เลือกหัวข้อที่อ่าน
- การสูญเสียการได้ยินมีกี่ประเภท?
- สูญเสียการได้ยินมีอาการอย่างไร?
- สูญเสียการได้ยิน มีสาเหตุเกิดจากอะไร?
- ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้สูญเสียการได้ยินมีอะไรบ้าง?
- วิธีตรวจวินิจฉัยการสูญเสียการได้ยิน มีกี่วิธี?
- วิธีรักษาอาการสูญเสียการได้ยิน มีกี่วิธี?
- การใช้ชีวิตเมื่อสูญเสียการได้ยิน
การสูญเสียการได้ยิน
เพื่อที่จะเข้าใจเรื่องภาวะสูญเสียการได้ยิน มาทำความรู้จักกลไลการทำงานของร่างกายในการรับรู้เรื่องเสียงกันก่อน
เราได้ยินเสียงได้อย่างไร?
หูของคนเราประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก อันได้แก่ หูชั้นนอก หูชั้นกลาง หูชั้นใน เมื่อคลื่นเสียงผ่านเข้าไปในหูชั้นนอก เยื่อแก้วหูจะสั่นสะเทือน ซึ่งเยื่อแก้วหูนั้นเชื่อมต่อกับกระดูกขนาดเล็กในหูชั้นกลาง 3 ชิ้น คือ กระดูกค้อน กระดูกทั่ง กระดูกโกลนกระดูกทั้ง 3 ชิ้น และเยื่อแก้วหูจะขยายแรงสั่นสะเทือนของคลื่นเสียง ก่อนที่คลื่นเสียงจะผ่านเข้าไปในอวัยวะรูปหอยโข่ง (cochlea) ซึ่งเป็นโครงสร้างของหูชั้นใน อวัยวะรูปหอยโข่งซึ่งมีสารน้ำอยู่ด้านใน มีเซลล์ขนขนาดเล็กจำนวนมากซึ่งเชื่อมต่อกับเส้นประสาทการได้ยิน เซลล์ขนเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการแปลงแรงสั่นสะเทือนให้เป็นกระแสไฟฟ้าประสาท ซึ่งจะถูกส่งต่อไปยังสมองเพื่อทำการแปลสัญญาณ ทำให้เรารับรู้ได้ยินเสียง
การค่อย ๆ สูญเสียการได้ยินเนื่องจากอายุที่มากขึ้นหรือภาวะหูตึงในผู้สูงอายุถือเป็นเรื่องปกติ อายุที่มากขึ้นและการได้ยินเสียงดังเป็นประจำทุกวันเป็นปัจจัยที่ทำให้เซลล์ขนเสื่อมสภาพ จนสูญเสียการได้ยิน ไม่สามารถแก้ไขให้กลับมาดีดังเดิมได้ อย่างไรก็ตามการเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและการฟื้นฟูอย่างเหมาะสมจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการได้ยินได้
Outer ear หูชั้นนอก / Middle ear หูชั้นกลาง / Inner ear หูชั้นใน / Temporal bone กระดูกขมับ / Malleus กระดูกค้อน / Incus กระดูกทั่ง / Stapes กระดูกโกลน / Semicircular canals ท่อครึ่งวงกลมในหูชั้นใน / Vestibular nerve / เส้นประสาทการทรงตัว Chochlea / หูชั้นในรูปหอยโข่ง Auditory nerve เส้นประสาทการได้ยิน / Pinna (auricle) ใบหู / Ear canal รูหู / Ear drum เยื่อแก้วหู / Middle ear cavity โพรงหูส่วนกลาง / Auditory tube ท่อปรับความดันหู
การสูญเสียการได้ยินมีกี่ประเภท?
- การนำเสียงบกพร่อง (Conductive Hearing Loss): เป็นภาวะผิดปกติที่หูชั้นนอก (รูหู) หรือหูชั้นกลางปิดกั้นการเดินทางของเสียงไปยังหูชั้นใน
- ประสาทรับเสียงบกพร่อง (Sensorineural Hearing Loss): เกิดจากการที่เซลล์ขนและเซลล์ประสาทในหูชั้นในได้รับความเสียหายตามกาลเวลา ทำให้ประสาทรับเสียงบกพร่อง โรคหูตึงเฉียบพลันหรือหูหนวกนั้นอาจเกิดขึ้นได้ แต่พบได้น้อยราย
- การรับฟังเสียงบกพร่องแบบผสม (Mixed Hearing Loss): ปัญหาในหูชั้นกลางหรือหูชั้นนอก ร่วมกับการนำเสียงและประสาทรับเสียงในหูชั้นในบกพร่อง
สูญเสียการได้ยินมีอาการอย่างไร?
- ได้ยินเสียงอู้อี้
- มีปัญหาเรื่องการได้ยินบทสนทนา โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสถานที่ดังอึกทึก
- มีปัญหาเรื่องการได้ยินเสียงพยัญชนะ
- ขอให้ผู้อื่นพูดช้า ๆ ชัด ๆ และดังขึ้นบ่อย ๆ
- เปิดเสียงทีวีและวิทยุดังขึ้นกว่าเดิมบ่อย ๆ
- ได้ยินเสียงรบกวนในหู
สัญญาณของการสูญเสียการได้ยินในเด็กทารก
- ไม่ตกใจกับเสียงดัง
- ไม่หันหน้ามองตามเสียงหลังอายุ 6 เดือน
- ไม่พูดเป็นคำ ๆ เช่น แม่ หรือ พ่อ เมื่ออายุครบ 1 ปี
- ไม่ตอบสนองเมื่อเรียกชื่อ
สัญญาณของการสูญเสียการได้ยินในเด็ก
- พูดว่า “ห๊ะ” บ่อย ๆ
- พูดช้า
- พูดไม่ชัด
- ทำตามคำสั่งไม่ได้
- มักขอปรับเสียงทีวีให้ดังขึ้น
สูญเสียการได้ยิน มีสาเหตุเกิดจากอะไร?
- ความผิดปกติของหูชั้นนอก เช่น ขี้หูอุดตัน รูหูตีบตัน มีเนื้องอกหรือขี้หูในรูหู
- ความผิดปกติของเยื่อแก้วหู (เยื่อแก้วหูทะลุ) จากเสียงที่ดัง ความกดอากาศเปลี่ยนแปลงฉับพลัน สิ่งแปลกปลอม หรือการอักเสบติดเชื้อ เยื่อแก้วหูทะลุทำให้สูญเสียการได้ยิน
- ความผิดปกติของหูชั้นกลาง เช่น หูน้ำหนวก กระดูกหูยึดหรือหลุดออกจากกัน
- ความผิดปกติของหูชั้นใน เกิดจากอายุที่มากขึ้นและการได้ยินเสียงดังเป็นเวลานาน ส่งผลให้เซลล์ขนอันบอบบางหรือเซลล์ประสาทภายในอวัยวะรูปหอยโข่ง (cochlea) เสื่อมสภาพ ทำให้การส่งผ่านคลื่นไฟฟ้าไปยังสมองไม่มีประสิทธิภาพ จนนำไปสู่การสูญเสียการได้ยิน ผู้ป่วยจะได้ยินเสียงสูงได้ไม่ชัดเจนอู้อี้และมีปัญหาเรื่องการแยกแยะเสียงพูดออกจากเสียงรบกวน
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้สูญเสียการได้ยิน มีอะไรบ้าง?
- อายุ: หูชั้นในจะค่อย ๆ เสื่อมลงตามอายุ
- เสียงดัง: เสียงดังที่ดังติดต่อกันเป็นเวลานานจากการทำงาน เช่น งานก่อสร้างหรือโรงงานอาจทำให้หูชั้นในได้รับความเสียหาย เสียงระเบิด เสียงยิงปืน หรือเสียงเครื่องยนต์ของเครื่องบิน อาจทำให้สูญเสียการได้ยินถาวรในทันที เสียงรถจักรยานยนต์หรือการฟังเพลงดัง ๆ ก็อาจทำให้เสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยิน
- พันธุกรรม: ปัจจัยทางด้านพันธุกรรมอาจทำให้หูชั้นในมีความไวต่อการถูกทำลายจากการได้ยินเสียงดัง
- ยา: ยาบางชนิด เช่น ยา gentamicin ยา sildenafil และยารักษามะเร็งอาจทำลายหูชั้นในได้ การใช้ยาแอสไพรินปริมาณมาก ยาแก้ปวด ยารักษามาเลเรีย ยาขับปัสสาวะกลุ่มลูปไดยูเรติกในปริมาณที่สูง อาจทำให้มีปัญหาเรื่องการได้ยินชั่วคราว เช่น ได้ยินเสียงในหู
- อาการเจ็บป่วย: โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบมักทำให้มีไข้สูงและอาจทำให้เซลล์ขนในหูชั้นในถูกทำลาย
วิธีตรวจวินิจฉัยการสูญเสียการได้ยิน มีกี่วิธี?
- การซักประวัติและตรวจร่างกาย เพื่อดูว่ามีขี้หูอุดตันหรือมีการติดเชื้อในหูชั้นกลางหรือไม่ นอกจากนี้รูปร่างลักษณะของหูยังอาจเป็นต้นเหตุของปัญหาเรื่องการได้ยินได้เช่นกัน
- การตรวจการได้ยินด้วยส้อมเสียง (Tuning fork test) ซึ่งทำจากโลหะ มี 2 ขา เมื่อเคาะจะสั่นที่คลื่นความถี่คงที่ ช่วยในการตรวจหาพยาธิสภาพของหู
- การตรวจสมรรถภาพการได้ยิน โดยผู้เข้ารับการตรวจจะสวมใส่หูฟังและฟังเสียงหรือคำผ่านทางหูฟัง เพื่อประเมินระดับความดังของเสียงที่สามารถได้ยินได้ ซึ่งจะทำโดยนักแก้ไขการได้ยินหรือนักโสตสัมผัสวิทยาในห้องเก็บเสียง
วิธีรักษาอาการสูญเสียการได้ยิน มีกี่วิธี?
- การทำความสะอาดเพื่อกำจัดขี้หู: การสูญเสียการได้ยินจากขี้หูอุดตันสามารถแก้ไขได้โดยการดูดหรือใช้เครื่องมือนำขี้หูออกมา
- การผ่าตัด: การสูญเสียการได้ยินบางประเภทสามารถแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัด ยกตัวอย่างเช่น การติดเชื้อที่หูชั้นกลางอาจทำให้มีของเหลวคั่งในหู แพทย์จะสอดท่อเข้าไประบายน้ำออก
- การใช้เครื่องช่วยฟัง: การใช้เครื่องช่วยฟังเหมาะสำหรับผู้ที่สูญเสียการได้ยินจากการที่หูชั้นในได้รับความเสียหาย โดยนักแก้ไขการได้ยินจะช่วยแนะนำข้อดีและเครื่องช่วยฟังประเภทต่าง ๆ ได้
- การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม: หากเครื่องช่วยฟังไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องการได้ยินได้ แพทย์อาจทำการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม ซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นเส้นประสาทการได้ยินในบริเวณหูชั้นในที่ทำงานผิดปกติ ต่างจากเครื่องช่วยฟังซึ่งจะทำหน้าที่ขยายเสียงและส่งผ่านเสียงเข้าไปยังรูหู
การใช้ชีวิตเมื่อสูญเสียการได้ยิน
- บอกเพื่อนและครอบครัวให้ทราบถึงอาการที่มี
- เวลาพูดคุย ควรหันหน้าไปทางผู้พูดและขอให้ผู้พูดพูดด้วยเสียงอันดังและชัดเจนขึ้นด้วยความสุภาพหากไม่ได้ยิน
- เมื่อกำลังพูดคุย ควรปิดทีวีหรือวิทยุเพื่อลดเสียงรบกวน
- ใช้เครื่องช่วยฟังหรือลำโพงขยายเสียงสำหรับโทรศัพท์มือถือ
การเตรียมตัวก่อนพบแพทย์
- บันทึกอาการที่ผิดปกติ โดยอาจให้เพื่อนหรือคนในครอบครัวช่วย เพราะผู้ป่วยอาจไม่รู้ตัวว่ามีอาการ
- บันทึกประวัติสุขภาพที่มี อาการหูติดเชื้อ การได้รับบาดเจ็บที่หู หรือการเข้ารับการผ่าตัด
- บรรยายลักษณะที่ทำงานว่ามีเสียงดังหรือไม่
- พาเพื่อนหรือคนในครอบครัวไปด้วยเพื่อช่วยฟังคำแนะนำของแพทย์
- รวบรวมคำถามที่ต้องการถามแพทย์ ยกตัวอย่างเช่น
- สาเหตุของอาการนั้นเกิดจากอะไร
- จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจอะไรเพิ่มเติมหรือไม่
- ต้องปรับขนาดยาหรือหยุดรับประทานยาใด ๆ หรือไม่
- การรักษาแบบใดที่เหมาะกับอาการ มีความเสี่ยงและข้อดีอะไรบ้าง
เตรียมคำตอบสำหรับคำถามที่แพทย์อาจจะถาม
- เคยมีอาการปวดหูหรือมีของเหลวไหลออกมาจากหูบ้างหรือไม่
• เริ่มมีอาการครั้งแรกเมื่อไร
• ได้ยินเสียงรบกวนในหูตลอดเวลาหรือไม่
• รู้สึกเวียนศีรษะหรือไม่
• มีปัญหาเรื่องการทรงตัวหรือไม่
• มีปัญหาเรื่องการได้ยินหรือไม่
• ต้องปรับเสียงเพิ่มขึ้นเวลาดูโทรทัศน์หรือฟังวิทยุหรือไม่
• เวลาพูดคุยกับผู้อื่น มักจะขอให้ผู้อื่นพูดซ้ำหรือพูดเสียงดังขึ้นหรือไม่
• อยากลองใช้เครื่องช่วยฟังหรือไม่
คำถามที่มักถามบ่อย
- การสูญเสียการได้ยินกับภาวะหูหนวกต่างกันอย่างไร
ผู้ที่สูญเสียการได้ยินยังคงได้ยินเสียงและพูดคุยบทสนทนากับผู้อื่นได้ อาการจะดีขึ้นเมื่อได้รับการรักษาหรือใช้เครื่องช่วยฟัง ส่วนผู้ที่มีภาวะหูหนวกแทบไม่ได้ยินเสียงใด ๆ หรือไม่ได้ยินเลย การใช้เครื่องช่วยฟังไม่สามารถช่วยให้อาการดีขึ้น และผู้ที่มีภาวะหูหนวกจำเป็นต้องทำการสื่อสารด้วยวิธีอื่น
คำแนะนำจากแพทย์
การสูญเสียการได้ยินอาจเกิดชั่วคราวหรือถาวร การต้องใช้ชีวิตกับภาวะดังกล่าวอาจทำให้ชีวิตมีความยากลำบากมากขึ้น ผู้ป่วยอาจรู้สึกท้อแท้ ที่ไม่สามารถได้ยินเสียงได้อย่างชัดเจนตามปกติ หากเริ่มสงสัยว่าการได้ยินเปลี่ยนไป จึงควรรีบเข้ารับการประเมินและตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด พร้อมเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีดังเดิม