การเรียนออนไลน์เพิ่มความเสี่ยงต่อสายตาสั้น เมื่อต้องเผชิญกับโรคโควิด-19 การเว้นระยะห่างทางสังคมเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเด็กในปัจจุบัน

เด็กเรียนออนไลน์เสี่ยงสายตาสั้น

ความจำเป็นที่จะต้องเว้นระยะห่างทางสังคมส่งผลให้วิถีชีวิตของเด็กในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป อย่างหนึ่งก็คือการต้องนั่งเรียนออนไลน์ทั้งวัน

แชร์

เด็กเรียนออนไลน์เสี่ยงสายตาสั้น

ในระยะเวลากว่าสองปีที่ผ่านมาที่เราต้องเผชิญกับโรคโควิด 19 ความจำเป็นที่จะต้องเว้นระยะห่างทางสังคมส่งผลให้วิถีชีวิตของเด็กในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป อย่างหนึ่งก็คือการต้องนั่งเรียนออนไลน์ทั้งวัน ต้องอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา ได้ออกนอกบ้านอย่างจำกัดหรือไม่ได้ออกไปไหนเลย ส่งผลให้เด็กใช้สายตาในระยะใกล้เพิ่มมากขึ้น ขาดการทำกิจกรรมนอกบ้านและโดนแสงแดด เมื่อต้องใช้สายตาในระยะใกล้ นั่นคือระยะประมาณ 20-30 ซม. บ่อยครั้งเข้าจึงส่งผลให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีรายงานพบว่าในยุคโควิด 19 นั้นสายตาที่สั้นในเด็กจะสั้นเพิ่มมากขึ้น

อาการสายตาสั้น

หากเด็กเดินเข้าไปดูอะไรใกล้ ๆ หรือหยีตามองเป็นประจำ นั่นอาจหมายความว่าเด็กอาจมีปัญหาในการมองไกล หากสงสัยหรือสังเกตเห็นอาการดังกล่าว ควรพาเด็กไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจประเมินการมองเห็น

สาเหตุของสายตาสั้น

  • ปัจจัยทางพันธุกรรม เป็นปัจจัยแรกที่ทำให้เด็กมีสายตาสั้น ถ้าพ่อหรือแม่ หรือทั้งสองคนสายตาสั้น ลูกจะมีโอกาสที่จะมีสายตาสั้นมากกว่าเด็กปกติทั่วไป
  • ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม นั่นคือการมองใกล้ ใช้สายตาในระยะใกล้เป็นเวลานาน ๆ ติดต่อกัน จะทำให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้นได้
  • ปัจจัยด้านวิถีชีวิต ซึ่งสำคัญและมีผลการศึกษารับรองว่าการที่เด็กอยู่แต่ในบ้านตลอดเวลา ไม่โดนแสงแดด ไม่ทำกิจกรรมใด ๆ นอกบ้าน จะทำให้มีสายตาสั้นเพิ่มขึ้นเร็วกว่าเด็กทั่ว ๆ ไป

ปัจจัยเสี่ยง

สายตาที่สั้นมากอาจทำให้เป็นโรคทางตาอื่น ๆ ได้ในอนาคต เช่น มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นจอตาลอก จอตาเสื่อมมากขึ้นเรื่อยๆ ต้อกระจกหรือต้อหิน นอกจากนี้การที่เด็กสายตาสั้น มองเห็นไม่ชัดก็อาจจะส่งผลต่อพัฒนาการด้านอื่น ๆ รวมไปถึงการเรียน

การป้องกันไม่ให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้นเร็ว

ควรพยายามให้เด็กลดการมองใกล้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ โดยอาจจะใช้กฎ 20-20-20 คือใช้สายตาไปประมาณ 20 นาที แล้วพักสายตา 20 วินาทีโดยมองไกล ๆ เกิน 20 ฟุต (หรือประมาณ 6 เมตร)

สนับสนุนให้เด็กได้ไปทำกิจกรรมนอกบ้านโดนแสงแดด จากการศึกษาพบว่าเด็ก ๆ ควรโดนแสงแดดเกินเวลา 2 ชม.ต่อวัน แต่ในภาวะปัจจุบันการอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานานในแต่ละวันอาจเป็นไปได้ยาก โดยอาจจะพยายามรวมการเล่นหรืออยู่กลางแจ้งให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 14 ชั่วโมงแทน

นอกจากนี้ในปัจจุบันก็มียาหยอดชะลอสายตาสั้นซึ่งใช้ได้ผลดีในเด็กเอเชีย  สามารถขอคำแนะนำจากจักษุแพทย์ว่ายาหยอดชะลอสายตาสั้นนี้เหมาะกับอาการของเด็กหรือไม่

การรักษาเด็กสายตาสั้น

  • อันดับแรก คือการใส่แว่นที่เหมาะสมกับค่าสายตา หากจักษุแพทย์ตรวจติดตามแล้วพบว่ามีสายตาสั้นเพิ่มขึ้นเร็วก็อาจจะพิจารณาหยอดยาชะลอสายตาสั้น
  • ยาชะลอสายตาสั้นจะเป็นยากลุ่มเดียวกับยาหยอดคลายการเพ่งในเด็ก แต่ว่าจะถูกเจือจาง 100 เท่า เป็นยาหยอดตาที่ต้องอยู่ในความควบคุมของจักษุแพทย์

เด็กสายตาสั้นตัดแว่นเองได้ไหม?

โดยปกติแล้วสามารถตัดแว่นได้ตามร้านแว่นทั่วไป แต่ในเด็กอายุน้อยกว่า 12-15 ปีควรได้รับการตรวจค่าสายตาโดยหยอดยาคลายการเพ่งก่อนตรวจ เพราะค่าสายตามักจะคลาดเคลื่อนได้มากหากไม่หยอดยาคลายการเพ่ง

เด็ก ๆ ควรได้รับการตรวจสุขภาพตาทุกหนึ่งปี เพื่อจะได้ตรวจพบค่าสายตาผิดปกติตั้งแต่เนิ่น ๆ หรือตรวจว่ามีโรคทางตาอย่างอื่นด้วยหรือไม่ จักษุแพทย์จะตรวจประเมินการมองเห็นและระดับการมองเห็นด้วย

เด็กสายตาสั้นควรใส่แว่นเพื่อจะได้มองเห็นชัดขึ้น ใช้ชีวิตได้สบายขึ้น และจำเป็นที่จะต้องลดการมองใกล้ติดต่อกันเป็นเวลานาน งดการเพ่งดูในไอแพดหรือแท็บเล็ต ไปเป็นการดูบนจอทีวีแทน และที่สำคัญเด็กควรทำกิจกรรมนอกบ้าน โดนแสงแดดบ่อย ๆ ซึ่งจะช่วยชะลอสายตาสั้นได้

คลิปวีดีโอที่เกี่ยวกับสายตาเด็ก

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 22 ก.ย. 2022

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    พญ. วิมลทิพย์ ลยานันท์

    พญ. วิมลทิพย์ ลยานันท์

    • จักษุวิทยา
    • จักษุวิทยาเด็ก
    จักษุวิทยาทั่วไปในผู้ใหญ่และเด็ก, โรคกล้ามเนื้อตา, โรคตาเขและการผ่าตัดกล้ามเนื้อตา
  • Link to doctor
    MedPark Hospital Logo

    พญ. ณัฐฐิญา ลายลักษณ์ศิริ

    • จักษุวิทยา
    • จักษุวิทยาเด็ก
    Ophthalmology, จักษุวิทยาทั่วไปในผู้ใหญ่และเด็ก, โรคกล้ามเนื้อตา, โรคตาเขและการผ่าตัดกล้ามเนื้อตา
  • Link to doctor
    ผศ.พญ. วรวลัญช์ หงส์เลิศนภากุล

    ผศ.พญ. วรวลัญช์ หงส์เลิศนภากุล

    • จักษุวิทยา
    • จักษุวิทยาเด็ก
    • กล้ามเนื้อตา
    การผ่าตัดต้อกระจกในผู้ใหญ่และเด็ก, โรคตาเขและการผ่าตัดกล้ามเนื้อตา, จักษุวิทยาทั่วไปในผู้ใหญ่และเด็ก, ภาวะสายตาผิดปกติ, ตาขี้เกียจ, ต้อกระจก, โรคต้อเนื้อ, โรคต้อลม, โรคตาแห้งและโรคผิวกระจกตา, โรคกล้ามเนื้อตา