อาการ สาเหตุ การตรวจวินิจฉัย และการรักษา โรคมือ เท้า ปาก (Hand, Foot, and Mouth Disease)

โรคมือ เท้า ปาก (HFMD)

มือเท้าปาก (HFMD) คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Human enteroviruses ผ่านการสัมผัสกับน้ำลาย น้ำมูก ตุ่มน้ำใส หรือผื่นบริเวณผิวหนังของผู้ที่เป็นโรค พบได้บ่อยในเด็กทารก เด็กเล็ก หรือเด็กในวัยรียน

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


โรคมือ เท้า ปาก (Hand, Foot, and Mouth Disease)

โรคมือ เท้า ปาก หรือ Hand, Foot, and Mouth Disease (HFMD) คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Human enteroviruses ผ่านการสัมผัสกับน้ำลาย น้ำมูก ตุ่มน้ำใส หรือผื่นบริเวณผิวหนังของผู้ที่เป็นโรค โรคมือเท้าปาก เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กทารก เด็กเล็ก หรือเด็กในวัยเรียนที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี จึงมักพบการระบาดในโรงเรียน หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก โดยจะมีการระบาดอย่างมากในช่วงฤดูฝนที่มีอากาศเย็น และอากาศชื้น ทำให้เชื้อยิ่งแพร่กระจายได้รวดเร็ว และเป็นพาหะในการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นต่อไปได้อีกนานหลายสัปดาห์แม้ว่าผื่นจากโรคมือ เท้า ปาก จะหายไปแล้วก็ตาม

โรคมือ เท้า ปาก มีอาการอย่างไร?

โรคมือ เท้า ปาก มีอาการเริ่มต้นโดยที่เด็ก ๆ เริ่มมีอาการไข้ เจ็บคอ ไม่อยากอาหาร และเริ่มงอแง โรคมือ เท้า ปาก ในเด็ก ช่วงหน้าฝน มีระยะฟักตัวอยู่ที่ 3-6 วันตามมาด้วยการมีไข้ 1-2 วัน และเริ่มปรากฎตุ่มน้ำใสด้านหน้าของปากและลําคอ มีผื่นแต่ไม่คัน และอาจมีตุ่มน้ำใส หรือตุ่มนูนเล็ก ๆ บนฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือผื่นบริเวณก้น ในบางรายอาจมีอาการทุกอาการดังที่กล่าวมา ในขณะที่บางรายอาจมีอาการเพียง 2-3 อาการ โดยปกติอาการของโรคมือเท้าปากมักไม่รุนแรง และสามารถหายได้เองภายใน 7-10 วัน

เด็กที่ป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปากบางรายอาจมีไข้สูงเฉียบพลัน และมีตุ่มน้ำใสที่ด้านหลังของปากและลําคอ ซึ่งอาจเป็นโรคเฮอร์แองจินา (Herpangina) ซึ่งเป็นโรคไวรัสในกลุ่มเดียวกันกับไวรัสโรคมือ เท้า ปากในเด็ก โดยเด็กบางรายอาจมีอาการชัก และมีตุ่มน้ำใสที่มือ เท้า หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย

ลูกเป็นโรคมือเท้าปาก ควรพบแพทย์เมื่อใด?

ควรไปพบแพทย์ทันทีหากเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน หรือเมื่อเด็กไม่ยอมรับประทานน้ำหรืออาหารเพราะอาจทําให้ร่างกายขาดน้ำได้ หากมีอาการนานกว่า 10 วันควรปรึกษาแพทย์

 อาการ สาเหตุ การตรวจวินิจฉัย และการรักษาโรคมือ เท้า ปาก (Hand, Foot, and Mouth Disease)

โรคมือเท้าปาก มีสาเหตุเกิดจากอะไร?

เชื้อ coxsackievirus 16 ซึ่งเป็นไวรัสชนิดหนึ่งในกลุ่ม nonpolio enteroviruses เป็นสาเหตุหลักของโรคมือเท้าปาก อย่างไรก็ตามไวรัส enterovirus ชนิดอื่นสามารถทำให้เกิดโรคได้เช่นกัน

โรคมือเท้าปากติดต่อจากคนสู่คน ผ่านการสัมผัสกับน้ำลาย น้ำมูก ละอองฝอยจากการไอหรือจาม ของเหลวจากตุ่มพอง หรืออุจจาระของผู้ติดเชื้อ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคมือเท้าปาก

วัยเด็ก ทุกคนสามารถติดเชื้อโรคมือเท้าปากได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วเด็กที่อายุน้อยกว่า 5-7 ปีมักได้รับผลกระทบจากโรคนี้  เนื่องจากโรคนี้ติดต่อได้ง่ายจากการสัมผัสผู้ป่วย เด็กในสถานรับเลี้ยงเด็ก ซึ่งมีความใกล้ชิดกันจึงติดเชื้อได้ง่าย  ส่วนเด็กโตและผู้ใหญ่สามารถพัฒนาภูมิคุ้มกันโรคหลังได้รับเชื้อ

มือเท้าปาก มีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่?

อาการของโรคมือเท้าปากมักไม่รุนแรง หายได้เอง อย่างไรก็ตาม บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ดังนี้

  • ภาวะขาดน้ำ
    เด็กที่ป่วยมักจะดื่มน้ำและรับประทานอาหารได้น้อยลงเนื่องจากแผลในปาก หากไม่รับประทานอะไรได้เลย แพทย์อาจแนะนําให้พักรักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อรับน้ำเกลือ
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัส
    หากเชื้อ enterovirus เข้าสู่สมองอาจทําให้เกิดเยื่อหุ้มสมองและน้ำไขสันหลังรอบสมองและไขสันหลังอักเสบได้ อย่างไรก็ตามอาการนี้มักพบได้น้อย
  • โรคไข้สมองอักเสบ
    เป็นอาการอักเสบของสมองที่พบได้น้อย แต่รุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิต

โรคมือเท้าปาก มีวิธีป้องกันอย่างไร?

  • ล้างมือด้วยสบู่ก่อนรับประทานอาหารหรือเตรียมอาหาร ทําความสะอาดมือให้สะอาดหลังการจาม ไอ เปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก หรือใช้ห้องน้ำ
  • ทําความสะอาดของเล่นและพื้นผิวสัมผัสร่วมที่คนใช้บ่อย ๆ เช่น ลูกบิดประตู
  • สอนวิธีการล้างมืออย่างถูกต้องให้กับเด็ก ๆ อธิบายและเตือนว่าไม่ควรเอานิ้ว ของเล่น หรือวัตถุอื่น ๆ เข้าปาก
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง งดไปสถานรับเลี้ยงเด็กหากลูกป่วย

 อาการ สาเหตุ การตรวจวินิจฉัย และการรักษาโรค มือ เท้า ปาก

โรคมือเท้าปาก มีการตรวจวินิจฉัยอย่างไร?

แพทย์จะถามอายุของเด็ก และประเมินอาการ แผลในปากว่าเกิดจากโรคมือเท้าปากหรือการติดเชื้อไวรัสอื่น ๆ แพทย์อาจให้เก็บเชื้อที่คอหรืออุจจาระไปตรวจเพื่อตรวจสอบชนิดของไวรัส

โรคมือเท้าปาก มีวิธีรักษาอย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคมือเท้าปากโดยเฉพาะ โดยปกติโรคจะหายเองภายใน 7-10 วัน อย่างไรก็ตามสามารถบรรเทาความรุนแรงได้ด้วยการใช้ยาชาในช่องปากเฉพาะที่ ยา acetaminophen หรือ ibuprofen

การดูแลรักษาเด็กที่บ้าน เมื่อเป็นมือเท้าปาก

เนื่องจากความเจ็บปวดที่เกิดจากตุ่มพองในปากและลําคออาจทำให้เด็กไม่อยากอาหาร คุณพ่อคุณแม่สามารถปฏิบัติตามคําแนะนําด้านล่างเพื่อกระตุ้นให้เด็ก ๆ รับประทานอาหารได้มากขึ้นและบรรเทาอาการเจ็บปวดภายในช่องปาก

  • บ้วนปากด้วยน้ำเกลือเพื่อบรรเทาอาการอักเสบและความเจ็บปวด
  • งดรับประทานผลไม้รสเปรี้ยว น้ำผลไม้ หรือโซดาเนื่องจากมีกรด ซึ่งอาจสร้างความระคายเคืองภายในช่องปาก
  • ให้รับประทานของเย็น ๆ เช่น ไอติมแท่ง น้ำแข็ง ไอศกรีม และโยเกิร์ตเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด
  • จิบน้ำเย็น
  • รับประทานอาหารอ่อน ๆ หากเคี้ยวไม่ไหว

การเตรียมตัวก่อนไปพบแพทย์

  • จดอาการและประวัติทางการแพทย์ของบุตรหลาน
  • จดบันทึกยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั้งหมด พร้อมปริมาณที่รับประทาน
  • จดคําถามที่ต้องการถามแพทย์

ตัวอย่างคําถามที่คุณอาจต้องการถามแพทย์

  • อะไรคือสาเหตุของอาการของโรค
  • บุตรหลานต้องได้รับตรวจเพิ่มเติมใด ๆ หรือไม่
  • ควรจัดการกับอาการเพื่อให้บัตรหลานสบายตัวได้อย่างไร
  • มีข้อห้ามใด ๆ หรือไม่

คำถามที่พบบ่อย (FAQ)

  • โรคมือ เท้า ปาก ระบาดเมื่อไหร่?
    โรคมือ เท้า ปาก พบได้บ่อยที่สุดในช่วงฤดูฝน โดยพบการติดเชื้อมากในสถานรับเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียน ซึ่งเด็กอยู่ใกล้ชิดกัน ในช่วงสัปดาห์แรกของการติดเชื้อเป็นช่วงที่เชื้อแพร่กระจายได้เร็วที่สุด และเด็ก ๆ ที่ติดเชื้อยังสามารถแพร่กระจายไวรัสต่อได้อีกหลายสัปดาห์หลังไม่มีอาการแล้ว ผู้ใหญ่ที่ได้รับเชื้อสามารถแพร่กระจายเชื้อได้เช่นกันแม้ว่าจะไม่มีอาการใด ๆ ก็ตาม
  • อาการโรคมือ เท้า ปาก เป็นอย่างไร?
    โรคมือ เท้า ปาก มีระยะฟักตัว 3-6 วัน ก่อนที่จะเริ่มมีไข้และเจ็บคอ เด็ก ๆ อาจไม่อยากอาหารและเริ่มงอแง หลังจากมีไข้เป็นเวลา 1-2 วัน จะปรากฎตุ่มพองด้านหน้าของปากและลําคอ เกิดผื่นที่ไม่คัน แต่อาจมีตุ่มพองหรือตุ่มนูนเล็ก ๆ บนฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือผื่นอาจขึ้นที่บริเวณก้นได้
  • โรคมือ เท้า ปาก เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
    ควรไปพบแพทย์ทันทีหากเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน หรือ เมื่อเด็กไม่ยอมรับประทานน้ำหรืออาหารเพราะอาจทําให้ร่างกายขาดน้ำได้ หากมีอาการนานกว่า 10 วันควรปรึกษาแพทย์
  • สาเหตุของโรคมือ เท้า ปาก คืออะไร?
    เชื้อ coxsackievirus 16 ซึ่งเป็นไวรัสชนิดหนึ่งในกลุ่ม nonpolio enteroviruses เป็นสาเหตุหลักของโรคมือเท้าปาก อย่างไรก็ตามไวรัส enterovirus ชนิดอื่นสามารถทำให้เกิดโรคได้เช่นกัน โรคมือเท้าปากติดต่อจากคนสู่คน ผ่านการสัมผัสกับน้ำลาย น้ำมูก ละอองฝอยจากการไอหรือจาม ของเหลวจากตุ่มพอง หรืออุจจาระของผู้ติดเชื้อ

  • คำถาม: รักษาโรคมือ เท้า ปาก อย่างไร
    คำตอบ: ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคมือเท้าปากโดยเฉพาะ โดยปกติโรคจะหายเองภายใน 7-10 วัน อย่างไรก็ตามสามารถบรรเทาความรุนแรงได้ด้วยการใช้ยาชาในช่องปากเฉพาะที่ ยา acetaminophen หรือ ibuprofen

  • คำถาม: โรคมือ เท้า ปาก ควรดูแลตัวเองอย่างไร
    คำตอบ: เนื่องจากความเจ็บปวดที่เกิดจากตุ่มพองในปากและลําคออาจทำให้เด็กไม่อยากอาหาร คุณพ่อคุณแม่สามารถปฏิบัติตามคําแนะนํา เพื่อกระตุ้นให้เด็ก ๆ รับประทานอาหารได้มากขึ้นและบรรเทาอาการเจ็บปวด เช่น บ้วนปากด้วยน้ำเกลือเพื่อบรรเทาอาการอักเสบและความเจ็บปวด งดรับประทานผลไม้รสเปรี้ยว น้ำผลไม้ หรือโซดา ให้รับประทานของเย็น ๆ เช่น ไอติมแท่ง น้ำแข็ง ไอศกรีม รับประทานอาหารอ่อน ๆ เป็นต้น

โรคมือเท้าปาก (Hand, Foot and Mouth Disease: HFM) สาเหตุ อาการ การรักษา

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 16 ก.พ. 2023

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    ศ.พญ. ศศิธร ลิขิตนุกูล

    ศ.พญ. ศศิธร ลิขิตนุกูล

    • กุมารเวชศาสตร์
    • กุมารเวชศาสตร์โรคติดเชื้อ
    Pediatrics, Pediatrics Infectious Disease
  • Link to doctor
    พญ.   สุจิตรา ชัยสวนียากรณ์

    พญ. สุจิตรา ชัยสวนียากรณ์

    • กุมารเวชศาสตร์
    • กุมารเวชศาสตร์โรคติดเชื้อ
    Pediatrics, Pediatrics Infectious Disease