ภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย
คือภาวะที่มีการเข้าสู่วัยรุ่นเร็วกว่าปกติ เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสรีระก่อนวัยอันควร ซึ่งหากผู้ปกครองสังเกตุเห็นความผิดปกติของบุตรหลาน ถ้าพามาพบแพทย์ ก็จะสามารถแก้ไขความผิดปกตินั้นได้ทันท่วงที
อายุเท่าไหร่ถึงเรียกว่าภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย
ถ้ามีการเริ่มเข้าสู่วัยสาวที่อายุน้อยกว่า 8 ปีในเด็กหญิง และเริ่มเข้าสู่วัยหนุ่มที่อายุน้อยกว่า 9 ปีในเด็กชาย (โดยทั่วไปเด็กหญิงจะเข้าสู่วัยสาวที่อายุ 8-13 ปีและเด็กชายจะเข้าสู่วัยหนุ่มที่อายุ 9-14 ปี) ถือว่าอาจเป็นภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยที่ควรปรึกษาแพทย์
ภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยสังเกตได้อย่างไรบ้าง
ในเด็กหญิง คลำได้เต้านมข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ก่อนอายุ 8 ปี อาจคลำได้เป็นไตเล็กๆ ใต้ลานนมหรือมีประจำเดือนก่อนอายุ 9 ปีครึ่ง และมีความสูงที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าปกติ
ในเด็กชาย มีการขยายขนาดของอัณฑะ มีอวัยวะเพศใหญ่ขึ้น หรือมีขนหัวหน่าวก่อนอายุ 9 ปี
ภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยเกิดจากอะไร
ในเด็กหญิง ส่วนใหญ่ประมาณ 90% มักไม่มีสาเหตุ ส่วนน้อยมีสาเหตุจากมีพยาธิสภาพในสมอง เนื้องอกรังไข่ หรือได้รับฮอร์โมนเพศปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งในกลุ่มที่ไม่มีสาเหตุ พบว่าเด็กหญิงที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ มีโอกาสเกิดภาวะเป็นสาวก่อนวัยได้มากกว่าเด็กที่มีน้ำหนักปกติ
ในเด็กชาย มักพบว่ามีสาเหตุ เป็นจากมีพยาธิสภาพในสมอง โรคของต่อมหมวกไต เนื้องอกที่หลั่งฮอร์โมนเพศหรือได้รับฮอร์โมนเพศปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อม
ผลกระทบของเด็กที่มีภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย
ทางร่างกาย ในเด็กกลุ่มนี้พบว่าจะมีอัตราการเพิ่มของส่วนสูงมากขึ้นจากการเข้าสู่วัยหนุ่มสาว ทำให้ตัวสูงกว่าเพื่อนในช่วงอายุเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วเป็นผลจากอายุกระดูกที่ล้ำหน้า ส่งผลให้หยุดสูงเร็วกว่าเพื่อน ในบางรายส่งผลให้ความสูงสุดท้ายน้อยกว่าความสูงตามพันธุกรรม กลายเป็นผู้ใหญ่ตัวเตี้ยได้
ทางจิตใจ ในเด็กหญิงจะมีการเปลี่ยนแปลงสรีระภายนอกที่เป็นวัยรุ่น ในขณะที่สภาพจิตใจยังเป็นเด็กอาจโดนเพื่อนล้อ มีปัญหาในการดูแลตัวเองเวลามีประจำเดือนหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ ในเด็กชายอาจมีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือมีอารมณ์ทางเพศได้
การตรวจวินิจฉัย
แพทย์จะทำการซักประวัติ รวมทั้งบันทึกข้อมูลความสูงในอดีต ตรวจร่างกายเพื่อประเมินภาวะเป็นหนุ่มสาว ตรวจเอกซเรย์มือและข้อมือ เพื่อประเมินอายุกระดูก หากพบว่าอายุกระดูกล้ำหน้ากว่าอายุจริง จะมีการตรวจระดับฮอร์โมนเพศในเลือดเพิ่มเติม เพื่อวินิจฉัยภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยต่อไป
ทั้งนี้เมื่อวินิจฉัยภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยแล้ว อาจมีการตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) สมอง, อัลตราซาวน์ช่องท้อง เพื่อหาสาเหตุเฉพาะในบางรายต่อไป
การรักษา
- ถ้ามีสาเหตุ รักษาตามสาเหตุ
- ถ้าไม่มีสาเหตุ แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาโดยใช้ยายับยั้งการหลั่งฮอร์โมนเพศเป็นยาชนิดฉีด ฉีดทุกเดือน เพื่อยับยั้งการเข้าสู่วัยรุ่น ชะลอความล้ำหน้าของอายุกระดูก เพื่อให้มีการเจริญเติบโตตามวัย
วิธีลดความเสี่ยงการเกิดภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย
ผู้ปกครองควรเลี้ยงดูให้เด็กมีการเจริญเติบโตอยู่ในเกณฑ์ตามวัย รับประทานอาหารหลากหลายที่มีโภชนาการครบถ้วน หลีกเลี่ยงอาหารรสหวาน หรือของมัน ของทอด ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลวิจัยแน่ชัดว่าการรับประทานไก่จะมีผลทำให้เด็กเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย และนอกจากการควบคุมเรื่องอาหารแล้ว ควรให้เด็กออกกำลังกายสม่ำเสมอ และนอนพักผ่อนให้เพียงพอด้วย