อาการ สาเหตุ การรักษาไทรอยด์ขึ้นตา - Thyroid Eye Disease Symptoms and Treatement

ไทรอยด์ขึ้นตา (Thyroid Eye Disease)

โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เป็นภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้นกับระบบภูมิคุ้มกัน ฮอร์โมนไทรอยด์ที่เพิ่มขึ้นสูงจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย หนึ่งในนั้นคือระบบการมองเห็น หรือที่เรียกกันว่า ไทรอยด์ขึ้นตา

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


ไทรอยด์ขึ้นตา

โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เป็นภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้นกับระบบภูมิคุ้มกัน ฮอร์โมนไทรอยด์ที่เพิ่มขึ้นสูงจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย หนึ่งในนั้นคือระบบการมองเห็น หรือที่เรียกกันว่า ไทรอยด์ขึ้นตา ในวันนี้เราได้สรุปสาระสำคัญที่น่ารู้และมีประโยชน์ จากจักษุแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์ในการรักษาภาวะไทรอยด์ขึ้นตา มาอ่านกันได้เลยว่า อาการดังกล่าวคืออะไร มีลักษณะภายนอกที่สังเกตได้อย่างไรบ้าง และมีอันตรายอย่างไรหากไม่รีบทำการรักษา

ลูกตาปกติ มีลักษณะอย่างไร มีส่วนประกอบอะไรบ้าง

ลูกตาที่อยู่ในภาวะปกตินั้น จะไม่มีอาการปูดโปน และจะอยู่ในบริเวณเบ้าตา ซึ่งเป็นโครงกระดูกที่อยู่รอบ ๆ และภายในบริเวณเบ้าตา จะมีไขมันที่ทำหน้าที่ช่วยหนุนลูกตา และกล้ามเนื้อที่มีหน้าที่ช่วยในการกลอกตาไปมา รวมถึงเส้นประสาทและเส้นเลือดอื่น ๆ ที่เชื่อมต่อเข้าไปด้านใน เพื่อเชื่อมต่อกับสมอง โดยกระดูกเบ้าตานั้น ภายนอกจะมีลักษณะกว้าง แต่ด้านในจะมีลักษณะรูปร่างเป็นทรงกรวย แคบลึกเข้าไปด้านใน

ตาโปน เป็นลักษณะของตาที่มีภาวะไทรอยด์ขึ้นตาหรือไม่?

ตาโปน เป็นลักษณะที่บ่งบอกถึงภาวะผิดปกติ หรือโรคร้ายได้หลายอย่างนอกจากการเป็นไทรอยด์ เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เนื้องอกในเส้นเลือด เป็นต้น ตาโปนที่เป็นลักษณะบ่งบอกถึงการเป็นภาวะไทรอยด์ขึ้นตานั้น โดยส่วนมากมักจะเกิดจาก กล้ามเนื้อและส่วนที่เป็นไขมันในดวงตามีขนาดโตมากขึ้นจนดันให้ลูกตาดูโปนออกมาจากเบ้าตา แต่ในบางกรณีก็อาจเกิดจากการมีก้อนเนื้อหรือไขมันบริเวณด้านหลังลูกตาแล้วดันให้ลูกตายื่นออกมาด้านหน้าก็เป็นไปได้เช่นกัน

ภาวะไทรอยด์ขึ้นตา มีอาการผิดปกติเบื้องต้นอย่างไร

อาการผิดปกติเบื้องต้นที่สามารถมองเห็นได้จากภายนอกของผู้ป่วยที่มีภาวะไทรอยด์ขึ้นตา มีดังนี้

  • ตาโปน
  • เปลือกตาเลิกขึ้น ตาโต ดูดุ
  • เห็นขอบตาขาวด้านบนและด้านล่างชัดเจนขึ้น
  • เห็นภาพซ้อน
  • มีอาการตาเหล่ ตาเข
  • ตาแดงเป็น ๆ หาย ๆ
  • เยื่อบุตาบวม

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีปัญหาการมองเห็นที่ลดลง ในกรณีที่มีอาการรุนแรง เนื่องจากกล้ามเนื้อและไขมันที่โตขึ้นไปกดทับเส้นประสาท ทำให้การมองเห็นลดลง และเมื่อเป็นแล้วในช่วง 1-2 ปีแรก อาการจะค่อย ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าเราควบคุมระดับไทรอยด์ให้คงที่ อาการไทรอยด์ที่ขึ้นตาก็จะคงที่หรือลดลง แต่มีโอกาสน้อยที่จะหายขาดจากภาวะผิดปกติดังกล่าว

ภาวะไทรอยด์ขึ้นตา มีสาเหตุเกิดจากอะไร

ภาวะไทรอยด์ขึ้นตา มีความสัมพันธ์กับไทรอยด์ที่เกิดขึ้นในบริเวณคอ มักจะพบบ่อยราว ๆ 90 % ในคนไข้ที่ป่วยเป็น ไทรอยด์เป็นพิษ และสามารถพบได้ในผู้ป่วยโรคไทรอยด์ที่บริเวณอื่น ๆ เช่น คนไข้ที่เป็นมะเร็งในบริเวณที่เป็นไทรอยด์ หรือคนไข้ที่เป็นภูมิคุ้มกันผิดปกติที่เรียกว่า Hashimoto’s Thyroiditis หรือในคนไข้ที่มีภาวะไทรอยด์ต่ำ เป็นต้น

ไทรอยด์ขึ้นตา มีอันตรายอย่างไรหากไม่รักษา

ภาวะไทรอยด์ที่ตา ถ้าไม่รักษา แล้วอยู่ในช่วง 1-2 ปีแรกก็มีโอกาสที่อาการจะรุนแรงมากขึ้น เช่นมีการอักเสบที่รุนแรงมากขึ้น อาจมีภาวะตาโปนจนไม่สามารถหลับตาได้ เกิดภาวะแผลที่กระจกตาอักเสบเรื้อรัง จนอาจทำให้สูญเสียการมองเห็น หากมีการกดทับเส้นประสาทก็จะทำให้การมองเห็นลดลง และอาจสูญเสียการมองเห็นถาวร ในผู้ป่วยที่มีภาวะไทรอยด์ที่คอ หากรู้สึกว่ามีความปกติที่บริเวณตา ควรรีบมาปรึกษากับแพทย์เฉพาะทาง เพื่อรับคำแนะนำ และเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที

อาการผิดปกติ ภาวะไทรอยด์ขึ้นตา ที่ควรรีบมาพบแพทย์

ความผิดปกติที่รุนแรงของภาวะไทรอยด์ขึ้นตาที่เมื่อพบแล้วควรรีบมาพบแพทย์ได้แก่

  • ตามัวลง เพราะอาจเกิดจากการกดทับเส้นประสาทที่ส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นถาวรได้
  • ตาโปนมากขึ้น หลับตาไม่สนิท อาจทำให้กระจกตาเป็นแผล และส่งผลให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นถาวร
  • เห็นภาพซ้อน เกิดจากกล้ามเนื้อตาที่โตมากขึ้น ทำให้เกิดภาวะมองเห็นภาพซ้อน ใช้ชีวิตประจำวันได้ลำบากขึ้น หรือไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ดังเดิม

ภาวะไทรอยด์ขึ้นตา อันตรายมากที่สุดในช่วงไหน

ภาวะไทรอยด์ขึ้นตา อาการที่รุนแรงจะพบในช่วง 1-2 ปีแรก ในช่วงเวลานี้อาการผิดปกติจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถ้าหากรีบรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ก็จะลดโอกาสในการสูญเสียการมองเห็นได้

นอกจากนี้ หากคนไข้สูบบุหรี่ จะพบว่าอาการไทรอยด์ขึ้นตารุนแรงมากขึ้น และเป็นยาวนานมากขึ้น ช่วงเวลาที่อาการรุนแรงมีโอกาสเพิ่มจาก 1-2 ปี เป็น 3-4 ปี และมีโอกาสสูญเสียการมองเห็นถาวรเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ดวงตาจะกลับมาเป็นปกติหรือไม่ เมื่อโรคสงบลงแล้ว

หลังจากที่โรคสงบลง อาการทางตาจะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ไม่ได้รวดเร็ว ทั้งหมดนี้ อาจไม่ได้ดีขึ้นจนเท่ากับระดับปกติ แต่จะดีขึ้นในระดับ 30-50% ในส่วนที่เหลือจะเป็นเรื่องของการผ่าตัด เพื่อทำให้ลักษณะรูปร่างภายนอกที่ยังมองเห็นถึงความผิดปกตินั้นดีขึ้น

ไทรอยด์ขึ้นตา มีปัจจัยอะไรบ้างที่กระตุ้นอาการ

ปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นอาการไทรอยด์ขึ้นตา มีดังนี้

  • การสูบบุหรี่ จะทำให้ไทรอยด์ทางตามีอาการที่แย่ลง
  • การพักผ่อนไม่เพียงพอ จะทำให้อาการแย่ลง การพักผ่อน รวมถึงการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะจะช่วยให้อาการไม่ลุกลามอย่างรวดเร็ว
  • ควบคุมระดับฮอร์โมนในเลือดไม่ได้ ส่งผลต่ออาการไทรอยด์ขึ้นตา ดังนั้น การควบคุมระดับฮอร์โมนในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ จะช่วยป้องกันไม่ให้อาการไทรอยด์ที่ตารุนแรงมากขึ้นได้

ภาวะไทรอยด์ขึ้นตา มีวิธีการวินิจฉัยอย่างไร

  • แพทย์ตรวจร่างกาย เพื่อประเมินว่ามีลักษณะผิดปกติทางตาหรือไม่
  • หากคนไข้ยังไม่เคยตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกาย หมอจะทำการส่งตรวจเลือดและตรวจภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า Anti TSH Receptor เพื่อตรวจโรคไทรอยด์ทางตา
  • การส่งตรวจภาพถ่ายทางรังสี CT Scan บริเวณเบ้าตา เพื่อดูว่าบริเวณเบ้าตามีกล้ามเนื้อที่โตขึ้นผิดปกติ มีลักษณะไขมันที่เข้าข่ายกับการเป็นไทรอยด์ขึ้นตาหรือไม่

ภาวะไทรอยด์ขึ้นตา มีวิธีการรักษาอย่างไร

สามารถแบ่งได้เป็น 2 ช่วง ดังนี้

  • ช่วงแรกคือ 1-2 ปีแรกของภาวะไทรอยด์ขึ้นตาเรียกว่าเป็นช่วง active เป็นช่วงที่ยังมีการอักเสบอยู่ ในช่วงนี้หากมีอาการบวมมากขึ้น ตาโปนมากขึ้น เห็นภาพซ้อนมากขึ้น อาจมีความจำเป็นในการใช้ยากลุ่ม สเตียรอยด์เพื่อลดอาการอักเสบลง ควบคุมไม่ให้กล้ามเนื้อและไขมันมีขนาดโตขึ้น
  • ช่วงที่ 2 คือช่วงภาวะอาการคงที่หลังจากผ่านช่วงระยะอักเสบ 1-2 ปีแรกมาแล้ว เป็นช่วงที่ต้องคอยสังเกตดูว่า ยังหลงเหลืออาการผิดปกติที่มองเห็นได้ในส่วนใดของดวงตาบ้าง จากนั้นจึงอาจพิจารณาผ่าตัดแก้ไขเพื่อรักษา โดยจะเรียงลำดับความสำคัญจาก การผ่าตัดขยายขนาดเบ้าตาเพื่อลดอาการตาโปน หากมีอาการมองเห็นภาพซ้อนอยู่เยอะ อาจต้องผ่าตัดกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลอกตาเพื่อลดปัญหาภาพซ้อน และสุดท้ายคือการผ่าตัดเปลือกตา เพื่อแก้ไขปัญหาเปลือกตาเลิกขึ้นมากผิดปกติ

การผ่าตัดเพื่อรักษาภาวะไทรอยด์ขึ้นตา

การผ่าตัดสามารถทำกับลูกตาพร้อมกันทั้ง 2 ข้างได้ แต่แพทย์จะแนะนำว่า ควรทำผ่าตัดครั้งละ 1 หัตถการ ไม่ควรทำผ่าตัดหลายหัตถการพร้อมกัน สำหรับผู้ป่วยที่ต้องการทำผ่าตัดเบ้าตา จำเป็นจะต้องควบคุมระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติก่อนสักระยะ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดการสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์ การผ่าตัดปรับขนาดเบ้าตาเป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างใหญ่ ใช้เวลาในการผ่าตัดอย่างน้อยข้างละ 3 ชั่วโมง จำเป็นจะต้องนอนโรงพยาบาลอย่างน้อย 2-3 วัน

หากผู้อ่านมีความสงสัยเกี่ยวกับภาวะไทรอยด์ขึ้นตา หรือกังวลว่าตนอาจมีภาวะผิดปกตินี้อยู่ ขอแนะนำให้รีบมาปรึกษากับจักษุแพทย์ที่ศูนย์จักษุโรงพยาบาลเมดพาร์ค ที่นี่มีแพทย์เฉพาะทางที่พร้อมดูแลเกี่ยวกับไทรอยด์ขึ้นตาครบทุกกระบวนการ ตั้งแต่เบ้าตา กล้ามเนื้อตา และเปลือกตา ตรวจก่อน รักษาก่อน สามารถป้องกันความเสียหายได้ ลดความเสี่ยงในการสูญเสียการมองเห็นถาวร

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 22 ก.ค. 2024

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    นพ. ธันย์ฉัตร เจียรมณีโชติชัย

    นพ. ธันย์ฉัตร เจียรมณีโชติชัย

    • จักษุวิทยา
    • ศัลยกรรมจักษุตกแต่งและเสริมสร้าง
    Ophthalmology, ศัลยกรรมจักษุตกแต่งและเสริมสร้าง
  • Link to doctor
    พญ.  จันทรัสม์  ไววนิชกุล

    พญ. จันทรัสม์ ไววนิชกุล

    • จักษุวิทยา
    • ศัลยกรรมจักษุตกแต่งและเสริมสร้าง
    Ophthalmology, ศัลยกรรมจักษุตกแต่งและเสริมสร้าง
  • Link to doctor
    พญ. สุปรียา อรรถวุฒิศิลป์

    พญ. สุปรียา อรรถวุฒิศิลป์

    • จักษุวิทยา
    • จักษุวิทยาโรคต้อหิน
    • ศัลยกรรมจักษุตกแต่งและเสริมสร้าง
    Ophthalmology, โรคต้อหิน, ศัลยกรรมจักษุตกแต่งและเสริมสร้าง
  • Link to doctor
    ผศ.(พิเศษ) พญ. วรรณกรณ์ พฤกษากร

    ผศ.(พิเศษ) พญ. วรรณกรณ์ พฤกษากร

    • จักษุวิทยา
    • ศัลยกรรมจักษุตกแต่งและเสริมสร้าง
    โรคของระบบต่อมน้ำตาและทางเดินน้ำตา, โรคของเปลือกตา, โรคของเบ้าตา, ภาวะไทรอยด์ทางตา