เลือกหัวข้อที่อ่าน
- อาการของภาวะเบื่ออาหาร
- เบื่ออาหาร มีสาเหตุเกิดจากอะไร
- เบื่ออาหาร มีวิธีการตรวจวินิจฉัยอย่างไร
- เบื่ออาหาร มีวิธีการรักษาอย่างไร
เบื่ออาหาร (Loss of Appetite)
ภาวะเบื่ออาหาร (Loss of Appetite) เป็นอาการที่รู้สึกอิ่ม ไม่หิว ไม่อยากอาหารหรือพะอืดพะอมเมื่อเห็นอาหาร ภาวะนี้มักเป็นอาการที่เกิดขึ้นชั่วครั้งคราว โดยอาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลันหรือค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป แต่เป็นเรื่องน่ากังวลหากมีอาการเบื่ออาหารนานกว่าหนึ่งสัปดาห์ อย่างไรก็ตามอาการเบื่ออาหารสามารถหายไปได้หลังได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
ภาวะเบื่ออาหาร หรือ anorexia แตกต่างจากพฤติกรรมการกินอาหารที่ผิดปกติหรือ anorexia nervosa โดยผู้ที่เบื่ออาหารจะไม่รู้สึกหิว ไม่รู้สึกอยากอาหาร ในขณะที่ผู้ที่มีโรค anorexia nervosa ซึ่งเป็นโรคการกินที่ผิดปกติ อาจจะมีความรู้สึกหิว แต่ผู้ป่วยจะจำกัดปริมาณของอาหารที่รับประทานเพราะกลัวอ้วน
อาการของภาวะเบื่ออาหาร
- มีอาการเบื่ออาหาร รับประทานไม่ลง
- ไม่สนใจอาหาร แม้แต่อาหารจานโปรด
- งดอาหารบางมื้อ
- น้ำหนักลด
ภาวะเบื่ออาหารอาจทําให้เกิดอาการอื่น ๆ ได้ เช่น
- ไม่ค่อยมีแรงหรืออ่อนเพลีย เหนื่อยล้า
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- คลื่นไส้หรืออาเจียน
- ท้องเสียหรือท้องผูก
- ผิว ผม หรือเล็บมีลักษณะเปลี่ยนไป
เมื่อมีอาการเบื่ออาหาร ควรไปพบแพทย์เมื่อใด
หากมีอาการข้างต้นนานกว่าหนึ่งสัปดาห์ ควรไปพบแพทย์ หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา ภาวะเบื่ออาหารอาจเป็นอันตรายร้ายแรง ส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย ทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการได้
เบื่ออาหาร มีสาเหตุเกิดจากอะไร
- การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่น ความเจ็บปวดตามร่างกาย อาการปวดฟัน ร่างกายได้รับบาดเจ็บ สูญเสียการรับรสหรือกลิ่น ภาวะขาดน้ำ และการฟื้นตัวหลังการผ่าตัด
- การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล ความเศร้าโศกเสียใจ ภาวะซึมเศร้า หรือพฤติกรรมการกินอาหารที่ผิดปกติ
- โรคต่าง ๆ เช่น ไข้หวัด การติดเชื้อ อาหารเป็นพิษ ภาวะสมองเสื่อม โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง ภาวะพร่องไทรอยด์ โรคหัวใจ ปัญหาเรื่องปอด ไต หรือตับ และโรคเอดส์
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยา รวมถึง ยาปฏิชีวนะ แอมเฟตามีน เคมีบําบัด ยา fluoxetine ยา digoxin ยา hydralazine หรือ ยา opioids
เบื่ออาหาร มีวิธีการตรวจวินิจฉัยอย่างไร
- การตรวจเลือด
- การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการและรังสีวินิจฉัย
เบื่ออาหาร มีวิธีการรักษาอย่างไร
- รักษาอาการเจ็บป่วย ปัญหาทางทันตกรรม หรือปัญหาสุขภาพพื้นฐานที่ทำให้เกิดภาวะเบื่ออาหาร
- พูดคุยปรึกษานักจิตวิทยาเพื่อหาสาเหตุและบำบัดด้านอารมณ์และพฤติกรรม
- เปลี่ยนขนาดหรือประเภทของยาที่ใช้หากพบว่ามีความสัมพันธ์กับภาวะเบื่ออาหาร
- พูดคุยกับนักโภชนาการเพื่อสร้างนิสัยการกินที่ดี
- รับประทานวิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือรับสารอาหารทางเส้นเลือดตามคําแนะนําของแพทย์
วิธีรักษาภาวะเบื่ออาหารที่บ้าน
- รับประทานอาหารมื้อเล็ก ๆ ตลอดทั้งวันแม้ว่าจะไม่รู้สึกหิวก็ตาม
- เลือกรับประทานอาหารเหลว เช่น น้ำซุปใส ซุป หรือน้ำผลไม้ แทนอาหารแข็งหากป่วยไม่สบาย
- หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดหรืออาหารทอด ๆ มัน ๆ ที่อาจทําให้ปวดท้องได้
- รับประทานอาหารที่มีวิตามิน แร่ธาตุ และโปรตีนสูงเพื่อเพิ่มสารอาหารที่จําเป็นต่อร่างกาย
- รับประทานอาหารกับเพื่อนหรือคนที่คุณรักเพื่อให้การรับประทานอาหารนั้นสนุกยิ่งขึ้น
ภาวะเบื่ออาหารและการตั้งครรภ์
ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ หญิงตั้งครรภ์หลายคนมักมีอาการแพ้ท้อง ทําให้เบื่ออาการ ไม่อยากรับประทานอาหารที่เคยชอบ กลิ่นหรือรสชาติของอาหารบางชนิดอาจทําให้รู้สึกคลื่นไส้อยากอาเจียน อาการนี้เป็นอาการปกติจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน อย่างไรก็ตามจําเป็นควรปรึกษาแพทย์หากภาวะเบื่ออาหารทําให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ