โรคฝีดาษลิง
โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เป็นโรคจากสัตว์สู่คน (Zoonosis Diseases) ที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Orthopoxvirus ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกันกับเชื้อไวรัสโรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ (small pox) แต่ความรุนแรงของโรคน้อยกว่าโรคฝีดาษมาก ในปี พ.ศ. 2501 (ค.ศ. 1958) เกิดโรคระบาดในลิงที่ใช้เพื่อการศึกษาวิจัย ทำให้ได้ค้นพบโรคฝีดาษลิงดังกล่าว โรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดเชื้อที่พบในทวีปแอฟริกา โดย มีสองสายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตกซึ่งอาการไม่รุนแรง และสายพันธุ์แอฟริกากลางซึ่งมีอาการรุนแรงกว่า อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 10
การติดต่อโรคฝีดาษลิง
- โรคฝีดาษลิงติดต่อจากสัตว์ขนาดเล็กในกลุ่มเลี้ยงลูกด้วยนมที่มาจากทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะในสัตว์ฟันแทะ กระรอก และลิง
- การติดต่อโรค-จากสัตว์สู่คน เกิดจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งหรือแผล หรือการกินสัตว์ที่ปรุงไม่สุก โดยปัจจุบันพบเฉพาะในสัตว์ที่มาจากทวีปแอฟริกา ยังไม่พบในประเทศไทย
- การติดต่อโรค-จากคนสู่คน เป็นสาเหตุของการระบาดหลักนอกทวีปแอฟริกา ตั้งแต่เดือน พค 2565 มีรายงานผู้ติดเชื้อจากหลายประเทศในทวีปยุโรปจำนวนเป็นหลักร้อยราย เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับ ผื่น แผลหรือสารคัดหลั่งทางเดินหายใจของผู้ป่วย หรือหลังสัมผัสกับวัตถุปนเปื้อนติดเชื้อ เช่น เสื้อผ้าหรือเครื่องนอนของคนป่วย ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ก็ทำให้ผู้สัมผัสติดเชื้อโรคฝีดาษลิงได้ เช่นกัน
- อีกส่วนหนึ่งของการระบาดตั้งแต่ต้นปีนี้ เข้าใจว่าเป็นการติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อที่มีผื่น ในกลุ่มชายรักชาย
ประชาชนที่ได้รับวัคซีนหรือเคยเป็นไข้ทรพิษมาแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันโรคฝีดาษลิงได้ แต่ในปัจจุบันไม่มีบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคทรพิษให้คนทั่วไปเนื่องจากองค์การอนามัยโลกระบุว่าโรคนี้หมดไปในปีพ.ศ. 2523 (ค.ศ.1980)
อาการโรคฝีดาษลิง
ระยะฟักตัวหลังติดเชื้อก่อนเริ่มมีอาการ ปกติจะนาน 7-14 วัน แต่อาจเป็นเวลาที่กว้างขึ้นได้ถึง 5-21วัน อาการในระยะแรกคล้าย ไข้หวัดใหญ่ โดยมีไข้ หนาวสั่น ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย และมักพบมีต่อมน้ำเหลืองโต ร่วมด้วย
หลังจากเริ่มมีไข้ได้ 1-3วัน จะเริ่มมีผื่นลักษณะเป็นตุ่มขึ้นที่ใบหน้าแล้วกระจายไปที่ลำตัว แขนและขาได้ด้วย ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง บางครั้งผื่นพบเฉพาะบริเวณร่มผ้า ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะตกสะเก็ดแล้วหลุดออกมา อาการป่วยจะนานประมาณ 2-4 สัปดาห์ หลังจากผื่นหายมักจะไม่กลายเป็นแผลเป็น ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้
นิยามโรคฝีดาษลิง
กรมควบคุมโรค ได้กำหนดนิยามผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษลิง ว่า จะต้องมีอาการดังนี้ 1.ประวัติไข้มากกว่า 38 องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการป่วยอย่างน้อย 1 อย่างคือ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หรือ 2.ผื่น ตุ่มนูน ส่วนใหญ่ผื่นกระจายตามใบหน้า ลำตัว โดยเริ่มจากเป็นผื่นก่อน แล้วเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง ตุ่มตกสะเก็ด ตามลำดับ ร่วมกับประวัติเชื่อมโยงทางระบาดวิทยา ภายใน 21 วันที่ผ่านมา ได้แก่ ประวัติเดินทางกลับมาจากประเทศที่มีรายงานการระบาดของโรคฝีดาษลิง ประวัติการเข้าร่วมกิจกรรม ที่พบผู้ป่วยฝีดาษลิง และประวัติสัมผัสใกล้ชิดสัตว์ป่า สัตว์ฟันแทะ ลิง หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่นำเข้าจากทวีปแอฟริกา
การตรวจวินิจฉัยโรคฝีดาษลิง
ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ถ้ายังไม่มีผื่นอาจจะทำการวินิจฉัยได้ยาก จำเป็นต้องแยกจากโรคอื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่เป็นต้น ส่วนในกรณีที่ มีผื่นขึ้นแล้ว จำเป็นต้องแยกจากโรคอื่นๆที่พบได้บ่อยกว่า เช่น เริม และโรคที่ทำให้เกิดผื่นอื่นๆ เนื่องจากโรคฝีดาษลิงนั้นพบได้น้อย แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจโดยการส่องดูชิ้นเนื้อผ่านกล้องจุลทรรศน์และตรวจหาไวรัสโดยวิธี real time PCR และตรวจแอนติบอดีในเลือดซึ่งต้องทำในห้องปฏิบัติการเฉพาะ
การรักษาโรคฝีดาษลิง
โดยทั่วไปแล้วแพทย์จะเฝ้าดูอาการและให้ยาบรรเทาอาการ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอาการมักหายได้เอง สำหรับยาที่ใช้ในการรักษาโรคฝีดาษลิงนั้น ยังไม่มีการใช้อย่างแพร่หลาย โดยทั่วไปยาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์ในการรักษาโรคไข้ทรพิษโดยหลักการใช้รักษาโรคฝีดาษลิงได้เนื่องจากเป็นไวรัสในกลุ่มเดียวกัน ส่วนข้อมูลประสิทธิภาพต้องอาศัยการศึกษาวิจัยในคนเพิ่มเติม
การป้องกันโรคฝีดาษลิง
วัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ ซึ่งสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 85% อย่างไรก็ตาม คนที่เกิดหลังปี 2523 จะไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน จึงเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิงมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ ส่วนคนที่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษมาในอดีต ยังไม่มีข้อมูลว่า เมื่อเวลาผ่านไปนานหลายทศวรรษ ระดับภูมิต้านทานที่ลดต่ำลงจะยังสามารถป้องกันการติดเชื้อได้หรือไม่อย่างไร
ในปัจจุบันไม่มีการฉีดวัคซีนดังกล่าวสำหรับบุคคลทั่วไปในประเทศไทยแล้ว โดยอาจมีการฉีดให้เฉพาะกลุ่มคนที่ทำงานวิจัยในห้องปฏิบัติการไวรัสฝีดาษเท่านั้น ดังนั้นเพื่อป้องกันการระบาดและควบคุมการแพร่กระจายของโรค ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสโรคโดยการ
- งดการสัมผัสคนที่อาจจะป่วยเป็นโรคฝีดาษลิง
- สวมอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล หากจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง
- ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการ คัดกรองโรค
- ไม่สัมผัสสัตว์ที่ป่วยหรือตายด้วยโรคฝีดาษลิง
- ล้างทำความสะอาดมือด้วยสบู่หลังสัมผัสสัตว์ที่ป่วย
- ไม่สัมผัสวัตถุปนเปื้อนไวรัสฝีดาษลิง
- รับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกเท่านั้น
การพยากรณ์โรคฝีดาษลิง
อาการของโรคจะรุนแรงน้อยกว่าโรคฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ อาการรุนแรงมักพบในกลุ่มผู้ป่วยเด็ก แต่โรคฝีดาษลิงนั้นเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยอยู่ที่ 10 % โดยอาการรุนแรงมักพบในผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ