การรักษาด้วยพลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้น (PRP)

การรักษาด้วยพลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้น (PRP)

การรักษาด้วยพลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้น หรือ Platelet-Rich Plasma (PRP) คือวิธีการรักษาที่ใช้เกล็ดเลือดมาซ่อมแซมเส้นเอ็นที่มีอาการอักเสบ หรือรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมระยะแรก เกล็ดเลือด เป็นส่วนประกอบในเลือดที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


การรักษาด้วยพลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้น หรือ PRP คืออะไร?

การรักษาด้วยพลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้น หรือ Platelet-Rich Plasma (PRP) คือวิธีการรักษาที่ใช้เกล็ดเลือดมาซ่อมแซมเส้นเอ็นที่มีอาการอักเสบ หรือรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมระยะแรก

เกล็ดเลือด เป็นส่วนประกอบในเลือดที่ช่วยให้เลือดแข็งตัวและมีสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ (growth factor) ซึ่งช่วยให้เนื้อเยื่อซ่อมแซมตนเองและสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาทดแทน

การรักษาด้วยพลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้น หรือ PRP เหมาะกับอาการ หรือโรคอะไรบ้าง?

การฉีดพลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้นนั้นช่วยกระตุ้นการซ่อมแซมและรักษาอาการดังต่อไปนี้

  • การได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา เช่น กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นแพลง เคล็ด หรือฉีกขาด
  • เอ็นข้อศอกด้านนอกอักเสบ (Tennis elbow) 
  • เส้นเอ็นหัวไหล่ฉีกขาดในระยะเริ่มต้น
  • เส้นเอ็นใต้ฝ่าเท้าอักเสบ (โรครองช้ำ) 
  • โรคข้อเข่าเสื่อมในระยะแรก ซึ่งการรักษาด้วยพลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้นชนิด leukocyte-poor PRP (LP-PRP) มีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการปวด เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของข้อ และซ่อมแซมกระดูกอ่อนของคนไข้โรคข้อเข่ากระดูกเสื่อมได้ดี

ขั้นตอนการรักษาด้วย PRP เป็นอย่างไร?

แพทย์จะทำการเจาะเลือดที่แขนของคนไข้ และนำเลือดที่เก็บมานั้นเข้าเครื่องหมุนเหวี่ยงตกตะกอน เพื่อแยกส่วนประกอบในเลือด จนได้พลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้น

จากนั้นแพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่เข้าไปในบริเวณส่วนของเส้นเอ็นที่มีอาการอักเสบในหัวเข่า แล้วจึงฉีดพลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้นตามเข้าไปโดยใช้อัลตราซาวด์นำทาง

หลังหัตถการคนไข้อาจรู้สึกปวดตึงบริเวณที่ฉีด จึงควรนำเพื่อน ญาติ หรือคนที่สามารถช่วยขับรถกลับบ้านมาด้วย

การพักฟื้นหลังจากรักษา

ขณะที่พักฟื้นที่บ้าน คนไข้สามารถปฏิบัติตามข้อแนะนำเพื่อช่วยให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

  • ประคบเย็นเป็นเวลา 20 นาทีทุก 2-3 ชั่วโมงในช่วง 1-2 วันแรก
  • รับประทานยาไทลินอลเพื่อบรรเทาอาการปวด ไม่รับประทานยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตอรอยด์ (NSAIDs) เช่น ไอบูโปรเฟน เพราะจะไปลดประสิทธิภาพการทำงานของเกล็ดเลือด
  • พักผ่อนให้เพียงพอ งดกิจกรรมที่ลงน้ำหนักที่หัวเข่า ลดกิจกรรมในส่วนของเส้นเอ็นที่ได้รับการฉีด ใช้ไม้ยันรักแร้หรือโครงช่วยเดินหากจำเป็น

ความเสี่ยงของการรักษาด้วยพลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้น หรือ PRP

เพราะพลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้นนั้นสกัดมาจากเลือดของคนไข้เอง ความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแพ้จึงน้อย การรักษาด้วยพลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้นนั้นปลอดภัย

ผู้ที่ไม่สามารถรับการรักษาด้วยการฉีดเกล็ดเลือด หรือ PRP ได้

  • คนไข้มีปัญหาโรคเลือดและเกล็ดเลือด
  • ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน และแนะนำให้หยุดยาต้านการอักเสบ NSAIDs ก่อนฉีด 1 สัปดาห์

คำถามที่พบบ่อยของการรักษาด้วยการฉีดเกล็ดเลือด หรือ PRP

  • การรักษาด้วยพลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้นทำไปเพื่ออะไร?
    การฉีดพลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้นนั้นเป็นการรักษาอาการบาดเจ็บทางร่างกาย เช่น อาการกระดูกและกล้ามเนื้ออักเสบ เช่น เอ็นข้อศอกด้านนอกอักเสบ (Tennis elbow) หรือเส้นเอ็นใต้ฝ่าเท้าอักเสบ การรักษาด้วยวิธีนี้ช่วยบรรเทาอาการข้ออักเสบและข้อเข่าเสื่อมในระยะแรกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ข้อปฏิบัติก่อนเข้ารับหัตถการมีอะไรบ้าง?
    ดื่มน้ำให้เพียงพอและงดการรับประทานยาแก้อักเสบและยาต้านการแข็งตัวของเลือด
  • การฉีดพลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้นใช้เวลานานเท่าไร?
    การฉีดพลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้นใช้เวลาในการเตรียมเกล็ดเลือด 20 นาทีและฉีด 2-3 นาที  ผู้เข้ารับการรักษาสามารถกลับบ้านได้ทันที
  • หลังฉีดนานเท่าไรจึงจะเห็นผลลัพธ์?
    ผู้เข้ารับการรักษาจะเห็นผลลัพธ์ได้ภายใน 4-6 สัปดาห์ โดยผลการรักษาจะได้ผลนานราว 3-6 เดือน ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค
  • ควรเข้ารับการรักษาด้วยพลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้นกี่ครั้ง?
    โดยปกติแล้ว จะเห็นผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจหลังการเข้ารับการรักษาด้วยพลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้นตั้งแต่ครั้งแรก การฉีดครั้ง 2 จึงอาจไม่จำเป็น หากจำเป็นต้องได้รับการฉีดพลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้นหลายครั้ง แพทย์อาจฉีดให้ห่างกัน 4-6 สัปดาห์

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 17 ต.ค. 2023

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    นพ. พิสิฏฐ์ บุญมา

    นพ. พิสิฏฐ์ บุญมา

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดเท้าและข้อเท้า
    ศัลยกรรมกระดูกและข้อ, ผ่าตัดส่องกล้องเท้าและข้อเท้า
  • Link to doctor
    นพ. กฤษฎิ์ พฤกษะวัน

    นพ. กฤษฎิ์ พฤกษะวัน

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดเท้าและข้อเท้า
    ผ่าตัดแผลเล็กเท้าและข้อเท้า, ผ่าตัดส่องกล้องเท้าและข้อเท้า, แก้ไขภาวะผิดรูปของกระดูกเท้าและข้อเท้า
  • Link to doctor
    นพ. ภัทร จุลศิริ

    นพ. ภัทร จุลศิริ

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดเท้าและข้อเท้า
    ผ่าตัดแผลเล็กเท้าและข้อเท้า, ผ่าตัดส่องกล้องเท้าและข้อเท้า, Limb Length Discrepancy Correction
  • Link to doctor
    นพ. อัครเดช พิทักษ์วีระกุล

    นพ. อัครเดช พิทักษ์วีระกุล

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดเท้าและข้อเท้า