้ที่มีผมร่วงในปริมาณมาก ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ ผมร่วงอย่างกะทันหัน หรือศีรษะล้านจากกรรมพันธุ์ ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ผิวหนังผู้ชำนาญการที่โรงพยาบาลที่มีนวัตกรรม เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ครบครัน ทันสมัยไว้รองรับ เพื่อให้การรักษาของแต่ละบุคคลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยให้เส้นผมกลับงอกขึ้นได้ใหม่อย่างแข็งแรง สุขภาพดี จนเต็มหนังศีรษะ พร้อมคืนความมั่นใจในการใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่อีกครั้ง