เลือกหัวข้อที่อ่าน
- ไส้เลื่อน คืออะไร
- โรคไส้เลื่อนมีกี่ชนิด
- ไส้เลื่อน มีสาเหตุเกิดจากอะไร
- ไส้เลื่อน มีอาการอย่างไร
- การตรวจวินิจฉัยไส้เลื่อน มีวิธีการอย่างไร
- การรักษาไส้เลื่อน มีวิธีการรักษาอย่างไร
- ไส้เลื่อน มีภาวะแทรกซ้อนอย่างไร
- ไส้เลื่อน มีวิธีการป้องกันอย่างไร
ไส้เลื่อน (Hernia) คืออะไร
ไส้เลื่อน (Hernia) เกิดจากการมีเนื้อเยื่อบริเวณหน้าท้องหรือขาหนีบที่ไม่แข็งแรง จนส่วนหนึ่งของลําไส้หรือเนื้อเยื่อไขมันในช่องท้องสามารถยื่นดันผ่านบริเวณที่ไม่แข็งแรงเพียงพอออกมาได้ เมื่อเป็นโรคไส้เลื่อน จะปรากฎมีก้อนนูนยื่นออกมาจนสังเกตหรือสัมผัสได้ โรคไส้เลื่อนไม่สามารถหายเองได้ และหากปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง
โรคไส้เลื่อนมีกี่ชนิด
- ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ พบได้บ่อย โดยเฉพาะในเพศชาย โดยลำไส้หรือไขมันจะยื่นนูนออกมาเหนือบริเวณขาหนีบใกล้ต้นขาด้านใน
- ไส้เลื่อนบริเวณโคนขา มักพบในเพศหญิงสูงวัย
- ไส้เลื่อนบริเวณสะดือ จะมีก้อนนูนบริเวณสะดือ
- ไส้เลื่อนกระบังลม บางส่วนของกระเพาะอาหารจะยื่นดันกระบังลมเข้าไปในทรวงอก
- ไส้เลื่อนบริเวณแผลผ่าตัด ก้อนนูนจะดันผ่านแผลผ่าตัดบริเวณหน้าผนังช่องท้องจากการผ่าตัดในอดีต
- ไส้เลื่อนหน้าท้องเหนือสะดือ เนื้อเยื่อไขมันดันผ่านผนังหน้าท้องบริเวณแนวดิ่งตรงกลางช่วงระหว่างกระดูกหน้าอกและสะดือ
- ไส้เลื่อนบริเวณด้านข้างกล้ามเนื้อหน้าท้อง จะพบได้ที่ขอบของกล้ามเนื้อท้องบริเวณต่ำกว่าสะดือ
ไส้เลื่อน มีสาเหตุเกิดจากอะไร
- ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบและไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบ เกิดจากการที่มีเนื้อเยื่ออ่อนแอตั้งแต่กำเนิด หรือเนื่องจากอายุที่มากขึ้น หรือการออกแรงเบ่งท้องเป็นเวลานาน เช่น การยกของหนักเป็นประจำ ไอเรื้อรัง ท้องผูกเรื้อรัง หรือเบ่งปัสสาวะจากภาวะต่อมลูกหมากโต
- ไส้เลื่อนบริเวณสะดือ อาจเกิดจากการออกแรงเบ่งบริเวณช่องท้อง การมีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ การไอแรง ๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือการคลอดบุตร
- ไส้เลื่อนกระบังลม อาจเกิดจากอายุที่มากขึ้นทำให้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อกระบังลมลดลง
ไส้เลื่อน มีอาการอย่างไร
- มีก้อนนูนบริเวณผนังหน้าท้อง ขาหนีบ หรือถุงอัณฑะ ซึ่งสามารถดันกลับเข้าไป หรือหายไปเมื่อนอนราบ และก้อนจะนูนออกมาอีกครั้งหากไอ จาม ร้องตะโกน หัวเราะ หรือเบ่งอุจจาระหรือปัสสาวะ
- ก้อนนูนจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ
- รู้สึกปวดหน่วง ๆ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปจะรู้สึกปวดมากขึ้น
- ปวดเวลาต้องยกของ
- รู้สึกแน่นท้อง ท้องอืด หรือมีภาวะลําไส้อุดตัน
สำหรับโรคไส้เลื่อนกระบังลมนั้น จะไม่มีก้อนนูนให้เห็นจากภายนอก แต่ผู้ป่วยจะมีอาการกลืนลำบาก ปวดแสบปวดร้อนกลางอก อาหารไม่ย่อย อาเจียน เจ็บหน้าอก
การตรวจวินิจฉัยไส้เลื่อน มีวิธีการอย่างไร
แพทย์จะทำการตรวจร่างกายโดยการคลำก้อนนูน สําหรับผู้ป่วยไส้เลื่อนขาหนีบแพทย์จะขอให้ผู้ป่วยไอในขณะที่กําลังตรวจบริเวณเหนือลูกอัณฑะและขาหนีบ แพทย์อาจให้ตรวจเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรืออัลตราซาวนด์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม
การรักษาไส้เลื่อน มีวิธีการอย่างไร
เนื่องจากโรคไส้เลื่อนไม่สามารถหายได้เอง ยกเว้นไส้เลื่อนสะดือขนาดเล็กในเด็กเล็กซึ่งอาจปิดได้เองเมื่อก่อนอายุครบ 5 ขวบ การรักษาโรคไส้เลื่อนจึงจำเป็นต้องใช้วิธีการผ่าตัดเกือบทั้งหมด
ตัวอย่างเช่น การผ่าตัดไส้เลื่อนสะดือมักแนะนําในเด็กเล็กที่ไส้เลื่อนยังไม่ปิดเองเมื่ออายุได้ประมาณ 5 ขวบ สำหรับผู้ใหญ่ที่เป็นโรคไส้เลื่อนสะดือควรเข้ารับการผ่าตัด เพราะหากปล่อยทิ้งไว้จะยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน
- การผ่าตัดแบบเปิด เป็นการผ่าตัดแบบดั้งเดิม ซึ่งจะเป็นการผ่าเปิดผิวหนังและเนื้อเยื่อที่ตําแหน่งบนไส้เลื่อน ศัลยแพทย์จะสามารถเห็นโครงสร้างภายในได้ครบถ้วน สามารถดันก้อนนูนกลับเข้าที่ และเย็บผนังกล้ามเนื้อที่อ่อนแอเข้าด้วยกัน โดยอาจมีการใช้แผ่นตาข่ายพิเศษเสริมความแข็งแรง
- การส่องกล้องผ่าตัด ศัลยแพทย์จะกรีดแผลขนาดเล็กเพื่อใส่กล้องและเครื่องมือผ่าตัดเข้าไปในบริเวณที่ต้องการผ่าตัด วิธีนี้มีข้อดีในเรื่องระยะเวลาพักรักษาตัวในโรงพยาบาลที่สั้นลง ผู้ป่วยฟื้นตัวจากการผ่าตัดได้เร็วขึ้น และมีอาการปวด เลือดออก และรอยแผลเป็นหลังการผ่าตัดน้อยลง
ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด
ไส้เลื่อน มีภาวะแทรกซ้อนอย่างไร
มีเพียงโรคไส้เลื่อนบริเวณสะดือในทารกเท่านั้นที่สามารถหายได้เอง แต่โรคไส้เลื่อนประเภทอื่น ๆ มักมีอาการแย่ลงและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา
ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบและไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนดังต่อไปนี้
- ไส้เลื่อนติดค้าง ไม่สามารถดันกลับได้: บางส่วนของลําไส้อาจติดอยู่บริเวณช่องขาหนีบ ทำให้เกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน
- ลำไส้ถูกรัดบริเวณรอยคอดของรูไส้เลื่อนจนเกิดภาวะลําไส้ขาดเลือดและเน่าตาย: การที่ลำไส้บางส่วนขาดเลือดจนเน่าตาย จะเกิดสารพิษและการติดเชื้อ ซึ่งอาจแพร่เข้าสู่กระแสเลือดได้ โดยภาวะดังกล่าวถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์
ไส้เลื่อน มีวิธีการป้องกันอย่างไร
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตราฐาน
- ออกกําลังกายเป็นประจํา อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน
- เพิ่มการรับประทานผัก ผลไม้ และธัญพืชไม่ขัดสีในมื้ออาหารประจําวัน เพื่อป้องกันอาการท้องผูก
- เรียนรู้วิธีหรือท่าทางการยกของหนักที่เหมาะสม
- ควรพบแพทย์หากจามหรือไอติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาการไอเรื้อรังจะไปกระตุ้นให้เกิดโรคไส้เลื่อนได้
- เลิกสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่ทำให้ไอบ่อยซึ่งเป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่งของโรคไส้เลื่อน