เลือกหัวข้อที่อ่าน
- เลเซอร์รักษาภาวะจอประสาทตาเสื่อมคืออะไร?
- เลเซอร์สามารถรักษาภาวะจอประสาทตาเสื่อมจากโรคอะไรได้บ้าง?
- รักษาภาวะจอประสาทตาเสื่อมด้วยเลเซอร์มีขั้นตอนอย่างไร?
- ความเสี่ยงของการรักษาภาวะจอประสาทตาเสื่อมด้วยเลเซอร์มีอะไรบ้าง?
- การดูแลสายตาที่ถูกต้องและเหมาะสมควรทำอย่างไร?
- ควรเข้ารับการรักษาภาวะจอประสาทตาเสื่อมด้วยเลเซอร์ที่ใด?
เลเซอร์รักษาภาวะจอประสาทตาเสื่อมจากเบาหวานและภาวะจุดรับชมภาพบวม (Focal Laser Eye Surgery/Retinal Focal Laser)
ภาวะจอประสาทตาบวม เป็นอาการที่ควรรีบเข้ารับการรักษาก่อนที่จะอาการจะส่งผลต่อการมองเห็น โดยสามารถรักษาได้ด้วยการยิงเลเซอร์ไปยังจอประสาทตา
เลเซอร์รักษาภาวะจอประสาทตาเสื่อมคืออะไร?
เลเซอร์รักษาภาวะจอประสาทตาเสื่อม เป็นวิธีการรักษาอาการบวมที่บริเวณจุดภาพชัด (macular edema) มักมีสาเหตุมาจากการที่หลอดเลือดในตาได้รับความเสียหายจากโรคต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุชนิดเปียก หากปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้เซลล์รับแสงได้รับความเสียหายจนไม่สามารถกลับมาทำงานเป็นปกติ นำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร เพื่อลดความเสี่ยงของการสูญเสียการมองเห็นผู้ป่วยจึงควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยที่มีประสิทธิภาพและทันท่วงที พร้อมกับเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม
การรักษาด้วยเลเซอร์สามารถรักษาภาวะจอประสาทตาเสื่อมจากโรคอะไรได้บ้าง?
การรักษาด้วยเลเซอร์ช่วยปิดเส้นเลือดในตาที่รั่ว ลดการรั่วซึมของสารน้ำ โดยสามารถรักษาโรคดังต่อไปนี้ได้
- โรคจุดรับภาพชัดจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุแบบเปียก มีสาเหตุมาจากการที่หลอดเลือดที่งอกใหม่เปราะบางแตกง่าย ทำให้มีเลือดหรือสารน้ำรั่วในตา
- โรคเบาหวานขึ้นตา เกิดจากการที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นเรื้อรัง ทำให้เกิดการอุดตันในหลอดเลือดในตาจนได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ดวงตาจึงสร้างเส้นเลือดขึ้นมาทดแทน ซึ่งหลอดเลือดอาจเปราะแตกได้ง่าย
เลเซอร์รักษาภาวะจอประสาทตาเสื่อมเป็นหัตถการผู้ป่วยนอก มุ่งเน้นการป้องกันไม่ให้อาการแย่ลงกว่าเดิม มากกว่าการแก้ไขให้การมองเห็นดีขึ้นหรือดีดังเดิม อย่างไรก็ตามแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าการรักษานี้เหมาะสมกับผู้ป่วยหรือไม่ โดยจะพิจารณาประวัติสุขภาพและผลการตรวจสุขภาพตาของผู้ป่วย
การรักษาภาวะจอประสาทตาเสื่อมด้วยเลเซอร์มีขั้นตอนอย่างไร?
จักษุแพทย์จะหยอดยาระงับความรู้สึกในดวงตาเพื่อลดความรู้สึกที่ตาก่อนที่จะหยอดยาขยายม่านตา จากนั้นจะวางคอนแทคเลนส์เพื่อให้ลูกตาอยู่นิ่ง ผู้ป่วยจะนั่ง โดยให้หน้าผากกับคางชิดกับที่วางบนเครื่องที่คล้ายกับเครื่องตรวจดวงตา แพทย์จะทำการยิงเลเซอร์ไปยังจอประสาทตา ผู้ป่วยอาจมองเห็นแสงไฟระหว่างการยิงเลเซอร์ ซึ่งการรักษานี้ใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง
แพทย์อาจทำการฉีดยาเข้าน้ำวุ้นตายับยั้งการเกิดหลอดเลือดใหม่เพื่อลดอาการบวม หากผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาดวงตาทั้ง 2 ข้าง แพทย์จะนัดให้เข้ามารับการรักษาทีละข้าง โดยเว้นระยะ 2-3 สัปดาห์
หลังรับการรักษาแล้ว อาจรู้สึกปวดตาได้ ซึ่งอาการปวดสามารถบรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวด ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ แต่ไม่ควรขับรถทันที เพราะยังมองเห็นได้ไม่ชัดในช่วงระยะเวลา 4-6 ชั่วโมงแรก
หากอาการปวดแย่ลงหรือมีอาการบวม แดง หรือมองเห็นได้ลดลง ควรรีบมาพบแพทย์
ความเสี่ยงของการรักษาภาวะจอประสาทตาเสื่อมด้วยเลเซอร์มีอะไรบ้าง?
การรักษาภาวะจอประสาทตาเสื่อมด้วยเลเซอร์นั้นปลอดภัยและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้น้อย ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยที่สุดได้แก่การมองเห็นจุดดำในลานสายตา ซึ่งมักหายได้เองเมื่อเวลาผ่านไป ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้แก่ เลือดออกในตา การมองเห็นลดลง หรือการมองเห็นไม่ชัดในเวลากลางคืน โดยความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนยังขึ้นอยู่กับอายุและสุขภาพโดยรวม
การดูแลสายตาที่ถูกต้องและเหมาะสมควรทำอย่างไร?
- เข้ารับการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำหรือทุก 2-3 เดือน เพื่อติดตามภาวะจุดรับภาพบวมจากเบาหวานขึ้นจอตา การตรวจและเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายในการมองเห็นอย่างถาวร
- ควบคุมโรคที่อาจนำไปสู่ปัญหาทางด้านการมองเห็น เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูง ควรพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
- ปกป้องสายตาจากแสงยูวีโดยการสวมใส่แว่นตากันแดดที่ป้องกันรังสียูวีเอและยูวีบี การที่ดวงตาสัมผัสกับรังสีอัลตราไวโอเล็ตจากดวงอาทิตย์เป็นอันตรายต่อดวงตาและเพิ่มความเสี่ยงของการสูญเสียการมองเห็น
- รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่ช่วยบำรุงสายตา เช่น วิตามินเอ ซี อี กรดโอเมก้า 3 ลูทีน (lutein) และซีแซนทีน (zeaxanthin) ยกตัวอย่างเช่น ผักโขม ถั่วลิสง แซลมอน ผักคะน้า อโวคาโด พืชตระกูลน้ำเต้า ไข่ และบลูเบอร์รี่ ผู้ป่วยสามารถปรึกษาแพทย์ว่าจำเป็นต้องรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือไม่
- ออกกำลังกายตามที่แพทย์แนะนำ การออกกำลังกายจะช่วยให้ควบคุมความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี
- เลิกสูบบุหรี่ สารนิโคตินจะไปทำลายหลอดเลือดในดวงตา หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ไฟฟ้าหรือใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบไร้ควันแทนการสูบบุหรี่ปกติหรือเพื่อเลิกบุหรี่ เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยังมีสารนิโคติน หากผู้ป่วยสูบบุหรี่และต้องการเลิกสูบบุหรี่ สามารถขอคำแนะนำจากแพทย์ได้
ควรเข้ารับการรักษาภาวะจอประสาทตาเสื่อมด้วยเลเซอร์ที่ใด?
ผู้ป่วยสามารถเข้ารับคำปรึกษาที่ ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลเมดพาร์ค ซึ่งให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาภาวะผิดปกติทางสายตาทั้งโรคที่พบได้บ่อย โรคยากซับซ้อน โดยจักษุแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางครบทุกสาขา ด้วยเครื่องมือทางการแพทย์และเทคโนโลยีที่ช่วยให้การวินิจฉัยและรักษามีประสิทธิภาพ ช่วยให้จักษุแพทย์สามารถออกแบบการรักษาได้เหมาะสมแตกต่างกันไปตามลักษณะของดวงตาแต่ละข้างและเฉพาะรายบุคคล
โดยทีมแพทย์สามารถทำการรักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- การรักษาด้วยแสงเย็น (photodynamic therapy)
- การรักษาภาวะสายตาสั้นยาวและเอียงด้วยวิธี SMILE pro และ FemtoLasik
- การผ่าตัดโรคต้อกระจก
- การรักษาจอประสาทตา
- การผ่าตัดรักษาโรคต้อหิน
- การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา
- การผ่าตัดตากุ้งยิง