เลือกหัวข้อที่อ่าน
- ปวดเข่า
- ปวดเข่า มีอาการอย่างไร
- ควรพบแพทย์เมื่อใด
- อาการปวดเข่ามีสาเหตุเกิดจากอะไร
- ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ปวดเข่า
- วิธีการการตรวจวินิจฉัย อาการปวดเข่า
- วิธีการรักษาอาการปวดเข่า
- วิธีการป้องกันอาการปวดเข่า
ปวดเข่า
อาการปวดเข่าเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการได้รับบาดเจ็บ เช่น หมอนรองกระดูกฉีกขาด เอ็นฉีก หรือจากโรคต่าง ๆ เช่น โรคข้อเข่าเสื่อม โรคเกาต์ ภาวะข้ออักเสบ หรือการติดเชื้อ เพื่อบรรเทาและรักษาอาการปวดเข่าที่ไม่รุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้ใส่กายอุปกรณ์เสริมข้อเข่าหรือทำกายภาพบำบัด ส่วนในรายที่อาการรุนแรงนั้นการผ่าตัดเป็นทางเลือกหนึ่งที่นับว่ามีประสิทธิภาพและช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้งหนึ่ง
ปวดเข่า มีอาการอย่างไร
- ข้อเข่าฝืด บวม กดเจ็บ
- ยืดเหยียดเข่าได้ไม่สุด
- เข่าอ่อน รู้สึกไม่มั่นคง
- เข่าลั่น
ควรพบแพทย์เมื่อไร
- เข่าอ่อนหรือรับน้ำหนักไม่ได้
- เหยียดหรืองอเข่าไม่ได้
- เข่าหรือขาผิดรูปไปจากเดิม
- มีไข้หลังมีอาการเข่าบวม
- ปวดเข่ามาก เนื่องจากการได้รับบาดเจ็บ
ปวดเข่ามีสาเหตุเกิดจากอะไร
- การได้รับบาดเจ็บ อาการบาดเจ็บที่เข่าอาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะหลายส่วนในข้อเข่า เช่น เส้นเอ็น ถุงน้ำ (bursae) กระดูก กระดูกอ่อน และโครงสร้างข้อต่อ อาการบาดเจ็บที่เข่าที่พบได้บ่อยได้แก่
- เอ็นไขว้หน้าเข่าขาด มักพบในผู้ที่เล่นกีฬา เช่น บาสเก็ตบอล ฟุตบอล หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่มีการเปลี่ยนท่าทางโดยฉับพลัน
- กระดูกหัวเข่าหรือกระดูกสะบ้าแตกจากการล้ม อุบัติเหตุ หรือกระดูกเปราะจากโรคกระดูกพรุน
- หมอนรองข้อเข่าฉีกขาดจากการบิดตัวกะทันหันขณะลงน้ำหนัก
- ถุงน้ำด้านในเข่าอักเสบ เกิดจากการบาดเจ็บที่หัวเข่าส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของเอ็นกล้ามเนื้อและเอ็นยึดหัวเข่า
- เอ็นหัวเข่าอักเสบ มักพบได้บ่อยในผู้ที่เล่นกีฬา เช่น วิ่ง เล่นสกี ปั่นจักรยาน และกระโดด เป็นประจำ
- ปัญหาทางข้อเข่า
- อาการปวดสะโพกหรือเข่า ทำให้ต้องเปลี่ยนท่าเดินเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดในข้อ แต่ท่าเดินที่เปลี่ยนไปนั้นไปเพิ่มแรงกดลงบนข้อเข่า ส่งผลให้ปวดเข่า
- กระดูกสะบ้าเคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิมไปด้านนอกของเข่า
- เศษกระดูกในเข่าไปขัดการเคลื่อนไหวของข้อเข่า
- เอ็นต้นขาด้านข้างอักเสบ มักพบในนักวิ่งระยะทางไกลและนักปั่นจักรยาน
- โรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งเป็นการถูกทำลายของกระดูกอ่อนผิวข้อจากการใช้งานและน้ำหนักตัวที่มากเป็นระยะเวลานาน
- ข้อเข่าอักเสบประเภทต่าง ๆ
โรคข้ออักเสบนั้นมีมากกว่า 100 โรค และมีหลายโรคที่ส่งผลต่อหัวเข่า ยกตัวอย่างเช่น- โรคเกาต์ ผลึกกรดยูริกอาจไปสะสมที่บริเวณข้อเข่า
- เกาต์เทียม เกิดจากการสะสมของผลึกแคลเซียมในของเหลวบริเวณข้อเข่า
- โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง ส่งผลต่อข้อต่อทั่วร่างกายรวมถึงข้อเข่า
- โรคข้ออักเสบติดเชื้อ มักทำให้มีไข้ตามมา โรคข้ออักเสบติดเชื้อต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีเพื่อป้องกันกระดูกอ่อนที่เข่าได้รับความเสียหาย
- โรคอื่น ๆ
กลุ่มอาการบาดเจ็บลูกสะบ้าใต้เข่า มักพบในนักกีฬาหรือผู้สูงวัยที่ลูกสะบ้าอักเสบ
ปวดเข่ามักมีปัจจัยเสี่ยงจากอะไรได้บ้าง
- การที่เคยได้รับบาดเจ็บที่หัวเข่ามาก่อน
- การเล่นกีฬาบางประเภทหรืออาชีพบางอาชีพอาจทำให้เข่าต้องรับแรงกระแทกมาก เช่น สกี บาสเก็ตบอล วิ่ง หรือคนงานก่อสร้าง
- น้ำหนักตัวที่มากเกินไป จะเพิ่มแรงกดที่ข้อเข่าขณะที่ทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การเดินหรือเดินขึ้นบันได และยังเพิ่มความเสี่ยงของโรคข้อเสื่อมเพราะข้อกระดูกอ่อนอาจเสื่อมเร็วขึ้น
- กล้ามเนื้อไม่แข็งแรงหรือไม่ยืดหยุ่น
ภาวะแทรกซ้อนของอาการปวดเข่ามีอะไรบ้าง
การได้รับบาดเจ็บที่ข้อเข่าหรือโรคต่าง ๆ เช่น โรคข้อเสื่อม มักแย่ลงหากไม่เข้ารับการรักษา ซึ่งอาการปวดมักเพิ่มมากขึ้น ข้อเข่าได้รับความเสียหายมากขึ้น และการเคลื่อนไหวของร่างกายลดลง นอกจากนี้ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ข้อเข่ามาก่อนมักมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการบาดเจ็บที่เข่าได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
ปวดเข่ามีวิธีการตรวจวินิจฉัยอย่างไร
- การซักประวัติและตรวจร่างกาย
แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจรอยช้ำ อาการปวดบวม และอาการกดเจ็บที่หัวเข่า แพทย์อาจขอให้ผู้เข้ารับการรักษาขยับขาไปมาเพื่อประเมินพิสัยการเคลื่อนไหว จากนั้นจะทำการกดหรือดึงข้อเข่าเพื่อดูความแข็งแรงและความมั่นคงของหัวเข่า - การตรวจวินิจฉัยด้วยภาพถ่าย
- การตรวจเอกซเรย์เพื่อดูรอยร้าวที่กระดูกและวินิจฉัยโรคข้อเสื่อม
- การ CT สแกน สำหรับวินิจฉัยเรื่องกระดูกและรอยร้าวที่ตรวจพบได้ยาก สามารถตรวจพบโรคเกาต์ได้แม้ว่าจะยังไม่มีอาการอักเสบ
- การอัลตราซาวนด์เพื่อตรวจข้อเข่าขณะขยับข้อเข่าไปมา
- การตรวจ MRI เพื่อประเมินการบาดเจ็บของเนื้อเยื่ออ่อน เช่น เอ็นยึดกระดูกกับกระดูก (ligament) เอ็นยึดกระดูกกับกล้ามเนื้อ (tendon) กระดูกอ่อน และกล้ามเนื้อ
- การตรวจในห้องปฏิบัติการ
แพทย์อาจให้ตรวจเลือดและเจาะข้อเพื่อดูว่าข้อเข่าอักเสบหรือมีการติดเชื้อหรือไม่
จะป้องกันอาการปวดเข่าได้อย่างไร
ยาทาน
แพทย์อาจให้รับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการปวดและรักษาโรคที่เป็นสาเหตุของอาการปวดเข่า เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์หรือโรคเกาต์
ยาฉีด
- การฉีดยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ช่วยลดอาการปวดเข่าที่อาจกำเริบขึ้นมาและบรรเทาอาการปวดได้นาน 2-3 เดือน อย่างไรก็ตามยาฉีดนี้อาจใช้ได้ผลในบางกรณีเท่านั้น
- กรดไฮยาลูรอน ช่วยหล่อลื่นข้อต่อ ช่วยเรื่องการเคลื่อนไหว และบรรเทาอาการปวดนานถึง 6 เดือน
- การรักษาด้วยพลาสม่าเกล็ดเลือดเข้มข้น (PRP) ซึ่งช่วยลดอาการอักเสบและเร่งการซ่อมแซมร่างกาย
การทำกายภาพบำบัด
จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหัวเข่า ทำให้ข้อเข่ามั่นคง นักกายภาพบำบัดจะช่วยแนะนำท่าออกกำลังกายที่เหมาะกับความต้องการและสาเหตุของอาการปวดเข่า สำหรับนักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำจะได้รับคำแนะนำถึงการออกกำลังกายที่ถูกวิธีเพื่อปรับเปลี่ยนท่าทางการเคลื่อนไหวที่อาจเป็นสาเหตุของอาการปวดเข่า และแนะนำท่าออกกำลังกายเพื่อช่วยสร้างความยืดหยุ่นของร่างกาย นักกายภาพบำบัดอาจะแนะนำให้ใช้แผ่นเสริมอุ้งเท้า (arch supports) และแผ่นรองส้นรองเพื่อช่วยถ่ายน้ำหนักตัวจากหัวเข่า อีกทั้งกายอุปกรณ์บางประเภทยังสามารถช่วยป้องกันข้อเข่าจากการได้รับบาดเจ็บเพิ่มเติมจากเดิม
การผ่าตัด
- การผ่าตัดข้อด้วยการส่องกล้อง (Arthroscopy) สามารถนำเศษกระดูกในเข่าออกมา ซ่อมแซมกระดูกอ่อนที่ได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะในกรณีที่หัวเข่าล็อก หรือซ่อมแซมเส้นเอ็นที่เข่า
- การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าบางส่วน (Partial knee replacement) เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเฉพาะส่วนที่ได้รับความเสียหาย
- การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าทั้งหมด (Total knee replacement) เป็นการนำกระดูกและกระดูกอ่อนที่ได้รับความเสียหายออกจากกระดูกต้นขา หน้าแข้ง สะบ้า และใส่ข้อเข่าเทียมที่ทำจากอัลลอย พลาสติกคุณภาพสูง หรือโพลิเมอร์เข้าไปแทนที่
- การตัดกระดูก (Osteotomy) เป็นการตัดกระดูกบริเวณต้นขาหรือหน้าแข้งและปรับให้กระดูกอยู่ในแนวเดียวกับหัวเข่าเพื่อบรรเทาอาการปวดข้อ
การปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตและการดูแลรักษาตัวเองที่บ้าน
- รับประทานยาแก้ปวด เช่น ibuprofen หรือ naproxen sodium หรือทายาครีมที่มีสาร lidocaine หรือ capsaicin เพื่อบรรเทาอาการปวดได้ขณะที่อยู่ที่บ้าน
- พักผ่อน หยุดทำกิจวัตรประจำวันเพื่อลดแรงกดลงบนหัวเข่าและให้เข่าได้พักและป้องกันอาการบาดเจ็บ
- ประคบเย็นที่หัวเข่าเพื่อลดอาการปวดและอักเสบ ควรประคบเย็นครั้งละ 20 นาทีไม่เกินกว่านั้น เพื่อป้องกันเส้นประสาทและผิวหนังได้รับความเสียหาย
- ประคบร้อนที่หัวเข่าช่วยบรรเทาอาการปวดได้ชั่วคราว ผู้ป่วยอาจใช้ถุงน้ำร้อนหรือแผ่นประคบร้อนวางบนลงบริเวณที่ปวด
- การพันผ้ารัดเพื่อป้องกันการสะสมของของเหลวในเนื้อเยื่อที่ได้รับบาดเจ็บ ช่วยปรับแนวเข่าให้ตรง
- การยกขาข้างที่เจ็บให้สูงขึ้นขณะนั่งหรือนอน โดยอาจวางขาบนหมอนเพื่อลดอาการบวม
วิธีการป้องกันอาการปวดเข่า
- การดูแลน้ำหนักตัวให้เหมาะสมเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่จะลดแรงกดที่หัวเข่าและลดความเสี่ยงของการได้รับบาดเจ็บที่ข้อเข่าและโรคข้อเข่าเสื่อม
- ก่อนเล่นกีฬาควรเตรียมตัวเข้ารับการฝึกกล้ามเนื้อให้พร้อม เพื่อลดความเสี่ยงของการได้รับบาดเจ็บที่ข้อเข่า
- ระมัดระวังเรื่องเทคนิคการเคลื่อนไหวร่างกายเมื่อเล่นกีฬา
- เสริมสร้างความแข็งแรงและความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อรอบหัวเข่า และยืดกล้ามเนื้อเสมอเพื่อป้องกันกล้ามเนื้อตึง จนอาจทำให้ได้รับบาดเจ็บได้
- ปรับเปลี่ยนวิธีการออกกำลังกายให้เหมาะกับสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม ผู้ที่มีอาการปวดหัวเข่าเรื้อรัง หรือได้รับบาดเจ็บบ่อย ๆ ควรเลือกการออกกำลังกายที่แรงกระแทกน้อย เช่น ว่ายน้ำ แอโรบิกในน้ำแทน