PET/CT การตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องเพทซีทีสแกน
การตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องเพทซีที (PET/CT) เป็นการตรวจดูอวัยวะและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ภายในร่างกายในระดับโมเลกุลโดยใช้สารเภสัชรังสี
เครื่องเพทซีทีประกอบด้วย เครื่องเพท (Positron Emission Tomography: PET) ทำหน้าที่ถ่ายภาพรังสีที่เปล่งออกมาจากผู้ป่วย เพื่อดูความผิดปกติของอวัยวะและเนื้อเยื่อในร่างกาย แต่เนื่องจากภาพที่ได้จะแสดงเฉพาะความผิดปกติ ยากที่จะระบุตำแหน่งที่ผิดปกติได้ชัดเจน จึงจำเป็นต้องมีการทำงานร่วมกับเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography: CT) ซึ่งจะทำหน้าที่ถ่ายภาพเพื่อแสดงลักษณะทางกายวิภาคและตำแหน่งของรอยโรค ภาพที่ได้จากเครื่องเพทและเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จะนำมาซ้อนทับกัน (Fusion) เพื่อระบุตำแหน่งของความผิดปกติได้ชัดเจน และแม่นยำยิ่งขึ้น รวมถึงเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายมากขึ้น
เครื่องเพทซีทีสามารถตรวจวินิจฉัยหารอยโรคได้หลากหลายชนิด แต่ที่นิยมคือการตรวจหาโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถประเมินระยะและผลการรักษาโรคมะเร็งได้ และยังสามารถวินิจฉัยหาสาเหตุการมีไข้สูงโดยไม่ทราบสาเหตุ (Fever of Unknown Origin), โรคพาร์กินสัน (Parkinson's disease), โรคลมชัก (Epilepsy) ได้อีกด้วย1
ก่อนเข้ารับการตรวจ2
- ผู้ป่วยควรได้รับการประเมินความพร้อมก่อนการตรวจ อย่างน้อย 1 วันก่อนตรวจ เช่น ระดับน้ำตาลในเลือด, สามารถนอนราบได้อย่างน้อย 20 - 30 นาทีหรือไม่ หรือมีอาการกลัวที่แคบหรือไม่ เป็นต้น
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์ หรือสงสัยตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร รวมถึงหากมีอาการแพ้อาหาร หรือยา เป็นต้น
ในวันที่ตรวจ - ไม่ควรสวมใส่เครื่องประดับ โดยเฉพาะเครื่องประดับโลหะมาในวันที่เข้ารับการตรวจ
- ในบางการตรวจอาจมีการงดน้ำ และอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนการตรวจ ขึ้นกับชนิดของการตรวจ
- นำยาที่รับประทานเป็นประจำติดตัวมาด้วย
- ไม่พาเด็กเล็กหรือหญิงตั้งครรภ์มาด้วย
วิธีการตรวจเพทซีที (PET/CT)
ในการตรวจเพทซีทีจะมีการฉีดสารเภสัชรังสี (Radiopharmaceutical) ที่มีความจำเพาะต่อโรคนั้น ๆ เช่น 18F-FDG (18F-fluorodeoxyglucose) ใช้สำหรับตรวจหามะเร็งส่วนใหญ่ หรือการติดเชื้อ, 68Ga-PSMA (68Gallium-Prostate Specific Membrane Antigen) หรือ 18F-PSMA (18Fluorine-Prostate Specific Membrane Antigen) ซี่งนิยมใช้ตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมาก3 เป็นต้น
หลังจากฉีดสารเภสัชรังสีแล้วให้ผู้ป่วยนอนพัก เพื่อให้สารเภสัชรังสีดูดซึมเข้าร่างกาย 30 - 60 นาที ขึ้นกับสารเภสัชรังสีที่ใช้ แล้วทำการถ่ายภาพประมาณ 20 - 40 นาที โดยในผู้ป่วยบางรายอาจมีความจำเป็นต้องทำการฉีดสารทึบรังสี (Contrast media) เพิ่มเติมขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
ภาพตัวอย่างการตรวจเพทซีที (PET/CT)
คำแนะนำหลังการตรวจเพทซีที2
- ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อให้ปัสสาวะบ่อย ๆ เร่งการขับสารเภสัชรังสีออกจากร่างกาย
- หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้เด็กและหญิงมีครรภ์เป็นเวลาอย่างน้อย 10 ชั่วโมงหลังจากฉีดสารเภสัชรังสี ขึ้นกับชนิดและปริมาณของสารเภสัชรังสีที่ใช้ในการตรวจ
- ผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างให้นมบุตร ต้องงดให้นมบุตรเป็นเวลา 24 ชั่วโมงหลังจากฉีดสารเภสัชรังสี
การตรวจเพทซีที (PET/CT) ปลอดภัยหรือไม่4
สำหรับสารเภสัชรังสีที่ทำการฉีดเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยนั้น ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย เนื่องจากปริมาณรังสีที่ใช้น้อยมาก และจะถูกขับออกจากร่างกายได้ 2 ทาง คือ ทางปัสสาวะและการสลายตัวเอง (Decay) โดยปกติจะสลายตัวเองหมดภายในระยะเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับชนิดของสารเภสัชรังสีที่ใช้ในการตรวจ
การตรวจเพทซีที (PET/CT) ที่นิยมมากที่สุด
การตรวจเพทซีทีด้วยสารเภสัชรังสี 18F-FDG (18F-fluorodeoxyglucose) เป็นที่นิยมมากที่สุด เนื่องจากสามารถตรวจหามะเร็งได้เกือบทุกชนิด เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปอด มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อ (Infection) หรือหาสาเหตุการมีไข้สูง (Unknow fever origin)5, ภาวะสมองเสื่อม (Dementia), โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease) ได้
ควรส่งตรวจเพทซีที (PET/CT) ด้วยสารเภสัชรังสี 18F-FDG เมื่อใด? 1,2
ในการส่งตรวจเพทซีทีในระยะที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้ผลอ่านที่ได้ผิดพลาดได้ การส่งตรวจควรทำเมื่อ
- ภายหลังการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการวินิจฉัย (Biopsy) 1 สัปดาห์
- หลังการผ่าตัด 6 สัปดาห์ (ขึ้นกับชนิดของการผ่าตัด)
- หลังการให้ยาเคมีบำบัด 4-6 สัปดาห์
- หลังการฉายรังสี 4-6 เดือน
- หลังการให้ยากระตุ้นการทำงานของไขกระดูก 5 วัน
การเตรียมตัวสำหรับการตรวจด้วยสารเภสัชรังสี 18F-FDG2
- ผู้ป่วยต้องคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ไม่เกิน 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (mg/dL)
- งดอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนทำการตรวจ ยกเว้นน้ำเปล่าสามารถดื่มได้
- งดออกกำลังกาย ทำกิจกรรมหนักๆ หรือนวดตัว อย่างน้อย 1-2 วันก่อนวันที่ทำการตรวจ
วิธีการตรวจด้วยสารเภสัชรังสี 18F-FDG2
พยาบาลจะฉีดสารเภสัชรังสี 18F-FDG เข้าทางเส้นเลือดดำของผู้ป่วย หลังจากนั้นผู้ป่วยจะต้องนอนพักรอให้สารเภสัชรังสีดูดซึมเข้าสู่ร่างกายประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนทำการถ่ายภาพด้วยเครื่องเพทซีที จะใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที
ในการตรวจหามะเร็งด้วยเครื่องเพทซีที (PET/CT) สามารถตรวจได้ทั้งร่างกาย ตั้งแต่ศีรษะจนถึงปลายเท้า มีความไวและแม่นยำสูงในการตรวจหามะเร็ง ประเมินผลการรักษา รวมถึงการพยากรณ์โรค
เอกสารอ้างอิง:
- https://www.chulacancer.net/uploads/pdf/PET-CT.pdf
- IAEA. Standard operating procedures for PET–CT: a practical approach for use in adult oncology: IAEA; 2013.
- Fendler, Wolfgang P., et al. "PSMA PET/CT: joint EANM procedure guideline/SNMMI procedure standard for prostate cancer imaging 2.0." European journal of nuclear medicine and molecular imaging 50.5 (2023): 1466-1486.
- Aldousari, H., Abuhadi, N., Izz, M. et al. Assessment of external radiation dose rate after 18FDG-PET/CT examination. Egypt J Radiol Nucl Med 54, 80 (2023).
- Schönau V, Vogel K, Englbrecht M, et alThe value of 18F-FDG-PET/CT in identifying the cause of fever of unknown origin (FUO) and inflammation of unknown origin (IUO): data from a prospective studyAnnals of the Rheumatic Diseases 2018;77:70-77.