โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia gravis)
โรคนี้เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ส่งผลให้การทำงานของสารสื่อประสาทบริเวณช่องว่างระหว่างเส้นประสาทและกล้ามเนื้อบกพร่อง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงได้ทั่วทั้งร่างกาย
อาการของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia gravis)
- อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อตา เช่น มีอาการหนังตาตก มองเห็นภาพซ้อน
- อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าและระบบทางเดินอาหาร เช่น อาการพูดไม่ชัดเสียงขึ้นจมูก เคี้ยวอาหาร กลืนอาหารลำบาก
- อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนขา เช่น เดินขึ้นบันได หรือยกแขนสระผมลำบาก
- อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อหายใจ เช่น อาการเหนื่อย
อาการอ่อนแรงนี้ส่วนใหญ่จะมีอาการเป็นบางช่วงของวัน เช่น ช่วงบ่าย หรือช่วงที่มีการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องใช้กล้ามเนื้อติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ทั้งนี้อาจมีอาการปวดล้าของกล้ามเนื้อร่วมด้วย
การวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia gravis)
การวินิจฉัยต้องอาศัยประวัติ การตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการตรวจทางไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electrodiagnostic study) โดยวิธีตรวจกระตุ้นประสาทซ้ำในกล้ามเนื้ออ่อนแรง ( Repetitive nerve stimulation ) ในบางรายอาจต้องใช้เข็ม (Needle EMG, Single fiber EMG) เพื่อดูสัญญาณกล้ามเนื้อ ทั้งนี้การตรวจวิฉัยด้วยไฟฟ้าดังกล่าวสามารถให้การวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
แนวทางการรักษาโรค
การรักษาด้วยการรับประทานยาสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
- กลุ่มแรกเป็นยาที่ออกฤทธิ์เพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาท เช่น pyridostigmine เป็นต้น
- กลุ่มต่อมา คือยากดภูมิคุ้มกัน เช่น corticosteroid, azathioprine และ mycophenolate mofetil
การรักษาด้วยการผ่าตัดในกรณีผู้ป่วยมีก้อนเนื้องอกไทมัส กรณีตรวจพบจากการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์บริเวณหน้าอก
คำแนะนำของผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
ในภาวะปกติผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติ แต่ควรหลีกเลี่ยงอากาศร้อน กิจกรรมที่ต้องออกแรงต่อเนื่อง การพักผ่อนไม่เพียงพอ ในภาวะเจ็บป่วยเมื่อเข้าพบแพทย์ควรแจ้งถึงโรคและอาการของผู้ป่วยเนื่องจากการใช้ยาบางชนิดอาจทำให้อาการของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงแย่ลง