สาเหตุ อาการ และการรักษาโรคสะเก็ดเงิน - Symptoms, Causes and treatment of Psoriasis

สะเก็ดเงิน (Psoriasis) สาเหตุ อาการ การรักษา ติดต่อไหม

สะเก็ดเงิน (Psoriasis) คือ โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่เกิดจากภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์ผิวตนเองทำให้เกิดผื่นแดง แห้ง คัน เป็นแผ่นนูนหนา ตกสะเก็ดเป็นสีเงินหรือสีขาวลอกออกเป็นขุยคล้ายรังแคตั้งแต่ศีรษะ

แชร์

สะเก็ดเงิน (Psoriasis)

สะเก็ดเงิน (Psoriasis) คือ โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่เกิดจากภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์ผิวตนเองทำให้เกิดผื่นแดง แห้ง คัน เป็นแผ่นนูนหนา ตกสะเก็ดเป็นสีเงินหรือสีขาวลอกออกเป็นขุยคล้ายรังแคตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า ข้อศอก ลำตัว หัวเข่า เล็บและข้อ โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคเรื้อรังที่รักษาได้แต่ไม่หายขาดและอาจเป็นสาเหตุที่นำไปสู่โรคแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือภาวะเมตาบอลิกซินโดรม การพบแพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคผิวหนังเพื่อรักษาสะเก็ดเงินที่ต้นเหตุ จะช่วยป้องกันและควบคุมโรคให้สงบลงได้

สะเก็ดเงิน มีสาเหตุเกิดจากอะไร?

สาเหตุหลักของสะเก็ดเงินเกิดจากภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง โดยเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันร่างกายทำลายเซลล์ผิวดี โดยเข้าใจผิดว่าเซลล์ผิวดีเป็นแบคทีเรียหรือไวรัสที่รุกรานจากภายนอกจนทำให้เกิดผิวหนังอักเสบ เกิดการสะสมของเซลล์ผิวหนังทั้งใหม่ เก่า พอกพูนเป็นแผ่นหนากลายเป็นผื่นผิวหนังอักเสบสะเก็ดเงินที่แห้ง ตกสะเก็ด และลอกออกเป็นขุย โดยสาเหตุและปัจจัยกระตุ้นให้เกิดสะเก็ดเงินอื่น ๆ ได้แก่

  • พันธุกรรม (Genetics) เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่เป็นสาเหตุของโรคสะเก็ดเงิน โดยพบว่า 1 ใน 3 ของผู้ที่เป็นสะเก็ดเงินมีประวัติบุคคลในครอบครัวเดียวกันเป็นโรคสะเก็ดเงินมาก่อน
  • สิ่งแวดล้อม (Environmental factors) เช่น อากาศร้อนหรือเย็น การอยู่ท่ามกลางแสงแดดจ้า การถูกแมลงสัตว์กัดต่อย
  • การติดเชื้อไวรัส เช่น กลุ่มไรโนไวรัส (Rhinoviruses) ไวรัสเอชไอวี (HIV) ไวรัสเอชพีวี (HPV) ไวรัสตับอักเสบซี (HCV)
  • การติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น สเตปโตคอคคัส (Streptococcus) ในระบบทางเดินหายใจ สาเหตุการเจ็บคอ ทอนซิลอักเสบ
  • การพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ความเครียด
  • ยาบางชนิด เช่น ยาเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta-blockers) ยาลิเทียม (Lithium)
  • การได้รับบาดเจ็บที่ผิวหนัง หรือผิวหนังอักเสบหลังการผ่าตัด

สะเก็ดเงิน มีกี่ชนิด?

โรคสะเก็ดเงินสามารถจำแนกออกได้หลายชนิด ตามลักษณะภายนอกที่ปรากฎและการกระจายตัวของโรค ดังต่อไปนี้

  1. สะเก็ดเงินชนิดผื่นหนา (Plaque psoriasis/Psoriasis vulgaris) เป็นสะเก็ดเงินที่มีรอยโรคเป็นผื่นแดง แผ่นหนา ขยายตัวอย่างช้า ๆ ขอบชัด หลายรูปทรง ปกคลุมด้วยขุยขาว หรือขุยเงินบริเวณหนังศีรษะ ลำตัว ข้อศอก แขนขา หลังส่วนล่าง หัวเข่า บริเวณที่มีการเสียดสีกันของผิวหนัง เช่น รักแร้ ใต้ราวนม ขาหนีบ โดยสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนาเป็นสะเก็ดชนิดที่พบบ่อยที่สุดถึงร้อยละ 80-90 ของสะเก็ดเงินทั้งหมด
  2. สะเก็ดเงินชนิดขนาดเล็ก (Guttate psoriasis) เป็นสะเก็ดเงินที่มีรอยโรคเป็นผื่นแดง หรือตุ่มแดงแข็งทรงหยดน้ำขนาดเล็กไม่เกิน 1 เซนติเมตร เป็นขุยขาวกระจายตามลำตัว แขนขา และส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย โดยพบว่าผู้ที่เป็นสะเก็ดเงินชนิดขนาดเล็กมักมีสาเหตุจากการติดเชื้อสเตปโตคอคคัสในระบบทางเดินหายใจส่วนบนนำมาก่อน
  3. สะเก็ดเงินชนิดตุ่มหนอง (Pustular psoriasis) เป็นสะเก็ดเงินที่มีรอยโรคเป็นตุ่มหนองอักเสบบวมแดงขนาดเล็ก 2-3 มิลลิเมตรจำนวนมาก กระจายตัวทั่วบริเวณผิวหนัง ลำตัว แขนขา ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ใต้เล็บ มีอาการคัน ปวดแสบปวดร้อน หากสะเก็ดเงินชนิดตุ่มหนองเห่อมาก อาจมีไข้ร่วม
  4. สะเก็ดเงินชนิดผื่นแดงลอกทั้งตัว (Erythrodermic psoriasis) เป็นสะเก็ดเงินชนิดรุนแรงที่มีรอยโรคเป็นผื่นแดง คัน ลอกเป็นขุยขาวถึงกว่าร้อยละ 90 ของร่างกาย โดยอาจเป็นทั้งแบบสั้นหรือเฉียบพลัน หรือแบบระยะยาวหรือเรื้อรัง และอาจมีอาการเริ่มต้นจากการเป็นสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนานำมาก่อน อาจมีตุ่มหนอง อาการอ่อนเพลีย และมีไข้สูงร่วม
  5. สะเก็ดเงินบริเวณซอกพับ (Inverse psoriasis) เป็นสะเก็ดเงินเรื้อรังที่มีรอยโรคเป็นผื่นแดงขึ้นเป็นหย่อม ๆ มักไม่ค่อยมีขุย ขึ้นตามบริเวณผิวหนังที่มีการเสียดสีและมีเหงื่อออก เช่น ตามซอกพับต่าง ๆ ของร่างกาย ใต้ราวนม รักแร้ ขาหนีบ ร่องก้น
  6. สะเก็ดเงินบริเวณมือเท้า (Palmoplantar psoriasis) เป็นสะเก็ดเงินที่มีรอยโรคเป็นผื่นแดง ขอบชัด ขึ้นที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า เป็นขุยขาว ลอกออกเป็นขุย โดยผื่นสะเก็ดเงินอาจลามมาที่บริเวณหลังมือ หรือหลังเท้าได้
  7. เล็บสะเก็ดเงิน (Psoriatic nails) เป็นสะเก็ดเงินที่เล็บมือ เล็บเท้า ที่ทำให้เกิดความผิดปกติของเล็บ เช่น เล็บผิดรูป เล็บร่อน เล็บเป็นหลุม เล็บหนาผิดปกติ และผิวหนังบริเวณเล็บเปลี่ยนสี
  8. สะเก็ดเงินที่คาบเกี่ยวกับโรคเซ็บเดิร์ม (Sebopsoriasis) เป็นสะเก็ดเงินที่มีรอยโรคเป็นตุ่มบนหนังศีรษะ ใบหน้า หู และหน้าอก ลอกออกเป็นขุยเหลืองของคราบไขมัน อันมีสาเหตุเกิดจากโรคเซ็บเดิร์ม (Seborrheic dermatitis) หรือโรคผื่นแพ้ไขมัน

Psoriasis-สะเก็ดเงิน อาการ

สะเก็ดเงิน มีอาการอย่างไร?

สะเก็ดเงิน มีอาการแสดงและความรุนแรงของโรคแตกต่างกันตามชนิด อวัยวะที่พบโรค ความรุนแรง ขนาด การกระจายตัวของโรค และความระยะเวลาการดำเนินโรค โดยทั่วไป สัญญาณและอาการของโรคสะเก็ดเงินคือผื่น หรือแผ่นผิวหนังอักเสบที่มีลักษณะดังต่อไปนี้

  • ผื่น หรือผิวหนังอักแสบก่อตัวเป็นแผ่นนูนหนา ขอบแผ่นชัดเจน อาจมีรูปทรงหยักโค้ง ผิวหนังด้านบนหลุดลอกออกเป็นขุย แต่เกล็ดผิวหนังด้านล่างจะเกาะติดกันแข็งเป็นแผ่นหนา
  • ผื่น หรือแผ่นผิวหนังอักเสบหลายขนาด เล็ก-ใหญ่ไม่เท่ากัน ตั้งแต่ขนาดเล็กเท่าหยอดน้ำ หรือขนาดใหญ่เท่าฝ่ามือ
  • ผื่น หรือแผ่นผิวหนังอักเสบที่ทำให้สีผิวเปลี่ยนสี เช่น ผื่นสีม่วง ตกสะเก็ดเป็นขุยสีขาว ผื่นสีแดงหรือชมพู ตกสะเก็ดเป็นขุยสีเงิน
  • ผื่น หรือแผ่นผิวหนังอักเสบที่ทำให้ผิวแห้ง แตก คัน แสบร้อนบริเวณผิวหนัง
  • ผื่น หรือแผ่นผิวหนังอักเสบที่หากเกา อาจทำให้เกิดแผลฉีกขาด และมีเลือดไหล
  • ผื่น หรือแผ่นผิวหนังอักเสบที่มีอาการเจ็บแสบอย่างรุนแรง ปวดบวม และมีไข้ร่วม
  • ผื่น หรือแผ่นผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ที่เป็น ๆ หาย ๆ 2 - 3 สัปดาห์จนถึงหลายเดือน อาการจึงค่อยทุเลาลงแล้วกลับมาเป็นใหม่

การวินิจฉัยสะเก็ดเงิน มีวิธีการอย่างไร?

แพทย์ผิวหนังจะทำการวินิจฉัยสะเก็ดเงินโดยการซักประวัติ และตรวจสภาพผิวภายนอกรวมทั้งหนังศีรษะ หรือเล็บเพื่อประเมินอาการและหารอยโรค รวมถึงประเมินความรุนแรงของโรค โดนแพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  • การซักประวัติ (Medical history) เช่น การสังเกตเห็นผื่นหรือตุ่มแดงขึ้นเมื่อใด อาการคันหรืออาการแสบร้อนบนผิวหนังเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อใด ผิวหนังลอกหรือตกสะเก็ดมากน้อยเพียงใด อาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นล่าสุด ยาที่ทานเป็นประจำหรือเพิ่งเลิกทาน สบู่หรือแชมพูที่ใช้เป็นประจำ ประวัติบุคคลในครอบครัวเดียวกันเคยเป็นโรคสะเก็ดเงินมาก่อนหรือไม่ ความเครียด การพักผ่อน รวมถึงปัจจัยอื่นที่อาจก่อให้เกิดโรค
  • การตรวจร่างกาย (Physical examination) แพทย์จะบันทึกตำแหน่ง ขนาด ลักษณะของผื่น และลักษณะของขุยสะเก็ดเงินที่ลอกออกบนผิวหนัง
  • การตัดชิ้นเนื้อผิวหนัง (Skin biopsy) แพทย์ผิวหนังจะทำการเก็บตัวอย่างผื่นสะเก็ดเงินเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาในห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยและยืนยันโรค โดยแพทย์จะทำการตัดผิวหนังบริเวณตุ่มหรือผื่นคัน หรือบริเวณแผลเรื้อรัง รวมทั้งผิวหนังที่มีสีผิวผิดปกติ หรือสะเก็ดผิวหนังที่หลุดลอก และทำการตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อแยกโรค และระบุชนิดของสะเก็ดเงิน

การรักษาสะเก็ดเงิน มีวิธีการอย่างไร?

แพทย์จะพิจารณาแนวทางการรักษาโรคสะเก็ดเงินจากผลการวินิจฉัยชนิดของสะเก็ดเงิน รวมถึงระดับความรุนแรง และอาการข้างเคียงอื่น ๆ โดยมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อควบคุม ยับยั้งไม่ให้เซลล์ผิวหนังแบ่งตัวเร็วเกินไปจนทำให้ผิวหนังลอกและตกสะเก็ด ทั้งนี้ แพทย์อาจใช้วิธีการรักษาหลายวิธีร่วมกันเพื่อให้ผลในการรักษาที่ดีที่สุด ได้แก่

ยาทาภายนอก (Topical medications)

  • ยาทากลุ่มคอติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เป็นยาทาภายนอกรูปแบบแชมพู ครีม หรือโลชั่นที่ใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินในระดับเล็กน้อยถึงปานกลางที่บริเวณใบหน้า บริเวณซอกพับของผิว เป็นยาที่ให้การตอบสนองต่อการรักษาที่ดี แต่ไม่ควรใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานานเพราะอาจทำให้ผิวบาง และยาอาจกดการทำงานของต่อมหมวกไต การใช้ยาควรอยู่ในความดูแลของแพทย์
  • ยาทากลุ่มอนุพันธุ์วิตามิน D (Calipotriol) ช่วยทำให้การผลัดเซลล์ผิวหนังเป็นปกติ ช่วยลดความหนาของผื่น โดยในปัจจุบันมีการนำยาทากลุ่มอนุพันธ์วิตามินดีมาใช้ร่วมกับยากลุ่มคอติโคสเตียรอยด์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา แต่ไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้ในปริมาณมากเพื่อป้องกันไม่ให้ผิวบาง และควรอยู่ในความควบคุมดูแลโดยแพทย์
  • ยาทากลุ่มแอนทราลิน (Anthralin, dithranol) เป็นยาทาภายนอกเนื้อครีม กลุ่มน้ำมันทาร์ โดยทายาลงบนผื่นสะเก็ดเงิน (ยกเว้นใบหน้า และอวัยวะเพศ) เป็นเวลาสั้น ๆ แล้วล้างออก ช่วยชะลอการสร้างเซลล์ผิวใหม่ ช่วยขจัดเซลล์ผิวเสียสะเก็ดเงิน และช่วยทำให้ผิวเรียบเนียนขึ้น ทั้งนี้ ยาอาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง และทำให้สีผิวบริเวณที่ทายาคล้ำขึ้น
  • ยาที่มีส่วนผสมของน้ำมันทาร์ (Tar) เป็นยาทาภายนอกที่มีประสิทธิภาพดี ปัจจุบันมีการผลิตในหลายรูปแบบ เช่น แชมพู ขี้ผึ้ง ครีม โลชั่น มีสรรพคุณช่วยยับยั้งการสร้างเซลล์ผิวใหม่ที่เร็วผิดปกติ ช่วยลดอาการคัน อักเสบ แต่อาจมีกลิ่นแรง และอาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังได้
  • ยาทากลุ่ม Calcineurin inhibitor (Tacrolimus, pimecrolimus) เป็นยารักษาสะเก็ดเงินกลุ่มใหม่ที่ช่วยทำให้ผื่นสงบลง ลดการสะสมก่อตัวของแผ่นสะเก็ดเงิน ใช้ทาบริเวณผิวหนังที่บอบบาง เช่น รอบดวงตา ใบหน้า หรือซอกพับ ไม่ควรใช้ยานี้เป็นระยะเวลานานเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งผิวหนัง หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรไม่ควรใช้ยานี้
  • สารให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง (Skin moisturizer) เป็นยาทาภายนอกที่ปราศจากน้ำหอม อ่อนโยนต่อผิว ไม่ทำให้ผิวระคายเคือง มีความเสี่ยงต่ำที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้ ดูดซึมเข้าสู่ชั้นผิวหนังได้ดี ช่วยลดอาการคัน แสบร้อน และช่วยทำให้ผิวชุ่มชื้น

การรักษาด้วยการฉายแสงอาทิตย์เทียม (UV Phototherapy)

  • การฉายแสงยูวีบี (UVB Light Therapy) เป็นการรักษาด้วยการฉายแสงอาทิตย์เทียมอัลตราไวโอเลตบีชนิดคลื่นแคบ (NB-UVB) ที่มีความปลอดภัยสูง 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือนเพื่อรักษาอาการของโรคให้ดีขึ้น
  • การฉายรังสีอัลตราไวโอเลต เอ พูว่า (PUVA Therapy) เป็นการฉายแสง 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือนร่วมกับการให้ยาเซอราเลน (Psoralen) ในผู้ป่วยสะเก็ดเงินที่มีระดับความรุนแรงของโรคระดับปานกลางถึงรุนแรงมาก เพื่อชะลอการสร้างเซลล์ผิวใหม่
  • การฉายแสง Excimer light เป็นการฉายรังสีอัลตราไวโอเลตคลื่นสั้น (UV 380 nm) ประสิทธิภาพสูง ที่มีการกรองรังสีอัลตราไวโอเลตที่เป็นอันตรายออกไป และช่วยปรับสมดุลการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายเพื่อช่วยรักษาโรคสะเก็ดเงิน เป็นการฉายแสงที่ไม่ทำให้ผิวไหม้เกรียม และไม่ทำให้เจ็บปวดผิวหนังระหว่างการรักษาแต่อย่างใด

Psoriasis-UV Phototherapy

การรักษาด้วยยาชนิดรับประทานและยาฉีด (Oral and injected medications)

ในผู้ที่มีอาการของโรคสะเก็ดเงินระดับปานกลางถึงรุนแรง ผู้ที่มีอาการของโรคสะเก็ดเงินมากกว่าร้อยละ 10 ของผิวหนังทั้งหมด รวมถึงผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น แพทย์อาจพิจารณาการรักษาแบบผสมผสานทั้งยาชนิดรับประทาน และยาฉีด เพื่อช่วยให้ผลในการรักษาที่ดีขึ้น

  • ยาชนิดรับประทาน (Oral medications) เช่น ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) ยาอาซิเทรติน (Acitretin) ยาเรตินอยด์ (Retinoids) หรือยาไซโคลสปอริน (Cyclosporine) โดยยาอาจมีผลข้างเคียง การใช้ยาควรอยู่ในความควบคุมดูแลโดยแพทย์
  • ยาฉีดกลุ่มชีวโมเลกุล (Biologic agents) เป็นยากลุ่มใหม่ที่ช่วยกดภูมิคุ้มกันร่างกาย ช่วยยับยั้งวงจรการเกิดโรคและช่วยให้อาการดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์ เนื่องจากตัวยามีผลในการกดภูมิคุ้มกัน การใช้ยาจึงควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์

ภาวะแทรกซ้อนของสะเก็ดเงิน เป็นอย่างไร?

ผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน มีความเสี่ยงสูงที่จะมีโรคหรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา เช่น

Psoriasis

การป้องกันสะเก็ดเงิน มีวิธีการอย่างไร?

สะเก็ดเงินเป็นโรคที่ยังไม่พบวิธีป้องกัน การหมั่นดูแลสุขภาพร่างกาย สุขภาพผิว การพักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคสะเก็ดเงินได้ โดยมีวิธีการดังต่อไปนี้

  • ใช้มอยเจอร์ไรเซอร์ หรือครีมบำรุงผิวทาผิวเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวแห้งเสีย
  • หมั่นทำความสะอาดผิวเป็นประจำ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับอากาศแห้งและเย็น
  • หลีกเลี่ยงยาที่อาจกระตุ้นการเกิดโรคสะเก็ดเงิน
  • ป้องกันผิวไม่ให้มีบาดแผล ที่อาจนำไปสู่การติดเชื้อได้
  • รับแสงแดดพอประมาณ ไม่มากเกินไป
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด

สะเก็ดเงิน ติดต่อไหม?

สะเก็ดเงิน ไม่ใช่โรคติดต่อ และไม่สามารถติดต่อถึงกันได้เพียงการสัมผัสกับตุ่ม หรือผื่นผิวหนังของผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน

สะเก็ดเงิน โรคผิวหนังเรื้อรัง ที่รักษาอาการให้ดีขึ้นได้

สะเก็ดเงิน เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่สามารถรักษาอาการให้ดีขึ้นได้แม้ยังไม่พบวิธีการรักษาให้หายขาด การรักษาสะเก็ดเงินจำเป็นต้องใช้ระยะเวลา ความมานะพยายามอย่างต่อเนื่องในการรักษาโรคให้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นสะเก็ดเงินเกินกว่าร้อยละ 10 ของผิวหนังร่างกาย ผื่นสะเก็ดเงินอาจส่งผลกระทบด้านจิตใจ ส่งผลเสียต่อบุคลิกภาพ และอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ

ผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการรักษาอย่างเป็นระบบ ทั้งแบบเดี่ยวหรือแบบผสมผสาน โดยแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อช่วยให้อาการของโรคสะเก็ดเงินและอาการข้างเคียงอื่น ๆ ทุเลาลง พร้อมทั้งช่วยปรับสมดุลระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย และระบบผิวหนังให้กลับมาทำงานได้ตามปกติ

Psoriasis Infographic   Th

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 28 มิ.ย. 2023

แชร์