จากการรวบรวมข้อมูลอายุขัยของประชากรไทย พบว่าสังคมไทยเราได้เข้าสู่ยุคของ “สังคมผู้สูงอายุ” แบบเต็มตัว โดยมีการเปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้หญิงไทยมีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 80.4 ปี ในขณะที่ผู้ชายมีอายุขัยเฉลี่ยที่ 73.2 ปี โดยสิ่งที่ต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากการมีอายุที่มากขึ้นคือ โอกาสเกิดภาวะกระดูกพรุน ซึ่งส่งผลให้มีโอกาสเกิดกระดูกหักตามมาได้ง่ายกว่าปกติ โดยเฉพาะการหักที่บริเวณกระดูกสันหลัง
ภาวะกระดูกสันหลังหักยุบตัวจากภาวะกระดูกพรุนนั้น ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาเร่งด่วน ที่ควรได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อลดโอกาสเกิดความทุพพลภาพตลอดถึงลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆที่ร้ายแรงตามมาได้ ซึ่งจากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า อัตราการเสียชีวิตภายใน 1 ปีจากภาวะนี้ พบมากถึงร้อยละ 11 ด้วยกัน
สาเหตุ
ภาวะนี้มักเกิดจากการที่ผู้สูงอายุประสบอุบัติเหตุเล็กๆน้อยๆที่คาดไม่ถึง เช่น การลื่นล้มก้นกระแทกในห้องน้ำ การตกจากเตียง หรือขณะโดยสารรถยนต์แล้วรถเกิดตกหล่ม ก้นกระแทกกับเบาะที่นั่ง เป็นต้น
อาการและการวินิจฉัย
อาการที่สงสัยและควรมาพบแพทย์ ได้แก่ อาการปวดหลัง (โดยมากมักปวดตรงบริเวณกลางหลัง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มักเกิดการหักยุบตัวมากที่สุด) ไม่สามารถขยับตัว ลุกนั่ง หรือยืนได้เอง ต้องนอนอยู่นิ่งๆ เนื่องจากมีอาการปวดอย่างรุนแรง ในกรณีที่การหักยุบตัวของกระดูกนั้นไปกดเส้นประสาทไขสันหลัง ผู้ป่วยอาจมีอาการชาหรือกล้ามเนื้อส่วนล่างอ่อนแรง ตลอดจนไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ ดังนั้นเมื่อสงสัยภาวะดังกล่าว เราควรมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม และเพื่อยืนยันการวินิจฉัยภาวะดังกล่าว
แนวทางการรักษา
สำหรับแนวทางการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการยุบตัวและโอกาสการเกิดการบาดเจ็บต่อเส้นประสาทไขสันหลัง กรณีที่ไม่มีภาวะการกดทับเส้นประสาท เบื้องต้นอาจรักษาโดยการรับประทานยาบรรเทาปวด การใส่เสื้อเกราะพยุงหลังเพื่อลดการยุบตัวที่เพิ่มมากขึ้น ร่วมกับเข้ารับการรักษาภาวะกระดูกพรุนร่วมด้วย หากอาการยังไม่ดีขึ้น อาจพิจารณารักษาโดยการฉีดซีเมนต์ยึดตรึงกระดูกสันหลังโดยการใช้บอลลูน (Balloon Kyphoplasty) เข้าไปตำแหน่งที่มีการยุบตัว ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้สามารถยับยั้งการทรุดตัวที่เพิ่มขึ้นและเพิ่มความสูงของกระดูกสันหลังที่ยุบตัวให้กลับมาใกล้เคียงเดิมมากที่สุด ที่สำคัญสามารถลดการเจ็บปวดจากภาวะดังกล่าว ตลอดจนสามารถให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้นได้
ภาพ:
A. แสดงการรักษากระดูกสันหลังหักยุบตัวจากภาวะกระดูกสันหลังพรุนด้วยวิธีการฉีดซีเมนต์
B. ภาพเอกซเรย์แสดงลักษณะกระดูกสันหลังหักยุบตัวจากภาวะกระดูกพรุน
C. ภาพเอกซเรย์แสดงลักษณะกระดูกสันหลังหักยุบตัวภายหลังได้รับการรักษาด้วยวิธีการฉีดซีเมนต์